ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังปล่อยให้พี่น้องชินวัตรและลิ่วล้อลอยชายสบายอกสบายใจไปพักใหญ่ ก็ได้เวลากระตุกบ่วงมัดคอให้รู้สึกตัวว่าอย่าได้เที่ยวปล่อยให้พวกพ้องบริวารกวนน้ำให้ขุ่น โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายใกล้วันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาฯ 59ที่เห็นกระแสการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของแนวร่วมเหล่าสาวกเพื่อไทยพากันตีปี๊บไม่เอาร่าง รธน.ฉบับมีชัย
เมื่อปรามกันแล้วไม่ฟัง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ลงมือ “ปล่อยของ” กระตุกบ่วงมัดคอด้วยการลงนามในคำสั่งทางปกครองเชือด นายบุญทรง เตตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพวก ให้ชดใช้ความเสียหายจากการขายข้าวจีทูจีเก๊ๆ ร่วมสองหมื่นกว่าล้าน เป็นดาบแรก
และแน่นอน ดาบสองคิวเชือดต่อไปไม่เกินเดือนกันยายนนี้แน่ๆ อาจจะก่อนหรือหลังการลงประชามติ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้น ก็คือ “หญิงปู”นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการประเมินตัวเลขกันเบื้องต้นแล้วว่าจะโดนเต็มเปาปาเข้าไปเกือบสามแสนล้านเลยทีเดียว
การใช้คำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำและระบายข้าวจากนางสาวยิ่งลักษณ์และพวกครั้งนี้ มีกระบวนการขั้นตอนที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว กระทั่งเดินมาถึงไคลแม็กซ์เอาช่วงเวลานี้พอดิบพอดี เป็นช่วงเวลาชี้ชะตาถึงอนาคตทางการเมืองของทั้ง คสช. และพรรคเพื่อไทยด้วย เพราะถ้าประชามติร่าง รธน.ผ่าน ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมปของ คสช. ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าช่วงการเปลี่ยนผ่านจะราบรื่น แต่ถ้าไม่ ทุกอย่างก็จะเป็นไปอีกแบบ
การยื่นดาบให้ “บิ๊กตู่” เชือดนายบุญทรงและพวกนั้น ส่งไปจากกระทรวงพาณิชย์ โดยนางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้ทำหนังสือเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาการลงนามในหนังสือบังคับทางปกครองให้นักการเมืองและข้าราชการรวมทั้งหมด 6 คน ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีการขายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จำนวน 4 สัญญา ปริมาณ 6.2 ล้านตัน รวมมูลค่าประมาณ 2 หมื่นกว่าล้าน ตามการประเมินความเสียหายของกระทรวงการคลัง
การดำเนินการครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ว่า ผู้ที่มีอำนาจลงนามในคำสั่งทางปกครองนี้ คือนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเมื่อมีการลงนามแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ที่ต้องชดใช้ความเสียหายทั้ง 6 คน ซึ่งผู้ที่ต้องชดใช้สามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งได้ โดยข้าราชการให้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ส่วนนักการเมืองต้องยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
มาดูกันว่านักการเมืองและข้าราชการ 6 คนที่จะถูกบังคับทางปกครองชดใช้ค่าเสียหายจากการขายข้าวจีทูจีมูลค่า 2หมื่นล้านบาท เป็นใครบ้าง
แรกสุดคือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตามมาด้วยนายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการพาณิชย์, นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ
เรียกว่าระดับตัวเป้งๆ ของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนั้น
ดาบแรกว่าตัวเป้งแล้ว ดาบสองยิ่งใหญ่กว่านั้น นั่นคือ การลงมือเชือด “หญิงปู” ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการความรับผิดทางแพ่ง ที่มี อธิบดีกรมบัญชีกลางคือ นายมนัส แจ่มเวหา เป็นประธาน โดยอายุความในส่วนของนางสาวยิ่งลักษณ์ มีกำหนดถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ตอนนี้อธิบดีกรมบัญชีกลาง กำลังเร่งมือเพื่อให้เสร็จก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2559ที่จะถึงนี้ ซึ่งเหลือเวลาอีก 2 เดือน เหตุต้องทำให้ทันกันยายนนี้ก็เพื่อไม่ให้มีอะไรติดขัดหรือเกิดเหตุไม่คาดฝันเมื่อมีอธิบดีกรมบัญชีกลางคนใหม่ขึ้นมาแทนนายมนัส
เมื่อพินิจตามไทม์ไลน์แล้ว อีกไม่นานก็จะได้รู้กันว่าตัวเลขความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ที่นางสาวยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องชดใช้ทางแพ่งเป็นจำนวนเท่าใด แต่ตัวเลขในเบื้องต้น ที่ผ่านมาคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการรับจำนำข้าว ที่มี นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้สรุปตัวเลขความเสียหายไว้ว่าตกประมาณ 286,639 ล้านบาท
ตัวเลขดังกล่าวนี้ ปรากฏเป็นหลักฐานในชั้นศาลในการไต่สวนพยานโจทก์ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม2559 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีโครงการรับจำนำข้าว หมายเลขดำ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ด้วย โดยในวันนั้นนายจิรชัย ในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ ได้ให้การต่อศาลว่า ค่าเสียหายทั้งหมดที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องชดใช้มีจำนวน 286,639 ล้านบาท
