xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ยึดทรัพย์ ล้างโกง คดีข้าวเน่า ใครไม่แกร่ง...ใครอ่อนแอก็ถอยไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (ที่ 2 จากซ้าย)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ภายใต้อำนาจพิเศษ ภายใต้สถานการณ์พิเศษ ในศึกล้างโกง-ยึดทรัพย์คดีจำนำข้าวและระบายข้าว ต้องขอบอกใครไม่แกร่งก็ถอยไป และนี่คงทำให้ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตัดสินใจเซ็นลงนามในคำสั่งปกครองเพื่อนำไปสู่กระบวนการยึดทรัพย์แก๊งโกงระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี เพื่อพิสูจน์ว่าเธอคือ “หญิงแกร่ง” แห่งกระทรวงพาณิชย์ หาใช่ “หญิงป๊อด” ปอดแหกขอลงจากขบวนรถไฟสาย คสช. กลางทางไม่

หลังจากเดินวนรอบเวทีหลายตลบจนกองเชียร์เริ่มระอาเตรียมปารองเท้า ในที่สุด วันที่ 19 กันยายน2559 นางอภิรดีก็เซ็นลงนามในหนังสือคำสั่งบังคับทางปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายกรณีการขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) กับนักการเมืองและข้าราชการจำนวน 6 ราย โดยเป็นการลงนามแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)และในส่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางอภิรดี ได้มอบหมายให้ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ลงนามแทน

การลงนามแทนกันเป็นทอดๆ นี้ อันที่จริงก็เป็นหลักการบริหารงานปกติ ถ้าหากคดีจำนำข้าวและระบายข้าว ไม่กลายเป็นเผือกร้อนที่โยนกันไปมาก็คงไม่มีอะไรในกอไผ่ แต่คดีนี้ก็เป็นที่รับรู้กันดีว่าเจือปนไปด้วยกลเกมการต่อสู้กันทางการเมืองระหว่าง คสช. กับพลพรรคเพื่อไทย จึงทำให้ข้าราชการประจำทำใจลำบาก ไม่อยากเดินขึ้นศาลหลังเกษียณ แต่เมื่อผ่านการปรึกษาหารือกันแล้วจึงเป็นที่ตกลงกันว่า นายกรัฐมนตรี ได้มอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ลงนามแทน และรัฐมนตรีพาณิชย์ มอบอำนาจให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้ลงนามแทน

เมื่อลงเรือลำเดียวกัน ต้องช่วยกันพายช่วยกันจ้ำ จะมานั่งทำเท่ห์ไม่อยากเปลืองตัวคงไม่ใช่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงกดดันนี้ ทำเอาปลัดกระทรวงพาณิชย์ เกือบถอดใจลาออกจากตำแหน่งเลยทีเดียว ขณะที่นางอภิรดี ก็แบกรับใช่น้อย ดูจากการตอบข้อซักถามถึงเหตุผลการมอบอำนาจให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ลงนามในคำสั่งเรียกร้องค่าเสียหายแทนรัฐมนตรี ที่ว่า…

“ต้องบอกก่อนว่าพี่ไม่ใช่นักการเมือง แต่มาปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่มีความเชี่ยวชาญและทำงานอย่างตรงไปตรงมา เรื่องนี้ต้องลงรายละเอียดเยอะและเป็นเรื่องซับซ้อน และต้องใช้เวลาในการทำงานให้รอบคอบ ไม่ตั้งใจที่จะกลั่นแกล้งและลงโทษใคร ทุกอย่างเป็นไปตามเนื้อผ้า เรื่องนี้ได้หารือนายกรัฐมนตรีและกระทำตามกระบวนการ”

ไม่ว่าจะอย่างไร จะกดดันแค่ไหน เมื่อขึ้นเวทีแล้วก็มีแต่ต้องเดินหน้า เพราะถ้าอ่อนแอก็แพ้ ลงจากเวทีไปสถานเดียว ดังนั้น ในวันแถลงข่าว นางอภิรดี จึงบอกว่า รู้สึกธรรมดากับการลงนามในครั้งนี้เพราะเป็นไปตามขั้นตอน และมีการศึกษาข้อกฎหมายที่มีอยู่ก่อนที่จะมีการลงนามแล้ว ส่วนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และพวก จะฟ้องกลับ ก็ว่ากันไป

นางอภิรดี แจกแจงตามกระบวนการหลังจากลงนามในคำสั่งแล้ว กระทรวงพาณิชย์ จะส่งหนังสือไปยังนักการเมืองและข้าราชการทั้ง 6 คน ทันที โดยจะมีระยะเวลาในการตอบกลับภายใน 30 วัน หากครบ 30 วันแล้วยังไม่มีการตอบกลับ จะมีการส่งหนังสือแจ้งเตือนไปอีกรอบใน15 วัน หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนของกรมบังคับคดีต่อไป ซึ่งนั่นเป็นกรณีที่นายบุญทรง และพวก ยอมรับคำสั่งทางปกครองโดยดุษฎี

