ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
โดยพื้นฐานพรรคการเมืองเป็นองค์การพันธกิจ ซึ่งมี “อุดมการณ์” เป็นพลังหลักในการก่อเกิด การขับเคลื่อน การดำรงอยู่ และการพัฒนา อุดมการณ์คือระบบค่านิยมและความเชื่อขององค์การ ที่สมาชิกแบ่งปันและยึดถือร่วมกัน ซึ่งทำให้แต่ละพรรคการเมืองแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น อุดมการณ์ของพรรคจะก่อให้เกิด “สำนึกแห่งพันธกิจ” ซึ่งบูรณาการเป้าประสงค์ของปัจเจกบุคคลและพรรคเข้าด้วยกันและนำไปสู่การสร้างพลังร่วมอย่างมหาศาล
สำนึกแห่งพันธกิจเป็นความรู้สึกอันแรงกล้าที่ผสานให้สมาชิกขององค์การเกิดความปรารถนาในการสร้างสรรค์สิ่งที่พิเศษและน่าตื่นเต้นขึ้นมา ในแง่พรรคการเมืองสำนึกพันธกิจทำให้ผู้คนที่อยู่ในพรรคสร้างสรรค์นโยบายเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปสังคมให้บรรลุเป้าประสงค์ตามอุดมการณ์ที่กำหนดไว้ เช่น การบรรลุความยุติธรรม การอนุรักษ์ธรรมชาติและการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ความสงบสันติของสังคม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
เงื่อนไขสำคัญต่อการพัฒนาอุดมการณ์ของพรรคการเมือง ทั้งพรรคใหม่และพรรคเก่า คือการที่กลุ่มผู้จัดตั้งพรรคหรือผู้นำพรรคเชื่ออย่างแท้จริงในพันธกิจ และเสียสละอุทิศตนอย่างทุ่มเทในการกระทำพันธกิจนั้นให้บรรลุเป้าประสงค์
การใช้วาทศิลป์หรือคำพูดสวยหรูมิอาจทำให้เกิดอุดมการณ์ร่วมได้ มีแต่การแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงและการกระทำอย่างจริงจังที่จะทำให้ผู้คนสัมผัส รับรู้ และยอมรับอุดมการณ์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในจิตใจของพวกเขา
เมื่อพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่หรือพรรคการเมืองเดิมสถาปนาความเชื่อและค่านิยมชุดใหม่ขึ้นมา สิ่งเหล่านั้นก็จะถูกใช้เป็นกรอบในการตัดสินใจและปฏิบัติการ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความผูกพันต่อพันธะสัญญาที่ให้ไว้ พฤติกรรมของทีมผู้นำและสมาชิกพรรคจะดำเนินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของพรรค และเมื่อมีการผลิตซ้ำแบบแผนการปฏิบัติตามอุดมการณ์มากขึ้น ก็จะทำให้เกิดพลังร่วมและทำให้อุดมการณ์มีความเด่นชัด จนเป็นที่รับรู้ได้ของประชาชนในสังคม
การสร้างอุดมการณ์ให้มีความเข้มแข็งสามารถกระทำผ่าน “เรื่องราว” ซึ่งพัฒนามาจากเหตุการณ์สำคัญของพรรคการเมือง เมื่อพรรคการเมืองแต่ละพรรคดำเนินงานไป การแสดงบทบาทและจุดยืนของพรรคต่อสถานการณ์ทางการเมือง การต่อสู้ของกลุ่มผู้นำและสมาชิกพรรคต่อความไม่ถูกต้อง การรณรงค์และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาสังคม และความเที่ยงธรรมในการบริหารประเทศและการตัดสินใจทางนิติบัญญัติ ล้วนแล้วแต่สามารถทำให้อุดมการณ์ของพรรคสามารถผนึกเข้ากับไปเป็นส่วนหนึ่งในจิตสำนึกของสมาชิกพรรคได้อย่างมีประสิทธิผล
