คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ
1.“พล.อ.อ.สุกำพล” อดีต รมว.กลาโหม ไม่รอด ถูก สนช.ลงมติถอดถอน พร้อมตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี กรณีแทรกแซงแต่งตั้งปลัดกลาโหม!
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธาน ได้มีการรับฟังคำแถลงปิดสำนวนคดีด้วยวาจาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในคดีที่ ป.ป.ช.ขอให้ สนช.ถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพล ออกจากตำแหน่ง จากกรณีก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหม
ทั้งนี้ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะตัวแทนของผู้กล่าวหาได้อ่านคำแถลงปิดดีว่า การกระทำของ พล.อ.อ.สุกำพล ในการแต่งตั้ง พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผู้ช่วย ผบ.ทบ.เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนและขัดต่อ พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ชี้ให้เห็นถึงเจตนาอย่างชัดแจ้งว่าได้ใช้สถานะหรือตำแหน่งรัฐมนตรีก่าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติราชการการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม
น.ส.สุภา กล่าวอีกว่า คำพูดที่ พล.อ.อ.สุกำพลระบุว่า "ถ้าไม่แทรกแซงล้วงลูกเลย ก็ไม่ต้องเป็น รมว.กลาโหมเลยดีกว่า" ไม่อาจตีความหรือวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้ และว่า กรณีนี้ยิ่งกว่าคดีของนายประชา ประสพดี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่เข้าไปแทรกแซงการตั้ง ผอ.องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทยที่เป็นจุดเล็กๆ แต่ พล.อ.อ.สุกำพล เข้าไปแทรกแซงรั้วของชาติ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ การเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงย่อมทำให้เกิดปัญหาให้ฝ่ายการเมืองมาแทรกแซงไม่จบสิ้นเหมือนในอดีต ทำให้ข้าราชการประจำวิ่งเข้าหานักการเมืองเพื่อตำแหน่ง เพื่อความก้าวหน้า รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศหมดความศักดิ์สิทธิ์ "กระทรวงกลาโหมมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญคือ การพิทักษ์รักษาเอกราชและความมั่นคงของชาติจากภัยคุกคามทั้งจากภายในและภายนอกราชอาณาจักร หากปล่อยปละละเลยให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้สถานะของตนเองเข้าไปดำเนินการดังกล่าว ย่อมก่อให้เกิดความอ่อนแอในการบังคับบัญชา แตกความสามัคคีในคณะทหาร ขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของข้าราชการทหารต้องเสื่อมถอยลง และต้องเสื่อมประสิทธิภาพ ดังนั้นแม้ พล.อ.อ.สุกำพล จะพ้นตำแหน่งไปแล้ว ก็สมควรที่ สนช.จะใช้ดุลนิจลงมติถอดถอนเพื่อแสดงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย"
ด้าน พล.อ.อ.สุกำพล แถลงด้วยวาจาโดยยืนยันว่า ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 และข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการแต่งตั้งทหารชั้นนายพล พ.ศ.2551 ตลอดจนธรรมเนียมปฏิบัติของกระทรวงกลาโหมทุกขั้นตอน มีการนัดประชุม มีกรอบเวลาในการทำงาน มีองค์ประชุมครบ โดยมีการจัดประชุม 2 ครั้ง โดยครั้งแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหมเพียงตำแหน่งเดียว ซึ่งส่วนตัวได้เสนอชื่อ พล.อ.ทนงศักดิ์ ต่อที่ประชุมร่วมกับ พล.อ.ชาตรี ทัตติ ขอยืนยันว่า พล.อ.ทนงศักดิ์ไม่ใช่รุ่นเดียวกับตน แต่เป็นรุ่นน้องหนึ่งปี ส่วนสาเหตุที่ไม่ให้ พล.อ.พิณภาษณ์ สริวัฒน์ เข้ามาร่วมการประชุมด้วย เพราะ พล.อ.พิณภาษณ์เป็นแค่ผู้ช่วยเลขานุการเท่านั้น มีหน้าที่จดบันทึกการประชุมอย่างเดียว ไม่มีสิทธิออกเสียงทั้งสิ้น ประกอบกับตนเองต้องการรักษาความลับ อีกทั้งการประชุมครั้งนี้มีแค่วาระเดียวเท่านั้น สามารถจำเอาก็ได้ ไม่ต้องจดบันทึกการประชุม "ผลการพิจารณาในครั้งนั้น ผู้บัญชาทหารสูงสุด คือ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารบก คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารเรือ คือ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ และผม รวม 4 คน มีมติเลือก พล.อ.ทนงศักดิ์ เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม มีเพียง พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ คนเดียวที่เสนอชื่อ พล.อ.ชาตรี ประเด็นสำคัญ คือ การได้มาซึ่งปลัดกระทรวงกลาโหมนั้น จากการลงมติเป็นการถามทีละคน ผมจำได้"
พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวอีกว่า ส่วนการประชุมครั้งที่สอง เป็นการพิจารณาโยกย้ายนายทหารทุกหน่วยราชการ 811 คน ทุกรายชื่อได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างถูกต้อง โดยมีคณะกรรมการของแต่ละส่วนราชการสังกัดกระทรวงกลาโหมทั้งหมด และกรรมการตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 เข้าร่วมประชุม ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ ทุกคนได้เห็นชอบและร่วมลงนามทั้งหมด "ผมขอยืนยันอีกครั้งว่าเป็นการประชุมที่ถูกต้องทุกประการ สิ่งที่สำคัญคือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้ให้การยืนยันกับคณะกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช.เป็นลายลักษณ์อักษร ยืนยันว่าเป็นการประชุมที่ถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับทุกประการ แต่ ป.ป.ช.ละเลยที่จะพิจารณาคำชี้แจงของท่านทั้งหลายเหล่านี้อย่างสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่ลายลักษณ์อักษรที่เขาตอบมานั้น เป็นช่วงที่ผมออกจากตำแหน่ง รมว.กลาโหมแล้ว"
พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวด้วยว่า การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.โดยเสียงข้างมากละเลยไม่พิจารณาคำยืนยันของส่วนราชการในกระทรวงกลาโหม ซึ่งประกอบด้วย สำนักนโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม กรมเสมียนตรา และกรมพระธรรมนูญที่ยืนยันตรงกันว่า รมว.กลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชาของปลัดกระทรวงกลาโหม ดังนั้น ปลัดกระทรวงกลาโหมจึงเป็นนายทหารชั้นนายพลที่ขึ้นตรงกับ รมว.กลาโหม โดยรัฐมนตรีมีอำนาจเสนอบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมต่อที่ประชุมคณะกรรมการการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหมได้
จากนั้นนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.สรุปว่า เมื่อ ป.ป.ช.และ พล.อ.อ.สุกำพลได้แถลงปิดสำนวนคดีเสร็จแล้ว ที่ประชุม สนช.จะประชุมกันเพื่อพิจารณาว่าจะลงมติถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพลหรือไม่ในวันที่ 16 ก.ย. ทั้งนี้ การจะถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม พ.ร.บ.ประกอบด้วยรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 ได้ ต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิก สนช.เท่าที่มีอยู่ หรือ 131 คนจากสมาชิก สนช.ที่มีอยู่ 217 คน
ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนด(16 ก.ย.) ที่ประชุม สนช.ได้มีมติถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพล ออกจากตำแหน่ง ด้วยคะแนน 159 ต่อ 27 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ส่งผลให้ พล.อ.อ.สุกำพล ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี โดยห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือรับตำแหน่งทางราชการ
2.หัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 ให้คดีความมั่นคงที่จะเกิดขึ้นใหม่ ไม่ต้องขึ้นศาลทหาร ไปศาลยุติธรรมแทน ด้าน “จตุพร-UNOHCHR” ได้คืบเอาศอก ขอย้อนหลังด้วย!
