ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
โลกความเป็นจริงกับความปรารถนาเชิงอุดมคติมักมีช่องว่างอยู่เสมอ มากบ้าง น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับแต่ละเรื่อง หากเรื่องใดมีช่องว่างมาก เรื่องนั้นก็จะเป็นปัญหามาก เรื่องใดมีช่องว่างน้อย เรื่องนั้นปัญหาก็น้อยตามลงไป ทว่า ในโลกนี้ยากที่จะมีเรื่องใดที่ความเป็นจริงทับซ้อนกันอย่างแนบสนิทกับความปรารถนาเชิงอุดมคติได้ เพราะว่าความคิดของมนุษย์มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความปรารถนาก็เช่นเดียวกัน มิเคยหยุดนิ่ง และยากที่จะหยุดนิ่งได้
ยิ่งกว่านั้นการรับรู้และประเมินความจริงของแต่ละบุคคลก็แตกต่างกัน เฉกเช่นเดียวกับความปรารถนาในเชิงอุดมคติที่ยากจะหาความเหมือนกันได้ในแต่ละคน ความเป็นจริงและความปรารถนาเชิงอุดมคติของสังคม จึงเป็นเรื่องที่ทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้น
เมื่อผู้คนในสังคมมีความปรารถนาใช้ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบบริหารปกครองประเทศเงื่อนไขที่เชื่อกันว่าจำเป็นต่อกระบวนการสร้างความเป็นประชาธิปไตยก็คือ การมีพรรคการเมืองเชิงพันธกิจที่เปี่ยมด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นองค์ประกอบหลักในการขับเคลื่อนสังคมการเมืองเพื่อก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตย
การคิดว่าพรรคการเมืองต้องขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์เพื่อกระทำพันธกิจ อันจะนำสังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยและความเจริญรุ่งเรือง ก็เป็นความปรารถนาเชิงอุดมคติอย่างหนึ่งของสังคม ทว่าความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศดูเหมือนห่างไกลจากความปรารถนาเชิงอุดมคติอยู่ไม่น้อย
ในโลกของความเป็นจริง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์นิยมจำแนกพรรคการเมืองออกเป็น 3 ประเภทหลัก คือ พรรคชนชั้นนำ (elite parties) พรรคมวลชน (mass parties) และพรรคเลือกตั้ง (electoralist parties) พรรคชนชั้นนำเป็นการรวมกลุ่มของชนชั้นนำจำนวนน้อยที่มีความมั่งคั่งและอำนาจ มีการจัดตั้งองค์การพรรคแบบหลวมๆ แต่รวมศูนย์อำนาจที่กลุ่มผู้นำพรรค และมีค่านิยมแกนกลางคือการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์เชิงเครือญาติและพรรคพวกภายใต้ระบบอุปถัมภ์ การจัดตั้งพรรคมีเป้าประสงค์หลักเพื่อรักษาสถานภาพของชนชั้น การมีอำนาจเหนือกลุ่มอื่นในสังคม และการแบ่งปันผลประโยชน์กันภายในกลุ่ม
ส่วนพรรคมวลชนเป็นพรรคที่มักมีการจัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มผู้นำความคิด อุดมการณ์ทางการเมือง เชื้อชาติ และศาสนา เป็นพรรคที่รวมเอาบรรดากลุ่มคนในสังคมที่มีลักษณะร่วมอย่างใดอย่างหนึ่งเข้าด้วยกันเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองทางการเมืองและเข้าสู่อำนาจรัฐ มักจะมีการกำหนดนโยบายเพื่อประโยชน์ของสมาชิกที่เป็นฐานเสียงของตนเอง พรรคแบบนี้จะมีสมาชิกมาก มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง และมีแนวโน้มที่จะสามารถสร้างความต่อเนื่องได้