ตัวเลขดังกล่าวเป็นมูลค่าความเสียหายที่นางสาวยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้ ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่มีนายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ส่งไปให้คณะกรรมการความรับผิดทางแพ่ง ที่มีนายมนัส เป็นประธาน ดังนั้น จึงคาดหมายได้ล่วงหน้าว่าวงเงินที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องชดใช้ความเสียหายคงไม่หนีไปจากนี้แน่นอน
นับจากนี้ ก็ลุ้นกันว่าคณะกรรมการความรับผิดทางแพ่ง จะสรุปตัวเลขสุดท้าย ส่งผ่านกระทรวงการคลังไปยังกระทรวงพาณิชย์ และยื่นเสนอเพื่อให้นายกรัฐมนตรีลงนามคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ก่อนวันลงประชามติหรือหลังวันลงประชามติ
ถ้ากระบวนการทั้งหมดรวบรัดก่อนวันลงประชามติ วันที่ 7 สิงหาฯ ก็คาดหมายได้ว่าจะส่งผลสะเทือนสร้างบรรยากาศตึงเครียดทางการเมืองอย่างใหญ่หลวง แต่ถ้าเป็นหลังก็เป็นเพียงการกระตุกบ่วงมัดคอเพียงให้รู้สึกแต่ไม่ถึงกับมัดแน่น คือให้รู้ว่ามีไพ่ตายในมือ คสช. ก็ยังพอคุมสถานการณ์ได้อยู่
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ผลจากคดีทุจริตโครงการรับจำนำและระบายข้าว ณ นาทีนี้ คงทำให้ไม่มีที่ยืนสำหรับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคพวกนักการเมืองที่ติดร่างแห อย่างไม่ต้องสงสัย และหากร่างรัฐธรรมนูญฯ ผ่านประชามติ ก็ยิ่งเท่ากับปิดประตูตายไปเลย เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับมีชัย นั้นถึงแม้เรื่องอื่นๆ จะถูกโจมตีอย่างหนัก แต่เรื่องการป้องปรามการทุจริตของผู้ที่เข้ามาสู่สภาอันทรงเกียรตินั้น ต้องบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงนี้ได้รับเสียงชื่นชมอยู่ไม่น้อย
นั่นคือ การคัดกรองคุณสมบัติเพื่อป้องกันคนทุจริตเข้าสู่เส้นทางการเมือง ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 92 และ 93 นั้น ในส่วน ส.ส.กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส.ที่เพิ่มขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญฯ 2550 คือ ต้องไม่เคยรับโทษจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ฯลฯ ....ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจใช้หน้าที่และอำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติ “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”และคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอื่นๆ ไม่ต่างไปจาก ส.ส.บทบัญญัติเช่นนี้ ไม่ใช่แต่ “หญิงปู”และพวกที่ตกเป็นจำเลยในคดีโครงการรับจำนำและระบายข้าวเท่านั้นที่จะหมดอนาคตทางการเมือง แม้แต่พรรคเพื่อไทยก็หาตัวผู้ลงเล่นได้ยาก
กรณีการใช้ “คำสั่งทางปกครอง” เอาผิดกรณีทุจริตโครงการจำนำข้าวแทนการฟ้องแพ่ง เป็นประเด็นที่นางสาวยิ่งลักษณ์ เคยร้องโอดโอยคร่ำครวญว่า ถูกกลั่นแกล้งไม่ได้รับความเป็นธรรมและส่งจดหมายร้องเรียนไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ มาแล้วก่อนหน้านี้ โดยเธอร้องขอว่าขอให้คดีอาญาที่อยู่ในชั้นศาลสิ้นสุดก่อนแล้วค่อยดำเนินการทางแพ่งเพื่อความเป็นธรรม
แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของ คสช. ได้ออกมาชี้แจงว่า รอไม่ได้ เพราะจากการไต่สวนคดีของคณะกรรมการป้องกันการปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ได้สรุปความผิดและความเสียหายจากโครงการรับจำนำและระบายข้าวชัดเจน และดำเนินคดีโดยทางหนึ่ง ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนคดีให้อัยการสูงสุด ฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์และพวก ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ขณะที่อีกทางหนึ่ง คือ การชดใช้ความเสียหาย ด้วยว่า ป.ป.ช.ได้ชี้ว่า ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นการกระทำละเมิด เป็นการกระทำที่จงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่าง จึงต้องนำไปสู่กระบวนการออกคำสั่งทางปกครองตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2539
ตามกฎหมายดังกล่าว ได้บัญญัติไว้ว่า หากเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่า กระทำละเมิด และการกระทำนั้นเป็นการประมาทเลินเล่อ ไม่ร้ายแรง เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถไล่ผู้ร้ายแล้วชนใครบาดเจ็บ เสียหาย ให้ฟ้องหน่วยงาน ไม่ฟ้องเจ้าตัว ถือเป็นการช่วยเจ้าหน้าที่ แต่หากผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำละเมิด และการกระทำนั้นจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต้องฟ้องเจ้าตัว ไม่ให้ฟ้องรัฐ โดยการดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองต้องกระทำภายใน 2 ปี หากปล่อยให้อายุความขาดไม่ดำเนินการภายในสองปี รัฐก็จะกลายเป็นจำเลยเสียเอง
เปิดเกมกระตุกบ่วงมัดคอกันดักหน้าขนาดนี้ ต้องรอลุ้นกันว่าผลการลงประชามติจะผ่านหรือไม่ผ่าน