ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ราคาข้าวไทยตกต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ ดิ่งร่วงลงไปแตะกิโลกรัมละ 6 บาท กลายเป็นวิกฤตการณ์สร้างความเดือดร้อนแก่พ่อแม่พี่น้องชาวนาอย่างหนัก นัยหนึ่งยังผูกโยงเกมการเมืองแว่วว่ามีผู้ไม่ประสงค์ดีกดราคาข้าวให้ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน หวังดิสเครดิตรัฐบาลทหาร
ขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมกำลังดำเนินในรูปการณ์ 'พลิกวิกฤติเป็นโอกาส' ยื่นผ้าเช็ดหน้าช่วยซับน้ำตาพร้อมชี้ช่องแก่กลุ่มเกษตรกรกระดูกสันหลังของชาติ โดยหัวเรือใหญ่ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขับเคลื่อนแนวคิด 'ข้าวลูกชาวนา’ โครงการสนับสนุนให้ลูกหลานเกษตรกรมาจำหน่ายข้าวโดยตรงสู่ผู้บริโภค
ดร.เดชรัต เริ่มเคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Decharut Sukkumnoed ก่อนนัดระดมพลบรรดาลูกชาวนารวมทั้งผู้เกี่ยวข้องรวมแชร์ประสบการณ์เตรียมพร้อมสร้าง 'ลูกชาวนารุ่นใหม่' เปิดเครือข่ายซื้อขายข้าวพลิกฟื้นวิกฤตข้าวไทยอย่างเป็นระบบโดยไม่ผ่านกลไกพ่อค้าคนกลาง รณรงค์ให้ผู้บริโภคซื้อข้าวสารข้าวเปลือกจากชาวนาทั่วประเทศ
ภาพรวมของโครงการข้าวลูกชาวนาในการแก้ปัญหาวิกฤตราคาข้าว
โดยแนวคิดเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาวนะครับ หน้าที่ของระยะสั้นก็คือ เราดึงข้าวออกมาให้ได้มากที่สุด ทำอย่างไรจะดึงออกให้ได้สัก 1 ใน 4 ก็น่าจะช่วยทำให้ราคาข้าวที่มันตกหยุดตกและขึ้นมาได้ คือราคาข้าวตกเพราะข้าวมันออกมามาก เรียกว่า ข้าวต้นฤดูราคามันจะต่ำ และปลายฤดูมันจะค่อยๆ สูงขึ้น แต่ปีนี้ข้าวต้นฤดูมันจะต่ำแรง เราอยากจะหยุดการตกต่ำราคาข้าวต้นฤดูอย่าให้มันแรงเกินไป ทีนี้ ถ้าเราเอามาขายเองตัดวงจรส่วนหนึ่งไปราคามันจะกระเตื้องขึ้นได้
ส่วนเป้าหมายระยะยาว เราอยากให้ชาวนาทำเป็นอาชีพเสริม คล้ายๆ ว่าเป็นผู้ประกอบการรายย่อยในรอบหน้าได้ เราอยากให้ชาวนามีทางเลือกนี้อยู่เสมอ ต่อไปเขาจะมีทางเลือกเพิ่มขึ้น หนึ่งคือขายในระบบปกติ สองคือนำมาขายเองโดยให้ลูกช่วยขาย เมื่อชาวนามีสองทางเลือกนั่นหมายความว่าอำนาจต่อรองจะมากขึ้น ฉะนั้น งานที่ผมทำเป็นงานที่ทำทั้งโจทย์ระยะสั้นและโจทย์ระยะยาว
โมเดลชาวนาขายตรงเป็นแนวคิดที่มีมานานแล้วแต่ยังไม่เป็นรูปธรรม
ครับ มีคนทำอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ารอบนี้อาจจะเรียกว่ามันปลุกกระแสในสถานการณ์ที่ราคาข้าวตกต่ำลงบวกกับสถานการณ์ที่ชาวนาก็หาทางออก เราก็เสนอ 'โมเดลลูกชาวนา' ซึ่งเท่าที่เห็นลูกชาวนาหลายคนรู้ทันทีตัวเองสามารถทำได้ แต่ว่าบางคนอาจจะขาดประสบการณ์เราก็เลยจัดเวลาขึ้นมาเมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา เชิญชวนคนที่มีประสบการณ์เคยทำข้าวขายอยู่แล้วมาเล่าให้กับคนที่ไม่เคยทำ