ทว่า เรื่องไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เวลานี้นายบุญทรง และพลพรรคเพื่อไทย ต่างตั้งทีมสู้เต็มอัตราศึก เพราะกรณีนี้แค่นำร่อง ยังจะมีตามติดมาอีกหลายคดี โดยเฉพาะคดีโครงการรับจำนำข้าวที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นจำเลยทั้งที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และยังต้องเจอคำสั่งทางปกครองฯ ที่นำไปสู่การยึดทรัพย์เช่นเดียวกับนายบุญทรง และพวก การสู้ศึกเพื่อรักษาขุนพลหญิงหนึ่งเดียวคนนี้ จึงมีความสำคัญต่อชะตากรรมของพรรคเพื่อไทย และพี่น้องชินวัตร อย่างยิ่งยวด

สำหรับยกแรกนี้ นักการเมืองและข้าราชการ6 คน ที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการขายข้าวจีทูจี ประกอบด้วย นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รัฐมนตรีว่าการพาณิชย์ คาดว่าจะต้องจ่ายค่าชดเชยประมาณ 1,770ล้านบาท, นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการพาณิชย์ 2,300 ล้านบาท ส่วน พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์, นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ,นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ คาดว่าต้องจ่ายค่าเสียหายคนละ 4,000ล้านบาท

ต้องไม่ลืมว่า การทุจริตขายข้าวจีทูจี ไม่ได้มีเพียงแค่ 4 สัญญา ปริมาณ 6.2 ล้านตัน ที่เรียกค่าเสียหาย 2 หมื่นล้าน ดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น ในสมัยนายบุญทรง เป็นรัฐมรตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังได้อนุมัติขายอีก 8 สัญญา รวมทั้งหมด 12 สัญญา ซึ่งในส่วนของ 8 สัญญาหลัง ขณะนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ระหว่างตรวจสอบ คาดว่าน่าจะสรุปผลในเร็วๆ นี้ และอาจจะมีการชี้มูลความผิดบุคคลอื่นเพิ่มเติมอีก

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ปฏิกิริยาจากฟากฝั่งนายบุญทรง และพวก จึงดิ้นสู้ฟ้องกลับคืนกราวรูดจนถึงที่สุดแน่นอน นายบุญทรง ยังขึ้นเฟซบุ๊กโอดโอยคร่ำ ครวญ ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมต่างๆ นาๆ ตามถนัด โดยอ้างว่า ขายข้าวจีทูจี โดยชอบด้วยกฎหมาย การออกคำสั่ง เป็นการลัดขั้นตอน เพราะมีคดีอยู่ศาลฎีกาฯ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา กลับมีการใช้อำนาจทางการบริหารมายึดทรัพย์ด้วยความเร่งรีบ รวบรัด ขณะที่ค่าเสียหายเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ตัวเลขค่าเสียหายที่จะใช้คำสั่งยึดทรัพย์ก็ไม่ชัดเจน เพราะคดีอาญายังไม่เสร็จสิ้น

พลพรรคเพื่อไทย ก็ดาหน้าออกมาตะลุมบอนสวนกลับ คสช. ในท่วงทำนองเดียวกัน โดยเฉพาะนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อขอให้พิจารณาการออกคำสั่งที่ให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์คดีโครงการรับจำนำข้าว เป็นการกระทำโดยสุจริตและชอบหรือไม่

การต่อสู้ของทีมทนายพรรคเพื่อไทย อยู่ตรงประเด็นที่ว่า การปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่175/2559, 176/2559, 177/2559ต้องทำอย่างสมบูรณ์ แต่การปิดบัญชีวันที่ 22 พฤษภาคม 2557กับ 30 กันยายน 2557 มีตัวเลขไม่สอดคล้องกับบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และรายงานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) ซึ่งเป็นการปิดบัญชีที่ไม่ถูกต้อง

