ลุ้นอีกรอบ “วิษณุ” เผย อีก 1-2 วัน คลอดรายชื่อข้าราชการถูกตรวจสอบทุจริตรอบที่ 7 ส่วน 6 ล็อตที่ผ่านมาไล่ออกแล้ว 8 พ้นจากตำแหน่ง 25 ส่วนคดี “หมอเลี้ยบ” หลังถูกตัดสินให้ติดคุกแล้วยังเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ใน 1-2 วันนี้จะมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 7 ออกมา ประมาณ 20 กว่ารายชื่อ ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับ 8-9 โดยจะต้องดำเนินการสอบวินัยร้ายแรงต่อไป
ส่วนคำสั่งหัวหน้า คสช.ครั้งที่ 1-6 ก่อนหน้านี้รวมมีรายชื่อทั้งหมด 237 รายชื่อ มีการรายงานผลดำเนินการทางวินัยของต้นสังกัด มีคดีเสร็จแล้ว 62 รายชื่อ มีผลทางวินัยขั้นไล่ออก 8 รายชื่อ โดยมีผลทันที พ้นจากตำแหน่ง 25 รายชื่อ ตัดเงินเดือน 2 รายชื่อ ภาคทัณฑ์ 2 รายชื่อ ตักเตือน 1 รายชื่อ ยุติเรื่อง 16 รายชื่อ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูล 8 รายชื่อ ทั้งนี้ กรณีที่ไม่ใช่ไล่ออกยังสามารถอุทธรณ์ได้
นอกจากนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการ 105 รายชื่อ อยู่ระหว่างการติดตามดำเนินการ 63 รายชื่อ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ดำเนินการทางวินัย ส่วนการดำเนินคดีนั้นต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หากเป็นการทุจริตที่สามารถฟ้องแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายได้จะฟ้องต่อไป
นายวิษณุยังกล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้มีการพูดคุยถึงมาตรการที่ดำเนินการใช้คือ มาตรการพักงานข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าข่ายสงสัยเพื่อให้มีการสอบสวน ไม่อย่างนั้นจะนั่งทับหลักฐานอยู่ หากไม่ผิดจะกลับคืนตำแหน่ง ถ้าผิดจะสอบอาญาต่อ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เพื่อแก้ปัญหาความลักลั่นของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนความผิดของข้าราชการพลเรือนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 11 ฉบับ โดยแก้ไขให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยให้ ก.พ.เป็นเจ้าภาพ ดำเนินการเพื่อข้าราชการพลเรือนทุกประเภท ตำรวจ ทหาร พลเรือน ให้ทุกฉบับใช้หลักการเดียวกัน โดย ครม.มีมติให้ดำเนินการสอบสวนภายใน 1 ปี ให้เสร็จภายใน 3 ปี และให้ออกระเบียบภายในว่าการร้องคัดค้านคณะกรรมการตรวจสอบนั้นต้องกระทำภายในกี่วันเพื่ออุดช่องโหว่
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) อนุมัติแก้ไขสัญญากิจการดาวเทียมให้บริษัท ชินแซทฯ ลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นบุคคลสัญชาติไทย ก่อให้เกิดความเสี่ยงถูกครอบงำกิจการจากต่างชาติ มีความรับผิดทางแพ่งด้วยหรือไม่ว่า มีความผิดทางแพ่ง เพราะเมื่อได้คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ มาแล้วสามารถนำไปดำเนินการต่อได้ โดยไม่มีปัญหาเรื่องอายุความแล้ว แต่ถ้าเร็วได้ถือว่าดี อีกทั้งจากคำตัดสินดังกล่าวจะมีฐานช่วงเวลาทำผิดสามารถหยิบตรงนั้นมาคำนวณค่าเสียหายได้
ส่วนจะเกี่ยวกับใครบ้างตนไม่ทราบ ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อหาผู้รับผิดชอบ จากนี้ต้องไปหาคนที่เกี่ยวข้อง หาคนที่ต้องรับผิด และหาวงเงินต่อไป ส่วนเจ้าภาพที่ต้องดำเนินการต้องเป็นผู้เสียหายจากเรื่องนี้อาจจะเป็นกระทรวงการคลัง