หลังจากมีการเผยแพร่แนวคิดนี้สู่สาธาณะ กระแสตอบรับมันเข้ามาเยอะเลยทีเดียว ถามว่ามีอุปสรรคใดหรือไม่ ไม่เชิงอุปสรรคนะครับ คือเราไม่ได้ตั้งใจจะทำเป็นลักษณะรวมศูนย์ เราอยากให้ต่างคนต่างดำเนินการไปเลย สมมติเราอยู่ที่บริษัทนี้มีใครเป็นลูกชาวนาก็เอามาขายในบริษัท เอามาขายใกล้ๆ บ้าน เอามาขายที่มหาวิทยาลัย เราอยากให้เป็นไปลักษณะการกระกระจายตัวกันออกไป
เหตุผลสำคัญเราต้องการให้ข้าวออกมาจากระบบให้เยอะ ฉะนั้น ถ้ามีศูนย์กว่าที่จะประสานมันก็จะเกิดคอขวดขึ้น แต่มันก็เกิดขึ้นเพราะว่ากระแสตอบรับมาก และเราอาจจะไม่ได้เตรียมความพร้อมได้ถึงขนาดนั้นก็มีเลยเกิดปัญหาคอขวดเกิดขึ้นบ้าง แต่ตอนนี้หลายที่ก็ดำเนินการได้เองแล้ว ติดต่อซื้อข้าวกับชาวนาในพื้นที่ได้เลย
เชื่อว่าคนไทยจำนวนมากต้องการช่วยอุดหนุนชาวนาโดยตรง แต่ท้ายที่สุดจะรักษาผู้บริโภคกลุ่มนี้ไว้ได้อย่างไร
อยู่ที่คุณภาพแล้วครับ ผู้บริโภคเขาสนใจที่จะซื้อโดยตรงอยู่แล้ว ในแง่การตลาดเรามีโอกาสพิเศษอยู่แล้ว แม้เราจะไม่มีหน้าร้านแต่เขาสนใจข้าวของเรา ฉะนั้น อยู่ที่ว่าเราจะรักษาคุณภาพไว้ได้ไหม ประเด็นนี้ต้องฝากพี่น้องชาวนาว่าเมื่อโอกาสมาถึงต้องทำให้ดีที่สุด เพราะว่าถ้าไม่มีโอกาสนี้เราก็จะกลับไปสู่ช่องทางที่จำกัดเช่นเคย
การอยู่รอดของชาวนายุคใหม่ ต้องมีการวางแผนที่ดีมีข้อมูลที่ดีทำให้น้อยลงแล้วเข้มข้นขึ้น หมายถึงว่าไม่ต้องไปทำหลายพื้นที่เยอะแต่ว่าดูแลแต่ละพื้นที่ให้ดีที่สุด และมีความจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยง ไม่ใช่ปลูกพืชชนิดเดียวต้องปลูกพืชอย่างอื่นบ้าง แต่ทั้งหมดนี้ต้องวางแผนการตลาดนะ ไม่ใช่ทำเพราะเขาว่าอย่างนั้นเขาว่าอย่างนี้ ซึ่งสิ่งที่เราผลักดันอยู่ชาวนาจะเห็นกับตาเลยว่า ข้าวที่ขายไปแบบไหนคือสิ่งที่ผู้บริโภคชอบ แล้วก็อาจจะปลูกที่เขาไม่ชอบให้มันน้อยลง
ความคาดหวังในการผลักดันแนวคิดดังกล่าวแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ
คาดหวังว่าในระยะสั้นปลายสัปดาห์นี้ หรือต้นสัปดาห์หน้าราคาข้าวหยุดตกลงได้ก็น่าจะเป็นการดี ผมกำลังดูอยู่ว่ามันจะเพียงพอหยุดความตกต่ำของราคาข้าวได้ไหม อย่างที่บอกระยะยาวเราหวังว่าพี่น้องเกษตรกรลูกหลานของพี่น้องเกษตรกรจะมาทำในลักษณะนี้เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เป็นจริงเป็นจังมากพอที่จะทำให้ชาวนามีทางเลือกตลอดเวลา
เวลาผ่านไป10 ปี หรือ 100 ปี ทำไมชาวนาไทยยังยากจนเหมือนเดิม
ผมว่าน่าจะจนกว่าเดิม (หัวเราะ) คือผมคิดว่าการผลิตทางการเกษตรมันมีความเสี่ยงอยู่แล้วโดยตัวมันเอง ทีนี้ เราทำการผลิตโดยที่ไม่สนใจการตลาด ผลิตมากกว่าความต้องการของตลาด เราเองก็คิดว่ามีหน้าที่ผลิต ผลิตแล้วอยากให้ได้ราคาดี เมื่อเราผลิตแล้วไม่ได้ดูแลเรื่องการตลาดผลก็คือ คนที่ดูแลทางด้านการตลาดเขาก็มีอำนาจต่อรองมากกว่าเรา เขาก็ไม่ค่อยจะให้ราคาดีกับเรามากนัก
