xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมรัฐบาลล้มเหลวบ่อยครั้ง (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ความไร้เหตุผล (irrationality) เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลให้นโยบายรัฐบาลจำนวนมากประสบความล้มเหลว การคิดแบบไร้เหตุผลเกิดขึ้นได้ในทุกกระบวนการของนโยบาย ตั้งแต่กระบวนการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจเลือกทางแนวทางการดำเนินงาน ไปจนถึงการนำนโยบายไปปฏิบัติ และเมื่อใดก็ตามการคิดแบบไร้เหตุผลครอบงำนโยบาย เมื่อนั้นนโยบายก็จะเดินไปสู่เส้นทางแห่งความล้มเหลว

ผู้เล่นทางการเมืองซึ่งมีบทบาทในการกำหนดนโยบายและนำนโยบายไปปฏิบัติมีหลายกลุ่ม กลุ่มแรกคือนักการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์การสูงสุดด้านการบริหารและนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม ถัดมาเป็นกลุ่มข้าราชการ กลุ่มผลประโยชน์ และกลุ่มผู้เลือกตั้ง กลุ่มเหล่านี้เมื่อเข้าสู่เวทีการเมืองเชิงนโยบาย ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลจากอารมณ์ความรู้สึก ความเชื่อ การหลอกตนเอง และมายาคติต่าง ๆ ซึ่งจะเข้าไปกดทับความมีเหตุผล หรือทำให้การกระทำของพวกเขาเบี่ยงเบนไปจากความมีเหตุผล

ในท่ามกลางความหลากหลายของปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความไร้เหตุผลของนโยบาย ปัจจัยที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคือ “ความไม่รู้” หรือ “อวิชชา” (ignorance) ซึ่งเป็นภาวะที่กลุ่มต่าง ๆ ตัดสินใจกำหนดและดำเนินการนโยบายด้วยความจำกัดของปัญญา อันเกิดจากความไร้สมรรถภาพทางความคิดหรือขาดปรีชาญาณนั่นเอง

นโยบายจำนวนมากจึงเกิดขึ้นและขับเคลื่อนไปด้วยความหลงผิด ทำให้หลงทาง ไม่อาจบรรลุเป้าหมาย และบางนโยบายก็สร้างผลกระทบทางลบอย่างรุนแรงและก่อให้เกิดความเสียหายแก่สังคมอย่างไม่อาจประมาณได้ กรณีสหรัฐอเมริกาอย่างเช่น นโยบายการทำสงครามในประเทศเวียดนามเมื่อครั้งอดีต หรือ ที่ใกล้ๆคือ นโยบายทำสงครามในอิรัก

ความไม่รู้สารัตถะและผลสืบเนื่องจากการตัดสินใจเลือกกระทำทางการเมืองดำรงอยู่อย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้เลือกตั้ง มีผู้เลือกตั้งไม่มากนักที่มีความรู้ความเข้าใจระบบการเมือง ทั้งยังมีความรู้เกี่ยวกับพรรคการเมือง และนโยบายอย่างจำกัดอีกด้วย ด้วยเหตุนี้การตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองจึงกระทำไปด้วยแรงผลักของความเชื่อหรือมายาคติที่พวกเขาจินตนาการกันเอง

ในประเทศไทยมีตัวอย่างมากมายในเรื่องเหล่านี้ เช่น เมื่อพรรคการเมืองบางพรรคเสนอนโยบายประชานิยม ผู้เลือกตั้งจำนวนมากก็แห่กันไปลงคะแนนเสียงให้ ก็เพราะความไม่รู้หรืออวิชชานั่นเองว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างหากมีการนำนโยบายเหล่านี้ไปปฏิบัติจริง

แม้แต่การลงประชามติรัฐธรรมในประเทศไทยช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2559 ผู้ไปลงประชามติจำนวนมากก็มีความรู้เกี่ยวกับสารัตถะของรัฐธรรมนูญเพียงน้อยนิด และไม่อาจประเมินได้ว่าเนื้อหารัฐธรรมนูญเมื่อนำไปใช้แล้วจะสร้างผลกระทบอย่างไรต่อสังคมไทย การลงประชามติรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและจินตนาการบางอย่างของผู้ที่ไปลงประชามติเท่านั้นเอง ทั้งผู้ที่ไปลงรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่มีอวิชชาชี้นำการตัดสินใจ มากกว่าใช้ปัญญาและความมีเหตุผล

