ที่มา “ในหลวง” พระราชทานแนวพระราชดำริแก้ปัญหาราคาข้าวเมื่อ 30 ปีก่อน
“กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการเขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับการทำธุรกิจขายข้าว ภายใต้แบรนด์ “อิ่ม” ซึ่งได้เริ่มขายข้าว อิ่ม มาปีนี้เป็นปีที่ 3 โดยได้ร่วมกับชาวนาในจังหวัดมหาสารคาม
กรณ์บอกว่า เนื่องจากวันนี้เกิดปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ก็เลยอยากจะนำประสบการณ์มาแชร์ และต้องการที่จะชักชวนชาวนาให้หันมาทำข้าวถุงจำหน่ายเอง ขายตรงถึงผู้บริโภค แทนที่จะขายข้าวเปลือกให้โรงสี ด้วยสมมติฐานที่จะเป็นการตัดขั้นตอนเพื่อให้ชาวนามีราคาขายที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ กรณ์บอกว่า การแก้ปัญหาข้าวราคาต่ำนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เคยรับสั่ง “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ เมื่อ 30 ปีก่อนหน้านี้
ดร.ประสารเล่าว่า เมื่อ 30 ปีก่อนนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีรับสั่งกับตน (ในฐานะนักเรียนทุนมหิดล) เมื่อพระองค์ทรงทราบว่าไปเรียนด้านเศรษฐศาสตร์มา และตอนนั้นกำลังทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องตลาดข้าว พระองค์ทรงให้ข้อคิดว่า เรื่องข้าว พอจะมีแนวทางที่จะเพิ่มมูลค่าได้หรือไม่ ตอนนั้นปี 2524 ความจริงซูเปอร์มาร์เกตยังไม่ค่อยมี แต่พระองค์ทรงมองการณ์ไกลมาก จึงตรัสว่า ข้าวแทนที่จะขายเป็นถุงหรือเป็นกระสอบ ความจริงน่าจะนำมาทำแพกเกจจิ้ง ทำเรื่องการตลาด ซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นได้ ขณะที่ช่วงเวลานั้นยังไม่มีใครคิดถึงเรื่องนี้เลย
กรณ์เล่าว่า ตนเพิ่งได้อ่านเรื่องนี้ เลยทำให้ลงมือปฏิบัติตาม แต่ดูเหมือนว่าช้าไปเกือบ 30 ปี แต่ก็ได้พยายามทำตามแนวพระราชดำรัสด้วยการทำข้าว 'อิ่ม' กับชาวบ้านในจังหวัดมหาสารคามเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา และเนื่องจากราคาข้าวตกตํ่ามาก จึงชักชวนให้ชาวนาขายข้าวถุงโดยตรงผู้บริโภค แทนที่จะขายข้าวเปลือกให้กับโรงสี ด้วยสมมติฐานว่าจะเป็นการตัดขั้นตอนเพื่อให้ชาวนาขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น
สำหรับแนวคิดของการทำ ข้าว 'อิ่ม' ซึ่งช่วยทำให้ชาวนาในโครงการสามารถขายข้าวได้ตันละ 25,000 บาท เทียบกับราคาตลาดที่ประมาณ 8,000 บาท โดยผมจะขอแชร์ความคิดจากประสบการณ์ที่ทำเรื่องนี้มา 3 ปี ดังนี้
ก่อนอื่นหากจะทำให้สำเร็จ เงื่อนไขสำคัญคือ 1. คุณภาพสินค้าต้องดี (เพราะผู้บริโภคมีสินค้าให้เลือกเยอะ) 2. ทุนหมุนเวียนต้องมี (เพราะการขายปลีกหมายถึงรายได้จะค่อยๆ เข้ามาตามที่ขายได้ ต่างกับการเหมาขายให้โรงสีที่จะมีเงินเข้ามาเป็นเงินก้อนทันที) 3. ต้องเข้าถึงตลาดได้ (นี่คือเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด)