อาจจะพูดได้ว่าเราปลูกข้าวเราผลิตมากเกินไปเป็นเพราะว่าไม่ได้ดูแลด้านการตลาด รวมถึงสถานการณ์บางอย่าง เหล่านี้เป็นช่องว่างมาโดยตลอด ซึ่งโครงการข้าวลูกชาวนาเราอยากจะเข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้ ถ้าลูกชาวนาขายเองมันจะเกินสิ่งที่เราเรียกว่า Feedback Information กลับไป เวลามาขายแล้วจะรู้ว่าพันธุ์ไหนดีไม่ดี คนชอบหรือไม่ชอบ ลองเอาไปให้เพื่อนทานแล้วเพื่อนกลับมาบอกกลับมาเล่า ตรงนี้มันจะเป็นฟีดแบกกลับไปยังคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นชาวนา เราเชื่อว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วพี่น้องชาวนาจะมีการวางแผนที่ดีขึ้น
เมื่อปริมาณข้าวล้นตลาดส่งผลให้ราคาขายตกต่ำ ทำไมการปลูกข้าวยังสูงเช่นเดิม
ผมคิดว่าชาวนาไม่มีทางเลือกมากกว่าครับ เขามีความจำเป็นต้องเพิ่มรายได้ แต่ว่ารายได้ที่จะเพิ่มขึ้นมันจะมาจากไหน บางทีก็อาจจะมาจาก 2 ทาง คือ เพิ่มราคา กับเพิ่มผลผลิต แต่ราคาอยู่นอกเหนือการควบคุมของเขาเขาก็เพิ่มผลผลิต ซึ่งเวลาผลผลิตมากเกินไปมันจะมีผลให้ราคาลดลง
เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราพยายามบอกเขาโดยให้เขาเห็นเองเลยว่า สิ่งไหนจะได้ราคาดี ข้าวแบบไหนได้ราคาดี แล้วพอเห็นปุ๊บเราจะรู้เลยว่า แทนที่เราจะเล็งผลิตให้ดีหลายๆ กรณี เราเล็งราคาให้ดีจะดีกว่า และการเล็งราคาให้ดีมันจะย้อนกลับมาว่าถ้าอย่างนั้นอย่าผลิตเยอะ ผลิตแค่นี้พอแล้วส่วนที่เหลือไปผลิตอย่างอื่น อาจจะปลูกผักเลี้ยงปลา หรือปลูกไม้ยืนต้นที่มีราคาดี แต่อาจจะใช้เวลานานก็เหมือนเงินออมน่ะครับออมเงินไปเรื่อยๆ 20 ปี เงินต้นหลักพันอาจมีมูลค่าเป็นหมื่นซึ่งก็เป็นเงินเก็บของเราโดยที่เราไม่ฝากเพิ่ม เราก็แค่แบ่งพื้นที่ไปปลูก นี่เป็นโมเดลที่ทำให้เกิดขึ้นโดยเริ่มต้นจากการเรียนรู้จากการทำการตลาดก่อนเรียกว่า การตลาดนำ
การที่ชาวนาไทยประสบปัญหาเดิมๆ สาเหตุหนึ่งมาจากนโยบายรัฐบาลแต่ยุคไร้ทิศทางหรือเปล่า
เรียกว่ามันเกิดการปรับทิศทางหลายครั้ง รัฐบาลนึงก็จะไปทางนึงอีกรัฐบาลก็จะไปอีกทางนึง แต่ว่าคนที่กำหนดเขาคงมีทิศทางอยู่แล้วแต่ความเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ต่อเนื่องกัน นอกจากนี้ นโยบายอุดหนุนชาวนา การช่วยเหลือก็อาจจะเป็นลักษณะที่การช่วยเหลือจากภายนอกมีการทำให้ราคามันเพิ่มขึ้น แต่วันนี้เราอยากจะทำให้การช่วยเหลือมันระเบิดจากข้างในโดยลูกชาวนา ถ้ามันระเบิดได้มันก็จะดำเนินการอย่างยั่งยืนถาวรมากขึ้น
การที่ราคาข้าวตกต่ำโดยนัยยะก็ต้องสัมพันธ์กับทางการเมืองอยู่แล้ว เพราะว่ามันเป็นเรื่องของผู้คนจำนวนมาก ปัญหาราคาข้าว ณ ตอนนี้ หากเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นตามมาสำหรับประเทศคือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เพราะว่าพี่น้องชาวนาซึ่งเป็นคนจำนวนมากในชนบทในต่างจังหวัดถ้ากำลังซื้อของเขาหายไปกำลังซื้อในต่างจังหวัดก็จะหายไป กำลังซื้อในภาพรวมของประเทศก็จะลดลงไป และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวช้าอย่างที่รัฐบาลคาดการณ์ ปัญหาการเมืองเรื่องที่หนึ่งเรื่องราคาข้าว กับปัญหาการเมืองเรื่องที่สองก็คือเรื่องเศรษฐกิจไม่ค่อยดี
