ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในที่สุด ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ตัดสินใจใช้อำนาจตาม มาตรา 44 สั่งการให้ กรมบังคับคดี มีอำนาจหน้าที่ยึดทรัพย์แก๊งโกงจำนำข้าวและระบายข้าว
และผู้ที่หนาวสะท้านไปถึงขั้วหัวใจจนต้องร้อง “เสียวว๊อย” เห็นที่จะหนีไม่พ้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวก ที่ทำให้เกิดความเสียหายเบื้องต้นกว่าสองแสนล้าน จากโครงการรับจำนำข้าว
ทั้งนี้ การตัดสินใจใช้อำนาจเด็ดขาดที่มีอยู่ในมือของ “บิ๊กตู่” คราวนี้ ส่งสัญญาณทางการเมืองว่า “บิ๊กตู่” อยู่ยาวชัวร์ ไม่เช่นนั้นคงไม่งัดไม้แข็งมาเล่นงานพี่น้องชินวัตร ชนิดต้องเอาให้อยู่ และไม่กลัวว่าจะถูกเอาคืนเมื่อถึงเวลาก้าวลงจากอำนาจ
และเมื่อนายกรัฐมนตรี ขึงขัง เอาจริง เช่นนี้ เห็นทีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องลงนามในคำสั่งทางปกครองคู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าว คงไม่สามารถอิดออดไม่ยอมลงนามในคำสั่งดังที่ผ่านมาโดยเกี่ยงว่าไม่รู้จะไปบังคับให้ผู้ที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายทำตามคำสั่งทางปกครองนั้นได้อย่างไร และที่มากไปกว่านั้น และเกรงว่าจะถูกตามเอาคืนในภายหลังหาก คสช.หมดอำนาจหลังเลือกตั้งในปีหน้า
แต่ก็อย่างว่า เมื่อเลือกที่จะมารับใช้บ้านเมืองในยุค คสช. ยึดอำนาจ นางอภิรดี ก็คงต้องตัดสินใจเอาว่าจะยังเดินหน้าหรือว่าจะถอดใจให้ “บิ๊กตู่” หาคนอื่นมาทำแทนดีกว่าในชั่วโมงที่กำลังมีกระแสปรับหรือไม่ปรับคณะรัฐมนตรีในเวลานี้
สำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดตามมหากาพย์จำนำข้าวอย่างต่อเนื่อง ขอย้อนทวนความเดิมเล็กน้อย คือ คดีจำนำข้าวและระบายข้าวมีอยู่สองส่วน ส่วนหนึ่ง คดีที่อยู่ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคดีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ เจอข้อหาปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และคดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งอัยการสูงสุด ฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพวก รวม 21 ราย
และอีกส่วนหนึ่งคือ การเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำผิด ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้อำนาจออกคำสั่งทางปกครอง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539เรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำผิด โดยผู้ที่จะลงนามในคำสั่งดังกล่าวคือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งแล้ว ขณะที่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ ยังเกี่ยงไม่ลงนามเพราะไม่ชัดเจนว่าใครจะบังคับคดีตามคำสั่งปกครอง และจะมีปัญหาตามมาหรือไม่
กระทั่งล่าสุด “บิ๊กตู่” ก็ผ่าทางตัน และมหากาพย์จำนำข้าวก็มาถึงไฮไลท์สำคัญ โดย “บิ๊กตู่”ได้ออก คำสั่ง คสช. ที่ 56/2559 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดําเนินการต่อผู้ต้องรับผิด เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 และเผยแพร่ในราชกิจจานุเบิกษาในวันถัดมา
คำสั่งดังกล่าวไม่ใช่แค่คดีจำนำข้าวและระบายข้าวเท่านั้น แต่ยังพ่วงโครงการแทรกแซงมันสำปะหลังและข้าวโพด เข้ามาด้วย ขณะที่คดีจำนำข้าวก็ลากยาวมาตั้งแต่ปีการผลิต 48/49 จนถึงปีการผลิต 56/57ซึ่งยังไม่มีการคำนวณชัดเจนว่า ตัวเลขเสียหายจะมากมายมหาศาลแค่ไหน และใครอีกบ้างจะติดร่างแห
แต่ลองคิดคำนวณดูคร่าวๆ ดูแล้ว นี่น่าจะเป็นงานมหกรรมล้างบางกันเลยทีเดียว จะมีใครเหลือรอดหรือไม่ เนื่องจากย้อนหลังกันไปนับสิบปี ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร มาจนถึงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ขณะที่โครงการแทรกแซงมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่รับจำนำในปี2551/2552 เป็นช่วงรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และปี 2554-2556 เป็นช่วงรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยช่วงนั้นรัฐบาลมีนโยบายแทรกแซง เพื่อดึงราคาให้สูงขึ้น
