xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดยุทธการ รถไถ ชน รถถัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลายเป็นเรื่องเคยชิน เกิดขึ้นให้เห็นอย่างคุ้นตาไปแล้ว สำหรับความทุกข์ของเกษตรกรชาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่ “กลไกตลาด” ถูกทำลายลงไปอย่างย่อยยับกับการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว “หมื่นห้าทุกเมล็ด” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เป็น “มรดกบาป” สร้างความเสียหายในหลายมิติให้ประเทศชาติ

เรื่องความเสียหายของงบประมาณก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการทางกฎหมายที่ไล่เบี้ยกับ “จำเลย” หลายราย รวมไปถึง “คุณหนูปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น แม้จะมีการทักท้วงจากหลายฝ่ายแล้วก็ตาม

หากแต่ยังไม่มีช่องทางใดที่สาวไปถึง “ผู้บงการตัวจริง” ได้เลย

ยามที่ราคาข้าวร่วงดิ่วเหวแบบกู่ไม่กลับ อ้างอิงจากการลงพื้นที่สำรวจราคาข้าวเปลือกของแต่ละจังหวัดของกระทรวงพาณิชย์ และสมาคมโรงสีข้าวไทย ที่พบว่า ราคาซื้อ - ขายล่วงหน้า ณ เดือน ธันวาคม 2559 ที่ผู้ส่งออกซื้อข้าวสารหอมมะลิจากโรงสีอยู่ที่ตันละ 15,800 บาท เมื่อทอนเป็นราคาข้าวเปลือกจะอยู่ที่เพียงตันละ 8,000 กว่าบาทเท่านั้น

ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี

ยิ่งไปกว่านั้นตัวเลขตันละ 8,000 กว่าบาทยังเป็นตัวเลขสำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิที่มีคุณภาพสมบูรณ์ หรือที่มีค่าความชื้นไม่เกิน 30% ส่วนข้าวเปลือกที่ความชื้นสูงกว่านี้ หรือเป็นข้าวปลอมปนราคาจะยิ่งร่วงลงไปอีกอยู่ที่ตันละประมาณ 5,000 บาทเศษๆ จนกลายมาเป็นตัวเลขกลมๆว่า ชาวนาขายข้าวเปลือกได้แค่กิโลกรัมละ 5 บาทเท่านั้น ซึ่งตัวเลขที่ว่าแตกต่างจาก “ข้าวสาร” ที่บรรจุหีบห่อสวยงามขายกันในห้างร้าน ที่พุ่งทะยานไปกิโลกรัมละเกือบ 80 บาทเข้าให้แล้ว

แต่ชาวนาบางส่วนก็จำเป็นต้องเก็บเกี่ยว เนื่องจากประเมินแล้วว่าหากปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปมากกว่านี้ ความเสียหายของข้าวเปลือกก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งยังมีภาระหนี้สิน ค่าปุ๋ย ค่ายา เป็นที่มาของดอกเบี้ยต่างๆ จนจำใจยอมขายขาดทุนดีกว่าปล่อยทิ้งไว้ให้ขาดทุนมากกว่านี้ หรือเสียดอกเบี้ยเป็นเท่าทวีคูณ

ซึ่งเงินทุนที่ไปกู้ยืมก็เอาจากทาง “เถ้าแก่โรงสี” นั่นแหละ
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลั่งน้ำตาในขณะลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมเกษตรกรชาวนา พร้อมประกาศช่วยซื้อข้าวนำมาขายใน กทม.
เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบกว่า กระบวนการวัดค่าความชื้นของข้าวเปลือกที่ชาวนาขนไปขายให้แก่โรงสีนั้น ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของทางโรงสีอีกต่างหาก แม้จะมีการกำหนดมาตรฐานตัวเรื่องที่ว่าไว้แล้ว แต่ก็มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการกลโกงเครื่องวัดค่าความชื้นของโรงสีออกมาให้ได้ยินอยู่เป็นระยะๆ อีกทั้งปัญหาที่ชาวนาต้องพึ่งพิง “เงินกู้” จากเจ้าของโรงสี กลายมาเป็น “บุญคุณ” ทำให้ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เงื่อนไขที่ทางโรงสีกำหนดไว้ทุกประการ

พูดง่ายๆ “ชาวนา” ก็เป็นแค่ “ลูกไก่” ในกำมือ “โรงสี”

เงื่อนไขที่ทางโรงสีตั้งขึ้นนั้น มีหลายเรื่องที่ดูมี “เจตนาไม่บริสุทธิ์” ทั้งการกำหนดสัมปทานพื้นที่ของแต่ละโรงสี โดยที่ชาวนาไม่สามารถข้ามเขตหรือย้ายโรงสีได้แม้ว่าจะได้ราคาดีกว่า เพราะจะถูก “เถ้าแก่โรงสี” ที่รวมหัวกันสั่ง “บอยคอต” ไม่รับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนารายนั้นทันที

เช่นเดียวกับการที่ชาวนาจะนำข้าวเปลือกไปตรวจวัดค่าความชื้นหรือชั่งตวงน้ำหนักกับ สหกรณ์การเกษตรกลาง ก่อน ก็ไม่สามารถทำได้ ทั้งที่หน่วยงานดังกล่าวตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยงานกลางระหว่าง “ชาวนา - โรงสี” ในการตรวจวัดมาตรฐาน-น้ำหนักข้าวเปลือก เพราะเมื่อทำเช่นนั้น “เถ้าแก่โรงสี” ก็จะมองว่า ชาวนาหัวหมอ ส่งผลให้ถูก “บอยคอต” จากโรงสีที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกันทั้งหมด

นี่คือความยากลำบากของเกษตรชาวนา ที่ถูกบีบคั้นอย่างชัดเจน ดังนั้นการจะพูดว่า โรงสี “กดราคา” ข้าวเปลือก จึงไม่ได้เกินเลยไปจากความเป็นจริงเท่าไร

จึงเกิดปรากฎการณ์ที่น่าชื่นชม เมื่อมีชาวนาหลายรายนำข้าวเปลือก มาสีเป็นข้าวสาร แล้วนำออกขายตรงผ่านระบบออนไลน์ หรือกรอกถุงเร่ขายเองตามท้องถนน จนกลายเป็นกระแสที่พี่น้องประชาชนทั้งประเทศเห็นอกเห็นใจ “กระดูกสันหลังของชาติ” ถึงขนาดหน่วยงาน องค์กร มูลนิธิ ต้องออกมาช่วยรับซื้อ เพราะสงสารชาวนาที่ตกระกำลำบาก ถูกกดขี่จากโรงสี กลายเป็นการรวมน้ำใจของคนไทยอีกครั้งหนึ่ง

น่าชื่นชมในความกล้าหาญที่ “ชาวนา” ลุกขึ้นสู้ด้วยลำแข้งตัวเอง เพื่อปลดแอกจาก “เถ้าแก่โรงสี”

ที่ว่าไปคือสิ่งที่เกษตรกรชาวนาถูกกกระทำ รวมไปถึงพฤติกรรมของ “เถ้าแก่โรงสี” ที่ขูดเลือดขูดเนื้อมองแต่กำไรมากกว่าความมีมนุษยธรรม

แถมยังมีอะไรบางอย่างแอบแฝง ด้วยความใกล้ชิดแอบอิงระหว่าง “นักการเมือง” กับ “เจ้าของโรงสี” ที่เป็นเหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่ากันมาโดยตลอด จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ราคาข้าวตกกระหน่ำยิ่งกว่าซัมเมอร์เซลล์ ซึ่งมาจากความ “เขี้ยว” ของทางโรงสีนั้น เป็น “ทฤษฎีสมคบคิด” ของ “ฝ่ายการเมือง - โรงสี” ที่ต้องการขยี้ความเดือดร้อนของชาวนา ให้เกิดเป็นแรงกดดันที่ถาโถมมาถึง “รัฐบาลทหาร”

เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มการเมืองฝ่ายต้านก็จ้องตาเขม็งหาเรื่องขย่ม “เรือแป๊ะ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาโดยตลอด แต่หลายประเด็นจุดไม่ติด ไทม์มิ่งไม่ได้

หลายประเด็นมีข้อบ่งชี้ว่า ฝ่ายต้านไม่ได้สงบนิ่งอะไรเลย แต่รอเวลาที่รัฐบาลทหารพลาดอยู่เสมอ แม้กระทั่งช่วงนี้ก็ตาม ซึ่งถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาคือ ไทม์มิ่งที่ฝ่ายต้านเคยหมายมั่นปั้นมือว่าจะพิชิต “บิ๊กตู่” ให้ลงจากอำนาจให้ได้

