xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดราม่า น้ำตาริน ชีวิตชาวนาไทย vs ชาวนาโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -วนกลับมาราวกับละครน้ำเน่าที่นำมาผลิตซ้ำเป็นประจำทุกฤดูกาลผลิต นั่นคือเรื่องราวโศกเศร้าเคล้าน้ำตาของชาวนาไทย กระดูกสันหลังผุๆ ของสยามประเทศที่ผลิตข้าวส่งออกอันดับหนึ่งของโลก

กระทั่งไม่น่าเชื่อว่า “เมืองไทยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ซึ่งปลูกข้าวเพื่อกินเพื่อขายมานับร้อยๆ ปี แต่หนีวงจรอุบาทว์ข้าวเปลือกถูก ข้าวสารแพง ชาวนายากจน นายทุนโรงสีพ่อค้าส่งออกขูดรีดร่ำรวย นักการเมืองฉกฉวยโอกาส ไปไม่พ้น และคงจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนานเท่านาน หากยังทำและแก้ปัญหากันแบบเดิมๆ

ก่อนอื่นต้องยอมรับความจริงกันว่า สินค้าเกษตรทั้งหลายทั้งปวงนั้นมีราคาขึ้นๆ ลงๆ ตามความต้องการของตลาดโลกและปริมาณการผลิต ปีไหนฝนฟ้าดี ผลิตได้มากกันทั่วโลกราคาก็ตก ปีไหนแห้งแล้งผลผลิตตกต่ำความต้องการมาก ราคาก็เพิ่มขึ้น นั่นเป็นกลไกตลาดค้าเสรีในระบบทุนนิยม

แต่ในขณะเดียวกัน ตลาดสินค้าเกษตรก็มีการ “เก็งกำไร” กันเหมือนตลาดหุ้นเพราะมีตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า นักปั่นราคา นักเก็งกำไร มีส่วนทำให้กลไกตลาดสินค้าเกษตรบิดเบือนไปอย่างเช่นราคาข้าวที่ตกต่ำเป็นประวัติการณ์ในตอนนี้

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ ทีดีอาร์ไอ ก็ว่าไว้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเก็งกำไรล่วงหน้า โดยราคาซื้อขายข้าวหอมมะลิล่วงหน้า ณ เดือนธันวาคม 2559 ต่ำแตะระดับ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ต่ำกว่าปกติที่ซื้อขายกันอยู่ที่ 750-775 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ถือเป็นราคาต่ำสุดในรอบสิบปี บวกกับราคาข้าวของประเทศคู่แข่งถูกกว่าจึงกดราคาข้าวไทยให้ต่ำลง ไม่นับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังโงหัวไม่ขึ้น

เหลียวมองชาวนาไทยที่ทำนาเป็น “อาชีพแห่งชาติ” มาชั่วนาตาปี จากรุ่นปู่ย่าตายายมาถึงรุ่นพ่อรุ่นแม่และถ่ายทอดมาถึงรุ่นลูกในเวลานี้ แม้ว่าชาวนารุ่นใหม่จะหันมาใช้ควายเหล็กและเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยทั้งไถ หว่าน-ปักดำ หรือเก็บเกี่ยวแล้วก็ตาม

แต่สิ่งหนึ่งที่ยังพัฒนาไปได้น้อยมากๆ ก็คือ พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกและผลผลิตต่อไร่ที่ยังต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ขณะที่ต้นทุนการผลิตกลับเพิ่มสูงขึ้น จนแทบจะเรียกได้ว่านอกจากการนำเครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงานคนที่หายากแสนยากและราคาค่าจ้างแพงขึ้นแล้ว เรื่องอื่นยังคงเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนแปลงในทางที่ย่ำแย่ลงสำหรับชาวนา เช่น จากที่เคยเป็นเจ้าของนา ก็กลายเป็นผู้เช่านาของตัวเอง, ต้นทุนการผลิต ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเครื่องจักร ไถ หว่าน ดำ เก็บเกี่ยว ค่าเช่านา เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับหนี้สินที่มีแต่พอกพูน

แล้วเหตุไฉน ชาวนาจึงยอมอดทนอยู่ในวัฎจักรแห่งความทุกข์ทนนี้ เพราะนี่เป็น “อาชีพแห่งชาติ” การทำนาเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ กระทั่งยากจะเปลี่ยนแปลง ใช่หรือไม่ คำตอบมีทั้งใช่และไม่ใช่

