รองนายกฯ เผย กรธ.-ศาล รธน.ไม่มีปัญหาปมตีความคำถามพ่วง ชี้เลือกนายกฯ ไม่ได้ก็ยังมีทางออก เหตุ ม.44 ยังอยู่ มีอำนาจยุบสภาได้ แต่ย้ำถ้าได้นายกฯ จากบัญชีพรรคแต่แรกถือว่าวิเศษสุด แจงเบื้องต้น รบ.ไร้ข้อเสนอแนะร่าง กม.ลูก รอส่งมาก่อน ย้อนร่าง กม.ลูกก่อน รธน.ประกาศใช้ ทำเร็วผิดหรืออย่างไร เมินตอบปมเซตซีโร่
วันนี้ (30 ก.ย.) เมื่อเวลา 12.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ปรับแก้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับผลประชามติและคำถามพ่วงว่า ตนมีโอกาสพบนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ได้รับการยืนยันว่าไม่มีปัญหา จะแก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัย และยังมีโอกาสพบกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้รับคำชี้แจงว่าการวินิจฉัยไม่ได้มีปัญหาอะไร และมีมติเอกฉันท์ด้วยซ้ำ
“โดยเจตนารมณ์การให้ ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วมในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในฐานะสมาชิกรัฐสภาในทุกขั้นตอนยกเว้นการเสนอชื่อ เพราะฉะนั้น ส.ว.จะต้องมาทุกขั้นตอน ส่วนเรื่องของระยะเวลา 5 ปี ตามที่ กรธ.เขียนมาก็ไม่ผิด แต่มีปัญหาว่าถ้าเกิดข้อถกเถียงกันแล้วต้องไปขึ้นศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งจะยุ่งกันใหญ่ จึงวินิจฉัยก่อนที่จะมีปัญหาดีกว่า ทำให้ชัดเสียแต่ตอนนี้ และถ้าอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญใช้คำว่า ซึ่งอาจตีความได้สองนัย เมื่อเจออย่างนี้มีปัญหาแน่ ใน 3 ปีข้างหน้าจะยุ่งแน่ เลยให้มีการแก้ไข”
นายวิษณุกล่าวต่อว่า ส่วนที่ระบุก่อนหน้านี้ว่า หากเลือกนายกฯ ไม่ได้ก็ให้เลือกไปเรื่อยๆ นั้นก็เพราะเชื่อว่ามีทางออก เป็นเช่นนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดก็ต้องเลือกนายกฯ ให้ได้ ก่อนหน้านี้กำหนดให้เลือกให้ได้ 30 วัน และต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่ถ้าไม่ได้ มันก็ต้องเลือกไปเรื่อยๆ ซึ่งก็มีทางออกไว้หนึ่งทาง เมื่อถึงจุดหนึ่งใครได้คะแนนมากที่สุด โดยเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งถือว่าได้รับเลือกเป็นนายกฯ แล้ว
“คราวนี้ถ้าเลือกไม่ได้ ต้องเลือกไปเรื่อยๆ ถ้าผ่านไป 5-6 เดือนแล้วยังไม่ได้ แสดงว่ามีปัญหาอะไรบางอย่างในบ้านเมือง และถ้ามีปัญหามันก็มีวิธีการแก้ไขตามรัฐธรรมนูญ เช่น การยุบสภา ซึ่งผู้มีหน้าที่ยุบคือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าให้รัฐบาลและ คสช.อยู่ไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากมีการถวายสัตย์ปฏิญาณ และการตั้งครม.