ศูนย์ข่าวภาคเหนือ - ทั้งรัฐและเอกชนหลายจังหวัดภาคเหนือระดมพลังช่วยชาวนาระบายข้าวเต็มที่ “ลำปาง” เปิดแล้วทั้งโครงการข้าวล้ำลำลำปาง-คนลำปางไม่ทิ้งกัน แถมทหารลงแขกเกี่ยวข้าวช่วยอีกทาง ขณะที่ทุนท้องถิ่นเชียงรายสั่งข้าวล็อตใหญ่ 10 ตัน เตรียมแจกลูกค้าคืนกำไรสังคม ด้านคนพิจิตรไกลบ้านทยอยส่งออเดอร์กลับโรงสีชุมชน
วันนี้ (4 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งจังหวัดฯ-ทหารในจังหวัดต่างๆ ยังคงเร่งระดมช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาเพื่อแก้ไขปัยหาราคาข้าวตกต่ำในทุกด้านกันอย่างต่อเนื่อง
จังหวัดฯ ช่วยเปิดตลาด-ทหารลงแขกช่วยชาวนาเกี่ยวข้าว
โดยที่ จ.ลำปาง นายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าฯ พร้อมด้วยนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าฯ, พล.ต.กิตติศักดิ์ แม้นเหมือน ผบ.มทบ.32, ผู้พิพากษาจังหวัดลำปาง ได้เข้าตรวจเยี่ยมจุดจำหน่ายข้าวภายใต้ความร่วมมือประชารัฐที่ปั๊มน้ำมัน ปตท.สาขาใกล้ศูนย์ราชการจังหวัดลำปาง พร้อมเปิดตัวโครงการ “ข้าวล้ำลำลำปาง” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาได้มีจุดกระจายสินค้าสู่มือผู้บริโภคโดยตรง
นายสุวัฒน์กล่าวว่า แม้ลำปางจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวตกต่ำเนื่องจากมีข้าวที่ผลิตได้เหลือเข้าตลาดเพียง 50,000 ตันต่อปี แต่ทางจังหวัดฯ ได้ขอความร่วมมือโรงสี-สหกรณ์ ให้รับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาให้สูงขึ้นกว่าเดิม มีกำไรน้อยลง และเมื่อสีเป็นข้าวสารแล้วทางจังหวัดก็จะช่วยสหกรณ์กระจายสินค้า เบื้องต้นจะขอให้ข้าราชการที่ไม่ได้ทำนาทำบัญชีขึ้นมาว่าแต่ละบ้านต้องรับประทานข้าวเดือนละเท่าไหร่ เพื่อนำข้าวสหกรณ์จำหน่ายให้ในราคาถูกกว่าท้องตลาดด้วย
พร้อมกันนั้นยังได้ให้แต่ละหมู่บ้านดูว่าเงินกองทุนหมู่บ้าน หรือเงินของรัฐที่สนับสนุนมามีอยู่เท่าใด หากรวมกันหลายหมู่บ้าน จะสามารถซื้อเครื่องอบข้าวให้สมาชิกใช้ได้หรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้ชาวนาอบข้าวให้แห้งตามที่โรงสี-ตลาดต้องการ เพราะถ้าอบให้มีความชื้น 14% ก็จะขายข้าวได้ตันละกว่าหนึ่งหมื่นบาทแน่นอน
ส่วน “โครงการคนลำปางไม่ทิ้งกัน และโครงการข้าวล้ำลำลำปาง” ทางจังหวัดลำปางก็จะให้เกษตรกรนำข้าวชุมชนมาวางจำหน่ายเป็นสินค้าของฝากของที่ระลึก ตามจุดจำหน่ายของภาคเอกชนที่เปิดพื้นที่ให้จำหน่ายฟรี เช่น ปั๊มน้ำมัน ปตท.ทุกแห่ง, ไทวัสดุทุกสาขา, สหกรณ์ และภายในร้านขายของฝากก้าวมงคลภายในปั้ม ปตท.ใกล้ศูนย์ราชการ
วันเดียวกัน พล.ต.กิตติศักดิ์ พร้อมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และกำลังพล มณฑลทหารบกที่ 32 จำนวน 10 นาย ร่วมลงลงแขกเกี่ยวข้าวในแปลงนา 4 ไร่ ช่วยนายสมเกียรติ ยศปินตา อายุ 57 ปี ชาวนาบ้านใหม่พัฒนา หมู่ 13 ต.พิชัย อ.เมืองลำปาง ก่อนนำผลผลิตข้าวขึ้นมากองเก็บไว้บนถนน ริมคันนา
พล.ต.กิตติศักดิ์กล่าวว่า หน่วยทหารจะเร่งดำเนินทุกมาตรการช่วยเหลือชาวนาอย่างเต็มที่ในทุกพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาโดยเร็วที่สุด โดยจะดำเนินการไปตลอดที่ได้รับการร้องขอจากชาวนา