ที่ว่าใช่ก็เพราะว่าการทำนาเป็นความเคยชิน ถึงฤดูกาลเพาะปลูกก็ลงมือทำเหมือนชาวบ้านชาวช่องคนอื่นเขา เคยทำกันมาก็ทำกันต่อไป และพื้นที่ที่ทำนาเป็นที่ลุ่มปลูกได้ผลดีก็แต่ข้าว ถ้าจะปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกอย่างอื่นก็ไม่มีทุน หากปีไหนข้าวได้ราคาก็โชคดีไป แต่ปีไหนราคาตกต่ำก็ถือเป็นคราวซวยไม่มีเงินใช้หนี้ รอปีหน้าฟ้าใหม่ ส่วนเงินทองใช้จ่ายประจำวันก็หยิบยืมหรือรอให้ลูกหลานนอกภาคเกษตรส่งมาจุนเจือ แต่อย่างน้อยๆ ก็มีข้าวกิน ซึ่งวิถีเช่นนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ทำนาปีละครั้ง และมีที่นาไม่มาก ปลูกข้าวได้แค่พอกินในครัวเรือนเหลือขายบ้างเล็กน้อย

ส่วนที่ว่าไม่ใช่ ก็เพราะว่าเป็นชาวนาก็ใช่ว่าจะยากจนข้นแค้นทุกข์ทรมานแสนสาหัสอย่างที่ดราม่าน้ำตารินกันไปทั้งหมดเสียเมื่อไหร่ เพราะอาชีพทำนาของชาวนาไทยภายใต้การอุปถัมภ์ค้ำจุนของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยนั้น อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีพืชเกษตรตัวไหนจะได้รับการอุดหนุนเท่ากับข้าวของชาวนาไทย ไม่มีรัฐบาลและนักการเมืองหรือนักรัฐประหารหน้าไหนกล้าปล่อยให้ชาวนาร่ำร้องขอความช่วยเหลือให้พยุงราคาข้าวแล้วไม่เหลียวแล ไม่เหมือนชาวไร่มันสำปะหลัง ชาวไร่ข้าวโพด หรือแม้แต่ชาวสวนยาง ที่บางครั้งรัฐบาลสามารถทำเมินหรือขู่กลับอย่าหือให้มีเรื่อง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การช่วยเหลือชาวนาเพื่อหาเสียงหรือสร้างคะแนนนิยมจากชาวนาซึ่งเป็นเกษตรกรกลุ่มใหญ่ของประเทศนั้น นักการเมืองหรือผู้บริหารประเทศ ก็ทำกันเป็นประเพณีไปแล้ว หากมองย้อนกลับไปจะเห็นโครงการช่วยเหลือชาวนาต่างๆ ทั้งจำนำข้าว จำนำยุ้งฉาง รับประกันราคา ฯลฯ วนไปแล้ววนกลับมาในชื่อต่างๆ แบบเหล้าเก่าขวดใหม่ หรือเหล้าเก่าขวดเก่า อะไรเทือกนั้น ทั้งชาวนาผู้รับและรัฐบาลผู้ให้ต่างยินดีปรีดาถ้วนหน้า

ไม่นับโรงสี พ่อค้า ผู้ส่งออก และข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ ธนาคารในกำกับ ที่ยืนปรบมือเชียร์อยู่ข้างๆ เพราะได้ร่วมเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่องไม่ว่าออกมาตรการช่วยเหลือชาวนาอะไรมาก็ตาม

ชีวิตชาวนาไทย จะว่าไปจึงไม่ได้อับจนหนทางไปเสียทั้งหมด

เมื่อจุดหมายปลายทางในการปลูกข้าวของชาวนาไทยภายใต้ระบบอุปถัมภ์อันเข้มแข็งของรัฐบาลเป็น win - win ของทุกฝ่าย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทำให้ชาวนาไทยอยู่ในสภาพอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ มีครอบครัวชาวนาไทยแทบนับจำนวนได้ที่น้อมนำพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปปรับใช้โดยปรับเปลี่ยนแบบแผนการผลิตตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ หรือการทำไร่นาสวนผสม พึ่งพาตัวเองอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเข้มแข็ง

ชาวนาไทยส่วนใหญ่ ยังยึดติดอยู่กับแบบแผนการผลิตเพื่อขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผืนนาในเขตชลประทานลุ่มเจ้าพระยาที่ทำนากันปีละ 3 - 4 ครั้ง ผลิตข้าวออกมาท่วมโลกบริโภคกันไม่ทันในแต่ละปี แล้วชาวนาก็ตกเป็นเหยื่ออันโอชะในวงจรอุบาทว์

