เมืองไทย 360 องศา
เอาเป็นว่าอาศัยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 56/2559 เรื่อง การคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้ว
อ่านเนื้อหารายละเอียดอาจจะงงเข้าใจยาก แต่ถ้าให้สรุปก็คือ คำสั่งดังกล่าวให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการโดยสุจริตไม่ต้องรับโทษทั้งแพ่ง วินัย และอาญา และให้กรมบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์บุคคลที่กระทำความผิด และมีคำสั่งทางปกครองและคำพิพากษาออกมาแล้ว
แน่นอนว่า คำสั่งดังกล่าวให้ดำเนินการในคดีความผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการแทรกแซงราคามันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และโครงการรับจำนำข้าวในช่วงที่ผ่านมา แต่นาทีนี้ก็ต้องโฟกัสไปที่โครงการรับจำนำข้าวที่มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด และโครงการจำหน่ายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี โดยเฉพาะกรณีหลังมีคำสั่งทางปกครองให้ชดใช้ค่าเสียหายไปแล้ว ก็คือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิ สารผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก รวม 6 คนจำนวนวงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ดังนั้น เมื่อมีคำสั่งแบบนี้ออกมา นั่นคือ เป็นการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมไปถึงคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ไม่ต้องรับผิดทาง แพ่ง อาญา วินัย ทั้งสิ้น หากกระทำการโดยสุจริต
ซึ่งที่ผ่านมา นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังไม่กล้าเซ็นลงนามในคำสั่งทางปกครองดังกล่าว โดยอ้างว่า เป็นเรื่องใหม่ต้องพิจารณาทางกฎหมายให้รอบคอบ จะได้ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง ทุกอย่างก็เลยหยุดชะงัก แต่เมื่อมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาดังกล่าว ทำให้ไม่ต้องพะวงกับการถูกฟ้องร้องตามมา ยกเว้นปอดแหกกลัวถูกเช็กบิล อยากอยู่เงียบ ๆ ในบั้นปลายนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่ผ่านมา เธอยืนยันว่า จะดำเนินการลงนามเรียกค่าเสียหายให้เสร็จก่อนเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งก่อนคดีหมดตอายุความแน่นอน
และจากการให้สัมภาษณ์ล่าสุดของ นายกีรติ รัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในวันที่ 15 กันยายน กรมการค้าต่างประเทศจะมีการหารือกับกรมบังคับคดีถึงขั้นตอนการทำงานต่อไป ความหมายก็คือ กรณีของ บุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวกเริ่มมีการเคลื่อนไหวกันแล้ว โดยหลังจากนี้จะทราบว่าจะมีการกระบวนการหรือขั้นตอนการยึดทรัพย์อย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ดี เมื่อฟังจากการอธิบายของมือกฎหมายของรัฐบาล และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ย้ำว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการใช้ “มาตรา 44 กำหนด ไม่ใช่ใช้มาตรา 44 ไปยึดทรัพย์ แต่ยึดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539 ที่เปลี่ยนจากกระทรวง มาเป็นกรมบังคับคดี ส่วนจะยึดได้มากหรือน้อยเพียงใดก็เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ” ก็ถือว่าชัดเจนขึ้นมาอีกระดับหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องของการยึดทรัพย์ที่ตามคำสั่ง คสช. ที่ว่านี้จะเป็นหน้าที่ของกรมบังคับคดีดำเนินการเมื่อศาลมีคำพิพากษาออกมา หรือมีคำสั่งทางปกครองออกมา แต่ถึงอย่างไรยังมีเวลาอีกพอสมควร นั่นคือ ต้องพิจารณาอีกว่า บุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวก จะอุทธรณ์ได้หรือไม่ จากนั้นก็ยังต้องไปที่ศาลปกครอง และมีการคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ แต่ถือว่าทุกอย่างเริ่มงวดเข้ามาทุกขณะแล้ว
เมื่อพูดถึงคดีขายข้าวจีทูจีเก๊ ของ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ภูมิ สารสิน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกรวม 6 คน ที่เดินมาถึงคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นวงเงินรวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เป็นตัวอย่างไปแล้ว ถึงตอนนี้มันก็ต้องโฟกัสไปที่คดีความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นจำเลย และกำลังอยู่ในขั้นตอนไต่สวนพยานจำเลยหลายปากแล้วในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งตามขั้นตอนตามกระบวนการทางศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะใช้เวลาไม่นานนัก ซึ่งหากมีความผิดก็มีโทษทางอาญา หากไม่ผิดก็ยกคำร้อง
ขณะเดียวกัน ที่น่าสนใจก็คือ คำสั่ง คสช. ดังกล่าวเหมือนกับการออกมาเพื่อรองรับคำสั่งทางปกครองในการเรียกค่าเสียหายกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะเป็นช่วงเวลาที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ที่มี นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธาน พิจารณาตัวเลขความเสียหายที่จะเรียกจาก ยิ่งลักษณ์ ซึ่งที่ผ่านมา นายมนัส เคยยืนยันจะดำเนินการเรียกค่าเสียหายให้เสร็จก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในปลายเดือนกันยายนนี้
ซึ่งก็สอดคล้องกับคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งกล่าวในทำนองว่า สำหรับคำสั่งทางปกครองจะเสร็จสิ้นก่อนเดือนกุมภาพันธ์ 2560 แน่นอน ซึ่งมีคณะกรรมการกำลังดำเนินการอยู่ โดยเวลานี้มีคณะกรรมการตรวจสอบสองคณะ คือ ฝ่ายตรวจสอบทางบัญชี และอีกชุดหนึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจสอบความผิดทางละเมิด
ดังนั้น หากพิจารณาตามนี้ก็พอเข้าใจได้ว่าสำหรับความผิดของ บุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวกรวม 6 คน อ่วมแน่ เพราะมีค่าเสียหายรวมกันประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ยังไม่นับคดีอาญา ขณะที่อีกคนหนึ่ง “ยิ่งหนาวกว่า” คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะนอกจากต้อง “ลุ้นเรื่องคุก” แล้ว ยังมีเรื่องชดใช้ความผิดทางแพ่งอีก ซึ่งที่ผ่านมาหากย้อนไปพิจารณาคำให้สัมภาษณ์ของ มนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ประธานคณะกรรมการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวเคยเปิดเผยตัวเลขคร่าว ๆ ก็ราว 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะใช่หรือเปล่า
ถึงอย่างไรมันก็หนาวสุดขั้วหัวใจแน่นอน !!