การศึกษาการตัดสินใจที่อยู่บนฐานของความไร้เหตุผลมีอยู่ไม่น้อยในแวดวงวิชาการด้านสังคมศาสตร์ อย่างการศึกษาของนักวิชการที่ได้รับรางวัลโนเบลอย่าง ดาเนียล คาห์นแมน (Daniel Kahneman) และ เอมอส ทฝอสกี้ (Amos Tversky) ชี้ว่าปกติการตัดสินของปัจเจกบุคคลมักถูกทำให้บิดเบือนหรือเบี่ยงเบนจากความมีเหตุผล โดยแบบแผนความรู้ความเข้าใจที่ผิดพลาด หรือการมีตรรกะที่ไม่ถูกต้อง

แบบแผนความเข้าใจที่ผิดพลาดเกิดจากการที่บุคคลมีแนวโน้มตัดสินใจอย่างง่ายๆ โดยใช้ปรากฎการณ์ที่มีให้เห็นชัดเจน ซึ่งจำได้ง่ายเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ เช่น พอเกิดเหตุการณ์เรือล่มคนเสียชีวิตมาก ก็ตัดสินใจไม่นั่งเรืออีกต่อไป หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลการเดินเรือก็ตัดสินใจสำรวจท่าเทียบเรือทันที ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นอาจไม่เคยทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ

การตัดสินใจของบางคนอาจเกิดจากอาการ “ฝังใจ” กับคุณลักษณะหรือข้อมูลข่าวสารบางเรื่อง เช่น การเลือกพรรคการเมืองบางพรรคเพราะชอบบุคลิกของผู้นำพรรค หรือสนับสนุนรัฐบาลเพราะว่าชอบบุคลิกนายกรัฐมนตรี หรือผู้ตัดสินได้รับข้อมูลข่าวสารบางอย่างว่าการใช้พัฒนาประเทศโดยกำหนดพื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นแนวทางที่มีประสิทธิผล ก็ตัดสินใจเลือกใช้แนวทางนี้ทันทีโดยขาดความรอบคอบในการศึกษาผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นตามมา

ความไร้เหตุผลที่ใช้เป็นเกณฑ์การตัดสินใจอีกอย่างคือ “การกลัวความสูญเสีย” จนขึ้นสมอง คนที่ตัดสินใจภายใต้ความกลัวมีแนวโน้มตัดสินใจเลือกแนวทางที่มีความเสี่ยงต่ำในการดำเนินนโยบาย ส่วนทางเลือกใดที่มีความเสี่ยงสูง แม้ว่าอาจทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าและมากกว่า ก็จะไม่กล้าเลือก เช่น ผู้บริหารประเทศเลือกทำการปฏิรูปในประเด็นที่ง่าย ๆ ซึ่งไม่สร้างผลกระทบกับผลประโยชน์ของกลุ่มที่มีพลังอำนาจและกลุ่มทุนมากนัก ส่วนเรื่องที่ยาก แม้ว่าจะให้ผลตอบแทนต่อสังคมสูงกว่า ก็จะไม่กล้าทำ และปัดให้รัฐบาลต่อไปทำ เพราะกลัวจะสูญเสียสถานภาพและอำนาจ

ความผิดพลาดในการวางแผนเป็นอีกประเด็นที่สะท้อนถึงความไร้เหตุผลอันเกิดจาก “ความไม่รู้” เพราะหากการวางแผนเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยผ่านการวิเคราะห์อย่างรอบคอบ แผนที่มีการกำหนดและนำปฏิบัติจะต้องบรรลุเป้าประสงค์ของนโยบายตามระยะเวลาที่กำหนด โดยปราศจากความผิดพลาด