คำสั่ง คสช. ที่ 56/2559 ล่าสุดนั้น นอกจากจะพ่วงโครงการมันสำปะหลังและข้าวโพด ซ้ำยังลากโครงการจำนำข้าวเข้ามาเช็กบิลยาวเป็นหางว่าวแล้ว สาระสำคัญยังอยู่ที่การสั่งให้กรมบังคับคดี “มีอํานาจหน้าที่ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามคําสั่งหรือคําพิพากษาดังกล่าว และให้ได้รับความคุ้มครองตามข้อ ๑ วรรคสอง ด้วย”
ครบองค์แล้วทั้งคนลงนามในคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ “ยึดทรัพย์” เป้าถูกล็อกไว้แล้ว จึงเหลือแต่การลงมือ
ความนัยของการ “ยึดทรัพย์”คราวนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รีบออกมาอธิบายความว่า ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ยึดทรัพย์โดยตรง แต่มีคำสั่งให้อำนาจกรมบังคับคดี ทำหน้าที่ยึดทรัพย์ ซึ่งดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539 อีกทอดหนึ่งแทน นี่อาจเป็นเพราะเนติบริกรต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนเมื่อครั้งที่คณะรักษาความสงบ เรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) ใช้อำนาจยึดทรัพย์นักการเมือง และสุดท้ายก็ต้องคืนกลับไปเพราะเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ
มาดูรายละเอียดคำสั่งดังกล่าวกันอีกทีว่า กินความกว้างและลึกแค่ไหน โดยเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 56/2559เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดําเนินการต่อผู้ต้องรับผิด ดังนี้
“ตามที่ได้มีการดําเนินการโครงการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจํานําข้าวเปลือก โครงการแทรกแซงมันสําปะหลัง หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปรากฏว่าในปัจจุบันยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรดังกล่าวคงเหลือในการดูแลของรัฐที่เก็บอยู่ทั่วประเทศเป็นจํานวนมาก หากการเก็บรักษาและการควบคุมดูแลหรือการระบายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเหล่านี้ออกสู่ตลาดอย่างไม่รอบคอบรัดกุม หรือไม่สุจริต
“กรณีเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเพราะรัฐต้องจัดสรรงบประมาณเป็นจํานวนมากเพื่อไม่ให้การบริหารจัดการและการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่คงเหลือเกิดความเสียหายแก่รัฐเพิ่มขึ้น ในขณะที่รัฐต้องเร่งตรวจสอบปริมาณและคุณภาพรวมทั้งวางมาตรการระบายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรออกสู่ตลาดให้เหมาะสม มิฉะนั้นจะเสื่อมสภาพจนเสื่อมราคา กระทบต่อราคาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในฤดูกาลปัจจุบันและฤดูกาลใหม่ที่จะมาถึงจนเกิดความเสียหายอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ ทั้งต้องดําเนินการต่อผู้ต้องรับผิดเพื่อให้ชดใช้ความเสียหายแก่รัฐอันเป็นความจําเป็นเพื่อป้องกันและระงับความเสียหายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้บุคคล คณะบุคคล คณะทํางาน คณะกรรมการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายหรือได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้อง คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสําปะหลัง หรือคณะกรรมการนโยบายข้าวโพด ให้ดําเนินการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์มันสําปะหลังหรือข้าวโพดที่อยู่ในการดูแลรักษาของรัฐ ดังต่อไปนี้
(๑) โครงการแทรกแซงมันสําปะหลังของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต ๒๕๕๑/๒๕๕๒ จนถึงปีการผลิต ๒๕๕๕/๒๕๕๖ ซึ่งได้ดําเนินการมาตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ หรือภายหลังจากนั้น
(๒) โครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี ๒๕๕๑/๒๕๕๒ ซึ่งได้ดําเนินการมาตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ หรือภายหลังจากนั้นยังคงมีอํานาจหน้าที่ดําเนินการดังกล่าวต่อไปเช่นเดิม ทั้งนี้ เพื่อระงับยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเพิ่มขึ้นเพราะเหตุแห่งความเสื่อมสภาพของผลิตภัณฑ์มันสําปะหลังหรือข้าวโพด การแตกต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์หัวมันสําปะหลังสดหรือข้าวโพดที่รับจํานํากับราคาที่จําหน่ายได้ การที่รัฐต้องรับภาระค่าเช่าคลังค่าประกันภัย ค่าดูแลรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์มันสําปะหลังหรือข้าวโพด ค่าใช้จ่ายอื่นและดอกเบี้ย และเพื่อป้องกันมิให้การระบายผลิตภัณฑ์มันสําปะหลังหรือข้าวโพดเป็นการเพิ่มอุปทานตลาดในช่วงเวลาเดียวกับที่มีผลผลิตฤดูกาลใหม่โดยไม่สมควร รวมทั้งดําเนินการเพื่อให้ทราบตัวผู้ต้องรับผิดและเรียกให้ผู้นั้นชดใช้ความเสียหายแก่รัฐตามกฎหมาย
ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งได้กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น ย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทางแพ่งทางอาญา หรือทางวินัย แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
ข้อ ๒ เมื่อได้มีคําสั่งทางปกครองของหน่วยงานของรัฐหรือคําสั่งหรือคําพิพากษาของศาลแล้วแต่กรณี ให้มีการบังคับทางปกครองต่อผู้ต้องรับผิดตามโครงการรับจํานําข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต ๒๕๔๘/๒๕๔๙ จนถึงปีการผลิต ๒๕๕๖/๒๕๕๗ โครงการแทรกแซงมันสําปะหลังของรัฐตั้งแต่ปีการผลิต ๒๕๕๑/๒๕๕๒ จนถึงปีการผลิต ๒๕๕๕/๒๕๕๖ หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี ๒๕๕๑/๒๕๕๒ ให้กรมบังคับคดีมีอํานาจหน้าที่ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามคําสั่งหรือคําพิพากษาดังกล่าว และให้ได้รับความคุ้มครองตามข้อ ๑ วรรคสอง ด้วย
ข้อ ๓ ให้บุคคลตามข้อ ๑ วรรคหนึ่ง ซึ่งมีอํานาจหน้าที่ที่ต้องดําเนินการใด ๆ ตามคําสั่งทางปกครองของหน่วยงานของรัฐหรือคําสั่งหรือคําพิพากษาของศาล แล้วแต่กรณี ให้มีการดําเนินการต่อผู้ต้องรับผิดตามโครงการแทรกแซงมันสําปะหลังของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต ๒๕๕๑/๒๕๕๒ จนถึงปีการผลิต ๒๕๕๕/๒๕๕๖ หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี ๒๕๕๑/๒๕๕๒ ได้รับความคุ้มครองตามข้อ ๑ วรรคสอง ด้วยให้นําความในวรรคหนึ่ง ไปใช้บังคับกับการดําเนินการต่อผู้ต้องรับผิดในโครงการรับจํานําข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต ๒๕๔๘/๒๕๔๙ จนถึงปีการผลิต ๒๕๕๖/๒๕๕๗ ด้วย ..... สั่ง ณ วันที่ ๑๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ”
จะว่าไป คำสั่ง คสช. ที่ 56/2559 เป็นการขันนอตเตรียมการลงมือหลังจากมีประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 39/2558 เรื่อง “การคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด”มาตั้งแต่ปีที่แล้ว
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายความถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 56/2559 ว่า เป็นการเพิ่มพืชเข้าไปอีก 2 ชนิด คือ มันสำปะหลัง และข้าวโพด ส่วนการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีนั้น เป็นไปตามที่ได้บอกไว้ว่าจะไม่มีการใช้มาตรา44 ตัดสินความผิดแล้วยึดทรัพย์เป็นอันขาด ทุกอย่างจะเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติ แต่ติดตรงที่การจะออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องข้าวนั้น ในกรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์ และนายบุญทรง กับพวก ตามหลักการปกติ ถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงต้นสังกัดที่รับผิดชอบที่ต้องยึดทรัพย์กันเอง แต่ครั้งนี้เป็นการยึดทรัพย์จำนวนมาก ทางกระทรวงจึงออกปากบ่นว่าไม่มีคน และหากยึดมาได้ไม่มีที่จะเก็บ จึงต้องให้กรมบังคับคดี เข้าไปจัดการ
ดังนั้น จึงต้องใช้มาตรา 44 กำหนด แต่ไม่ใช่ว่าใช้มาตรา 44 ไปยึดทรัพย์ แต่ยึดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2539 ที่เปลี่ยนจากกระทรวงมาเป็นกรมบังคับคดี ส่วนจะยึดได้มากหรือน้อยเพียงใดเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ และก็มีสิทธิ์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครอง
“นี่เป็นบทเรียน ถามว่าทำไม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ ถึงไม่ได้กำหนดหน่วยงานที่จะยึดทรัพย์ไว้ นั่นเพราะคิดว่าหน่วยงานใครหน่วยงานมันให้ยึดทรัพย์กันเอาเอง ไม่คิดว่าชาตินี้จะมีการยึดอะไรใหญ่โตมโหฬาร เพราะลำพังแค่ 10 - 20ล้าน เขายึดได้ แต่เรื่องข้าวนั้นเป็นการยึดค่าเสียหาย ซึ่งต้องดูละเอียดมาก มืออาชีพมีอยู่แค่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)กับกรมบังคับคดี แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการฟอกเงิน จึงไม่ใช่หน้าที่ของ ปปง.เพราะชื่อกรมบังคับคดี ก็บอกแล้วว่ามีหน้าที่ไปยึดทรัพย์ แม้จะมีคนบอกว่ามีอำนาจยึดทรัพย์เฉพาะที่ศาลสั่ง ถ้าหัวหน้า คสช.สั่งจะตกไป เราจึงออกมาตรา44” นายวิษณุ กล่าว
