ประธาน กรธ.บอก 1 ปีทำงานเป็นไปตามเป้า เปรียบเหมือนอยู่บนเตาอั้งโล่ ต่องเร่งงาน คาดออกกฎหมายลูก 2 ฉบับทัน พ.ย. ยันไม่มีเซตซีโร่พรรคการเมือง แต่หาก สนช.ปรับแก้ก็ต้องบอกเหตุผล แย้มกฎหมายพรรคการเมืองเข้มสกัดพวกบงการอยู่เบื้องหลังพรรคการเมือง
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ได้มีการปรับแก้ถ้อยคำเพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว โดยจะส่งให้คณะรัฐมนตรีได้ในวันที่ 11 ตุลาคมนี้ โดยไม่ต้องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีก เพราะในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ไม่ได้ระบุไว้ ซึ่งประเด็นต่างๆ ก็ครบถ้วนแล้ว ทั้งนี้หากมีใครเห็นต่างออกไปก็ไม่สามารถที่จะยื่นความเห็นแย้งได้เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านการทำประชามติมาแล้ว จึงถือว่าเป็นขั้นตอนเกือบสุดท้ายก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญจะประกาศใช้
“เราดีใจที่สามารถทำงานสำเร็จตามกรอบเวลา เพราะวันนี้เป็นวันครบปีของ กรธ.ด้วย ผมคิดว่าเรากำลังทำงานเหมือนนั่งอยู่บนเตาอั้งโล่เพราะเวลาเริ่มนับสิ่งที่ต้องทำให้เสร็จก่อนรัฐธรรมนูญใช้บังคับคือ วันไหนที่รัฐธรรมนูญเริ่มใช้บังคับก็ต้องรีบส่งให้ สนช. คือ กฎหมาย กกต. กับกฎหมายพรรคการเมือง โดยกฎหมายทั้งสองฉบับจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการฯ สามารถแก้ไขเนื้อหากฎหมายได้ แต่ก็ต้องส่งให้องค์กรอิสระและกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาด้วยหากเห็นว่าไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องตั้งกรรมาธิการร่วมซึ่งต้องส่งมาภายในสิบวันและกรรมาธิการร่วมฯต้องทำให้เสร็จภายใน 15 วันก็จะใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน แต่เชื่อว่ากลางเดือนพฤศจิกายนนี้ก็น่าจะเห็นแล้ว อย่างที่บอกว่าเราเหมือนอยู่บนเตาอั้งโล่เพราะเป็นเรื่องรีบร้อนหายใจหายคอไม่ทัน”
นายมีชัยยืนยันด้วยว่า ในการร่างกฎหมายพรรคการเมืองของ กรธ.ไม่ได้มีการกำหนดให้เซตซีโร่พรรคการเมืองโดยไม่ได้มีการพูดเรื่องนี้เลย แต่ถ้ามีการปรับปรุงในกรรมาธิการของ สนช.ให้เซตซีโร่พรรคการเมืองก็ต้องถามถึงเหตุผล ส่วนประเด็นนี้จะนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการร่วมหรือไม่ยังบอกไม่ได้
ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังตั้งความหวังด้วยว่า เมื่อร่างกฎหมายลูกทั้งสองฉบับประกาศใช้น่าจะมีผลทำให้เกิดการปฏิรูปพรรคการเมืองและระบบการทำงานของ กกต.ได้ โดยพยายามทำให้พรรคการเมืองไม่เป็นของคนใดคนหนึ่ง ไม่มีการผูกขาด ไม่ถูกใครบงการ ส่วน กกต.ต้องมีประสิทธิภาพในการทำงานทำในเชิงรุกไม่ใช่ทำในเชิงรับ การที่จะรอว่าหลังเลือกตั้งแล้ว 15 วันหากไม่มีคนร้องเลยเราถือว่าไม่ได้เป็นการทำหน้าที่ และยังตั้งใจที่จะวางกลไกในการแก้ปัญหาเรื่องที่เคยเกิดขึ้นคือการมีคนบงการอยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองไว้ด้วย โดยพิจารณาจากปัญหาเดิม