ในอีกมุมมองหนึ่ง ความอ่อนแอของชาวนาไทย ใช่เป็นความต้องการแบบไม่ตั้งใจของทุกฝ่ายหรือไม่ ทั้งตัวชาวนาเองที่อยากผลิตข้าวพันธุ์อะไรก็ผลิตไป จะผลิตเท่าไหร่ ก็ทำไปตามใจนึก แถมชาวนาไทยรักอิสระเสรี ไม่นิยมรวมกลุ่มกันสร้างความเข้มแข็งและพัฒนายกระดับการผลิตไปถึงการขายถึงผู้บริโภคตัดวงจรโรงสีและพ่อค้าคนกลาง เพราะเดี๋ยวราคาตกก็เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วย ซึ่งก็ได้ผลเกือบทุกครั้ง การผลิตเองขายเองผ่านช่องทางออนไลน์และส่งตรงถึงมือผู้บริโภคที่เกิดขึ้นเพิ่งเป็นกระแสคึกคักก็ปีนี้

ส่วนรัฐบาลเองซึ่งใช้ชาวนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อหาเสียงสร้างคะแนนนิยม ก็อาจต้องการให้ชาวนาจมปลัก มีปัญหาลืมตาอ้าปากไม่ขึ้น ไม่เช่นนั้นรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยซึ่งมีองคาพยพที่รับผิดชอบด้านเกษตรไม่หวาดไหว เหตุไฉนถึงไม่สามารถการปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรสำเร็จลุล่วง ไม่ว่าจะโซนนิ่ง จะปรับเพิ่มลดพื้นที่เพาะปลูกพืชชนิดไหน จะปลูกข้าวพันธุ์อะไรที่เป็นที่ต้องการของตลาด ผลผลิตจะกี่มากน้อย ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นมีความชัดเจน ทุกอย่างไปตายเอาดาบหน้า และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากันไป

ฉะนั้น อย่าไปชี้นิ้วโทษแต่โรงสีและพ่อค้าส่งออกขูดรีดส่วนเกินถ่ายเดียว เพราะนิสัยพ่อค้าก็รู้อยู่แล้วว่าแสวงหากำไรสูงสุดเป็นสรณะ แถมยังมีเจ้าหน้าที่รัฐคอยเอื้ออำนวยประโยชน์อีกต่างหาก

แล้วชาวนาของประเทศอื่นในโลกนี้เป็นอย่างไร รัฐบาลของชาวนาเหล่านั้นบริหารจัดการกันปัญหาเช่นนี้อย่างไร ตามไปดูกัน เอาบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างเวียดนาม คู่แข่งสำคัญของไทยทั้งด้านการผลิตและส่งออกข้าวในโมงยามนี้ก่อน

โดยพื้นฐานเวียดนามนั้นเป็นประเทศสังคมนิยมที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ที่มีอำนาจสูงสุด และมีรัฐบาล ซึ่งแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีและรับรองโดยสภาแห่งชาติ ดังนั้น รัฐบาลเวียดนาม ไม่มีความจำเป็นต้องจับชาวนาเป็นตัวประกันและหาคะแนนนิยมทางการเมืองเหมือนกับไทย จึงสามารถกำหนดนโยบายข้าวและบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เคยเขียนถึงเรื่องนโยบายข้าวของเวียดนามที่เคยแซงหน้าไทยในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เอาไว้ สรุปรวมความ ก็คือ เวียดนาม เร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ตอบสนองความต้องการของตลาดโลก และเร่งนโยบาย ลด 3 เพิ่ม 3 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2549 เพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวและเพิ่มรายได้ ลด 3 คือ ลดปริมาณเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสม ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และลดการใช้ยาปราบศัตรูพืชและวัชพืช ส่วนเพิ่ม 3 คือ เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพ และเพิ่มผลกำไร ทำให้ชาวนาเวียดนามมีกำไรเพิ่มขึ้นอีก 20% พร้อมกับการจัดสรรที่ดินและเครื่องมือให้แก่ชาวนา รวมทั้งนโยบายด้านสินเชื่อและประกันภัย ชาวนาเวียดนามจึงถือว่าโชคดีกว่าชาวนาไทย