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช.เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับคดีบางประเภทที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร โดยระบุว่า ตามที่ คสช.ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.2557 และต่อมา ได้กำหนดให้การกระทำความผิดบางประเภทที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรและในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลทหารนั้น เมื่อได้ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมืออย่างดี ความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการควบคุมสถานการณ์และรักษาความสงบตามกฎอัยการศึกจึงควรผ่อนคลายลง จึงมีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ยกเว้นประกาศกฎอัยการศึกที่มีผลบังคับก่อนวันที่ 19 พ.ค.2557 ส่วนการกระทำผิดบางประเภทตามประกาศ คสช.ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลทหารต่อไป
อย่างไรก็ตาม คสช.เห็นว่า สถานการณ์บ้านเมือง 2 ปีที่ผ่านมามีความสงบเรียบร้อย ประชาชนต่างร่วมมือสร้างความสามัคคีปรองดอง เห็นได้จากการลงประชามติที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบด้วยมติท่วมท้น จึงสมควรผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงอีก จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มีคำสั่งดังต่อไปนี้
1.บรรดาการกระทำความผิดตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ฉบับที่ 38/2557 และฉบับที่ 50/2557 ที่ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะในสงคราม ซึ่งได้กระทำตั้งแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่ไม่รวมถึงการทำความผิดที่กฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารบัญญัติให้เป็นอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ให้การกระทำผิดดังกล่าวยังคงอยู่ในการพิจารณาของศาลทหารต่อไป
2.ให้เจ้าพนักงานตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่รับผิดชอบเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง และการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดบางประเภทที่เป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคม ยังคงมีอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งต่อไป
3.กรณีที่เห็นสมควร ให้นายกรัฐมนตรีเสนอ คสช.แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้ และคำสั่งนี้ให้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.2559 เป็นต้นไป
ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช.กล่าวว่า หัวหน้า คสช.ได้ออกคำสั่งดังกล่าว เพื่อผ่อนคลายบรรยากาศตามที่นานาชาติเรียกร้องให้เป็นสากลมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือที่จะทำให้เห็นว่า ประเทศไทยให้ความร่วมมือในทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ส่อไปในทางไม่เรียบร้อย หัวหน้า คสช.สามารถนำคำสั่งที่ให้คดีขึ้นสู่ศาลทหารกลับมาใช้ใหม่ได้
ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) กล่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ว่า การใช้มาตรา 44 ยกเลิกพลเรือนขึ้นศาลทหารนั้น หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว เป็นการให้เฉพาะคดีที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่คดีที่เกี่ยวข้องกับการประชามติและความมั่นคง ยังอยู่ในศาลทหารตามเดิม แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จะใจกว้างและใจถึงเพื่อคืนความยุติธรรมให้ประชาชนแล้ว ไม่ควรแสดงออกแบบใจแคบ ควรมีใจกว้างมากขึ้น ด้วยการยกเลิกคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายหลังการยึดอำนาจที่ขึ้นศาลทหาร มาขึ้นศาลตามปกติ เพื่อให้ประชาชนได้ต่อสู้หาเสรีภาพตามกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งคดีที่สะท้อนถึงการลุแก่อำนาจและไม่มีสาระ ต้องยกคำร้อง ถอนออกจากศาลทหารทั้งหมดด้วย
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งให้ยกเลิกขึ้นศาลทหารทุกคดี หากทำความผิดให้ขึ้นศาลยุติธรรม ยกเว้นคดีที่ทำผิดก่อน คสช.ออกคำสั่งดังกล่าวว่า คดีทั้งหมดแบ่งเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย คดีความผิดมาตรา 112 มาตรา 116 เกี่ยวกับวัตถุระเบิด อาวุธปืน ดอกไม้เพลิง และคดีที่เกี่ยวกับการขัดคำสั่ง คสช. จากเดิมให้ขึ้นศาลทหาร เปลี่ยนให้ขึ้นศาลยุติธรรมหรือศาลพลเรือนแทน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.ที่มีการประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ส่วนคดีเดิมที่อยู่ในศาลทหารไม่สามารถโอนมาศาลปกติได้ เนื่องจากบางคดีสืบพยานไปแล้ว หากโอนมา จะทำให้เกิดความยุ่งยาก
ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความดีใจที่ไทยยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร ในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้บังคับคำสั่งย้อนหลังเพื่อให้มีการไต่สวนคดีพลเรือนทุกคดีในศาลพลเรือนด้วย ทั้งนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยระงับการใช้คำสั่งทหารซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจการรักษาความสงบ ให้กับเจ้าหน้าที่ทหาร รวมทั้งขอให้ยุติคดีที่จับกุมและตั้งข้อหาบุคคลผู้ใช้สิทธิพื้นฐานของตนในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก และการชุมนุมด้วย
3.“บิ๊กตู่” ใช้อำนาจ ม.44 ให้ “กรมบังคับคดี” เป็นผู้ยึดทรัพย์คดีจำนำข้าว เมื่อมีคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจากผู้ทำผิด!