ความผิดพลาดในการวางแผนจึงเกิดจากความไม่รู้เรื่องที่เราจะทำว่า ต้องทำอย่างไรจึงมีประสิทธิภาพ ต้องใช้โครงการและกิจกรรมอะไรบ้างมาบูรณาการเข้าด้วยกัน ต้องใช้ระยะเวลายาวนานเพียงใดในการดำเนินการ เมื่อไม่รู้ก็ทำให้การประเมินผิดพลาด บางโครงการก็ไร้ประสิทธิผลอย่างสิ้นเชิง บางเรื่องต้องใช้เวลายาวนาน แต่วางแผนเอาไว้อย่างจำกัดเวลา ก็จะทำให้เรื่องค้างคาและต้องมาเริ่มต้นใหม่อย่างซ้ำซาก

ความไร้เหตุผลอีกเรื่องคือ “การคิดแบบโลกสวย” หรือการคิดทึกทักเอาเองว่า สิ่งที่เราทำจะต้องได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำความสุขมาให้คนทั้งแผ่นดิน ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงอาจเป็นคนละเรื่องหรือเป็นหนังคนละม้วนกันเลยก็ได้

การคิดแบบโลกสวยมีโอกาสเกิดขึ้นสูง หากคนแวดล้อมมีลักษณะเป็น “ขุนพลอยพยัก” หรือ “หลวงประจบสอพลอ” หรือถ้าหนักหน่อยอาจเป็น “พระยาลอเลียแข้ง” หากผู้กำหนดนโยบายมีคนแวดล้อมแบบนี้มาก อาการโลกสวยก็จะยิ่งมีมาก สิ่งที่ตามมาคืออาการตาพล่าเลือน หูตึง ทำให้มองไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างจากความคิดของตัวเอง และนั่นเป็นหนทางหายนะโดยแท้

สำหรับประเด็นสุดท้ายในวันนี้เป็นความไร้เหตุผลแบบ “ดื้อรั้นเพื่อคงของเดิมเอาไว้” หรือการรักษาสภาพและแนวทางแบบเดิมที่เคยทำเป็นประจำ โดยไม่ยอมเปลี่ยนแปลง หรืออาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบเพียงเล็กน้อย แต่เนื้อหาหลักยังคงเหมือนเดิม ทั้งๆที่บางเรื่อง มีข้อมูลข่าวสารอย่างประจักษ์ชัดเจนแล้วว่า แนวทางแบบเดิมขาดประสิทธิภาพและไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็ยังคงดื้อรั้น ดันทุรังทำแบบเดิมๆไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ความไร้เหตุผลแบบนี้ในสังคมไทยมีมากและพบได้ในทุกวงการตั้งแต่ระดับรัฐบาล จนไปถึงองค์การเล็กๆ อย่างองค์การชาวบ้าน

ความไร้เหตุผลแบบดื้อรั้นคงของเดิมเป็นสาเหตุสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้นโยบายหลายอย่างในสังคมไทยประสบความล้มเหลวทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอาจรวมถึงอนาคตด้วย เช่น นโยบายพลังงาน นโยบายป้องกันและปราบปรามยาเสพติด นโยบายแก้ไขปัญหาเกษตรกรรม นโยบายอาหารและยา

การจะหลุดพ้นจากความล้มเหลวในการบริหารประเทศและขับเคลื่อนนโยบาย ผู้กำหนดนโยบาย และผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ จะต้องพยายามใช้สติปัญญาในการคิดและการรู้เท่าทันความไร้เหตุผล ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นมาชี้นำและบงการการตัดสินใจในขั้นตอนต่าง ๆ แต่การจะทำอย่างนี้ได้ในขั้นแรกก็ต้องตรวจสอบการตัดสินในที่ผ่านมาของตนเองให้กระจ่างเสียก่อนว่า เป็นไปด้วยความไร้เหตุผลมากน้อยเพียงใด

ทางที่ดีเพื่อป้องกันไม่ให้ความไร้เหตุผลครอบงำการตัดสินใจเชิงนโยบายมากจนเกินไป จะต้องสร้างกลไกการมีส่วนร่วมแบบปรึกษาหารือ โดยให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับนโยบายทุกกลุ่มเข้ามาช่วยกันคิดและตรวจสอบนโยบายอย่างรอบด้านในทุกขั้นตอนของนโยบายตั้งแต่การกำหนดประเด็น การตัดสินใจเลือกทางเลือก และการนำนโยบายไปปฏิบัติ หากทำได้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของความล้มเหลวลงไปไม่มากก็น้อย



กำลังโหลดความคิดเห็น