เวียดนามนั้น มีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทยเกือบสองเท่าตัว โดยพันธุ์ข้าวเกือบทั้งหมดเป็นข้าวเปลือกเจ้าอายุสั้น ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่สูงถึง 884 กิโลกรัม เมื่อเทียบข้าวนาปรังของไทยที่ให้ผลผลิต 660 กิโลกรัมต่อไร่ หรือข้าวหอมมะลิของไทยที่ราคาสูงแต่ผลผลิตต่อไร่ต่ำเพียง 337 กิโลกรัมต่อไร่ โดยเวียดนามมีต้นทุนการ ผลิตต่ำกว่าไทยร้อยละ 51 เพราะใช้แรงงานซึ่งมีราคาถูกในการผลิตเป็นหลัก

ส่วนนโยบายการส่งออก รัฐบาลเวียดนามมอบหมายให้สมาคมอาหารเวียดนาม ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดราคาส่งออกข้าวขั้นต่ำ หรือ “ราคาเดียว” ที่ขายให้ต่างประเทศทำให้ไม่มีการตัดราคากันเอง และทำหน้าที่จัดสรรโควต้าในการส่งออกข้าวให้แก่ผู้ส่งออกแต่ละราย โดยการค้าข้าวของเวียดนามครึ่งหนึ่งเป็นการค้าแบบรัฐบาลกับรัฐบาล ตลาดหลัก คือ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยเกือบทั้งหมดเป็นข้าวขาว 25% นอกจากนั้น เวียดนามยังร่วมมือการค้าข้าวกับต่างประเทศ เช่น ตั้งบริษัทร่วมทุนค้าข้าวกับกัมพูชาและจัดตั้งคลังสินค้าในต่างประเทศ

เห็นได้ชัดว่า ชาวนาเวียดนามนั้น อยู่ภายใต้แบบแผนการผลิตและการค้าข้าวที่มีรัฐบาลเป็นผู้กำหนดและบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ไม่ใช่ทำกันตามยถากรรมและไปตายเอาดาบหน้าเช่นชาวนาไทย

ส่วนอินเดีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งขันสำคัญในการส่งออกข้าว ชีวิตชาวนาอินเดีย อาจเรียกได้ว่าย่ำแย่กว่าชาวนาไทย ดังรายงานของสำนักข่าวอัลจาซีรา ที่ถอดบทเรียนปรากฏการณ์ชาวนาฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นวิกฤตใหญ่ของอินเดียว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมามีชาวนากว่า 300,000 ที่จบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ทั้งกินยาฆ่าแมลงหรือแขวนคอตาย รัฐมหาราช คือรัฐที่มีชาวนาตายมากที่สุด จำนวน 60,000 คน

อัตราการฆ่าตัวตายของชาวนาในอินเดียเพิ่มสูงถึง 47% ในแต่ละวันมีชาวนาฆ่าตัวตายถึง 41 คน เนื่องจากการทำการเกษตรในอินเดียเปรียบเหมือนกับการเสี่ยงโชค ผลผลิตที่ได้ขึ้นกับดินฟ้าอากาศและราคาขึ้นอยู่กับตลาดโลก เมื่อเผชิญสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ฝนที่ไม่ตกต้องตามฤดูกาล พื้นดินที่ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก เมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดี ขณะที่ชาวนาติดหล่มหนี้สินชนิดสลัดไม่หลุด สุดท้ายชาวนาอินเดียก็เลือกจบชีวิตหนีปัญหา

รัฐบาลของอินเดีย ก็แก้ไขปัญหาไม่ต่างจากรัฐบาลไทย ทุ่มงบลงไปพยุงราคาพืชผล โดยเมื่อต้นปี 2559 รัฐบาลอินเดีย ได้ทุ่มเงินประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์ หรือ ราว 45,500 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายของชาวไร่ชาวนา ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ผลิตผลตกต่ำจากภัยธรรมชาติและเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่เชื่อขนมกินได้เลยว่า มาตรการนี้ไม่ได้ผล

เหลียวมองชาวนาญี่ปุ่น ที่เป็นไอดอลของชาวนาไทยยุคใหม่ มีงานเขียนของสำนักข่าวอิศรา ที่ถอดบทเรียนการปลูกข้าวของชาวนาญี่ปุ่น จากการสัมมนา “โลกเปลี่ยนไว ชาวนาไทยต้องปรับตัว” เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา สรุปรวมความได้ว่า ชาวนาญี่ปุ่นในอดีตเคยเผชิญปัญหาผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ สต๊อกคงค้าง คุณภาพข้าวไม่สม่ำเสมอ และเป็นชาวนาสูงอายุเช่นเดียวกันกับไทย ไม่มีคนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตร แต่ด้วยความมุ่งมั่นของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องการดูแลภาคเกษตรกรรมเพื่อรักษาความมั่นคงด้านอาหาร และชาวนาญี่ปุ่นเองก็ต้องการสร้างความเข้มแข็งด้วยการรวมตัวกันผลิตและทำตลาดเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวนาญี่ปุ่นมีวันนี้