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เรื่อง การคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดําเนินการต่อผู้ต้องรับผิด โดยระบุว่า ตามที่ได้มีการดําเนินโครงการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจํานําข้าวเปลือก โครงการแทรกแซงมันสําปะหลัง หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปรากฏว่าในปัจจุบันยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรดังกล่าวคงเหลือในการดูแลของรัฐที่เก็บอยู่ทั่วประเทศเป็นจํานวนมาก หากเก็บรักษาหรือควบคุมดูแลหรือระบายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกสู่ตลาดอย่างไม่รอบคอบรัดกุม หรือไม่สุจริต ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะรัฐต้องจัดสรรงบประมาณเป็นจํานวนมากเพื่อบริหารจัดการและเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่คงเหลือดังกล่าว ทั้งยังต้องดําเนินการต่อผู้ต้องรับผิดเพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ ซึ่งเป็นความจําเป็นเพื่อป้องกันและระงับความเสียหายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หัวหน้า คสช.จึงอาศัยอํานาจตามมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 โดยความเห็นชอบของ คสช.มีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
1.ให้บุคคล คณะบุคคล คณะทํางาน คณะกรรมการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายหรือได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. คณะ คสช. นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้อง คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสําปะหลัง หรือคณะกรรมการนโยบายข้าวโพด ยังคงมีอำนาจบริหารจัดการผลิตภัณฑ์มันสําปะหลังหรือข้าวโพดที่อยู่ในการดูแลรักษาของรัฐต่อไป เพื่อระงับยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเพิ่มขึ้น รวมทั้งดําเนินการเพื่อให้ทราบตัวผู้ต้องรับผิดและเรียกให้ผู้นั้นชดใช้ความเสียหายแก่รัฐตามกฎหมาย ประกอบด้วย โครงการแทรกแซงมันสําปะหลังของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 2551/2552 จนถึงปีการผลิต 2555/2556 ซึ่งได้ดําเนินการมาตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 หรือหลังจากนั้น, โครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2551/2552 ซึ่งได้ดําเนินการมาตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 หรือหลังจากนั้น
ทั้งนี้ กรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งได้กระทําการตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น ย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
2. เมื่อได้มีคําสั่งทางปกครองของหน่วยงานของรัฐหรือคําสั่งหรือคําพิพากษาของศาลแล้วแต่กรณี ให้มีการบังคับทางปกครองต่อผู้ต้องรับผิดตามโครงการรับจํานําข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 2558/2559 จนถึงปีการผลิต 2556/2557 โครงการแทรกแซงมันสําปะหลังของรัฐตั้งแต่ปีการผลิต 2551/2552 จนถึงปีการผลิต 2555/2556 หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2551/2552 ให้กรมบังคับคดีมีอํานาจหน้าที่ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพื่อบังคับให้เป็นไปตามคําสั่งหรือคําพิพากษาดังกล่าว และให้ได้รับความคุ้มครองตามข้อ 1 วรรคสอง ด้วย
และ 3. ให้บุคคลตามข้อ 1 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีอํานาจหน้าที่ที่ต้องดําเนินการใด ๆ ตามคําสั่งทางปกครองของหน่วยงานของรัฐหรือคําสั่งหรือคําพิพากษาของศาล แล้วแต่กรณี ให้มีการดําเนินการต่อผู้ต้องรับผิดตามโครงการแทรกแซงมันสําปะหลังของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 2551/2552 จนถึงปีการผลิต 2555/2556 หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2551/2552 ได้รับความคุ้มครองตามข้อ 1 วรรคสอง ด้วย และให้นําความในวรรคหนึ่ง ไปใช้บังคับกับการดําเนินการต่อผู้ต้องรับผิดในโครงการรับจํานําข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 2558/2559 จนถึงปีการผลิต 2556/2557 ด้วย ทั้งนี้ ในกรณีที่เห็นสมควร นายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้ คสช.แก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้
ด้าน น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ให้กรมบังคับคดีมีอำนาจบังคับคดีตามกฎหมายในคดีที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว โครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และโครงการแทรกแซงมันสำปะหลัง เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามคำสั่งหรือคำพิพากษาว่า เรื่องดังกล่าวต้องดูคำสั่งของกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นส่วนราชการในฐานะผู้รับผิดชอบหลัก เนื่องจากคำสั่งระบุชัดว่าส่วนราชการที่เสียหายจะเป็นผู้ออกคำสั่งทางปกครองก่อน ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ 2539 ดังนั้นต้องรอดูคำสั่งจากส่วนราชการต้นสังกัดก่อน จากนั้นจึงแจ้งคำสั่งตามขั้นตอน คือ เมื่อออกคำสั่งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดฯ แล้ว ต้องมีการแจ้งไปยังผู้ชดใช้ให้ชำระค่าเสียหาย และหากยังไม่ชดใช้จะแจ้งเตือน หากไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งจริง กรมบังคับคดีจึงจะเข้าไปดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่ง
4.“บิ๊กตู่” นำทีมแถลงผลงานรัฐบาลครบ 2 ปี ดีขึ้นทุกด้าน ภาพลักษณ์โปร่งใสที่สุดในรอบ 10 ปี ด้าน ม.หอการค้าไทย ให้คะแนน 8 เต็ม 10 !
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้นำทีมรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 6 คน แถลงผลงานรัฐบาลในโอกาสครบ 2 ปี โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเปิดการแถลงผลงานว่า ตลอด 2 ปีที่รัฐบาลและ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ผลการทำงานของรัฐบาลเป็นที่ประจักษ์ และมีผลสัมฤทธิ์ออกมา ทำให้มุมมองขององค์กรต่างๆ ที่มีต่อประเทศไทยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นและน่าพอใจ ด้านความไม่แน่นอนทางทางการเมืองก็ดีขึ้น ความโปร่งใสในการบริหารงานภาครัฐก็ดีขึ้น การจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น(ซีพีไอ) ก็ดีขึ้น จากที่เคยอยู่อันดับ 102 ในปี 2556 มาอยู่อันดับที่ 76 ในปัจจุบัน “สถาบันและองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ได้ประเมินสถานการณ์คอร์รัปชั่นของไทยในสายตานานาชาติว่าดีที่สุดในรอบ 6 ปี และมีความโปร่งใสดีที่สุดในรอบ 10 ปี” ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังยืนยันด้วยว่า รัฐบาลได้ลงมือทำ เพื่อสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งให้กับประเทศ
ส่วนการแถลงผลงานของรองนายกรัฐมนตรี ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แถลงผลงานด้านความมั่นคง โดยยืนว่า รัฐบาลจะยังคงมุ่งมั่นแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย การแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ซึ่งไทยได้รับการยกอันดับจากประเทศที่มีประวัติการค้ามนุษย์ขั้นเลวร้ายหรือเทียร์ 3 ขึ้นมาสู่บัญชีจับตามอง หรือเทียร์ 2 ส่วนงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ได้มีการจับผู้มีอิทธิพล มาเฟียเรียกรับผลประโยชน์ ยาเสพติด บ่อนการพนันทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จัดระเบียบการค้าขายบนทางเท้า จัดการปัญหานักเรียนตีกัน ฯลฯ
ขณะที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร แถลงผลงานด้านวัฒนธรรม ท่องเที่ยว กีฬา ว่า ประสบความสำเร็จจากความร่วมมือของประชารัฐ ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการชื่นชมจากนานาชาติ และว่า จากการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยปี 2558-2560 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยในปีนี้ 33 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.28% จากปี 2558 และคาดว่าจะสร้างรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท
ด้าน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย แถลงผลงานด้านสังคมว่า ได้เน้นพัฒนาระบบสวัสดิการและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานและมีความเหมาะสมสำหรับผู้มีรายได้น้อย ประมาณ 2.7 ล้านครัวเรือน, สนับสนุนเงินอุดหนุนการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในครอบครัวที่ยากจนจากรายละ 400 บาทต่อเดือน เป็น 600 บาทต่อเดือน, พัฒนาชีวิตคนพิการด้วยการปรับเพิ่มสวัสดิการจากเดิมเดือนละ 500 บาท เป็นเดือนละ 800 บาท ฯลฯ
ขณะที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง แถลงผลงานด้านการเกษตรว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามาบริหารประเทศ เช่น ปัญหาภัยแล้ง, การบริหารจัดการนมโรงเรียนทั้งระบบ นอกจากนี้ยังวางรากฐานการปฏิรูปการเกษตร และพัฒนาการเกษตรแบบสมัยใหม่ตามแนวประชารัฐ ฯลฯ
ด้านนายวิษณุ เครืองาม แถลงผลงานด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมว่า ตั้งแต่ปี 2551-2557 มีการออกกฎหมายได้เพียง 120 ฉบับ หรือเฉลี่ยปีละ 17 ฉบับ แต่ 2 ปีของรัฐบาลนี้ สามารถออก พ.ร.บ.ไปแล้วทั้งหมด 187 ฉบับ และภายใน 1 ปีนับจากนี้ จะออกกฎหมายให้ได้อีก 100 ฉบับ และว่า หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาไปแล้ว 104 เรื่อง และเมื่อ คสช.เข้ามา ก็มีปลัดกว่า 20 กระทรวงเข้ามาเพื่อขอให้ คสช.ออกกฎหมายกว่า 300 ฉบับ เพราะที่ผ่านมามีปัญหาสารพัด จึงออกกฎหมายไม่ได้
ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แถลงผลงานด้านเศรษฐกิจว่า 2 ปีที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจโลกจะถดถอย แต่รัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ มาฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากร้อยละ 0.8 ขยับเพิ่มเป็นร้อยละ 2.8 ในสิ้นปี 2558 และขยับเพิ่มเป็นร้อยละ 3.2 ในไตรมาสแรกของปีนี้ และเพิ่มเป็นร้อยละ 3.5 ในไตรมาสสอง ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า จีดีพีของประเทศจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ซึ่งทีมเศรษฐกิจจะพยายามทำให้ถึงเป้าหมาย นายสมคิดยังเชื่อด้วยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุดแล้ว แต่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เพราะส่งออกยังมีปัญหาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เอกชนจึงยังไม่กล้าลงทุนมาก รัฐบาลจึงต้องปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานผ่านเงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในระยะยาว และเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวสรุปว่า ทุกคนคือฟันเฟือง รัฐบาลก็เป็นเหมือนพ่อบ้าน มีลูกหลายคน อยากให้ทุกคนเคารพซึ่งกันและกัน และมีส่วนในการนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน กลับมาเป็นบ้านที่แสนสุข สร้างบ้านหลังใหม่ เสริมฐานรากให้เข้มแข็ง
ส่วนมุมมองของบางฝ่ายต่อผลงาน 2 ปีของรัฐบาลนี้ นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากมองในแง่เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของประชาชน ถือว่ารัฐบาลสอบไม่ผ่าน เพราะประชาชนได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลไม่มีนโยบายที่ชัดเจน “ไม่อยากให้นายกฯ เชื่อโพลรอบๆ ตัวที่เชลียร์ว่าดีๆ ให้มากนัก แต่ต้องมองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนด้วย ดังนั้น หากให้เป็นคะแนน ผมให้รัฐบาลได้แค่ 5 เต็ม 10 เท่านั้น”
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลงานของรัฐบาลว่า หอการค้าฯ ให้คะแนนการทำงานของรัฐบาล 8 เต็ม 10 คะแนน เพราะแม้จะเผชิญปัญหาเศรษฐกิจโลก การส่งออกชะลอตัว แต่รัฐบาลแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจได้ดี ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบและกระตุ้นการเบิกจ่ายให้รวดเร็วมากขึ้น และว่า สิ่งที่อยากให้รัฐบาลทำในอนาคต คือฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน เพื่อให้รับรู้ได้ว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว รวมทั้งเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงพื้นที่ให้มากที่สุด
5.ศาล รธน.พิจารณาร่าง รธน.ฉบับแก้ไขของ กรธ.ยังไม่แล้วเสร็จ นัดถกต่อ 21 ก.ย.!
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมพิจารณากรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติม(คำถามพ่วง) เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2558 มาตรา 37/1 ซึ่งศาลฯ ได้มีหนังสือขอความเห็นและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคำถามพ่วงจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้ว
ทั้งนี้ หลังประชุม ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารเผยผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีคำสั่งรับความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องในประเด็นคำถามพ่วงจาก สปท. สนช. และ ครม. รวมไว้ในสำนวนแล้ว จากนั้น ศาลฯ ได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย แต่ยังไม่แล้วเสร็จ จึงนัดอภิปรายต่อเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในวันพุธที่ 21 ก.ย.เวลา 13.30 น.
รายงานข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า ที่ประชุมเมื่อวันที่ 14 ก.ย.เห็นว่า ต้องมีการหารือกันในเชิงลึกและต้องนำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีมาพิจารณาร่วมด้วย ทำให้ที่ประชุมเห็นว่า เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรอบคอบ จึงได้นัดอภิปรายต่อในวันที่ 21 ก.ย. โดยไม่ร้องขอเอกสารหรือขอให้ผู้ใดมาชี้แจงเพิ่มเติม ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า วันที่ 21 ก.ย.จะได้ข้อยุติเบื้องต้น เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีประเด็นและกรอบในการพิจารณาแล้ว
6.สนช.ไฟเขียวแก้ กม.อาญา ดัดหลังนักโทษหนีคดี ถ้าไม่มาแสดงตัว ไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์-ฎีกาคดี!
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระที่ 3 โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 166 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิก สนช. ได้อภิปรายทักท้วงข้อความที่ระบุว่า จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ ต่อเมื่อต้องมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลให้ขยายระยะเวลาแสดงตน หรือระยะเวลาที่ศาลกำหนด มิฉะนั้นให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ โดยนายกล้านรงค์เห็นว่า การไม่กำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ อาจเป็นช่องว่างได้ เพราะแต่ละศาลในประเทศไทย อาจวินิจฉัยไม่เหมือนกัน จึงเสนอให้เปลี่ยนเป็น “ให้ประธานศาลฎีกาออกข้อบังคับใช้ ข้อกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไข การแสดงตนของจำเลย ซึ่งข้อบังคับนั้นเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้” เช่น ประธานศาลฎีกา กำหนดระยะเวลาแสดงตนในการยื่นอุทธรณ์ เป็น 30 วัน หรือ 60 วัน ก็ตามแต่ที่ได้ประชุมหารือกัน และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งทุกศาลในประเทศจะต้องใช้เป็นเกณฑ์ในการปฏิบัติเหมือนกัน จะทำให้คดีความต่างๆ ได้รับการพิจารณาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งที่สุดที่ประชุมเห็นด้วยให้มีการปรับแก้ตามที่สมาชิกเสนอ
หลังลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. กล่าวว่า หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ จะทำให้นักโทษที่ศาลตัดสินลงโทษจำคุกเเล้ว หรือหลบหนีลอยนวลไปจิบไวน์ต่างประเทศเเล้ว จะไปจ้างทนายมายื่นอุทธรณ์ หรือฎีกาต่อศาล โดยที่เจ้าตัวไม่มาแสดงตน ไม่ได้แล้ว ทั้งนี้ การยื่นอุทธรณ์แต่ละครั้ง หากขอขยายเวลาด้วยเหตุจำเป็น เช่น ป่วย ต้องมีหลักฐานมายืนยัน และเมื่อครบกำหนด ก็จะต้องมาแสดงตนในการยื่นอุทธรณ์ครั้งต่อไป เพราะหากไม่มาแสดงตนและไม่มีเหตุผลพอในการขยายเวลาแสดงตน ศาลจะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์หรือฎีกา นายสมชายยังเผยด้วยว่า ตนกำลังจัดทำร่างกฎหมาย กำหนดให้รวมไปถึงการฟ้องคดี ที่ผู้ฟ้องจะต้องมารายงานตัวต่อศาลด้วย โดยไม่สามารถมอบหมายให้บุคคลอื่นมาฟ้องคดีแทนได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการทำร่างให้มีความเหมาะสม
1.“พล.อ.อ.สุกำพล” อดีต รมว.กลาโหม ไม่รอด ถูก สนช.ลงมติถอดถอน พร้อมตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี กรณีแทรกแซงแต่งตั้งปลัดกลาโหม!