ด้าน “พรรคเลือกตั้ง” เป็นพรรคที่มีลักษณะที่เปิดกว้างไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะกลุ่มชนชั้นนำ แกนนำพรรคอาจมีความหลากหลาย แต่สมาชิกกลับมีไม่มากนัก ไม่มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน มีการจัดตั้งองค์การแบบหลวมๆ ไม่มีฐานความสัมพันธ์กับกลุ่มพลังทางสังคมใดๆ การดำเนินงานของพรรคขึ้นอยู่กับผู้นำเป็นหลัก การจัดตั้งพรรคมุ่งลงสมัครรับเลือกตั้ง และร่วมรัฐบาล พรรคแบบนี้มักไม่ค่อยมีความต่อเนื่อง เมื่อผู้นำพรรคขาดความนิยมก็มักจะล่มสลายไป
พรรคการเมืองไทยเกือบทั้งหมดเป็นพรรคชนชั้นนำกับพรรคเลือกตั้ง แต่ละพรรคมุ่งแต่การเข้าสู่อำนาจรัฐและใช้อำนาจรัฐในการแสวงหาผลประโยชน์แก่พวกพ้องเป็นหลัก การเข้าสู่อำนาจรัฐหากไม่ใช้การซื้อเสียง ก็ใช้นโยบายประชานิยม หรือไม่ก็อาศัยความนิยมส่วนตัวของหัวหน้าพรรคเป็นเครื่องมือในการเอาชนะการเลือกตั้ง
บทบาทของพรรคการเมืองไทยในการขับเคลื่อนสังคมการเมืองสู่ความเป็นประชาธิปไตยมีน้อยมาก ในทางกลับกันกลับมีพรรคการเมืองบางพรรคแสดงบทบาทจนเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง และนำไปสู่การทำลายประชาธิปไตยเสียเอง เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง แทนที่พรรคการเมืองจะแสดงบทบาทเพื่อแสวงหาหนทางยุติความขัดแย้ง กลับมีแนวโน้มยึดมั่นในผลประโยชน์ของกลุ่มผู้นำพรรคจนทำให้บ้านเมืองเสียหายอย่างประมาณไม่ได้
ด้วยองค์ประกอบของผู้บริหารพรรคที่ผูกขาดอยู่เฉพาะคนบางกลุ่ม ส่วนคนที่มาเป็นสมาชิกมักจะถูกชักชวนหรือจัดตั้งเข้ามาเพื่อให้ครบองค์ประกอบตามกฎหมาย และการไม่ส่งเสริมและสร้างช่องทางการมีส่วนร่วมของสมาชิกในการคิดและตัดสินใจเรื่องนโยบายและการคัดเลือกผู้สมัคร รวมทั้งขาดช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการให้สมาชิกตรวจสอบและถ่วงดุลการทำงานของกรรมการพรรค จึงทำให้สมาชิกพรรคส่วนใหญ่ขาดสำนึกการเป็นเจ้าของพรรค และไม่มีความผูกพันกับพรรคแต่อย่างใด
สถานภาพของพรรคการเมืองในกระบวนการสร้างประชาธิปไตยจึงอยู่ในระดับต่ำ เป็นเพียงเกาะความเป็นประชาธิปไตยเพื่อให้มีที่ยืนในสังคมเท่านั้น หากพรรค การเมืองยังไม่ปรับตัวและยังแสดงบทบาทเหมือนดังในอดีตฐานะของพรรคการเมืองก็จะยิ่งตกต่ำลงไปอีก และเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะมีคำถามขึ้นมาว่า “เป็นไปได้หรือไม่ ที่เราจะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ปราศจากพรรคการเมือง” หากคำถามนี้แพร่กระจายในสังคมมากขึ้น ที่ยืนของพรรคการเมืองก็จะน้อยลง
ความล้มเหลวของพรรคการเมืองในการสร้างความเป็นประชาธิปไตย และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบริหารประเทศที่เกิดจากพรรคการเมือง ทำให้สังคมมีแนวโน้มที่จะสร้างกรอบและกฎเกณฑ์อย่างเข้มงวดขึ้นมาเพื่อควบคุมและลงโทษพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง
ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ สปท. เกี่ยวกับพรรคการเมืองดูเหมือนสะท้อนทัศนคติทางลบและความไม่ไว้วางใจต่อพรรคการเมืองเป็นอย่างดี เป็นความพยายามใช้กฎหมายเพื่อบังคับให้พรรคการเมืองขยายฐานสมาชิกให้มากขึ้น ผลิตนโยบายที่สมเหตุสมผลโดยใช้หลักวิชาการและมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น เปิดโอกาสให้สมาชิกตรวจสอบการทำงานของกรรมการบริหารพรรคมากขึ้น กำหนดให้สมาชิกมีโอกาสตัดสินใจในการคัดเลือกผู้สมัครมากขึ้น และมีมาตรการลงโทษนายทุน กรรมการบริหารพรรค และผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคที่กระทำผิดรุนแรงมากขึ้น