โดยการอาศัยวันครบรอบต่างๆ ในการเผด็จศึก ไม่ว่าจะเป็นโอกาสครบรอบ 40 ปี
 
เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ “แก๊งคนเดือนตุลาฯ” สุมหัววางแผนกันมาเป็นแรมปีเพื่อจุดกระแส หรือแม้แต่ประเด็นการตรวจสอบคนใกล้ชิด “บิ๊กตู่” อย่างเข้มข้นเพื่อดิสเครดิตไปถึงตัวผู้นำรัฐบาล ทั้งกรณีลูก- เมียของ “บิ๊กติ๊ก” พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม หรือทริปฮาวายของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม

ขั้วอำนาจเก่าหรือฝ่ายต้านนั้นรอจังหวะงามๆ โดยเฉพาะเงื่อนไขที่จะเข้าทาง โดยไม่ต้องออกแรงและเนียนที่สุดนั่นคือ “ปัญหาปากท้อง” เพียงแต่ที่ผ่านมา ยังไม่เป็นรูปธรรมพอให้คนจะออกมาแสดงความไม่พอใจรัฐบาล พยายามขยี้ซ้ำ “จุดอ่อน” ของ คสช.อย่างฝีมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่เปรียบเสมือน “จุดบอด” มาตั้งแต่ “รัฐบาลประยุทธ์ 1” แต่หลายครั้งก็ถูกย้อนไปว่า เป็น “มรดกบาป” ที่รัฐบาลที่แล้วทิ้งเอาไว้ ย้อนศรกลับไปเป็นจุดสลบของฝ่ายต้านเช่นกัน

แล้วด้วยเกษตรชาวนาส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคอีสาน รวมทั้งที่ภาคเหนือบางส่วน ซึ่งก็เป็นพื้นที่ฐานเสียงของขั้วอำนาจเก่า “โมเดลปฏิวัติชาวนา” จึงผุดขึ้นมาบน “วอร์รูมตึกย่าน ถ.เพชรบุรี” เคาะกันว่า เป็นประเด็นที่จับต้องได้ง่าย เพราะราคาข้าวมันตกชะลูด แม้กระทั่งคนธรรมดาก็สังเกตเห็นได้

“ผู้บงการตัวจริง” ที่สร้างความฉิบหายให้กับโครงการรับจำนำข้าวมาแล้ว จึงรับหน้าที่ “เดินงาน” ด้วยตัวเอง ในการวางแผนเป็นขั้นตอน เพื่อบีบคั้นกดดันให้ “ชาวนา” ออกมาชนกับ “ทหาร” ให้ได้

การใช้กลไกเครือข่ายของ “เถ้าแก่โรงสี” ที่มีคอนเนคชั่นกับนักการเมืองในพื้นที่มาอย่างยาวนาน อีกทั้งยัง “อิ่มหมีพีมัน” ร่วมกันมาในสมัยโครงการรับจำนำข้าว ตามประสาคนพูดจาภาษาเดียวกัน จึงรับลูกกันเป็นทอดๆแบบที่แทบไม่ต้องคิดเลยด้วยซ้ำ

ขั้นแรกก็ให้ “เถ้าแก่โรงสี” เพิ่มดีกรีเอารัดเอาเปรียบชาวนาให้หนักข้อยิ่งขึ้น เพราะเชื่อว่าหากถึงจุดเดือด ช่าวนาก็พร้อมจะควบ “รถไถ” เข้ามาบุกกรุงเพื่อ “ล้มรัฐบาล” เหมือนในอดีต โดยไม่สนใจว่าวันนั้นอยู่ในยุครัฐบาลทหารที่มียานพาหนะเป็น “รถถัง”

อีกฝั่งก็ให้ลิ่วล้อออกมาประโคมความยากลำบากของชาวนา ในวันที่ราคาข้าวตกต่ำ เน้นเฉพาะราคาที่ต่ำมากๆอย่าง ราคาข้าวเปลือกกิโลกรัมละ 5 บาท ให้เกิดความรับรู้ในวงกว้าง

แต่จะว่าไปแผนการที่ว่าก็ไม่ได้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเท่าไร ฝ่ายทหารที่มีหน่วยลงพื้นที่รับรู้ปัญหาจากชาวบ้านเป็นระยะๆ บวกกับข่าวกรองของฝ่าย เสธ. ก็ระแคะระคายได้อย่างไม่ยากเย็น จนรู้ทัน “ขบวนการผสมโรง” ที่พยายามปลุกปั่นยุยงสร้างสถานการณ์หวังให้เกิดการลุกฮือของเกษตรชาวนา ประกอบกับมีการปล่อยข่าวในหลายพื้นที่โดยหาต้นตอไม่ได้ว่า ผู้นำชาวนาบางคนขู่จะนำชาวนาออกมาปิดถนนประท้วง