ยิ่งกว่านั้นหากการตัดสินและการปฏิบัติการณ์ทางการเมืองของผู้บริหารพรรคสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอุดมการณ์ของพรรคอย่างต่อเนื่อง และได้กระทำอย่างสม่ำเสมอ คงเส้นคงวาจนเป็นแบบแผนหรือประเพณีของพรรค ก็ยิ่งทำให้อุดมการณ์ยิ่งมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นอีก
กระบวนการดำเนินและพัฒนาการของอุดมการณ์ไปอย่างช้าๆ หากสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องได้ ในที่สุดพรรคการเมืองก็สามารถสร้าง “สำนึกทางประวัติศาสตร์เชิงตำนาน” ของพรรคขึ้นมา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่เป็นอัตลักษณ์ของพรรคการเมืองนั้น ด้วยกระบวนการนี้พรรคการเมืองก็จะพัฒนาเป็นสถาบัน ซึ่งมีวิถีชีวิตของตนเองที่เชื่อมโยงกับอดีต พรรคการเมืองก็จะเปลี่ยนสภาพจากองค์การธรรมดาสามัญเป็น “พรรคเชิงสถาบัน” ที่สมาชิกมีความรู้สึกผูกพันและมีความจงรักภักดีสูง ความรู้สึกว่า “นี่คือพรรคการเมืองของเรา” จะอบอวลในหมู่มวลสมาชิก
พรรคการเมืองที่มีการพัฒนาอุดมการณ์จนกระทั่งกลายเป็นพรรคเชิงสถาบันมีอยู่ไม่น้อยในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทย พรรคการเมืองที่พอจะมีร่องรอยของการพัฒนาการจนเข้าใกล้ความเป็นพรรคเชิงสถาบันอยู่บ้างก็เห็นจะมีเพียงพรรคประชาธิปัตย์เพียงพรรคเดียว ส่วนพรรคอื่นๆ นั้นยังมีความห่างไกลเรื่องนี้ค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตามเมื่อพรรคการเมืองพัฒนาจนกระทั่งมีความเป็นสถาบันมากขึ้น ก็จะมีจุดอ่อนที่สำคัญคือ ความสามารถในการปรับตัวจะลดลง และอาจตามไม่ทันสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีเปลี่ยนแปลงสูง เพราะว่าโดยธรรมชาติสิ่งใดที่มีความเป็นสถาบันมักจะมีเสถียรภาพและมักยึดติดกับวัฒนธรรม ค่านิยม และแบบแผนการกระทำเดิม ที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างความสำเร็จมาแล้ว ดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็กำลังตกอยู่ในกับดักของสถานการณ์เช่นนั้น
พรรคการเมืองไทยมีหลากหลายประเภท บ้างก็เป็นพรรคส่วนบุคคล บ้างก็เป็นพรรคครอบครัว บ้างก็เป็นพรรคเพื่อการเลือกตั้ง บ้างก็เป็นพรรคจังหวัด บ้างก็เป็นพรรคจัดตั้งเพื่อขายหัวพรรค ช่วงชีวิตตั้งแต่ การเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และล่มสลายของพรรคการเมืองเหล่านั้นกินเวลาไม่นาน และมีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามจังหวะและสถานการณ์ พรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่ในอดีตจึงมีคุณูปการต่อการพัฒนาประชาธิปไตยน้อยมาก ยิ่งกว่านั้นบางพรรคก็กัดกร่อนและทำลายประชาธิปไตยเสียด้วยซ้ำ
การพิจารณาว่าพรรคการเมืองใดมีส่วนในการพัฒนาประชาธิปไตยเราอาจดูได้จากการทำหน้าที่สำคัญ 5 ประการ ประการแรก หน้าที่ด้านการเลือกตั้ง หากพรรครณรงค์ให้ความรู้ประชาธิปไตยแก่ประชาชน สร้างตระหนักเรื่องสิทธิพลเมือง ใช้นโยบายที่มุ่งประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่และทำให้ประเทศเข้มแข็งและมีความยั่งยืนเป็นหลักในการหาเสียง ก็ย่อมกล่าวได้ว่าพรรคนั้นทำหน้าที่ตามพันธกิจเชิงอุดมการณ์ แต่หากพรรคการเมืองใช้การซื้อเสียงและนโยบายประชานิยมหลอกลวงประชาชนในการเลือกตั้ง ย่อมส่งผลเสียต่อการพัฒนาประเทศ และกล่าวได้ว่าพรรคการเมืองนั้นมีส่วนทำลายประชาธิปไตย