อย่างไรก็ตามการใช้กฎหมายเพื่อให้พรรคการเมืองมีการพัฒนาองค์การและมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นนั้น มักจะสร้างผลกระทบที่ผู้ร่างกฎหมายไม่สามารถคาดการณ์เกิดขึ้นเสมอ และในที่สุดก็จะต้องมาแก้กฎหมายหรือร่างกฎหมายใหม่ เพื่อแก้ปัญหาใหม่ๆที่เกิดขึ้นจากมาตรการต่างๆ ของกฎหมายที่ตั้งใจออกมาเพื่อแก้ปัญหานั่นเอง
ดังนั้นการจะนำเสนอมาตรการทางกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาจึงจำเป็นจะต้องประเมินผลกระทบอย่างรอบคอบ รอบด้าน และต้องใช้จินตนาการประเมินในสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วย และสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือการสร้างมาตรการส่งเสริมพรรคการเมืองให้แสดงบทบาทในฐานะองค์การพันธกิจเพื่อขับเคลื่อนความเป็นประชาธิปไตยและดำเนินงานในการสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติโดยรวม
แต่ไม่ว่ากฎหมายจะบัญญัติอย่างไร สิ่งสำคัญคือตัวพรรคการเมืองเองจะเลือกว่าเส้นทางแบบใดในอนาคตที่ประสงค์จะให้เกิดขึ้น จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตย หรือ จะเป็นส่วนเกินของระบอบประชาธิปไตย หรือ จะเป็นสิ่งเหนี่ยวรั้งและทำลายประชาธิปไตยเสียเอง
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
โลกความเป็นจริงกับความปรารถนาเชิงอุดมคติมักมีช่องว่างอยู่เสมอ มากบ้าง น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับแต่ละเรื่อง หากเรื่องใดมีช่องว่างมาก เรื่องนั้นก็จะเป็นปัญหามาก เรื่องใดมีช่องว่างน้อย เรื่องนั้นปัญหาก็น้อยตามลงไป ทว่า ในโลกนี้ยากที่จะมีเรื่องใดที่ความเป็นจริงทับซ้อนกันอย่างแนบสนิทกับความปรารถนาเชิงอุดมคติได้ เพราะว่าความคิดของมนุษย์มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความปรารถนาก็เช่นเดียวกัน มิเคยหยุดนิ่ง และยากที่จะหยุดนิ่งได้
ยิ่งกว่านั้นการรับรู้และประเมินความจริงของแต่ละบุคคลก็แตกต่างกัน เฉกเช่นเดียวกับความปรารถนาในเชิงอุดมคติที่ยากจะหาความเหมือนกันได้ในแต่ละคน ความเป็นจริงและความปรารถนาเชิงอุดมคติของสังคม จึงเป็นเรื่องที่ทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้น
เมื่อผู้คนในสังคมมีความปรารถนาใช้ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบบริหารปกครองประเทศเงื่อนไขที่เชื่อกันว่าจำเป็นต่อกระบวนการสร้างความเป็นประชาธิปไตยก็คือ การมีพรรคการเมืองเชิงพันธกิจที่เปี่ยมด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นองค์ประกอบหลักในการขับเคลื่อนสังคมการเมืองเพื่อก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตย
การคิดว่าพรรคการเมืองต้องขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์เพื่อกระทำพันธกิจ อันจะนำสังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยและความเจริญรุ่งเรือง ก็เป็นความปรารถนาเชิงอุดมคติอย่างหนึ่งของสังคม ทว่าความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศดูเหมือนห่างไกลจากความปรารถนาเชิงอุดมคติอยู่ไม่น้อย
ในโลกของความเป็นจริง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์นิยมจำแนกพรรคการเมืองออกเป็น 3 ประเภทหลัก คือ พรรคชนชั้นนำ (elite parties) พรรคมวลชน (mass parties) และพรรคเลือกตั้ง (electoralist parties) พรรคชนชั้นนำเป็นการรวมกลุ่มของชนชั้นนำจำนวนน้อยที่มีความมั่งคั่งและอำนาจ มีการจัดตั้งองค์การพรรคแบบหลวมๆ แต่รวมศูนย์อำนาจที่กลุ่มผู้นำพรรค และมีค่านิยมแกนกลางคือการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์เชิงเครือญาติและพรรคพวกภายใต้ระบบอุปถัมภ์ การจัดตั้งพรรคมีเป้าประสงค์หลักเพื่อรักษาสถานภาพของชนชั้น การมีอำนาจเหนือกลุ่มอื่นในสังคม และการแบ่งปันผลประโยชน์กันภายในกลุ่ม
ส่วนพรรคมวลชนเป็นพรรคที่มักมีการจัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มผู้นำความคิด อุดมการณ์ทางการเมือง เชื้อชาติ และศาสนา เป็นพรรคที่รวมเอาบรรดากลุ่มคนในสังคมที่มีลักษณะร่วมอย่างใดอย่างหนึ่งเข้าด้วยกันเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองทางการเมืองและเข้าสู่อำนาจรัฐ มักจะมีการกำหนดนโยบายเพื่อประโยชน์ของสมาชิกที่เป็นฐานเสียงของตนเอง พรรคแบบนี้จะมีสมาชิกมาก มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง และมีแนวโน้มที่จะสามารถสร้างความต่อเนื่องได้
ด้าน “พรรคเลือกตั้ง” เป็นพรรคที่มีลักษณะที่เปิดกว้างไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะกลุ่มชนชั้นนำ แกนนำพรรคอาจมีความหลากหลาย แต่สมาชิกกลับมีไม่มากนัก ไม่มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน มีการจัดตั้งองค์การแบบหลวมๆ ไม่มีฐานความสัมพันธ์กับกลุ่มพลังทางสังคมใดๆ การดำเนินงานของพรรคขึ้นอยู่กับผู้นำเป็นหลัก การจัดตั้งพรรคมุ่งลงสมัครรับเลือกตั้ง และร่วมรัฐบาล พรรคแบบนี้มักไม่ค่อยมีความต่อเนื่อง เมื่อผู้นำพรรคขาดความนิยมก็มักจะล่มสลายไป
พรรคการเมืองไทยเกือบทั้งหมดเป็นพรรคชนชั้นนำกับพรรคเลือกตั้ง แต่ละพรรคมุ่งแต่การเข้าสู่อำนาจรัฐและใช้อำนาจรัฐในการแสวงหาผลประโยชน์แก่พวกพ้องเป็นหลัก การเข้าสู่อำนาจรัฐหากไม่ใช้การซื้อเสียง ก็ใช้นโยบายประชานิยม หรือไม่ก็อาศัยความนิยมส่วนตัวของหัวหน้าพรรคเป็นเครื่องมือในการเอาชนะการเลือกตั้ง
บทบาทของพรรคการเมืองไทยในการขับเคลื่อนสังคมการเมืองสู่ความเป็นประชาธิปไตยมีน้อยมาก ในทางกลับกันกลับมีพรรคการเมืองบางพรรคแสดงบทบาทจนเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง และนำไปสู่การทำลายประชาธิปไตยเสียเอง เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง แทนที่พรรคการเมืองจะแสดงบทบาทเพื่อแสวงหาหนทางยุติความขัดแย้ง กลับมีแนวโน้มยึดมั่นในผลประโยชน์ของกลุ่มผู้นำพรรคจนทำให้บ้านเมืองเสียหายอย่างประมาณไม่ได้