จึงเป็นที่มาของการให้สัมภาษณ์ในลักษณะ “ดักคอ” ของ “เสธ.ไก่อู” พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำหนด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า มีเบาะแสขบวนการสร้างสถานการณ์หวังจุดชนวนม็อบชาวนาแล้ว โดยมีความเคลื่อนไหวมากเป็นพิเศษที่ จ.พิจิตร

สำทับด้วย พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยืนยันข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่า มีความเคลื่อนไหวของขบวนการปลุกปั่นยุยงให้ชาวนาลุกฮือจริงในภาคอีสาน-ภาคกลาง

ยังไม่รวมกับข้อมูลจาก “มือปราบจำนำข้าว” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่หวดไปตรงๆเลยว่า โรงสีร่วมมือกับกลุ่มอำนาจเก่าทุบราคาข้าวซ้ำเติมชาวนา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ประกาศมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวผ่านโครงการจำนำยุ้งฉาง โดยข้าวเปลือกหอมมะลิจะได้ตันละ 13,000 บาท
แม้จะรู้ว่าเป็น “แผนชั่ว” ของบางฝ่าย และจับได้ไล่ทันแล้ว แต่ “รัฐบาลลุงตู่” ก็ต้องหาทางช่วยชาวนาที่กำลังลำบากสุดขีด กและเอาตัวเองหลุดพ้นดงห่ากระสุนของฝ่ายการเมืองในครั้งนี้ให้ได้ ถ้าปล่อยไว้ก่อนโดยไม่เร่งแก้ไข สุดท้ายตัวเองจะตกที่นั่งลำบากเช่นกัน เพราะปัญหาเช่นนี้ ชาวนาไม่ฟังอยู่รู้แล้วว่า เป็นการเมือง แต่เรื่องปากท้องคือ เรื่องที่จับต้องได้ ไม่มีใครรอ และย่อมกดดันรัฐบาลให้หามาตรการอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือ

ก็อย่างที่เห็น รัฐบาลรีบประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เพื่อคลอดมาตรการ จากนั้นไม่เว้นอีกวัน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามมติของที่ประชุม นบข. ที่กำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าว โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีในปีการผลิต 2559-60 เฉพาะข้าวหอมมะลิ ชาวนาจะได้รับเงินทั้งสิ้นตันละ 13,000 บาท สำหรับเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉาง ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ก็สามารถขายได้ในราคาตลาด รัฐบาลจะช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว และปรับปรุงคุณภาพอัตราตันละ 2,000 บาท

ในชื่อของ “โครงการรับจำนำยุ้งฉาง” ซึ่งเคยใช้มาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปีกลาย โดยปีนี้เบ็ดเสร็จแล้วข้าวเปลือกหอมมะลิจะได้ตันละ 13,000 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน “ห้ามเลือด” ของชาวนาเป็นการชั่วคราวไปก่อน

แต่ทางฝ่ายต้านก็ยังไม่ลดละความพยายาม พอรัฐบาลอนุมัติการ “รับจำนำยุ้งฉาง” ก็ปั่นกระแสเรื่องที่ “รัฐบาลประยุทธ์” กำลังดำเนินการเอาผิดกับคนที่เกี่ยวข้องใน “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” กรณีทำโครงการรับจำนำข้าวจนก่อให้เกิดความเสียหายไม่รู้กี่ล้านล้านบาท

ว่าจะจำนำยุ้งฉางหรือข้าวทุกเมล็ด มันก็คือๆ อีหรอบเดียวกัน

กระนั้นก็มีบางส่วนที่ยังไม่พอใจ ตรงนี้เป็นปัญหาระยะยาวที่รัฐบาลต้องขบคิดว่า ลำพังกรอบที่ตัวเองวางไว้จะแก้ปัญหาได้มากน้อยเพียงใด

อีกทั้งยังเจอ “วรรคทองล่อเป้า” จากช็อตที่ “พี่ป้อม” ที่ประชดประชันให้ไปขายปุ๋ยแทนขายข้าว เพราะราคาดีกว่า เรียกแขกได้บานตะไท แม้ภายหลังจะมาแก้ตัวว่า หมายถึงนักข่าวที่ถาม แต่มันก็ทำรัฐบาลเสียรังวัดไปไม่น้อย จนบางคนสงสัยตกลง “พี่ป้อม” ตั้งใจจะช่วยหรือซ้ำเติมกันแน่พูดแบบนี้