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธาน ได้มีการรับฟังคำแถลงปิดสำนวนคดีด้วยวาจาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในคดีที่ ป.ป.ช.ขอให้ สนช.ถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพล ออกจากตำแหน่ง จากกรณีก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหม
ทั้งนี้ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะตัวแทนของผู้กล่าวหาได้อ่านคำแถลงปิดดีว่า การกระทำของ พล.อ.อ.สุกำพล ในการแต่งตั้ง พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผู้ช่วย ผบ.ทบ.เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนและขัดต่อ พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ชี้ให้เห็นถึงเจตนาอย่างชัดแจ้งว่าได้ใช้สถานะหรือตำแหน่งรัฐมนตรีก่าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติราชการการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม
น.ส.สุภา กล่าวอีกว่า คำพูดที่ พล.อ.อ.สุกำพลระบุว่า "ถ้าไม่แทรกแซงล้วงลูกเลย ก็ไม่ต้องเป็น รมว.กลาโหมเลยดีกว่า" ไม่อาจตีความหรือวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้ และว่า กรณีนี้ยิ่งกว่าคดีของนายประชา ประสพดี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่เข้าไปแทรกแซงการตั้ง ผอ.องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทยที่เป็นจุดเล็กๆ แต่ พล.อ.อ.สุกำพล เข้าไปแทรกแซงรั้วของชาติ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ การเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงย่อมทำให้เกิดปัญหาให้ฝ่ายการเมืองมาแทรกแซงไม่จบสิ้นเหมือนในอดีต ทำให้ข้าราชการประจำวิ่งเข้าหานักการเมืองเพื่อตำแหน่ง เพื่อความก้าวหน้า รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศหมดความศักดิ์สิทธิ์ "กระทรวงกลาโหมมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญคือ การพิทักษ์รักษาเอกราชและความมั่นคงของชาติจากภัยคุกคามทั้งจากภายในและภายนอกราชอาณาจักร หากปล่อยปละละเลยให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้สถานะของตนเองเข้าไปดำเนินการดังกล่าว ย่อมก่อให้เกิดความอ่อนแอในการบังคับบัญชา แตกความสามัคคีในคณะทหาร ขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของข้าราชการทหารต้องเสื่อมถอยลง และต้องเสื่อมประสิทธิภาพ ดังนั้นแม้ พล.อ.อ.สุกำพล จะพ้นตำแหน่งไปแล้ว ก็สมควรที่ สนช.จะใช้ดุลนิจลงมติถอดถอนเพื่อแสดงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย"
ด้าน พล.อ.อ.สุกำพล แถลงด้วยวาจาโดยยืนยันว่า ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 และข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการแต่งตั้งทหารชั้นนายพล พ.ศ.2551 ตลอดจนธรรมเนียมปฏิบัติของกระทรวงกลาโหมทุกขั้นตอน มีการนัดประชุม มีกรอบเวลาในการทำงาน มีองค์ประชุมครบ โดยมีการจัดประชุม 2 ครั้ง โดยครั้งแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหมเพียงตำแหน่งเดียว ซึ่งส่วนตัวได้เสนอชื่อ พล.อ.ทนงศักดิ์ ต่อที่ประชุมร่วมกับ พล.อ.ชาตรี ทัตติ ขอยืนยันว่า พล.อ.ทนงศักดิ์ไม่ใช่รุ่นเดียวกับตน แต่เป็นรุ่นน้องหนึ่งปี ส่วนสาเหตุที่ไม่ให้ พล.อ.พิณภาษณ์ สริวัฒน์ เข้ามาร่วมการประชุมด้วย เพราะ พล.อ.พิณภาษณ์เป็นแค่ผู้ช่วยเลขานุการเท่านั้น มีหน้าที่จดบันทึกการประชุมอย่างเดียว ไม่มีสิทธิออกเสียงทั้งสิ้น ประกอบกับตนเองต้องการรักษาความลับ อีกทั้งการประชุมครั้งนี้มีแค่วาระเดียวเท่านั้น สามารถจำเอาก็ได้ ไม่ต้องจดบันทึกการประชุม "ผลการพิจารณาในครั้งนั้น ผู้บัญชาทหารสูงสุด คือ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารบก คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารเรือ คือ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ และผม รวม 4 คน มีมติเลือก พล.อ.ทนงศักดิ์ เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม มีเพียง พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ คนเดียวที่เสนอชื่อ พล.อ.ชาตรี ประเด็นสำคัญ คือ การได้มาซึ่งปลัดกระทรวงกลาโหมนั้น จากการลงมติเป็นการถามทีละคน ผมจำได้"
พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวอีกว่า ส่วนการประชุมครั้งที่สอง เป็นการพิจารณาโยกย้ายนายทหารทุกหน่วยราชการ 811 คน ทุกรายชื่อได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างถูกต้อง โดยมีคณะกรรมการของแต่ละส่วนราชการสังกัดกระทรวงกลาโหมทั้งหมด และกรรมการตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 เข้าร่วมประชุม ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ ทุกคนได้เห็นชอบและร่วมลงนามทั้งหมด "ผมขอยืนยันอีกครั้งว่าเป็นการประชุมที่ถูกต้องทุกประการ สิ่งที่สำคัญคือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้ให้การยืนยันกับคณะกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช.เป็นลายลักษณ์อักษร ยืนยันว่าเป็นการประชุมที่ถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับทุกประการ แต่ ป.ป.ช.ละเลยที่จะพิจารณาคำชี้แจงของท่านทั้งหลายเหล่านี้อย่างสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่ลายลักษณ์อักษรที่เขาตอบมานั้น เป็นช่วงที่ผมออกจากตำแหน่ง รมว.กลาโหมแล้ว"
พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวด้วยว่า การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.โดยเสียงข้างมากละเลยไม่พิจารณาคำยืนยันของส่วนราชการในกระทรวงกลาโหม ซึ่งประกอบด้วย สำนักนโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม กรมเสมียนตรา และกรมพระธรรมนูญที่ยืนยันตรงกันว่า รมว.กลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชาของปลัดกระทรวงกลาโหม ดังนั้น ปลัดกระทรวงกลาโหมจึงเป็นนายทหารชั้นนายพลที่ขึ้นตรงกับ รมว.กลาโหม โดยรัฐมนตรีมีอำนาจเสนอบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมต่อที่ประชุมคณะกรรมการการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหมได้
จากนั้นนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.สรุปว่า เมื่อ ป.ป.ช.และ พล.อ.อ.สุกำพลได้แถลงปิดสำนวนคดีเสร็จแล้ว ที่ประชุม สนช.จะประชุมกันเพื่อพิจารณาว่าจะลงมติถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพลหรือไม่ในวันที่ 16 ก.ย. ทั้งนี้ การจะถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม พ.ร.บ.ประกอบด้วยรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 ได้ ต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิก สนช.เท่าที่มีอยู่ หรือ 131 คนจากสมาชิก สนช.ที่มีอยู่ 217 คน
ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนด(16 ก.ย.) ที่ประชุม สนช.ได้มีมติถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพล ออกจากตำแหน่ง ด้วยคะแนน 159 ต่อ 27 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ส่งผลให้ พล.อ.อ.สุกำพล ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี โดยห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือรับตำแหน่งทางราชการ
2.หัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 ให้คดีความมั่นคงที่จะเกิดขึ้นใหม่ ไม่ต้องขึ้นศาลทหาร ไปศาลยุติธรรมแทน ด้าน “จตุพร-UNOHCHR” ได้คืบเอาศอก ขอย้อนหลังด้วย!