รัฐบาลญี่ปุ่น ได้ส่งเสริมให้ชาวนาผลิตข้าวสำหรับคนกินในปริมาณที่พอเหมาะ และส่งเสริมให้เปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกข้าวสำหรับทำอาหารสัตว์ทดแทนการนำเข้า ส่งเสริมการรวมกลุ่ม และมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพข้าวตั้งแต่เริ่มต้นเพาะปลูกยันเก็บเกี่ยว โดยใช้เครื่องจักรกลและเทคนิคการปลูกข้าวให้ได้คุณภาพสูง รวมทั้งพัฒนาระบบจัดจำหน่ายให้มีประสิทธิภาพ ผ่านนโยบาย 4 เสาหลัก คือ 1. ขยายความต้องการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ 2. เพิ่มมูลค่าผลผลิตอย่างเท่าทวีคูณด้วยนวัตกรรมใหม่ 3. สร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มเกษตรกร 4. จัดสรรงบประมาณสำหรับท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการเกษตรในท้องถิ่น

ความสำเร็จในการแก้ปัญหาของญี่ปุ่นจึงเกิดจากการประสานความร่วมมือกันของรัฐบาลและชาวนา ซึ่งผลจากนโยบายส่งเสริมการรวมพื้นที่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเกษตรกรรายเดี่ยวลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่องและการทำเกษตรขนาดใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นจากการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เกษตรให้คุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

การรวมกลุ่มของเกษตรกรหรือชาวนาญี่ปุ่นซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ชาวนาญี่ปุ่นร่ำรวยและมั่นคง จะมีทั้งนิติบุคคลรูปแบบบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด วิสาหกิจ และกลุ่มชุมชน ที่รวมกลุ่มเพื่อใช้เครื่องมือเกษตรร่วมกันและรวมกลุ่มแบบครบวงจร

จากจุดเริ่มแรกของการรวมกลุ่มที่ปลูกข้าวอย่างเดียวก็เพิ่มปลูกพืชอื่นเสริม มีการบริหารจัดการที่ดินร่วมกันและจัดจำหน่ายผลผลิต กระทั่งบริหารรูปแบบบริษัทแบบครบวงจรทั้งการผลิต แปรรูป และจัดจำหน่าย สร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในภาคเกษตรมากขึ้น และสามารถขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้นได้ง่าย

ในการพัฒนาสู่ความเป็นชาวนามืออาชีพแบบญี่ปุ่นนั้น การปลูกข้าวของญี่ปุ่นจะมีการเก็บข้อมูล วางแผนงานชัดเจน มีการกำหนดช่วงการปลูก ความสูงของต้นข้าว กอ สี เป้าหมายผลผลิต จำนวนรวง เมล็ด ทุกอย่างถูกกำหนดมาเป็นข้อมูลอย่างละเอียดทั้งหมด พร้อมกับมีปฏิทินการผลิตข้าวให้เหมาะกับข้าวแต่ละสายพันธุ์ ปลูกข้าวให้เหมาะแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีอุณหภูมิไม่เท่ากัน ซึ่งปฏิทินการปลูกข้าว จะจ่ายให้เกษตรกรทุกแห่งในประเทศญี่ปุ่น ชาวนาสามารถใช้เป็นแนวทางปลูกข้าวของตนเองได้

การทำนาที่ญี่ปุ่นถือว่าเข้มงวดที่สุดในโลก มีการควบคุมด้วยระบบบาร์โค้ด การทำงานแต่ละช่วงถูกบันทึกข้อมูลทุกกระบวนการของการผลิต สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ซึ่งทั้งหมดนั้นยืนอยู่บนพื้นฐานความมีวินัยและความเข้มแข็งของชาวนาญี่ปุ่นบวกกับความจริงจังในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล

แล้วชาวนาไทยภายใต้ระบบรัฐบาลอุปถัมภ์ จะพัฒนาก้าวไกลไปเป็น Smart Farmer ได้หรือไม่ หรือว่าจะมีแต่ฉากดรามา น้ำตาริน ที่วนมาทุกฤดูกาลเก็บเกี่ยว


กำลังโหลดความคิดเห็น