ก็เกิดขึ้นหลังจากตั้งนายกฯ แล้ว ดังนั้นรัฐบาลก็ยังอยู่ มาตรา 44 ก็ยังอยู่ สามารถยุบสภาได้ ถ้ามีเหตุผลที่จะยุบ และเมื่อถึงเวลานั้นสังคมต้องยอมรับแล้ว ถ้า 6 เดือนยังไม่ได้นายกฯ ก็ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว ถึงได้ใช้คำพูดว่า ยุบไปเรื่อยๆ แต่ที่พูดไม่ได้ต้องการเปิดประเด็นว่าให้ยุบสภา แต่เล่นมาถามแบบนี้ ถ้าเลือกไป 30 วันแล้วยังไม่ได้จะทำอย่างไร ก็ยืนยันว่าทางไม่ตันแน่เพราะสามารถใช้อำนาจในการแก้ไขปัญหาได้ การที่เลือกไม่ได้แสดงว่าประชาชนหรือผู้แทนราษฎรไม่พอใจให้มีรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ต้องมีการเลือกกันใหม่ แต่ไม่ถึงขนาดกำหนดว่ากี่วันเลือกไม่ได้แล้วจะสั่งยุบสภา ระหว่างที่ยุบสภารัฐบาล คสช.และมาตรา 44 ก็ยังอยู่ต่อไป ดังนั้นก็ช่วยกันเลือกให้ได้ ถ้าเลือกได้ตั้งแต่รอบแรกจะวิเศษที่สุดแล้ว” นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก 4 ฉบับ ที่จำเป็นต่อการเลือก หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จใน 4 เดือนตามที่คาดกันไว้ก็อาจจะใช้เวลา 5 เดือน หรือไม่ก็ใช้ครบตามกำหนด 8 เดือน เพราะหากไม่เริ่มกฎหมายส่วนนี้ก่อนก็จะเลือกตั้งไม่ได้ กติกาก็จะโยงไปไม่ถึง กกต. รวมถึงกฎหมายพรรคการเมืองที่ระบุว่าต้องสังกัดพรรค ดังนั้น ต้องเขียนกฎหมายพรรคการเมืองให้เสร็จก่อนที่จะเขียนกฎหมายเลือกตั้ง ส่วนแนวคิดการเซตซีโร่องค์กรอิสระนั้นยังไม่มีการตกลงใดๆ ทั้งสิ้น พอจะทำตามอาจมีคนพูดว่าไร้สาระ ไม่มีเหตุผล มันเอาแน่ไม่ได้
นายวิษณุกล่าวต่อว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีความเห็นหรือข้อเสนอแนะในการทำกฎหมายลูก แต่เมื่อจัดทำแล้วเสร็จ แล้วส่งมาถามรัฐบาล ก็อาจมีความเห็นกลับไป เพราะมีบางส่วนที่รัฐบาลต้องปฏิบัติ ยังไม่รู้ว่าจะให้รัฐบาล กระทรวมหาดไทย หรือเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องปฏิบัติอย่างไร ถ้ารู้จะได้มีการแสดงความเห็นกลับไป แต่เบื้องต้นตกลงกันไว้ว่าไม่มีความเห็นส่งไป ซึ่งกฎหมายที่รัฐบาลจะเข้าไปเกี่ยวข้อง อาทิ กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะกฎหมายเหล่านี้ใช้ตรวจสอบรัฐบาล ก็ต้องดูว่ามากหรือน้อยไป อะไรปฏิบัติได้หรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองมีโอกาสเซตซีโร่กรรมการบริหารแต่ละพรรคหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ และไม่ควรไปตอบอะไรทั้งนั้น เพราะถ้าตอบเป็นความเห็นส่วนตัวไป สื่ออาจไปลงเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อถามว่า การที่ร่างกฎหมายลูกก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะประกาศใช้เกรงหรือไม่ว่าจะมีคนร้องคัดค้าน นายวิษณุกล่าวว่า ขั้นตอนขณะนี้ถือเป็นขั้นตอนการพูดคุยกัน ยังไม่มีอะไร ถือว่ายังไม่ได้ทำอะไร ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการจัดทำกฎหมายลูก แต่เป็นเรื่องที่ กกต.ประกาศว่ากำลังร่างอยู่ เกือบจะเสร็จแล้ว ซึ่งไม่มีข้อกฎหมายกำหนดว่าต้องเสร็จในกี่เดือน ไม่ถือว่าเป็นความผิดที่ชั่วร้าย การทำเสร็จก่อนถือเป็นเรื่องดี พอรัฐธรรมนูญประกาศใช้ กฎหมายลูกที่ร่างไว้เสร็จแล้ว มันก็ยิ่งดีใหญ่ การเลือกตั้งก็จะเร็วขึ้น การทำเร็วถือเป็นความผิดหรืออย่างไร