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช.เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับคดีบางประเภทที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร โดยระบุว่า ตามที่ คสช.ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.2557 และต่อมา ได้กำหนดให้การกระทำความผิดบางประเภทที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรและในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลทหารนั้น เมื่อได้ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมืออย่างดี ความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการควบคุมสถานการณ์และรักษาความสงบตามกฎอัยการศึกจึงควรผ่อนคลายลง จึงมีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ยกเว้นประกาศกฎอัยการศึกที่มีผลบังคับก่อนวันที่ 19 พ.ค.2557 ส่วนการกระทำผิดบางประเภทตามประกาศ คสช.ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลทหารต่อไป
อย่างไรก็ตาม คสช.เห็นว่า สถานการณ์บ้านเมือง 2 ปีที่ผ่านมามีความสงบเรียบร้อย ประชาชนต่างร่วมมือสร้างความสามัคคีปรองดอง เห็นได้จากการลงประชามติที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบด้วยมติท่วมท้น จึงสมควรผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงอีก จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มีคำสั่งดังต่อไปนี้
1.บรรดาการกระทำความผิดตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ฉบับที่ 38/2557 และฉบับที่ 50/2557 ที่ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะในสงคราม ซึ่งได้กระทำตั้งแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่ไม่รวมถึงการทำความผิดที่กฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารบัญญัติให้เป็นอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ให้การกระทำผิดดังกล่าวยังคงอยู่ในการพิจารณาของศาลทหารต่อไป
2.ให้เจ้าพนักงานตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่รับผิดชอบเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง และการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดบางประเภทที่เป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคม ยังคงมีอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งต่อไป
3.กรณีที่เห็นสมควร ให้นายกรัฐมนตรีเสนอ คสช.แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้ และคำสั่งนี้ให้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.2559 เป็นต้นไป
ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช.กล่าวว่า หัวหน้า คสช.ได้ออกคำสั่งดังกล่าว เพื่อผ่อนคลายบรรยากาศตามที่นานาชาติเรียกร้องให้เป็นสากลมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือที่จะทำให้เห็นว่า ประเทศไทยให้ความร่วมมือในทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ส่อไปในทางไม่เรียบร้อย หัวหน้า คสช.สามารถนำคำสั่งที่ให้คดีขึ้นสู่ศาลทหารกลับมาใช้ใหม่ได้
ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) กล่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ว่า การใช้มาตรา 44 ยกเลิกพลเรือนขึ้นศาลทหารนั้น หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว เป็นการให้เฉพาะคดีที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่คดีที่เกี่ยวข้องกับการประชามติและความมั่นคง ยังอยู่ในศาลทหารตามเดิม แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จะใจกว้างและใจถึงเพื่อคืนความยุติธรรมให้ประชาชนแล้ว ไม่ควรแสดงออกแบบใจแคบ ควรมีใจกว้างมากขึ้น ด้วยการยกเลิกคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายหลังการยึดอำนาจที่ขึ้นศาลทหาร มาขึ้นศาลตามปกติ เพื่อให้ประชาชนได้ต่อสู้หาเสรีภาพตามกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งคดีที่สะท้อนถึงการลุแก่อำนาจและไม่มีสาระ ต้องยกคำร้อง ถอนออกจากศาลทหารทั้งหมดด้วย
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งให้ยกเลิกขึ้นศาลทหารทุกคดี หากทำความผิดให้ขึ้นศาลยุติธรรม ยกเว้นคดีที่ทำผิดก่อน คสช.ออกคำสั่งดังกล่าวว่า คดีทั้งหมดแบ่งเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย คดีความผิดมาตรา 112 มาตรา 116 เกี่ยวกับวัตถุระเบิด อาวุธปืน ดอกไม้เพลิง และคดีที่เกี่ยวกับการขัดคำสั่ง คสช. จากเดิมให้ขึ้นศาลทหาร เปลี่ยนให้ขึ้นศาลยุติธรรมหรือศาลพลเรือนแทน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.ที่มีการประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ส่วนคดีเดิมที่อยู่ในศาลทหารไม่สามารถโอนมาศาลปกติได้ เนื่องจากบางคดีสืบพยานไปแล้ว หากโอนมา จะทำให้เกิดความยุ่งยาก
ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความดีใจที่ไทยยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร ในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้บังคับคำสั่งย้อนหลังเพื่อให้มีการไต่สวนคดีพลเรือนทุกคดีในศาลพลเรือนด้วย ทั้งนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยระงับการใช้คำสั่งทหารซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจการรักษาความสงบ ให้กับเจ้าหน้าที่ทหาร รวมทั้งขอให้ยุติคดีที่จับกุมและตั้งข้อหาบุคคลผู้ใช้สิทธิพื้นฐานของตนในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก และการชุมนุมด้วย
3.“บิ๊กตู่” ใช้อำนาจ ม.44 ให้ “กรมบังคับคดี” เป็นผู้ยึดทรัพย์คดีจำนำข้าว เมื่อมีคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจากผู้ทำผิด!
