xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศาสตร์และศิลป์มหาดไทย มิให้ชาวนาถูกเอารัดเอาเปรียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ภายหลังคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว (นบข.) มีแผนช่วยเหลือชาวนาเต็มรูปแบบไปแล้ว ก็ถึงคราวของ“กระทรวงมหาดไทย”ที่มีความใกล้ชิดเกษตรกรมากที่สุด ที่จะต้องเข้ามาดำเนินการ

วันก่อน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดให้เชิญตัวแทนชาวนา ตัวแทนโรงสี เข้ามาคุยกัน ทำความเข้าใจ ไม่ให้มีการขัดแย้งกัน ที่แน่ๆ คือ “อย่าให้มีการชุมนุมเกิดขึ้น”

รุ่งเช้าอีกวัน กระทรวงมหาดไทยก็โอนงบประมาณ ด่วนที่สุด ที่ มท. 0310.3/ว 23513 ลว 1 พฤศจิกายน 2559 เรื่อง การโอนจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้เป็นค่าบริหารจัดการโครงการโดยจังหวัดต้องเบิกจ่ายภายในวันที่ 30 ธ.ค.นี้

โดยเงินสนับสนุนดังกล่าวเป็นค่าวัสดุ อุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุม และค่าใช้จ่ายในการติดตามและดำเนินการจังหวัดละ 10,000 บาท เป็นค่าวัสดุ อุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมและค่าใช้จ่ายในการติดตามและดำเนินการ อำเภอละ 10,000 บาท และ เป็นค่าวัสดุ อุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมประชาคม หมู่บ้านละ 1,000 บาท ในพื้นที่ 77 จังหวัด 834 อำเภอ 62,786 หมู่บ้าน/เทศบาล (กทม. 12 เขต 224 หมู่บ้าน) รวมวงเงิน 72,240,000 บาท

พบว่า มีการจัดสรรให้พื้นที่จังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกข้าวจำนวนมาก เช่น พระนครศรีอยุธยา 1,485,000 บาท จ.นครราชสีมา 3,691,000 บาท จ.บุรีรัมย์ 2,755,000 บาท จ.สุรินทร์ 2,293,000 บาท จ.ศรีสะเกษ 2,851,000 บาท จ.ชัยภูมิ 1,759,000 บาท จ.ขอนแก่น 2,591,000 บาท จ.ร้อยเอ็ด 2,642,000 บาท เป็นต้น

ล่าสุด มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ถึง“แนวทางการบริหารจัดการข้าวเพื่อช่วยเหลือชาวนา ปีการผลิต 2559/60”

ดูรายละเอียด แล้วมีใจความสำคัญอยู่ที่ “มาตรการแนะนำการช่วยเหลือชาวนาไทย”ระบุถึง“มาตรการเร่งด่วน”ประกอบด้วย การใช้เวทีการประชุมภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวนา เป็นแผนแรกให้จังหวัดจัดไปแล้ว คือให้จัดประชุมคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด และคณะอนุกรรมการพัฒนาเกษตรและสหกรณ์จังหวัดโดยเชิญ ชาวนา ผู้แทนโรงสี หอการค้า ธ.ก.ส. อุตสาหกรรม มาคุยกัน จากนั้นอนุฯ จังหวัด ได้สั่งการผ่าน ผู้ว่าฯ ไปยังฝ่ายปกครอง หน่วยทหารในพื้นที่ ตำรวจ ข้าราชการพาณิชย์ เข้ามาสอดส่งดูแลผู้ประกอบการ ที่เอารัดเอาเปรียบ ซึ่งก็กำลังทำกันอยู่หลายพื้นที่

ล่าสุด ทุกหน่วยงานลงพื้นที่ เพื่อทำข้อเสนอรายงานตรงถึงผู้ว่าฯ อำนวยการแก้ปัญหาเอง ก่อนรายงานมหาดไทย

แผนทุกอย่างให้ใช้กลไกล“ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ” ที่เพิ่งจัดตั้งและกำลังจะโอนงบประมาณไปให้ เป็นหน่วยงานที่ให้ชาวนาสามารถเข้าพบได้โดยตรง นอกจากนั้น กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ต้องเปิดพื้นที่ “ศูนย์ดำรงธรรมหมู่บ้าน”พบชาวนาทุกสัปดาห์

ทั้งสองศูนย์ดำรงธรรม มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ราคาข้าวให้ชาวนาเข้าใจว่า ข้าวเปลือกที่ราคาถูก คือ ข้าวที่ไม่มีคุณภาพ เช่น มีความชื้นสูงอันเนื่องมาจากสภาพอากาศ ราคาจะตกต่ำ ชี้แจงทำความเข้าใจว่ารัฐบาลได้ช่วยเหลือ เกษตรกรชาวนาโดยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตแก่ชาวนา ผู้ปลูกข้าว 1,000 บาทต่อไร่ และมีโครงการอื่นผ่านกระทรวงต่างๆ

ล่าสุด สามารถดำเนินการลดค่าเช่านาให้แก่ผู้เช่านาได้จำนวน 380,965 ราย โดยลดค่าเช่านาลงได้เฉลี่ย ไร่ละ 200-816 บาท เป็นจำนวนเงินที่สามารถเจรจาลดค่าเช่านาลงได้กว่า 342 ล้านบาท