ประการที่สอง การบูรณาการและสร้างการมีส่วนร่วม ทั้งการมีส่วนร่วมของสมาชิกภายในพรรคและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเงินงานของพรรค พรรคใดที่มีการทำหน้าที่นี้และทำได้อย่างต่อเนื่องย่อมมีคุณูปการต่อการพัฒนาประชาธิปไตย แต่หากไม่เคยสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกและประชาชนในการบริหารจัดการของพรรคเลย ย่อมไม่อาจกล่าวได้ว่าพรรคการเมืองมีส่วนในการทำให้ประชาธิปไตยดีขึ้น
ประการที่สาม การเลือกทีมผู้นำของพรรค หากพรรคการเมืองใดมีระบบการคัดเลือกที่ชอบธรรม เที่ยงธรรมและโปร่งใสสำหรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค และหัวหน้าสาขาพรรค ย่อมสะท้อนว่าพรรคการเมืองนั้นยึดหลักการประชาธิปไตย แต่หากพรรคการเมืองใดที่กลุ่มนายทุนสามารถกำหนด ควบคุม และตัดสินใจเลือกผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในพรรคได้ ก็ย่อมสะท้อนว่าพรรคนั้นมิใช่พรรคการเมือง แต่เป็นเสมือนบริษัทเอกชนที่มุ่งประโยชน์เท่านั้นเอง
ประการที่สี่ การกำหนดนโยบาย พรรคการเมืองใดที่มีกระบวนการกำหนดนโยบายโดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ ใช้เหตุใช้ผล ใช้ปัญหาของประเทศ ใช้ความต้องการและการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นฐานในการกำหนดนโยบาย ย่อมทำให้สำนึกประชาธิปไตยขยายตัวมากขึ้น แต่หากใช้การนั่งเทียนเขียนนโยบายเอาเอง โดยทีมผู้นำพรรคหรือนักวิชาการซึ่งปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ย่อมไม่เกิดคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยแต่อย่างใด
ประการที่ห้า การบริหารปกครองประเทศ หากพรรคใดได้มีโอกาสใช้อำนาจทางบริหารและนิติบัญญัติแล้ว กลับใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม ไม่ยึดหลักนิติธรรม ไร้ประสิทธิภาพ ทุจริตคอรัปชั่น และไม่ยึดสัญญาประชาคม ย่อมกลายเป็นพรรคที่บั่นทอนและทำลายระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองเช่นนี้มีไว้ก็รังแต่จะสร้างความเสียหายแก่ประเทศ
พรรคการเมืองที่กำลังจัดตั้งใหม่ก็ดี หรือพรรคการเมืองเดิมลองพิจารณาและวิเคราะห์ตัวเองดูให้ละเอียดว่า พรรคของท่านได้ทำหน้าที่หรือคิดว่าจะทำหน้าที่ทั้งห้าประการข้างต้นในทางที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนมากน้อยเพียงใด หากยังไม่คิด ก็ควรกลับไปคิดเสียให้ถี่ถ้วน
ตราบใดที่พรรคการเมืองไทยยังเป็นแบบที่เคยเป็นในอดีต และไม่ยอมปรับกระบวนทัศน์ วิธีคิด ความเชื่อ และแนวทางปฏิบัติ ตราบนั้นประชาธิปไตยไทยก็ยังคงพัฒนาได้ยาก ยิ่งกว่าการเข็นครกขึ้นภูเขา
ผมคิดว่าประชาธิปไตยของไทยจะพัฒนาและมีความเข้มแข็งได้ ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองมีการพัฒนาให้เป็น “พรรคพันธกิจ” และมี “สำนึกแห่งพันธกิจ” ในการสร้างสรรค์ประเทศและพัฒนาสังคมครับ
