หนาว! “บิ๊กตู่” ไฟเขียว ม.44 สั่ง “กรมบังคับคดี” เรียกค่าสินไหมคดีจำนำข้าว เน้นโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐตั้งแต่ปีการผลิต 48/49 จนถึงปีการผลิต 56/57 พ่วง “โครงการแทรกแซงมันสําปะหลังของรัฐ” ตั้งแต่ปีการผลิต 51/52 จนถึงปีการผลิต 55/56 หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 51/52 พร้อมสั่งระบายข้าว-มันสําปะหลัง-ข้าวโพดจากโกดังรัฐ คุ้มครองทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัยเจ้าหน้าที่
วันนี้ (14 ก.ย.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 56/2559 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดําเนินการต่อผู้ต้องรับผิด ดังนี้
“ตามที่ได้มีการดําเนินการโครงการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจํานําข้าวเปลือก โครงการแทรกแซงมันสําปะหลัง หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรากฏว่าในปัจจุบันยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรดังกล่าวคงเหลือในการดูแลของรัฐที่เก็บอยู่ทั่วประเทศเป็นจํานวนมาก หากการเก็บรักษาและการควบคุมดูแลหรือการระบายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเหล่านี้ออกสู่ตลาดอย่างไม่รอบคอบรัดกุม หรือไม่สุจริต กรณีเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเพราะรัฐต้องจัดสรรงบประมาณเป็นจํานวนมากเพื่อไม่ให้การบริหารจัดการและการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่คงเหลือเกิดความเสียหายแก่รัฐเพิ่มขึ้น ในขณะที่รัฐต้องเร่งตรวจสอบปริมาณและคุณภาพรวมทั้งวางมาตรการระบายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรออกสู่ตลาดให้เหมาะสม มิฉะนั้นจะเสื่อมสภาพจนเสื่อมราคา กระทบต่อราคาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในฤดูกาลปัจจุบันและฤดูกาลใหม่ที่จะมาถึงจนเกิดความเสียหายอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ ทั้งต้องดําเนินการต่อผู้ต้องรับผิดเพื่อให้ชดใช้ความเสียหายแก่รัฐอันเป็นความจําเป็นเพื่อป้องกันและระงับความเสียหายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้บุคคล คณะบุคคล คณะทํางาน คณะกรรมการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายหรือได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้อง คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสําปะหลัง หรือคณะกรรมการนโยบายข้าวโพด ให้ดําเนินการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์มันสําปะหลังหรือข้าวโพดที่อยู่ในการดูแลรักษาของรัฐ ดังต่อไปนี้
(๑) โครงการแทรกแซงมันสําปะหลังของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต ๒๕๕๑/๒๕๕๒ จนถึงปีการผลิต ๒๕๕๕/๒๕๕๖ ซึ่งได้ดําเนินการมาตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ หรือภายหลังจากนั้น
(๒) โครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี ๒๕๕๑/๒๕๕๒ ซึ่งได้ดําเนินการมาต้ังแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ หรือภายหลังจากนั้นยังคงมีอํานาจหน้าที่ดําเนินการดังกล่าวต่อไปเช่นเดิม ทั้งนี้ เพื่อระงับยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเพิ่มขึ้นเพราะเหตุแห่งความเสื่อมสภาพของผลิตภัณฑ์มันสําปะหลังหรือข้าวโพด การแตกต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์หัวมันสําปะหลังสดหรือข้าวโพดที่รับจํานํากับราคาที่จําหน่ายได้ การที่รัฐต้องรับภาระค่าเช่าคลังค่าประกันภัย ค่าดูแลรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์มันสําปะหลังหรือข้าวโพด ค่าใช้จ่ายอื่นและดอกเบี้ย และเพื่อป้องกันมิให้การระบายผลิตภัณฑ์มันสําปะหลังหรือข้าวโพดเป็นการเพิ่มอุปทานตลาดในช่วงเวลาเดียวกับที่มีผลผลิตฤดูกาลใหม่โดยไม่สมควร รวมทั้งดําเนินการเพื่อให้ทราบตัวผู้ต้องรับผิดและเรียกให้ผู้นั้นชดใช้ความเสียหายแก่รัฐตามกฎหมาย
ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งได้กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น ย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทางแพ่งทางอาญา หรือทางวินัย แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
ข้อ ๒ เมื่อได้มีคําสั่งทางปกครองของหน่วยงานของรัฐหรือคําสั่งหรือคําพิพากษาของศาลแล้วแต่กรณี ให้มีการบังคับทางปกครองต่อผู้ต้องรับผิดตามโครงการรับจํานําข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต ๒๕๔๘/๒๕๔๙ จนถึงปีการผลิต ๒๕๕๖/๒๕๕๗ โครงการแทรกแซงมันสําปะหลังของรัฐตั้งแต่ปีการผลิต ๒๕๕๑/๒๕๕๒ จนถึงปีการผลิต ๒๕๕๕/๒๕๕๖ หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี ๒๕๕๑/๒๕๕๒ ให้กรมบังคับคดีมีอํานาจหน้าที่ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามคําส่ังหรือคําพิพากษาดังกล่าว และให้ได้รับความคุ้มครองตามข้อ ๑ วรรคสอง ด้วย
ข้อ ๓ ให้บุคคลตามข้อ ๑ วรรคหนึ่ง ซึ่งมีอํานาจหน้าที่ที่ต้องดําเนินการใด ๆ ตามคําสั่งทางปกครองของหน่วยงานของรัฐหรือคําสั่งหรือคําพิพากษาของศาล แล้วแต่กรณี ให้มีการดําเนินการต่อผู้ต้องรับผิดตามโครงการแทรกแซงมันสําปะหลังของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต ๒๕๕๑/๒๕๕๒ จนถึงปีการผลิต ๒๕๕๕/๒๕๕๖ หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี ๒๕๕๑/๒๕๕๒ ได้รับความคุ้มครองตามข้อ ๑ วรรคสอง ด้วยให้นําความในวรรคหนึ่ง ไปใช้บังคับกับการดําเนินการต่อผู้ต้องรับผิดในโครงการรับจํานําข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต ๒๕๔๘/๒๕๔๙ จนถึงปีการผลิต ๒๕๕๖/๒๕๕๗ ด้วย
ข้อ ๔ ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้
ข้อ ๕ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๑๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๙
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ”
มีรายงานว่า เมื่อปี 2558 ได้มีประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 39/2558 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด ตามที่มีการดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลในอดีตตั้งแต่ปีการผลิต 48/49 จนถึงปีการผลิต 56/57 ปรากฏว่ายังคงมีข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐที่เก็บอยู่ทั่วประเทศเป็นปริมาณมหาศาล หากการเก็บรักษาหรือการระบายข้าวออกสู่ตลาดไม่รอบคอบรัดกุมหรือไม่สุจริต ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ รัฐต้องวางมาตรการระบายข้าวดังกล่าว ออกสู่ตลาดให้เหมาะสมมิให้กระทบต่อราคาข้าวฤดูกาลใหม่ที่ทยอยออกมา ทั้งต้องดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด เพื่อให้ชดใช้ความเสียหายแก่รัฐ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 หัวหน้า คสช.โดยความเห็นชอบของ คสช. จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
1. ให้บุคคล คณะบุคคล คณะทำงาน คณะกรรมการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายหรือได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. คสช. รมว. นายกฯ ครม.หรือคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวให้ดำเนินการบริหารจัดการข้าวที่อยู่ในการดูแลรักษาของรัฐตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 48/49 จนถึงปีการผลิต 56/57 ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 57 หรือภายหลังจากนั้น ยังคงมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการดังกล่าวต่อไปเช่นเดิมทั้งนี้เพื่อระงับยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเพิ่มขึ้นเพราะเหตุแห่งความเสื่อมสภาพของข้าว รวมทั้งดำเนินการเพื่อให้ทราบตัวผู้ต้องรับผิด และเรียกให้ผู้นั้นชดใช้ความเสียหายแก่รัฐตามกฎหมายในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งทางอาญา หรือทางวินัย