เหตุที่นายเรืองไกร ว่าไม่ถูกต้องเนื่องจากการปิดบัญชีต้องมาจากการทำบัญชี หัวหน้า คสช.ต้องตั้งคณะจัดทำบัญชีขึ้นมา แต่ยังทำไม่ได้ ยังไม่มีการจัดทำเพราะหมายเหตุประกอบงบการเงินของอนุปิดบัญชีระบุไว้เองว่าไม่มีการจัดทำบัญชี ตัวเลขที่ใช้มาตลอดเวลา เป็นตัวเลขที่ให้ อคส. และ อ.ต.ก.ส่งตัวเลขเข้ามา ขณะที่การตรวจนับสินค้าก็เป็นเพียงการสุ่มตรวจ มีรายงานตัวเลขที่ไม่ตรงกัน อีกทั้งการปิดบัญชี 2ครั้งเขียนไว้ชัดเจนว่ายังไม่ผ่านการตรวจสอบและสอบทาน จึงไม่ถูกต้องเพราะไม่มีการรับรองโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)เมื่อตัวเลขบัญชียังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ จะนำมูลเหตุอะไรมาตั้งเป็นค่าเสียหาย หรือกล่าวหาว่าทุจริตไม่ได้

ทนายความของพรรคเพื่อไทย ยังระบุว่า หากจะให้เจ้าหน้าของรัฐได้รับการคุ้มครองตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 56/2559 จะต้องทำบัญชีตรวจสต๊อกสินค้าทั้งหมด ปิดบัญชีและสอบบัญชีให้เรียบร้อยก่อน ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ลงนามคำสั่งทางปกครองนั้น มองว่าตัวเลขยังไม่ชัดซึ่งเจ้าหน้าที่ทราบอยู่แล้วว่ายังทำบัญชีไม่ได้ การเร่งพิจารณาโดยไม่คำนึงถึงความยุติธรรมที่ถือเป็นสาระสำคัญของคดี เหมือนฝ่ายบริหารโยนเผือกร้อนไปให้ข้าราชการ หากจะทำให้เกิดความเหมาะสมนายกฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ควรเป็นผู้ลงนามคำสั่งเองจะเหมาะสมที่สุด ถ้ามั่นใจว่าตัวเลขบัญชีในคดีมีความถูกต้อง

นั่นเป็นประเด็นที่ รัฐบาล, คสช.,กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ต้องชัดเจนว่าสามารถหักล้างและสู้ได้แน่ๆ เมื่อเรื่องไปถึงศาลปกครอง

การออกโรงของนายเรืองไกร เชิญชวนให้ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชวิกรม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขาประจำที่เปิดโปงคดีโกงจำนำข้าวและระบายข้าว ออกมาโต้แทน คสช. โดยสาธยายการบิดเบือนเรียกคะแนนเห็นใจจากสาวกของทนายหญิงปู นายบุญทรง และทีมทนายของพรรคเพื่อไทย โดยสาธยาย ทีละประเด็น ดังนี้
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
หนึ่ง การสร้างความสับสนในคำสั่ง คสช.ที่ 56/2559 ให้อำนาจกรมบังคับคดี ในการบังคับคดีทางปกครอง ด้วยการยึดทรัพย์ของผู้ต้องรับผิดในโครงการจำนำข้าว ว่า เป็นการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้การพิจารณาโดยศาลยุติธรรมปกติ แต่กับตัดตอนใช้วิธีคำสั่งทางปกครองให้รับผิดทันทีนั้น ถือว่าพูดไม่จริง เพราะการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความเสียหายในหน้าที่ จึงต้องเรียกค่าเสียหายผ่าน พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิด ทั้งคดีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องมาตามเส้นทางนี้ และกฎหมายก็ให้สิทธิในการอุทธรณ์ผ่านศาลปกครอง ไม่มีการตัดตอนใดๆ

สอง การกล่าวหาว่าเป็นการชี้นำการพิจารณาคดีอาญาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล และคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ยังพิจารณาคดียังไม่เสร็จนั้น เรื่องชี้นำคดีอาญาคงไม่พูดถึงเพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งห้ามอยู่แล้ว แม้การพิจารณารับผิดทางแพ่งของนางสาวยิ่งลักษณ์ ยังไม่เสร็จ แต่คดีของนายบุญทรงนั้น คณะกรรมการพิจารณาเสร็จแล้ว และการทำหน้าที่ของกรมบังคับคดี ก็เป็นมาตรการบังคับในขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณารับผิดทางแพ่งของ นางสาวยิ่งลักษณ์แต่อย่างใด

สาม การกล่าวหาว่าฝ่าฝืนกติการะหว่างประเทศ และเรียกร้องให้มีการปฏิบัติเสมอภาคโดยกระบวนการยุติธรรมทางศาลนั้น ขั้นตอนของ พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีการให้สิทธิในการอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง ก็คือกระบวนการของศาลนั่นเอง

