xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คดีจำนำข้าวชักเป๋ พาณิชย์เงื้อค้าง “หญิงปู” ดี๊ด๊า ข้าราชการอ่วม!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ปูดกันออกมาเป็นระยะๆ สำหรับมหากาพย์จำนำข้าวที่ยังอีนุงตุงนังกันมากมายหลายคดี ล่าสุดคราวนี้ “หมอวรงค์” ออกมาเปิดโปงถึงความพิลึกพิลั่นในการดำเนินคดี ทั้งโครงการรับจำนำข้าวและขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี ที่เริ่มมีกลิ่นทะแม่งๆ งานนี้ “บิ๊กตู่” คงต้องลงมาดูอย่างใกล้ชิดไม่งั้นมีสิทธิ์เป๋กันเอาง่ายๆ

“หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ยกประเด็นตัวเลขค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวขึ้นมา โดยตั้งข้อสังเกตว่า ในคดีรับจำนำข้าว ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวนั้น ในส่วนตัวเลขความเสียหายซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดชอบตามผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการรับจำนำข้าว ที่มี นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้สรุปตัวเลขความเสียหายไว้แล้วตกประมาณ จำนวน 286,639 ล้านบาทเศษ

แต่พอรายงานการตรวจสอบดังกล่าว มาถึงมือคณะกรรมการความรับผิดทางแพ่งที่มี อธิบดีกรมบัญชีกลาง คือ นายมนัส แจ่มเวหา เป็นประธาน ได้เคาะตัวเลขเรียกค่าเสียหายรวม เหลือเพียง 1.78 แสนล้านบาท อีกทั้งยังลดเฉพาะกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด เหลือแค่ 20% ของยอดเสียหาย หรือเหลือเพียง 35,717 ล้านบาท ที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดชอบ

นี่เป็นประเด็นคำถามว่าทำไมถึงมีการลดยอดตัวเลขความเสียหายรวมลงเป็นแสนๆ ล้านบาท และเหตุไฉนจึงคิดสัดส่วนค่าเสียหายที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดชอบเหลือเพียง 20% ของมูลค่าความเสียหาย การลดสองเด้งทั้งตัวเลขมูลค่าความเสียหายรวมและตัวเลขเฉพาะที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดชอบชอบจากยอดเสียหายรวมนี้ มีพื้นฐานการคิดมาจากอะไร ประเด็นนี้ ต้องมีคำอธิบายจากนายมนัส ในฐานะประธานคณะกรรมการความรับผิดทางแพ่ง

อย่าลืมว่ารายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งได้สรุปตัวเลขความเสียหายไว้ตกประมาณ จำนวน 286,639 ล้านบาทเศษนั้น เป็นเอกสารที่อยู่ในชั้นศาลในคดีที่อัยการสูงสุดฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ในคดีทุจริตจำนำข้าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น ตัวเลขมูลค่าความเสียหายที่ไม่ตรงกันของสองคณะกรรมการนี้ ต้องชัดเจนว่าคิดจากส่วนไหน ตัดส่วนไหนออก ทำไมตัวเลขถึงออกมาไม่เหมือนกัน และเมื่อเข้าสู่กระบวนการต่อสู้คดีจะให้ศาลฟังตัวเลขไหนเมื่อมีการไต่สวนคดี

“หมอวรงค์” ตั้งข้อสังเกตว่า ยอดค่าเสียหายจาก 2.86 แสนล้านบาท ลดเหลือ 1.78 แสนล้านบาท คิดเพียง 3 โครงการ จาก 5 โครงการ คือ ปี 2555 , 2556 และ 2557 แต่ตัดปี 2554 และ 2555 ออกไป โดยอ้างเหตุผลว่า ได้รับหนังสือท้วงติงจากสำนักตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ถือว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้รับทราบความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ตั้งแต่เวลาดังกล่าวเท่านั้น

“.....ที่สำคัญที่สุด คือ คณะกรรมการรับผิดทางแพ่ง ไม่ได้อ้างอิงถึงหนังสือท้วงติงของคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีหนังสือเตือนถึง 2 ฉบับ ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2554 และวันที่ 30 เมษายน 2555 ดังนั้น จะอ้างว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ เพิ่งรับทราบความเสียหายหลังจากผ่าน 2 โครงการแรก จึงยิ่งฟังไม่ขึ้น”นพ.วรงค์ ชี้ประเด็น

ความจริงมูลค่าความเสียหายรวม และตัวเลขความเสียหายที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดชอบ ทั้งนายจิรชัย ซึ่งเวลานี้ได้รับการปูนบำเหน็จขึ้นเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หมาดๆ และนายมนัส ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2559 เคยออกมาบอกว่าอาจจะไม่ได้เป็นตัวเลขเดียวกัน แต่นั่นก็หมายความว่าต้องมีคำอธิบายอย่างกระจ่างแจ้งต่อสาธารณชนด้วยว่าเป็นมาอย่างไร ทำไมถึงแตกต่างกันเป็นแสนล้าน ไม่เช่นนั้นจะชวนให้ประชาชนเข้าใจไปว่าสุดท้ายแล้วกรณีทุจริตจำนำข้าวอาจเป็นมหกรรมมวยล้มต้มคนดูเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ความชัดเจนเรื่องนี้ ต้องรอดูข้อสรุปทั้งหมดภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ว่า นายมนัสจะสรุปตัวเลขสุดท้ายค่าความเสียหายเพื่อเรียกความเสียหายจากนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นจำนวนเท่าใดกันแน่

“หมอวรงค์” ยังตั้งข้อสังเกตว่า ความเสียหายที่เหลืออีก 80% ถูกโยนให้ข้าราชการที่ต้องทำตามคำสั่งของฝ่ายการเมือง เท่ากับว่าโยนความรับผิดชอบที่เหลือทั้งหมดให้ข้าราชการ คำถาม คือ ในส่วนนี้ทราบหรือยังว่าจะเรียกร้องจากใคร ทั้งที่มีการท้วงติงไปที่นางสาวยิ่งลักษณ์ และชี้มูลความผิดเพียงคนเดียว และนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นมีอำนาจหน้าที่ที่จะดำเนินการใดๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ที่สำคัญคือ ความเสียหายนั้นเกิดจากการทุจริต หรือปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต

นอกจากนั้น ในส่วนคดีการขายข้าวรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี ที่จะต้องมีการลงนามหนังสือคำสั่งทางปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหาย 20,000 ล้านบาท ปริมาณข้าว 6.2 ล้านตัน รวม 4 สัญญา จากนักการเมืองและข้าราชการ 6 คน แต่จนขณะนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังไม่ได้ลงนามในคดีสั่งฟ้องใดๆ ถึงเวลาที่นายกรัฐมนตรี ต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดได้แล้ว

จากการออกมาปูดของหมอวรงค์ เริ่มเห็นๆ แล้วว่า ชักมีอะไรทะแม่งๆ ทั้งการลดตัวเลขมูลค่าความเสียหายรวม และคิดเพียงแค่ 3 ปีฤดูกาลรับจำนำข้าว ไม่ใช่ 5 ปีฤดูกาล ทั้งที่มีการเตือนและท้วงติงจาก ป.ป.ช. ตั้งแต่ต้น ทั้งการดิสเคาน์หรือคิดมูลค่าความเสียหายที่นางสาวยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบแค่ 20% ซึ่งยังไม่มีคำอธิบายว่าทำไมถึงคิดเพียงแค่นั้น ทั้งการโยนขี้ไปให้ข้าราชการซึ่งต้องทำตามคำบัญชาของฝ่ายการเมืองมารับเคราะห์กรรมแทน รวมทั้งอาการเงื้อค้างของเจ้ากระทรวงพาณิชย์ ที่รีรอไม่ลงนามคำสั่งทางปกครองเพื่อเรียกความเสียหาย 2 หมื่นล้านจากนักการเมืองและข้าราชการกรณีขายข้าวจีทูจี

กล่าวสำหรับกรณีการลงนามในคำสั่งทางปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา ให้คำแนะนำกระทรวงพาณิชย์มาแล้วว่า ต้องลงนามกัน 2 คน คือ นายกรัฐมนตรี กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาบอกว่า นายกรัฐมนตรีได้เซ็นคำสั่งทางปกครองดังกล่าวแล้ว เรื่องของเรื่องจึงอยู่ที่เจ้ากระทรวงพาณิชย์ว่าจะเอายังไง

เหตุที่เจ้ากระทรวงพาณิชย์ ยังเงื้อค้างนั้น นักข่าวได้ไปคุ้ยแคะและรายงานว่า ขณะนี้ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังไม่ลงนามในหนังสือบังคับทางปกครอง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายกรณีการทุจริตในการขายข้าวจีทูจี ไปยังบุคคลทั้ง 6 คน เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อกฎหมาย และมีข้อท้วงติงในหลายประเด็น กระทรวงพาณิชย์จึงต้องนำเรื่องกลับมาหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อหาทางออกอีกครั้ง

สำหรับนักการเมืองและข้าราชการ 6 คนที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการขายข้าวจีทูจี ได้แก่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ คาดว่าจะต้องจ่ายค่าชดเชยประมาณ 1,770 ล้านบาท, นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ 2,300 ล้านบาท ส่วนพ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์, นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ ต้องจ่ายคนละ 4,000 ล้านบาท

เป็นที่รับรู้กันดีว่า การดำเนินคดีทุจริตจำนำข้าว เป็นหมากตาสำคัญของรัฐบาลบิ๊กตู่ ใช้กำคอพี่น้องชินวัตร แต่ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องแสดงต่อชาวโลกว่าคดีนี้ดำเนินไปอย่างยุติธรรมตามกระบวนการ เหตุฉะนี้เมื่อมีข้อกังขาขึ้นมา นายกรัฐมนตรีก็แสดงท่าทีขึงขังไล่เช็กข้อมูลตัวเลขต่างๆ ที่แตกต่างกันแล้วสั่งให้กับไปทบทวนกันใหม่ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการเรียกค่าเสียหายจะกี่มากน้อยเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับศาลจะว่าอย่างไร ในชั้นนี้เป็นเพียงการสำรวจตัวเลขจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

ประเด็นที่นายกรัฐมนตรี เป็นกังวลอยู่ที่กลุ่มข้าราชการที่ต้องมารับผิด “.... เป็นกังวลกับข้าราชการ ไม่ใช่ซูเอี๋ย ลดตรงนี้ไปโปะให้ข้าราชการ ตนอยากให้ข้าราชการเดือดร้อนที่ไหน นั่นคือสิ่งที่มันพันกันอยู่ระหว่างข้าราชการกับนักการเมือง และท้ายสุดข้าราชการต้องมารับไป ไอ้คนที่ทำความผิดจริงๆ ก็คือหัวๆ นั่นแหละ ก็รับไป แต่ข้าราชการเป็นลูกน้องเขาจะทำอย่างไร....”

ความอีนุตุงนังของคดีจำนำข้าว ซึ่งมีอยู่หลายส่วน หลายกลุ่ม หลายคดี ทั้งคดีแพ่ง อาญา และละเมิด “บิ๊กตู่” จะทำให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ถูกดำเนินคดี รัฐ และประเทศ และทำให้ดีที่สุดได้อย่างที่ลั่นวาจาหรือไม่ โปรดติดตามต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น