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เรื่อง การคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดําเนินการต่อผู้ต้องรับผิด โดยระบุว่า ตามที่ได้มีการดําเนินโครงการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจํานําข้าวเปลือก โครงการแทรกแซงมันสําปะหลัง หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปรากฏว่าในปัจจุบันยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรดังกล่าวคงเหลือในการดูแลของรัฐที่เก็บอยู่ทั่วประเทศเป็นจํานวนมาก หากเก็บรักษาหรือควบคุมดูแลหรือระบายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกสู่ตลาดอย่างไม่รอบคอบรัดกุม หรือไม่สุจริต ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะรัฐต้องจัดสรรงบประมาณเป็นจํานวนมากเพื่อบริหารจัดการและเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่คงเหลือดังกล่าว ทั้งยังต้องดําเนินการต่อผู้ต้องรับผิดเพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ ซึ่งเป็นความจําเป็นเพื่อป้องกันและระงับความเสียหายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หัวหน้า คสช.จึงอาศัยอํานาจตามมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 โดยความเห็นชอบของ คสช.มีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
1.ให้บุคคล คณะบุคคล คณะทํางาน คณะกรรมการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายหรือได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. คณะ คสช. นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้อง คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสําปะหลัง หรือคณะกรรมการนโยบายข้าวโพด ยังคงมีอำนาจบริหารจัดการผลิตภัณฑ์มันสําปะหลังหรือข้าวโพดที่อยู่ในการดูแลรักษาของรัฐต่อไป เพื่อระงับยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเพิ่มขึ้น รวมทั้งดําเนินการเพื่อให้ทราบตัวผู้ต้องรับผิดและเรียกให้ผู้นั้นชดใช้ความเสียหายแก่รัฐตามกฎหมาย ประกอบด้วย โครงการแทรกแซงมันสําปะหลังของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 2551/2552 จนถึงปีการผลิต 2555/2556 ซึ่งได้ดําเนินการมาตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 หรือหลังจากนั้น, โครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2551/2552 ซึ่งได้ดําเนินการมาตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 หรือหลังจากนั้น
ทั้งนี้ กรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งได้กระทําการตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น ย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
2. เมื่อได้มีคําสั่งทางปกครองของหน่วยงานของรัฐหรือคําสั่งหรือคําพิพากษาของศาลแล้วแต่กรณี ให้มีการบังคับทางปกครองต่อผู้ต้องรับผิดตามโครงการรับจํานําข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 2558/2559 จนถึงปีการผลิต 2556/2557 โครงการแทรกแซงมันสําปะหลังของรัฐตั้งแต่ปีการผลิต 2551/2552 จนถึงปีการผลิต 2555/2556 หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2551/2552 ให้กรมบังคับคดีมีอํานาจหน้าที่ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพื่อบังคับให้เป็นไปตามคําสั่งหรือคําพิพากษาดังกล่าว และให้ได้รับความคุ้มครองตามข้อ 1 วรรคสอง ด้วย
และ 3. ให้บุคคลตามข้อ 1 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีอํานาจหน้าที่ที่ต้องดําเนินการใด ๆ ตามคําสั่งทางปกครองของหน่วยงานของรัฐหรือคําสั่งหรือคําพิพากษาของศาล แล้วแต่กรณี ให้มีการดําเนินการต่อผู้ต้องรับผิดตามโครงการแทรกแซงมันสําปะหลังของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 2551/2552 จนถึงปีการผลิต 2555/2556 หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2551/2552 ได้รับความคุ้มครองตามข้อ 1 วรรคสอง ด้วย และให้นําความในวรรคหนึ่ง ไปใช้บังคับกับการดําเนินการต่อผู้ต้องรับผิดในโครงการรับจํานําข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 2558/2559 จนถึงปีการผลิต 2556/2557 ด้วย ทั้งนี้ ในกรณีที่เห็นสมควร นายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้ คสช.แก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้
ด้าน น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ให้กรมบังคับคดีมีอำนาจบังคับคดีตามกฎหมายในคดีที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว โครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และโครงการแทรกแซงมันสำปะหลัง เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามคำสั่งหรือคำพิพากษาว่า เรื่องดังกล่าวต้องดูคำสั่งของกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นส่วนราชการในฐานะผู้รับผิดชอบหลัก เนื่องจากคำสั่งระบุชัดว่าส่วนราชการที่เสียหายจะเป็นผู้ออกคำสั่งทางปกครองก่อน ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ 2539 ดังนั้นต้องรอดูคำสั่งจากส่วนราชการต้นสังกัดก่อน จากนั้นจึงแจ้งคำสั่งตามขั้นตอน คือ เมื่อออกคำสั่งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดฯ แล้ว ต้องมีการแจ้งไปยังผู้ชดใช้ให้ชำระค่าเสียหาย และหากยังไม่ชดใช้จะแจ้งเตือน หากไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งจริง กรมบังคับคดีจึงจะเข้าไปดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่ง
4.“บิ๊กตู่” นำทีมแถลงผลงานรัฐบาลครบ 2 ปี ดีขึ้นทุกด้าน ภาพลักษณ์โปร่งใสที่สุดในรอบ 10 ปี ด้าน ม.หอการค้าไทย ให้คะแนน 8 เต็ม 10 !
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้นำทีมรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 6 คน แถลงผลงานรัฐบาลในโอกาสครบ 2 ปี โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเปิดการแถลงผลงานว่า ตลอด 2 ปีที่รัฐบาลและ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ผลการทำงานของรัฐบาลเป็นที่ประจักษ์ และมีผลสัมฤทธิ์ออกมา ทำให้มุมมองขององค์กรต่างๆ ที่มีต่อประเทศไทยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นและน่าพอใจ ด้านความไม่แน่นอนทางทางการเมืองก็ดีขึ้น ความโปร่งใสในการบริหารงานภาครัฐก็ดีขึ้น การจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น(ซีพีไอ) ก็ดีขึ้น จากที่เคยอยู่อันดับ 102 ในปี 2556 มาอยู่อันดับที่ 76 ในปัจจุบัน “สถาบันและองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ได้ประเมินสถานการณ์คอร์รัปชั่นของไทยในสายตานานาชาติว่าดีที่สุดในรอบ 6 ปี และมีความโปร่งใสดีที่สุดในรอบ 10 ปี” ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังยืนยันด้วยว่า รัฐบาลได้ลงมือทำ เพื่อสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งให้กับประเทศ
ส่วนการแถลงผลงานของรองนายกรัฐมนตรี ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แถลงผลงานด้านความมั่นคง โดยยืนว่า รัฐบาลจะยังคงมุ่งมั่นแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย การแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ซึ่งไทยได้รับการยกอันดับจากประเทศที่มีประวัติการค้ามนุษย์ขั้นเลวร้ายหรือเทียร์ 3 ขึ้นมาสู่บัญชีจับตามอง หรือเทียร์ 2 ส่วนงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ได้มีการจับผู้มีอิทธิพล มาเฟียเรียกรับผลประโยชน์ ยาเสพติด บ่อนการพนันทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จัดระเบียบการค้าขายบนทางเท้า จัดการปัญหานักเรียนตีกัน ฯลฯ
ขณะที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร แถลงผลงานด้านวัฒนธรรม ท่องเที่ยว กีฬา ว่า ประสบความสำเร็จจากความร่วมมือของประชารัฐ ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการชื่นชมจากนานาชาติ และว่า จากการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยปี 2558-2560 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยในปีนี้ 33 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.28% จากปี 2558 และคาดว่าจะสร้างรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท