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
โดยพื้นฐานพรรคการเมืองเป็นองค์การพันธกิจ ซึ่งมี “อุดมการณ์” เป็นพลังหลักในการก่อเกิด การขับเคลื่อน การดำรงอยู่ และการพัฒนา อุดมการณ์คือระบบค่านิยมและความเชื่อขององค์การ ที่สมาชิกแบ่งปันและยึดถือร่วมกัน ซึ่งทำให้แต่ละพรรคการเมืองแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น อุดมการณ์ของพรรคจะก่อให้เกิด “สำนึกแห่งพันธกิจ” ซึ่งบูรณาการเป้าประสงค์ของปัจเจกบุคคลและพรรคเข้าด้วยกันและนำไปสู่การสร้างพลังร่วมอย่างมหาศาล
สำนึกแห่งพันธกิจเป็นความรู้สึกอันแรงกล้าที่ผสานให้สมาชิกขององค์การเกิดความปรารถนาในการสร้างสรรค์สิ่งที่พิเศษและน่าตื่นเต้นขึ้นมา ในแง่พรรคการเมืองสำนึกพันธกิจทำให้ผู้คนที่อยู่ในพรรคสร้างสรรค์นโยบายเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปสังคมให้บรรลุเป้าประสงค์ตามอุดมการณ์ที่กำหนดไว้ เช่น การบรรลุความยุติธรรม การอนุรักษ์ธรรมชาติและการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ความสงบสันติของสังคม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
เงื่อนไขสำคัญต่อการพัฒนาอุดมการณ์ของพรรคการเมือง ทั้งพรรคใหม่และพรรคเก่า คือการที่กลุ่มผู้จัดตั้งพรรคหรือผู้นำพรรคเชื่ออย่างแท้จริงในพันธกิจ และเสียสละอุทิศตนอย่างทุ่มเทในการกระทำพันธกิจนั้นให้บรรลุเป้าประสงค์
การใช้วาทศิลป์หรือคำพูดสวยหรูมิอาจทำให้เกิดอุดมการณ์ร่วมได้ มีแต่การแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงและการกระทำอย่างจริงจังที่จะทำให้ผู้คนสัมผัส รับรู้ และยอมรับอุดมการณ์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในจิตใจของพวกเขา
เมื่อพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่หรือพรรคการเมืองเดิมสถาปนาความเชื่อและค่านิยมชุดใหม่ขึ้นมา สิ่งเหล่านั้นก็จะถูกใช้เป็นกรอบในการตัดสินใจและปฏิบัติการ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความผูกพันต่อพันธะสัญญาที่ให้ไว้ พฤติกรรมของทีมผู้นำและสมาชิกพรรคจะดำเนินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของพรรค และเมื่อมีการผลิตซ้ำแบบแผนการปฏิบัติตามอุดมการณ์มากขึ้น ก็จะทำให้เกิดพลังร่วมและทำให้อุดมการณ์มีความเด่นชัด จนเป็นที่รับรู้ได้ของประชาชนในสังคม
การสร้างอุดมการณ์ให้มีความเข้มแข็งสามารถกระทำผ่าน “เรื่องราว” ซึ่งพัฒนามาจากเหตุการณ์สำคัญของพรรคการเมือง เมื่อพรรคการเมืองแต่ละพรรคดำเนินงานไป การแสดงบทบาทและจุดยืนของพรรคต่อสถานการณ์ทางการเมือง การต่อสู้ของกลุ่มผู้นำและสมาชิกพรรคต่อความไม่ถูกต้อง การรณรงค์และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาสังคม และความเที่ยงธรรมในการบริหารประเทศและการตัดสินใจทางนิติบัญญัติ ล้วนแล้วแต่สามารถทำให้อุดมการณ์ของพรรคสามารถผนึกเข้ากับไปเป็นส่วนหนึ่งในจิตสำนึกของสมาชิกพรรคได้อย่างมีประสิทธิผล
