ประธานบอร์ด อคส.เผย “บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 ช่วยคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐ ระบายข้าว มัน ข้าวโพดในสต๊อกแบบสบายใจ เผยพร้อมเดินหน้าเคลียร์สต๊อกให้หมดโดยเร็วเพื่อเซฟค่าใช้จ่ายในการฝากเก็บ ระบุล่าสุด อคส.ฟ้องดำเนินคดีทุจริตมันแล้ว 108 คดี หลังพบสินค้าล่องหนทำรัฐเสียหายกว่า 4 พันล้านบาท
พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ด อคส.) เปิดเผยถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดำเนินต่อผู้ต้องรับผิด ว่าการออกคำสั่งดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถระบายสินค้าเกษตรในสต๊อกรัฐบาลทั้งข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น และหากดำเนินการโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติย่อมได้รับความคุ้มครอง และไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย
โดยล่าสุดรัฐบาลมีมันเส้นในสต๊อก 340,000 ตัน เสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาเดือนละ 50 ล้านบาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีกราว 94,000 ตัน เสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 7 ล้านบาท ส่วนใหญ่เสื่อมสภาพจึงจำเป็นต้องเร่งระบายออกให้หมดเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อรัฐบาลต่อไป
พล.ต.ต.ไกรบุญกล่าวว่า สำหรับมันสำปะหลังเส้นในสต๊อกรัฐบาล อคส.ได้ดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่ทุจริต เช่น เจ้าของโกดัง บริษัทตรวจสอบคุณภาพ (บริษัทเซอร์เวย์) รวม 108 คดี เพราะพบว่าสินค้าหายไปจากโกดัง โดยมันเส้นสูญหาย 536 ล้านกิโลกรัม (กก.) มูลค่าความเสียหาย 3,708 ล้านบาท และแป้งมัน สูญหาย 46 ล้าน กก. มูลค่า 654 ล้านบาท รวมความเสียหาย 4,362 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 75 เรื่อง ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยเจ้าหน้าที่ อคส. ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต 15 เรื่อง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ อคส.แล้ว 3 เรื่อง
อย่างไรก็ตาม โทษทางวินัยของ อคส.ไม่รุนแรงเท่าโทษทางวินัยของข้าราชการ โดยที่ผ่านมามักลงโทษสถานเบา เช่น ตัดเงินเดือน 10% เป็นเวลา 5 เดือน ซึ่งบอร์ดอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มโทษทางวินัยให้มากขึ้น โดยเทียบเคียงกับระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
นายกีรติ รัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา กรมฯ ได้เปิดระบายมันเส้นในสต๊อกแล้วกว่า 340,000 ตัน ทั้งเข้าสู่อุตสาหกรรม และประมูลทั่วไป แต่มีการเสนอราคาซื้อต่ำสุดเพียง กก.ละ 0.10 บาท และสูงสุด 3 บาท เพราะเก็บมาตั้งแต่ปี 2551/52 ทำให้รัฐขาดทุนจากราคารับจำนำแน่นอน แต่ดีกว่าต้องเสียค่าจัดเก็บเดือนละ 50 ล้านบาท
ส่วนกรณีที่ให้กรมบังคับคดีใช้มาตรการบังคับทางปกครองจะรวมถึงกรณีที่กระทรวงพาณิชย์จะส่งหนังสือบังคับทางปกครองไปยังผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) 6 ราย เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหาย โดยกรมฯ จะมีการหารือกับกรมบังคับคดีถึงขั้นตอนการทำงานในวันที่ 15 ก.ย.นี้