ด้วยองค์ประกอบของผู้บริหารพรรคที่ผูกขาดอยู่เฉพาะคนบางกลุ่ม ส่วนคนที่มาเป็นสมาชิกมักจะถูกชักชวนหรือจัดตั้งเข้ามาเพื่อให้ครบองค์ประกอบตามกฎหมาย และการไม่ส่งเสริมและสร้างช่องทางการมีส่วนร่วมของสมาชิกในการคิดและตัดสินใจเรื่องนโยบายและการคัดเลือกผู้สมัคร รวมทั้งขาดช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการให้สมาชิกตรวจสอบและถ่วงดุลการทำงานของกรรมการพรรค จึงทำให้สมาชิกพรรคส่วนใหญ่ขาดสำนึกการเป็นเจ้าของพรรค และไม่มีความผูกพันกับพรรคแต่อย่างใด
สถานภาพของพรรคการเมืองในกระบวนการสร้างประชาธิปไตยจึงอยู่ในระดับต่ำ เป็นเพียงเกาะความเป็นประชาธิปไตยเพื่อให้มีที่ยืนในสังคมเท่านั้น หากพรรค การเมืองยังไม่ปรับตัวและยังแสดงบทบาทเหมือนดังในอดีตฐานะของพรรคการเมืองก็จะยิ่งตกต่ำลงไปอีก และเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะมีคำถามขึ้นมาว่า “เป็นไปได้หรือไม่ ที่เราจะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ปราศจากพรรคการเมือง” หากคำถามนี้แพร่กระจายในสังคมมากขึ้น ที่ยืนของพรรคการเมืองก็จะน้อยลง
ความล้มเหลวของพรรคการเมืองในการสร้างความเป็นประชาธิปไตย และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบริหารประเทศที่เกิดจากพรรคการเมือง ทำให้สังคมมีแนวโน้มที่จะสร้างกรอบและกฎเกณฑ์อย่างเข้มงวดขึ้นมาเพื่อควบคุมและลงโทษพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง
ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ สปท. เกี่ยวกับพรรคการเมืองดูเหมือนสะท้อนทัศนคติทางลบและความไม่ไว้วางใจต่อพรรคการเมืองเป็นอย่างดี เป็นความพยายามใช้กฎหมายเพื่อบังคับให้พรรคการเมืองขยายฐานสมาชิกให้มากขึ้น ผลิตนโยบายที่สมเหตุสมผลโดยใช้หลักวิชาการและมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น เปิดโอกาสให้สมาชิกตรวจสอบการทำงานของกรรมการบริหารพรรคมากขึ้น กำหนดให้สมาชิกมีโอกาสตัดสินใจในการคัดเลือกผู้สมัครมากขึ้น และมีมาตรการลงโทษนายทุน กรรมการบริหารพรรค และผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคที่กระทำผิดรุนแรงมากขึ้น
อย่างไรก็ตามการใช้กฎหมายเพื่อให้พรรคการเมืองมีการพัฒนาองค์การและมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นนั้น มักจะสร้างผลกระทบที่ผู้ร่างกฎหมายไม่สามารถคาดการณ์เกิดขึ้นเสมอ และในที่สุดก็จะต้องมาแก้กฎหมายหรือร่างกฎหมายใหม่ เพื่อแก้ปัญหาใหม่ๆที่เกิดขึ้นจากมาตรการต่างๆ ของกฎหมายที่ตั้งใจออกมาเพื่อแก้ปัญหานั่นเอง
ดังนั้นการจะนำเสนอมาตรการทางกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาจึงจำเป็นจะต้องประเมินผลกระทบอย่างรอบคอบ รอบด้าน และต้องใช้จินตนาการประเมินในสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วย และสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือการสร้างมาตรการส่งเสริมพรรคการเมืองให้แสดงบทบาทในฐานะองค์การพันธกิจเพื่อขับเคลื่อนความเป็นประชาธิปไตยและดำเนินงานในการสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติโดยรวม
แต่ไม่ว่ากฎหมายจะบัญญัติอย่างไร สิ่งสำคัญคือตัวพรรคการเมืองเองจะเลือกว่าเส้นทางแบบใดในอนาคตที่ประสงค์จะให้เกิดขึ้น จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตย หรือ จะเป็นส่วนเกินของระบอบประชาธิปไตย หรือ จะเป็นสิ่งเหนี่ยวรั้งและทำลายประชาธิปไตยเสียเอง