 มหาดไทย ยังสั่งการไปว่าการแก้ปัญหาเร่งด่วน“ทุกจังหวัด”จะต้องมีการเปิดสถานที่ราชการรวมทั้ง “ค่ายทหาร”วัด โรงเรียน และถนนบางสายที่มีรถน้อยให้เกษตรกรชาวนานำข้าวไปตาก เพื่อลดความชื้น ซึ่งอย่างน้อย 1 หมู่บ้าน จะต้องมีสถานที่ตาก 1 แห่ง และส่งเจ้าหน้าที่ไปพูดคุยให้กำลังใจ

ขอความร่วมมือโรงสีข้าวให้บริการ“อบข้าว”เพื่อลดความชื้นให้ได้ตามมาตรฐาน โดยคิดค่าบริการตามที่ผู้ประกอบการโรงสีกับเกษตรกรชาวนาได้ตกลงกัน ให้ ธ.ก.ส.เร่งจำหน่ายข้าวเก่าตามโครงการรับจำนำยุ้งฉาง ปี 2558/2559 โดยเร็วที่สุด เพื่อเกษตรกรชาวนาจะได้มียุ้งฉางเก็บข้าวเปลือก ให้พาณิชย์จังหวัด จัดทำราคาข้าวประจำพื้นที่ ส่งให้อำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ประชาสัมพันธ์ให้ชาวนาทราบข้อมูลราคา และแนวโน้มทุกวัน จัดหาภาชนะ หรือกระสอบราคาถูกให้ชาวนาเก็บข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ จัดหาสถานที่เก็บกลาง เช่น ยุ้งฉาง อาคารว่าง ให้จัดเก็บข้าวที่ชาวนา มิให้ทิ้งร้างโดยไม่เกิดประโยชน์

มหาดไทย ยังขอให้จังหวัดสำรวจจำนวนยุ้งฉางของชาวนาในพื้นที่ สำหรับรองรับปริมาณข้าวเปลือกเพื่อสนับสนุน“โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีของ ธ.ก.ส. ให้มีการวางแผนขายข้าวเปลือกเป็นช่วงๆ โดยให้แบ่งส่วนบริโภคเก็บไว้ ส่วนที่จำเป็นต้องใช้เงิน และรณรงค์ให้มีการเก็บในยุ้งฉางเพื่อชะลอปริมาณข้าวเปลือกออกสู่ตลาด

นอกจากนี้ ยังขอให้ผู้ว่าฯ รณรงค์ให้ข้าราชการ พนักงาน ประชาชนที่มิใช่ชาวนา ซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในราคาเป็นธรรมเก็บไว้ จำนวนตามสมควร เพื่อสีรับประทานเอง จะได้คุณค่าและปลอดภัย แนะนำโรงสี สหกรณ์ หรือแหล่งซื้อข้าว ที่มีมาตรฐานราคาเป็นธรรมประจำอำเภอ ควบคุมไม่ให้มีการเอาเปรียบจากความชื้น การชั่ง หรือหักเจือปน และให้โรงสีขนาดกลาง-เล็ก สีข้าวให้ชาวนาในราคาที่เหมาะสม

มหาดไทย ยังตั้งเป้าว่า หลังเดินหน้าตามแผนจากนั้นชุดปฏิบัติการตำบล (ชปต.) ที่จะได้จัดตั้งจากปลัดอำเภอ ผู้ประสานงานตำบล พัฒนาการตำบล เกษตรตำบล เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.ประจำหน่วย และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะเข้าพบชาวนาโดยตรงเพื่อรับข้อมูล และแนะนำ เช่น การลดต้นทุนการผลิตข้าว การให้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี การผลิตข้าวอินทรีย์ หรือการจัดเก็บเมล็ดข้าวพันธุ์ที่มีคุณภาพ 

ทั้งนี้ ยังมีมาตรการเพิ่มคุณภาพข้าวเปลือก มาตรการส่งเสริมการขายข้าวให้ผู้บริโภค ตรงนี้รวมถึงการหา/สร้างกลุ่มผู้ซื้อข้าวสารโดยตรงกับหน่วยราชการต่างๆ การผลิตข้าวหอมมะลิ 5 กิโลกรัมโดยตรง รณรงค์มอบข้าวสารเป็นของขวัญในเทศกาลต่าง ๆ การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายโดยตรง ในห้างสรรพสินค้าในจังหวัด โรงแรม หรือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัด พิจารณาจัดทำ “ตลาดนัดข้าวสาร” “ถนนจำหน่ายข้าวสาร”โดยใช้ช่องทาง“บริษัทประชารัฐรักสามัคคี”

มหาดไทย ยังขอให้จังหวัดจัดทำ “Matching”ซือ้ขายข้าวระหว่างชาวนากับผู้บริโภค ในลักษณะ“จังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตข้าว”ประสานกับ “จังหวัดที่ต้องการบริโภคข้าว”หรือกลุ่มธุรกิจที่ต้องการข้าวเป็นวัตถุดิบ ให้“รณรงค์ขายผลิตผลโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง”มีสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เป็นแกนกลางในการจัดหาสถานที่ และร่วมดำเนินการ และสุดท้าย น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้เป็นวิถีการดำเนินชีวิตของชาวนา 

“แนวทางการบริหารจัดการข้าวเพื่อช่วยเหลือชาวนา ปีการผลิต 2559/60 นี้กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า เพื่อเป็นแนวทางเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการที่เกี่ยวข้องนำไปใช้บูรณาการแก้ปัญหาควบคู่กับการใช้ศาสตร์และศิลป์ ในการปกป้องเกษตรกรชาวนามิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ "


กำลังโหลดความคิดเห็น