ด้าน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย แถลงผลงานด้านสังคมว่า ได้เน้นพัฒนาระบบสวัสดิการและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานและมีความเหมาะสมสำหรับผู้มีรายได้น้อย ประมาณ 2.7 ล้านครัวเรือน, สนับสนุนเงินอุดหนุนการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในครอบครัวที่ยากจนจากรายละ 400 บาทต่อเดือน เป็น 600 บาทต่อเดือน, พัฒนาชีวิตคนพิการด้วยการปรับเพิ่มสวัสดิการจากเดิมเดือนละ 500 บาท เป็นเดือนละ 800 บาท ฯลฯ
ขณะที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง แถลงผลงานด้านการเกษตรว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามาบริหารประเทศ เช่น ปัญหาภัยแล้ง, การบริหารจัดการนมโรงเรียนทั้งระบบ นอกจากนี้ยังวางรากฐานการปฏิรูปการเกษตร และพัฒนาการเกษตรแบบสมัยใหม่ตามแนวประชารัฐ ฯลฯ
ด้านนายวิษณุ เครืองาม แถลงผลงานด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมว่า ตั้งแต่ปี 2551-2557 มีการออกกฎหมายได้เพียง 120 ฉบับ หรือเฉลี่ยปีละ 17 ฉบับ แต่ 2 ปีของรัฐบาลนี้ สามารถออก พ.ร.บ.ไปแล้วทั้งหมด 187 ฉบับ และภายใน 1 ปีนับจากนี้ จะออกกฎหมายให้ได้อีก 100 ฉบับ และว่า หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาไปแล้ว 104 เรื่อง และเมื่อ คสช.เข้ามา ก็มีปลัดกว่า 20 กระทรวงเข้ามาเพื่อขอให้ คสช.ออกกฎหมายกว่า 300 ฉบับ เพราะที่ผ่านมามีปัญหาสารพัด จึงออกกฎหมายไม่ได้
ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แถลงผลงานด้านเศรษฐกิจว่า 2 ปีที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจโลกจะถดถอย แต่รัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ มาฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากร้อยละ 0.8 ขยับเพิ่มเป็นร้อยละ 2.8 ในสิ้นปี 2558 และขยับเพิ่มเป็นร้อยละ 3.2 ในไตรมาสแรกของปีนี้ และเพิ่มเป็นร้อยละ 3.5 ในไตรมาสสอง ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า จีดีพีของประเทศจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ซึ่งทีมเศรษฐกิจจะพยายามทำให้ถึงเป้าหมาย นายสมคิดยังเชื่อด้วยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุดแล้ว แต่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เพราะส่งออกยังมีปัญหาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เอกชนจึงยังไม่กล้าลงทุนมาก รัฐบาลจึงต้องปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานผ่านเงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในระยะยาว และเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวสรุปว่า ทุกคนคือฟันเฟือง รัฐบาลก็เป็นเหมือนพ่อบ้าน มีลูกหลายคน อยากให้ทุกคนเคารพซึ่งกันและกัน และมีส่วนในการนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน กลับมาเป็นบ้านที่แสนสุข สร้างบ้านหลังใหม่ เสริมฐานรากให้เข้มแข็ง
ส่วนมุมมองของบางฝ่ายต่อผลงาน 2 ปีของรัฐบาลนี้ นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากมองในแง่เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของประชาชน ถือว่ารัฐบาลสอบไม่ผ่าน เพราะประชาชนได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลไม่มีนโยบายที่ชัดเจน “ไม่อยากให้นายกฯ เชื่อโพลรอบๆ ตัวที่เชลียร์ว่าดีๆ ให้มากนัก แต่ต้องมองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนด้วย ดังนั้น หากให้เป็นคะแนน ผมให้รัฐบาลได้แค่ 5 เต็ม 10 เท่านั้น”
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลงานของรัฐบาลว่า หอการค้าฯ ให้คะแนนการทำงานของรัฐบาล 8 เต็ม 10 คะแนน เพราะแม้จะเผชิญปัญหาเศรษฐกิจโลก การส่งออกชะลอตัว แต่รัฐบาลแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจได้ดี ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบและกระตุ้นการเบิกจ่ายให้รวดเร็วมากขึ้น และว่า สิ่งที่อยากให้รัฐบาลทำในอนาคต คือฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน เพื่อให้รับรู้ได้ว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว รวมทั้งเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงพื้นที่ให้มากที่สุด
5.ศาล รธน.พิจารณาร่าง รธน.ฉบับแก้ไขของ กรธ.ยังไม่แล้วเสร็จ นัดถกต่อ 21 ก.ย.!
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมพิจารณากรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติม(คำถามพ่วง) เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2558 มาตรา 37/1 ซึ่งศาลฯ ได้มีหนังสือขอความเห็นและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคำถามพ่วงจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้ว
ทั้งนี้ หลังประชุม ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารเผยผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีคำสั่งรับความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องในประเด็นคำถามพ่วงจาก สปท. สนช. และ ครม. รวมไว้ในสำนวนแล้ว จากนั้น ศาลฯ ได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย แต่ยังไม่แล้วเสร็จ จึงนัดอภิปรายต่อเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในวันพุธที่ 21 ก.ย.เวลา 13.30 น.
รายงานข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า ที่ประชุมเมื่อวันที่ 14 ก.ย.เห็นว่า ต้องมีการหารือกันในเชิงลึกและต้องนำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีมาพิจารณาร่วมด้วย ทำให้ที่ประชุมเห็นว่า เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรอบคอบ จึงได้นัดอภิปรายต่อในวันที่ 21 ก.ย. โดยไม่ร้องขอเอกสารหรือขอให้ผู้ใดมาชี้แจงเพิ่มเติม ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า วันที่ 21 ก.ย.จะได้ข้อยุติเบื้องต้น เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีประเด็นและกรอบในการพิจารณาแล้ว
6.สนช.ไฟเขียวแก้ กม.อาญา ดัดหลังนักโทษหนีคดี ถ้าไม่มาแสดงตัว ไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์-ฎีกาคดี!
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระที่ 3 โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 166 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิก สนช. ได้อภิปรายทักท้วงข้อความที่ระบุว่า จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ ต่อเมื่อต้องมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลให้ขยายระยะเวลาแสดงตน หรือระยะเวลาที่ศาลกำหนด มิฉะนั้นให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ โดยนายกล้านรงค์เห็นว่า การไม่กำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ อาจเป็นช่องว่างได้ เพราะแต่ละศาลในประเทศไทย อาจวินิจฉัยไม่เหมือนกัน จึงเสนอให้เปลี่ยนเป็น “ให้ประธานศาลฎีกาออกข้อบังคับใช้ ข้อกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไข การแสดงตนของจำเลย ซึ่งข้อบังคับนั้นเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้” เช่น ประธานศาลฎีกา กำหนดระยะเวลาแสดงตนในการยื่นอุทธรณ์ เป็น 30 วัน หรือ 60 วัน ก็ตามแต่ที่ได้ประชุมหารือกัน และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งทุกศาลในประเทศจะต้องใช้เป็นเกณฑ์ในการปฏิบัติเหมือนกัน จะทำให้คดีความต่างๆ ได้รับการพิจารณาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งที่สุดที่ประชุมเห็นด้วยให้มีการปรับแก้ตามที่สมาชิกเสนอ
หลังลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. กล่าวว่า หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ จะทำให้นักโทษที่ศาลตัดสินลงโทษจำคุกเเล้ว หรือหลบหนีลอยนวลไปจิบไวน์ต่างประเทศเเล้ว จะไปจ้างทนายมายื่นอุทธรณ์ หรือฎีกาต่อศาล โดยที่เจ้าตัวไม่มาแสดงตน ไม่ได้แล้ว ทั้งนี้ การยื่นอุทธรณ์แต่ละครั้ง หากขอขยายเวลาด้วยเหตุจำเป็น เช่น ป่วย ต้องมีหลักฐานมายืนยัน และเมื่อครบกำหนด ก็จะต้องมาแสดงตนในการยื่นอุทธรณ์ครั้งต่อไป เพราะหากไม่มาแสดงตนและไม่มีเหตุผลพอในการขยายเวลาแสดงตน ศาลจะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์หรือฎีกา นายสมชายยังเผยด้วยว่า ตนกำลังจัดทำร่างกฎหมาย กำหนดให้รวมไปถึงการฟ้องคดี ที่ผู้ฟ้องจะต้องมารายงานตัวต่อศาลด้วย โดยไม่สามารถมอบหมายให้บุคคลอื่นมาฟ้องคดีแทนได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการทำร่างให้มีความเหมาะสม