ยิ่งกว่านั้นหากการตัดสินและการปฏิบัติการณ์ทางการเมืองของผู้บริหารพรรคสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอุดมการณ์ของพรรคอย่างต่อเนื่อง และได้กระทำอย่างสม่ำเสมอ คงเส้นคงวาจนเป็นแบบแผนหรือประเพณีของพรรค ก็ยิ่งทำให้อุดมการณ์ยิ่งมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นอีก
กระบวนการดำเนินและพัฒนาการของอุดมการณ์ไปอย่างช้าๆ หากสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องได้ ในที่สุดพรรคการเมืองก็สามารถสร้าง “สำนึกทางประวัติศาสตร์เชิงตำนาน” ของพรรคขึ้นมา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่เป็นอัตลักษณ์ของพรรคการเมืองนั้น ด้วยกระบวนการนี้พรรคการเมืองก็จะพัฒนาเป็นสถาบัน ซึ่งมีวิถีชีวิตของตนเองที่เชื่อมโยงกับอดีต พรรคการเมืองก็จะเปลี่ยนสภาพจากองค์การธรรมดาสามัญเป็น “พรรคเชิงสถาบัน” ที่สมาชิกมีความรู้สึกผูกพันและมีความจงรักภักดีสูง ความรู้สึกว่า “นี่คือพรรคการเมืองของเรา” จะอบอวลในหมู่มวลสมาชิก
พรรคการเมืองที่มีการพัฒนาอุดมการณ์จนกระทั่งกลายเป็นพรรคเชิงสถาบันมีอยู่ไม่น้อยในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทย พรรคการเมืองที่พอจะมีร่องรอยของการพัฒนาการจนเข้าใกล้ความเป็นพรรคเชิงสถาบันอยู่บ้างก็เห็นจะมีเพียงพรรคประชาธิปัตย์เพียงพรรคเดียว ส่วนพรรคอื่นๆ นั้นยังมีความห่างไกลเรื่องนี้ค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตามเมื่อพรรคการเมืองพัฒนาจนกระทั่งมีความเป็นสถาบันมากขึ้น ก็จะมีจุดอ่อนที่สำคัญคือ ความสามารถในการปรับตัวจะลดลง และอาจตามไม่ทันสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีเปลี่ยนแปลงสูง เพราะว่าโดยธรรมชาติสิ่งใดที่มีความเป็นสถาบันมักจะมีเสถียรภาพและมักยึดติดกับวัฒนธรรม ค่านิยม และแบบแผนการกระทำเดิม ที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างความสำเร็จมาแล้ว ดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็กำลังตกอยู่ในกับดักของสถานการณ์เช่นนั้น
พรรคการเมืองไทยมีหลากหลายประเภท บ้างก็เป็นพรรคส่วนบุคคล บ้างก็เป็นพรรคครอบครัว บ้างก็เป็นพรรคเพื่อการเลือกตั้ง บ้างก็เป็นพรรคจังหวัด บ้างก็เป็นพรรคจัดตั้งเพื่อขายหัวพรรค ช่วงชีวิตตั้งแต่ การเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และล่มสลายของพรรคการเมืองเหล่านั้นกินเวลาไม่นาน และมีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามจังหวะและสถานการณ์ พรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่ในอดีตจึงมีคุณูปการต่อการพัฒนาประชาธิปไตยน้อยมาก ยิ่งกว่านั้นบางพรรคก็กัดกร่อนและทำลายประชาธิปไตยเสียด้วยซ้ำ
การพิจารณาว่าพรรคการเมืองใดมีส่วนในการพัฒนาประชาธิปไตยเราอาจดูได้จากการทำหน้าที่สำคัญ 5 ประการ ประการแรก หน้าที่ด้านการเลือกตั้ง หากพรรครณรงค์ให้ความรู้ประชาธิปไตยแก่ประชาชน สร้างตระหนักเรื่องสิทธิพลเมือง ใช้นโยบายที่มุ่งประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่และทำให้ประเทศเข้มแข็งและมีความยั่งยืนเป็นหลักในการหาเสียง ก็ย่อมกล่าวได้ว่าพรรคนั้นทำหน้าที่ตามพันธกิจเชิงอุดมการณ์ แต่หากพรรคการเมืองใช้การซื้อเสียงและนโยบายประชานิยมหลอกลวงประชาชนในการเลือกตั้ง ย่อมส่งผลเสียต่อการพัฒนาประเทศ และกล่าวได้ว่าพรรคการเมืองนั้นมีส่วนทำลายประชาธิปไตย