นี่ถ้าไม่แก้ตัวหลายคนฟันธงไปแล้วว่า นี่คือ “ไส้ศึก” ชัดๆ

พลันที่รัฐบาลปล่อย “โครงการรับจำนำยุ้งฉาง” ออกไป ก็ก่อให้เกิดกระแสการยอมรับจากเกษตรชาวนาส่วนใหญ่ หากแต่ฝ่ายต้านก็ยังเดินเกมป่วนต่อเนื่อง คราวนี้ก็ยังเป็นคิวของ “เถ้าแก่โรงสี” ในนาม คณะกรรมการบริหารสมาคมโรงสีข้าวไทย แถลงการณ์ขอยุติบทบาทตัวเอง โดยอ้างว่าเพราะกระแสสังคมมีทัศนะในเชิงลบต่อโรงสีข้าว เข้าใจผิดคิดว่าโรงสีเป็น “พ่อค้าคนกลาง” ที่เอารัดเอาเปรียบชาวนา

ก็รู้กันอยู่ว่า “เถ้าแก่โรงสี” หรือจะเป็น “สมาคมโรงสีข้าวไทย” อะไรก็แล้วแต่ หัวหางเป็นใคร มีความสัมพันธ์กับกลุ่มไหน แล้วเหตุใดจึงมาเคลื่อนไหวสอดรับกับทางฝ่ายการเมืองราวกับเขียนสคริปต์กันไว้เป๊ะๆ

ไคลแม็กซ์อยู่ที่ “คุณหนูปู” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “ระบอบทักษิณ” ในขณะนี้ โดดลงมาเล่นเกมด้วยตัวเอง ตระเตรียมหมายกะทันหันบุกไปที่ จ.อุบลราชธานี - สุรินทร์ ท่ามกลางการต้อนรับของเกษตรกรชาวนา ที่ออกมาตะโกนให้ “คุณหนูปู” กลับมาเป็นนายกฯ เพื่อปลุกผีโครงการรับจำนำข้าว

ช็อตเด็ดอยู่ที่ต่างฝ่ายต่างหลั่งน้ำตา ฝ่ายหนึ่งหลั่งน้ำตาเพราะความทุกข์เข็ญ อีกฝ่ายหลั่งน้ำตาด้วยความเห็นใจพี่น้องเกษตรกร ก่อนที่ “อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์” จะประกาศของซื้อข้าวจากชาวนาเพื่อขนมาขายในเมืองกรุง แบ่งเบาภาระของพี่น้องเกษตรกร

หากติดตามคอมเมนต์ในสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่ออกอาการสะอิดสะเอียนกับ “ดรามา” ครั้งนี้ เหตุเพราะมันเหมือน “จัดฉาก” เตี๊ยมกันมายังไงยังงั้น

ในขณะที่ “ระบอบแม้ว - ขั้วอำนาจเก่า” เดินเกมบี้ตามพล็อตที่วางไว้แบบไม่พักให้หยุดหายใจ ฝ่าย “รัฐบาล คสช.” ก็งัดไม้แข็ง-ไม้อ่อนมาแก้เกมเช่นกัน

“ไม้อ่อน” ก็ให้หน่วยงานภาครัฐ กระทรวงทบวงกรมต่างๆช่วยซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรง คล้ายกับเมื่อครั้งช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง

ขณะที่ “ไม้แข็ง” นั้นน่าสนใจ เพราะไม่เพียงแค่แอกชั่นของ “นายกฯลุงตู่” ที่สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจโรงสีทั่วประเทศว่า จงใจบีบชาวนา สร้างปัญหาอย่างที่ได้รับการร้องเรียนเข้ามาหรือไม่

ยังมีเสียงเข้มๆของ “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการ คสช.ที่สั่งการให้กำลังพลลงพื้นที่ช่วยเกี่ยวข้าว เพื่อลดต้นทุนให้ชาวนา รวมทั้งสั่งการให้ ทุกหน่วยของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ร่วมกับหน่วยงานอื่นในการลงพื้นที่ตรวจโรงสีข้าวตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมุ่งไปที่ประเด็น “ฝ่ายการเมือง - ผู้ประกอบการโรงสี” ร่วมมือกันทำให้ราคาข้าวตกต่ำ จริงหรือไม่อย่างไร

ถือว่า “กองทัพ” เปิดเกมรุกจัดการขบวนการป่วนเมืองเต็มตัว ทำหมันยุทธการเสี้ยมที่หวังเข็น “รถไถ” มาชน “รถถัง” และเลือกหวด “กำปั้นเหล็ก” ไปที่ “จอมเสี้ยม” ทั้งหลาย.


กำลังโหลดความคิดเห็น