การยึดทรัพย์ตามคำสั่งปกครองครั้งนี้ เป้าที่ชัดเจนก็คือโครงการรับจำนำข้าว และเล่นงานผู้คุมนโยบายเป็นอันดับแรก ส่วนการเรียกค่าเสียหายกับผู้ควบคุมนโยบายแทรกแซงมันสำปะหลังและนโยบายแทรกแซงข้าวโพด จะหนักไปตรงที่นำผลิตภัณฑ์การเกษตรเข้ามาและเกิดความเสียหายเนื่องจากระบายไม่ทัน ซึ่งค่าเสียหายในนโยบายแทรกแซงมันสำปะหลัง จะอยู่ที่ 300 - 400ล้านบาท เท่านั้น
ส่วนตัวเลขความเสียหายจากโครงการจำนำข้าว โดย นายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโครงการรับจำนำข้าว สรุปผลการตรวจสอบว่า ค่าเสียหายทางแพ่งในโครงการรับจำนำข้าวจากนางสาวยิ่งลักษณ์286,639 ล้านบาท ส่วนนายบุญทรง และพวก 18,743 ล้านบาท นี่เป็นแค่เบื้องต้นไม่กี่ฤดูกาลในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ เท่านั้น
ขณะที่คณะกรรมการพิจารณารับผิดทางแพ่ง กระทรวงการคลัง ที่มีนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธานฯ เคาะตัวเลขเรียกค่าเสียหายจากยอดรวม 2.86 แสนล้านบาท เหลือเพียง 1.78 แสนล้านบาท และมีการคิดลดเฉพาะกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด เหลือแค่ 20%คือ 35,717 ล้านบาท เท่านั้น กระทั่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมายว่าส่อเค้าจะเป็นมวยล้มต้มคนดู
แต่พอเห็นท่าทีขึงขังของ “บิ๊กตู่” คราวนี้ พี่น้อง “ชินวัตร” คงหนาวเหน็บถึงขั้วหัวใจ เพราะในเวลาไล่เลี่ยกันก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ที่มี พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ปปง. พร้อมคณะ ก็เพิ่งแถลงคดีสำคัญ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การยึดและอายัดทรัพย์ บริษัทของ “เสี่ยเปี๋ยง” ในเครือข่าย“เจ๊ ด.” รวมมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท
การอายัดและยึดทรัพย์ “เสี่ยเปี๋ยง”ของ ปปง.สืบเนื่องมาจาก คดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายบุญทรง กับพวกรวม 21 คน กระทำความผิดด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำงานโดยช่วยเหลือมุ่งหมาย และเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทและไม่ต้องแข่งขันราคากับผู้เสนอรายอื่น แล้วนำข้าวที่ซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาขายในประเทศ หรือต่ำกว่าราคาที่รับจำนำ นำไปขายต่อให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมการค้าต่างประเทศ และประเทศชาติ คิดเป็นมูลค่ากว่า20,000 ล้านบาท อันเป็นความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
หลังจากการรวบรวมพยานหลักฐานและตรวจสอบธุรกรรมการทางการเงิน ปปง. พบว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวมีพฤติการณ์ทุจริตโดยการปลอมสัญญาให้ดูเสมือนมีการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐจริง รวมถึงการตรวจพบการได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดกับการทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทั้งกลุ่มบริษัท สยามอินดิก้า,บริษัท สิราลัย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท กีธา) และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนายอภิชาติ จันทร์ สกุลพร (เสี่ยเปี๋ยง)
โดยเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ได้มีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของกลุ่มบริษัทและบุคคลดังกล่าว ซึ่งเป็นเงินฝากในบัญชีธนาคารจำนวน51 บัญชี มูลค่าประมาณ 921 ล้านบาท และที่ดินใน กทม. ลำพูน ภูเก็ต พังงา พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง จำนวน 611 รายการ มูลค่าประมาณ 5,970ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 662 รายการ มูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท
ถึงเวลา “บิ๊กตู่” เอาจริงแล้วสินะ บอกแล้วว่า “พี่ไม่ได้มาเล่นๆ” เพราะนี่มันเป็นเดิมพันอนาคตของประเทศ