ประการที่สอง การบูรณาการและสร้างการมีส่วนร่วม ทั้งการมีส่วนร่วมของสมาชิกภายในพรรคและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเงินงานของพรรค พรรคใดที่มีการทำหน้าที่นี้และทำได้อย่างต่อเนื่องย่อมมีคุณูปการต่อการพัฒนาประชาธิปไตย แต่หากไม่เคยสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกและประชาชนในการบริหารจัดการของพรรคเลย ย่อมไม่อาจกล่าวได้ว่าพรรคการเมืองมีส่วนในการทำให้ประชาธิปไตยดีขึ้น
ประการที่สาม การเลือกทีมผู้นำของพรรค หากพรรคการเมืองใดมีระบบการคัดเลือกที่ชอบธรรม เที่ยงธรรมและโปร่งใสสำหรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค และหัวหน้าสาขาพรรค ย่อมสะท้อนว่าพรรคการเมืองนั้นยึดหลักการประชาธิปไตย แต่หากพรรคการเมืองใดที่กลุ่มนายทุนสามารถกำหนด ควบคุม และตัดสินใจเลือกผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในพรรคได้ ก็ย่อมสะท้อนว่าพรรคนั้นมิใช่พรรคการเมือง แต่เป็นเสมือนบริษัทเอกชนที่มุ่งประโยชน์เท่านั้นเอง
ประการที่สี่ การกำหนดนโยบาย พรรคการเมืองใดที่มีกระบวนการกำหนดนโยบายโดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ ใช้เหตุใช้ผล ใช้ปัญหาของประเทศ ใช้ความต้องการและการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นฐานในการกำหนดนโยบาย ย่อมทำให้สำนึกประชาธิปไตยขยายตัวมากขึ้น แต่หากใช้การนั่งเทียนเขียนนโยบายเอาเอง โดยทีมผู้นำพรรคหรือนักวิชาการซึ่งปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ย่อมไม่เกิดคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยแต่อย่างใด
ประการที่ห้า การบริหารปกครองประเทศ หากพรรคใดได้มีโอกาสใช้อำนาจทางบริหารและนิติบัญญัติแล้ว กลับใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม ไม่ยึดหลักนิติธรรม ไร้ประสิทธิภาพ ทุจริตคอรัปชั่น และไม่ยึดสัญญาประชาคม ย่อมกลายเป็นพรรคที่บั่นทอนและทำลายระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองเช่นนี้มีไว้ก็รังแต่จะสร้างความเสียหายแก่ประเทศ
พรรคการเมืองที่กำลังจัดตั้งใหม่ก็ดี หรือพรรคการเมืองเดิมลองพิจารณาและวิเคราะห์ตัวเองดูให้ละเอียดว่า พรรคของท่านได้ทำหน้าที่หรือคิดว่าจะทำหน้าที่ทั้งห้าประการข้างต้นในทางที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนมากน้อยเพียงใด หากยังไม่คิด ก็ควรกลับไปคิดเสียให้ถี่ถ้วน
ตราบใดที่พรรคการเมืองไทยยังเป็นแบบที่เคยเป็นในอดีต และไม่ยอมปรับกระบวนทัศน์ วิธีคิด ความเชื่อ และแนวทางปฏิบัติ ตราบนั้นประชาธิปไตยไทยก็ยังคงพัฒนาได้ยาก ยิ่งกว่าการเข็นครกขึ้นภูเขา
ผมคิดว่าประชาธิปไตยของไทยจะพัฒนาและมีความเข้มแข็งได้ ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองมีการพัฒนาให้เป็น “พรรคพันธกิจ” และมี “สำนึกแห่งพันธกิจ” ในการสร้างสรรค์ประเทศและพัฒนาสังคมครับ