ทุนใหญ่เชียงราย ช่วยซื้อด้วย 10 ตัน
เอกชนยักษ์ใหญ่เครื่องใช้ไฟฟ้าเชียงรายรับซื้อข้าวสาร10ตันช่วยชาวนา นายบุญเวทย์ ศรีพวงใจ รองผู้ว่าฯ, พ.อ.สัชณาการ คุณยศยิ่ง รอง ผบ.มทบ.37 ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรแม่สาย จำกัด นำผลผลิตข้าวสารบรรจุถุงจากชุมชนสหกรณ์ จ.เชียงราย สหกรณ์การเกษตรเชียงแสน จำกัด สหกรณ์การเกษตรเมืองพาน จำกัด ส่งมอบให้กับบริษัทในเครือสินธานีกรุ๊ป ศูนย์จำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ฯลฯ รายใหญ่ของเชียงราย ที่ได้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือยกระดับราคาข้าวชาวนาด้วย
โดยนางยุพิน เลาหะวีร์ รองประธานกรรมการสินธานีกรุ๊ป และนายภาคภูมิ เลาหะวีร์ ผู้จัดการทั่วไปสินธานีกรุ๊ป ได้นำพนักงานเข้ารับข้าวสาร ขนาดบรรจุถุงๆ ละ 5 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายตามท้องตลาดตั้งแต่ 200-250 บาท รวมทั้งสิ้น 10 ตัน มูลค่าประมาณ 400,000 บาท เพื่อนำไปมอบให้กับลูกค้าเป็นการตอบแทนคืนกำไรสู่สังคมต่อไป
คนพิจิตรไกลบ้าน สั่งข้าวชุมชนบ้านเกิด
ด้านนายชนะพล ศรีเดช อายุ 51 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านสระยายชี ต.เนินปอ อ.สามง่าม จ.พิจิตร กรรมการโรงสีชุมชนบ้านเนินปอ เปิดเผยว่า หลังจากที่สังคมรับรู้ว่าชาวนาพิจิตรต้องประสบกับปัญหาราคาตกต่ำ แต่ทุกคนก็มีกำลังใจ จึงได้รวมกลุ่มกันนำข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวขาวพันธุ์หลวงประทานมาขาย-ตากที่ลานตากข้าวของโรงสีชุมชน ที่มีกำลังการแปรรูปได้วันละ 5 ตัน
ล่าสุดมีชาวพิจิตรที่อยู่ในกรุงเทพฯ แสดงความจำนงสั่งซื้อข้าวถุงบรรจุ 5 กิโลกรัม ราคาถุงละ 160 บาท จำนวน 3,000 ถุง กำหนดส่งมอบในวันที่ 7 พ.ย.ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะช่วยดึงข้าวออกจากชุมชนระดับหนึ่ง
อนึ่ง โรงสีชุมชนแห่งนี้ก่อตั้งด้วยเงินลงหุ้นของชาวบ้าน และได้รับงบสนับสนุนจากกองทุนSIF รวมถึงส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัดพิจิตรดำเนินกิจกรรมมามากกว่า 10 ปีแล้ว จนขยายกิจการมีลานตากข้าว มีเครื่องชั่งมาตรฐานขนาดใหญ่ มีกำลังผลิต 5 ตันต่อวัน มีนาข้าว 3 พันกว่าไร่ ที่คอยป้อนผลผลิตเข้าโรงสี
ปัจจุบันโรงสีแห่งนี้รับซื้อข้าวนาปรัง ความชื้นไม่เกิน 15% ราคา 7,500 บาท/ตัน แต่ถ้าเป็นข้าวที่เกี่ยวสดความชื้น 23-25 % รับซื้อ 6,100 บาท/ ตัน มีการแปรรูป 2 รูปแบบ คือ 1. พ่อค้าร้านค้าข้าวสารมาขอซื้อข้าวเปลือกในราคาตันละ 9,500 บาท (เป็นข้าวแห้งความชื้นไม่เกิน 15%) จากนั้นก็จ้างโรงสีชุมชน แปรรูปเป็นข้าวสาร ซึ่งข้าว 1,000 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน จะแปรรูปเป็นข้าวสารได้ 488 กิโลกรัม ก่อนที่พ่อค้าข้าวสารก็จะนำไปแยกบรรจุเป็นข้าวถุงละ 5 กิโลกรัม จำหน่ายต่อไป 2. โรงสีชุมชน รับซื้อข้าวจากชาวนาที่เป็นสมาชิก และบุคคลภายนอก จากนั้นก็นำไปสีบรรจุเป็นข้าวถุงขายในราคา 160 บาท/ ถุง / 5 กก. ออกจำหน่าย