สี่ การออกคำสั่งที่ 56/2559 ที่ว่าไม่มีความจำเป็น เป็นการข้ามขั้นตอนและเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ นั้น ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ทั้งคดีนายบุญทรง และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่มีการข้ามขั้นตอนใดๆ ตลอดจนสิทธิในการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองก็ยังอยู่ ยกเว้นถ้าไม่มีการอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง กรมบังคับคดี จึงใช้มาตรการบังคับทางปกครองซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย

และห้า ที่กล่าวว่าอำนาจหน้าที่ของกรมบังคับคดี ได้ถูกบัญญัติไว้โดยกฎหมาย การออกคำสั่งนี้จึงมีลักษณะเป็นการก้าวล่วงและก้าวก่ายศาล กรณีนี้มีวงเงินความเสียหายเป็นหมื่นๆ ล้านบาท ก็ต้องให้มืออาชีพดำเนินการ ซึ่งขั้นตอนก็มี พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดรองรับ และถ้ามีการอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง กรมบังคดี ก็ดำเนินการตามคำสั่งศาลเหมือนปกติ ยกเว้นถ้าไม่อุทธรณ์ต่อศาลปกครอง กรมบังคับคดี จึงใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของ พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิด ไม่เกี่ยวกับการก้าวล่วงศาลอย่างใด

หมอวิกรม ยังเรียกร้องผู้เกี่ยวข้องทั้งรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ ในช่วงปฏิรูปเพื่อปราบโกง ใครมีหน้าที่ต้องทำอะไรควรจะต้องทำตามหน้าที่ และการลงนามคำสั่งทางปกครองจะเป็นการพิสูจน์ว่าที่เขากล่าวหานั้นไม่เป็นความจริง รัฐบาลควรเตรียมทีมงานรับศึกบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร เพราะฝ่ายบิดเบือนเขาพร้อมแล้วดังนั้นรัฐบาลจึงต้องไม่ประมาท

นี่ถือเป็นการสอนชั้นเชิงทางการเมืองให้กับผู้มาใหม่แบบเนียนๆ ถึงแม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะออกตัวว่า พี่ไม่ใช่นักการเมือง ก็เถอะ แต่ที่พี่กำลังสู้รบอยู่นั้นคือนักการเมืองเจนสนามทั้งนั้น ยุบพรรคกี่ครั้งก็ยังไม่ล้มหายตายจากโลก เป็นการสู้กันทั้งในที่ลับและที่แจ้ง กองเชียร์ก็เฮกันไป

นายบุญทรง และพวก ที่ถูกลากมารอเชือดแล้ว ขณะที่ฟากฝั่งของนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็กำลังตามมาติดๆ ซึ่งเรื่องนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวกับนางสาวยิ่งลักษณ์ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง คาดว่าจะปิดสำนวนในเร็วๆ นี้

กระบวนการหลังจากนั้น คณะกรรมการฯ จะส่งเรื่องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อส่งเรื่องต่อมายังนายกรัฐมนตรี ขออนุมัติลงนามในคำสั่งปกครองเรียกค่าเสียหาย โดยกรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ผู้ที่มีอำนาจลงนามคือ นายกรัฐมนตรี กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยนายกรัฐมนตรี อาจมอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงนามแทนเหมือนกับการเรียกค่าเสียหายจากการะบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี ที่มอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงนามแทน ซึ่งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คงอิดเอื้อนไม่ได้ หากยังต้องการอยู่ในขบวนรถไฟสาย คสช. ก็มีแต่ต้องตามนั้น

เพลานี้ นายบุญทรง และพวก กับนางสาวยิ่งลักษณ์ จึงมีความหวังอยู่ที่การอุทธรณ์ต่อศาลปกครองว่า ศาลท่านจะพิจารณาเช่นใด ถ้าศาลปกครองมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว การยึดทรัพย์จะยังไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าศาลไม่คุ้มครองฯ ก็จะถึงขั้นตอนการยึดทรัพย์โดยกรมบังคับคดี

สรุปรวมความแล้วเรื่องนี้ก่อนจะยึดทรัพย์ได้หรือไม่ต้องสู้คดีกันให้จบที่ศาลปกครองก่อน

จะจบแบบออกหัวหรือออกก้อย ดูที่ประเด็นที่ทีมทนายพรรคเพื่อไทย ยกขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ โดยเฉพาะความชัดเจนเรื่องที่มาที่ไปของมูลค่าความเสียหายที่จะนำไปสู่การยึดทรัพย์ ที่นายเรืองไกร สาธยายไว้นั่นแหละที่เป็นการบ้านข้อใหญ่ของคณะ คสช.ต้องเตรียมตอบโต้ให้ได้ทุกเม็ด

ไม่งั้น คำสั่ง คสช. สุดท้ายก็อาจจะกลายเป็นหมัน


กำลังโหลดความคิดเห็น