ภายในเดือน พ.ย. เดือนสองเดือนนี้ก็จะรู้แล้วว่ามันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ คือถ้าเราหยุดการต่ำลงของข้าวในเดือน พ.ย. ไว้ได้ก็น่าจะเรียบร้อย เพราะว่าข้าวออกมาในตอนนี้ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นข้าวนาปีปริมาณมากเพราะว่าปีนี้มันแล้ง เกษตรกรส่วนนึงซึ่งเคยทำเร็วบางส่วนทำช้าก็ต้องช้ากันหมดเพราะว่าต้องรอน้ำ ถ้าเดือน พ.ย. ยังไม่สำเร็จก็แปลว่ากำลังซื้อเงินของชาวนาเงินในกระเป๋าเหลือน้อย เขาก็จะเริ่มใช้จ่ายน้อย มันจะไปกระทบกับเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศด้วย
เป็นไปได้ไหมชาวนาไทยปลูกข้าวน้อยลงแต่รายได้เท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น
นั่นคือความมุ่งหวังเลย อย่างแรกต้องได้ราคาดีก่อน ทำน้อยได้มากต้องได้ราคาดี ฉะนั้น เราต้องทำรอบนี้ให้เกษตรกรเห็นชัดเจน เพราะฉะนั้นหลายคนก็มาถามว่ารอบนี้ราคาข้าวถูกลงไหม ผู้บริโภคจะซื้อได้ถูกลงไหม คำตอบก็คือถูกลงนิดหน่อย แต่ไม่อยากให้เน้นราคาปลายทางที่ผู้บริโภคจ่าย รอบนี้เราอยากเน้นยกราคาต้นทางที่เกษตรกรจะได้รับให้มันสูงขึ้น ถามว่ากระทบราคาปลายทางหรือไม่? เท่ากันครับ เราต้องทำราคาให้มันเท่ากันอาจจะต่ำกว่านิดหน่อย แต่ราคาต้นทางสูงขึ้น ราคาข้าวถุงคิดว่าเริ่มจะลดลงแล้วแต่อาจจะไม่ได้ลดมากเหมือนราคาข้าวเปลือกที่ลดลงกว่าครึ่ง
ช่วยยกตัวอย่างประเทศที่ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีหน่อย
ชาวนาญี่ปุ่น รัฐบาลเขามาช่วยดูแลแล้วตัวเขาเองมีการจัดการวางแผนการผลิตและด้านการตลาดครบถ้วน แต่เรื่องพรรค์นี้มันไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น เขาทำมาตั้งแต่สมัยเมจิเป็นร้อยปี ดูแลอย่างเป็นระบบและเขาทำอย่างต่อเนื่อง เราอาจจะเทียบประเทศเหล่านั้นโดยตรงไม่ได้แต่เราก็อยากจะไปถึงจุดนั้น ผมคิดว่าสิ่งสำคัญก็คือการตลาดนะ อย่างบ้านเราจะรู้สึกเพียงแค่ว่าขอให้ขายได้ราคาดีก็โอเคแล้วนี้แหละคือเป้าหมาย แต่คิดอย่างนี้ไม่ได้ เราต้องวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้ขายแล้วได้ราคาดี
หรือประเทศเกาหลีใต้ ก็ประสบความสำเร็จนะครับ ประมาณสัก 50 ปีที่แล้วมีการดำเนินการค่อนข้างจริงจังเรื่องปฏิรูปที่ดินเรื่องสหกรณ์ ก็ทำให้ชาวนาเกาหลีใต้ยกระดับขึ้นมาอีกระดับนึง เพราะว่าแนวทางคือตอนแรกเขาทำสิ่งที่สำคัญมากๆ คือการปฏิรูปที่ดิน เรื่องการปฏิรูปที่ดินทำให้เกษตรกรไม่ต้องเช่าที่ดินก็เป็นที่ดินของตัวเองเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
หัวใจสำคัญที่ประเทศไทยจะก้าวข้ามวิกฤตการณ์ข้าวราคาตกต่ำ
ผมคิดว่าเป็นความพยายามตามหลักที่พระองค์ท่าน ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสไว้ให้อุ้มชูกันเอง 'เศรษฐกิจพอเพียง' ก็คือการช่วยเหลือกัน ผู้ผลิต ผู้บริโภค และกลุ่มอื่นๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือ ก็ต้องขอความพยายามอีกนิดนึง คงต้องใช้ความพยายามต่อเนื่องอย่างน้อยที่สุดถึงเดือน ม.ค. 2560 การดูแลคุณภาพข้าว การช่วยซื้อข้าว ทางเลือกอื่นๆ ในการขนส่ง เหล่านี้เราต้องพยายามต่อไป ถ้าเราทำสำเร็จมันจะเป็นครั้งแรกที่เราแก้ปัญหาราคาข้าวด้วยกลไกที่คนในสังคมช่วยกัน