โฆษก กรธ.เผย ครม.เตรียมถกคำปรารภร่างรัฐธรรมนูญ 1 พ.ย. ก่อนส่งให้ กรธ.แก้ ขณะที่ร่างกฎหมายพรรคการเมืองเข้ม บริจาคเงินเกินแสนต้องเปิดเผยชื่อ พร้อมดำเนินงานการเมืองแบบอิสระ
วันนี้ (28 ต.ค.) ที่รัฐสภา นายนรชิต สิงหเสณี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงว่า ขณะนี้กรธ.กำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่มีทั้งสิ้น 120 มาตรา โดยขณะนี้พิจารณาไปแล้ว 50 มาตรา ส่วนร่างที่คณะอนุกรรมการยกร่างฯ ร่างขึ้นเทียบเคียงร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้น ทาง กรธ.ได้เชิญผู้แทน กกต.มาร่วมประชุมเพื่อรับฟังความเห็นด้วย ส่วนเรื่องการแก้ไขคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เบื้องต้น กรธ.ยังไม่ได้ดำเนินการใด เหตุเพราะ ครม.เป็นผู้ขอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ทราบว่า ครม.จะพิจารณาเรื่องนี้ในที่ประชุม ครม.วันที่ 1 พ.ย.นี้ หากมีมติอย่างไรคงส่งให้ กรธ.พิจารณาแก้ไขคำปรารภให้ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน
นายนรชิตกล่าวอีกว่า ส่วนการทำงานของ กรธ.ในสัปดาห์หน้ายังเป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง นอกจากนี้ยังจัดโครงการสัมมนาเรื่อง “การรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้เลื่อนมาจัดในวันที่ 16 พ.ย. เวลา 12.00-16.30 น. ที่อาคารรัฐสภา 2 โดย กรธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมาชิกพรรคการเมือง และองค์กรต่างๆ เข้าร่วมสัมมนา โดยเฉพาะพรรคการเมืองทุกพรรคที่ กรธ.ได้ส่งหนังสือเชิญไปแล้ว ส่วนการจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับ ทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศนั้น กรธ.ได้กำหนดวันใหม่แล้ว คือ วันที่ 7 พ.ย.ที่ จ.ชลบุรี วันที่ 8 ต.ค.ที่ จ.สุราษฎร์ธานี วันที่ 15 พ.ย.ที่ จ.เชียงราย และวันที่ 16 พ.ย.ที่ จ.อุบลราชธานี
ด้านนายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า กรธ.เน้นเรื่องวิธีการจัดตั้ง โครงสร้าง องค์ประกอบของพรรคการเมือง รวมถึงกระบวนการในการดำเนินการของพรรคการเมือง ว่ากิจกรรมต่างๆ ต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ขณะนี้ กรธ.กำลังพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับการเงิน และการส่งผู้สมัครของพรรคการเมือง โดย กรธ.พยายามดูว่าพรรคการเมืองควรได้รับเงินสนับสนุน หรือเงินบริจาคจากองค์กรภายนอก หรือภาคเอกชนอย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองถูกครอบงำจากกลุ่มทุน หรือใครคนใดคนหนึ่ง โดยมีแนวคิดที่จะต้องเปิดเผยรายชื่อ และกำหนดเพดานเงินบริจาค หากบริจาคมากกว่า 1 แสนบาทจะต้องเปิดเผยรายชื่อ เพื่อให้รู้ที่มาของเงินบริจาค และให้พรรคการเมืองดำเนินงานทางการเมืองอย่างอิสระ