ทั้งนี้ การทำตามเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อไม่ใช่เรื่องง่าย มีประเด็นท้าทายมากมาย เช่น
1. การรวมตัวชาวนาให้มีเอกภาพเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย และเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้รวมตัวกันได้คือเรื่องผลประโยชน์และการมีผู้นำหมู่บ้านที่ดี ผลประโยชน์ในที่นี้คือผลจากการขายข้าว ซึ่งต้องให้ความมั่นใจแก่ชาวนาว่าข้าวสารของเขาจะขายได้แน่ และขายได้ในราคาที่ดีกว่าการขายให้โรงสี
2. การขายข้าวให้ได้ราคาต้องเป็นข้าวมีคุณภาพ ซึ่ง 'คุณภาพ' ในที่นี้หมายถึงทั้งพันธุ์ข้าวและวิธีการปลูกที่ควรปลอดการใช้สารเคมี การโน้มน้าวให้ชาวนาเปลี่ยนกรรมวิธีเพื่อให้ได้ 'คุณภาพ' เป็นเรื่องที่ท้าทาย
3. เรื่องทุนสำคัญครับ เพราะชาวนารายเล็กจะยากจน เขารอรับเงินไม่ได้ และพร้อมขายเหมาถูกๆ เพื่อแลกกับการได้เงินเร็ว
4. เราขายข้าว 'อิ่ม' ที่ซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ ได้ แต่จะทำอย่างไรให้ชาวนาทุกคนมีช่องทางแบบนี้? กระบวนการมีรายละเอียดค่อนข้างมาก เช่น สินค้าต้องมี อย. ต้องมีการบริหาร logistic ต้องมีคนเช็กสต๊อก ฯลฯ และที่สำคัญชาวนาทุกกลุ่มจะหวังว่าสินค้าของตนจะเข้าห้างได้คงยาก จึงต้องมียุทธศาสตร์อื่นด้วย
5. การขายผ่าน e-commerce ยังมีปัญหาเรื่องการขนส่ง หากส่งทางไปรษณีย์มีต้นทุนกิโลกรัมละ 30 บาท ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับราคาข้าว
นอกจากนี้ยังมีประเด็นปลีกย่อย (ที่ล้วนสำคัญ) อีกมากมาย เช่น หากไม่ขายโรงสีแล้วจะสีข้าวอย่างไร หากสีเองจะได้มาตรฐานหรือไม่ การแพกถุงก็มีประเด็นตั้งแต่การลงทุนซื้อเครื่องแพกไปถึงการจัดคิวแรงงานแพกของ
โดยสรุปงานชาวนาจะเพิ่มมากขึ้นเยอะ แต่เขาจะไม่เกี่ยงงานหากเขามั่นใจว่าจะได้ราคาขายที่ดีขึ้นมาก ซึ่งหากพิจารณาตามราคาปลีกทั่วไปทุกวันนี้ของข้าวที่ไม่เป็นพรีเมียม จะเห็นว่าราคาไม่เป็นแรงจูงใจที่เพียงพอนัก
ทั้งหมดนี้จะเห็นว่ารัฐมีส่วนช่วยได้ในทุกขั้นตอน ขอให้มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนที่จะช่วยให้ชาวนาพึ่งพาตนเองได้ ยกตัวอย่างเช่น การช่วยสร้างแบรนด์ท้องถิ่น การรับซื้อเพื่อใช้ในโรงเรียนหรือสถานพยาบาลของรัฐ การจัดสรรงบเพื่อชาวนาลงทุนในอุปกรณ์ ฯลฯ หรือแม้แต่แนวคิดที่ดูเหมือนอาจจะฉีกแนว เช่น การสำรองโควตาการขายข้าวถุงให้ชาวนา และยุทธศาสตร์นั้นต้องรวมถึงการยกระดับสินค้าให้เป็นพรีเมียม การแปรรูป และการสร้างรายได้จากแหล่งอื่นนอกเหนือจากข้าว
ที่มา www.facebook.com/Korn Chatikavanij
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *