xs
xsm
sm
md
lg

2 สำนักโพล เผย ส่วนใหญ่ค่อนข้างเชื่อมั่น รบ.ทุกด้าน เว้น ศก.มองพัฒนาชาติถูกทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดุสิตโพล สำรวจความเชื่อมั่น รบ. ประยุทธ์ ส่วนใหญ่ค่อนข้างเชื่อมั่นในทุกด้าน เว้นแต่เรื่อง ศก. ยังไม่ค่อยเชื่อมั่น จี้ เร่งแก้ไข ชมปราบทุจริตเด่น ด้าน กรุงเทพโพลล์ สำรวจเรื่องความเชื่อมั่นประเทศหลังประชามติ ชี้ ได้คะแนนเพิ่มเทียบกับเดือนก่อนเป็น 5.41 เต็ม 10 การเมืองได้คะแนนแยะสุด ศก. คงน้อยสุด ส่วนใหญ่เชื่อทิศทางพัฒนาชาติถูกทาง

วันนี้ (28 ส.ค.) “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง ความเชื่อมั่นของคนไทย ต่อ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดย 2 ปี กับการบริหารประเทศของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมุ่งหวังแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้กับประชาชน ว่า สถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากความเชื่อมั่นของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การทำงานของรัฐบาลเป็นไปได้ดี เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน และเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานใช้ประกอบการตัดสินใจในการทำงานของรัฐบาล ซึ่งจากผลสำรวจจำนวนทั้งสิ้น 1,293 คน สำรวจระหว่างวันที่ 22 - 27 สิงหาคม 2559 สรุปผล ได้ดังนี้

เมื่อถามว่า ความเชื่อมั่นของคนไทย ต่อ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในด้านต่าง ๆ ต่อไปนี้
ด้านความเชื่อมั่นต่อ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา = 72.15% (เชื่อมั่นมาก 26.06% + ค่อนข้างเชื่อมั่น 46.09%)
อันดับ 1ค่อนข้างเชื่อมั่น 46.09%
เพราะ ในช่วง 2 ปี นายกฯมีผลงานให้เห็นหลายเรื่อง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีและรวดเร็ว ฯลฯ
อันดับ 2เชื่อมั่นมาก 26.06%
เพราะ เป็นคนดี ตั้งใจทำงาน เด็ดขาด เอาจริงเอาจัง มีความเป็นผู้นำ ไม่เป็นนักการเมือง ฯลฯ
อันดับ 3ไม่ค่อยเชื่อมั่น19.03%
เพราะ ยังคงมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะการควบคุมอารมณ์ การใช้คำพูด หลายปัญหายังแก้ไขไม่ได้ ฯลฯ
อันดับ 4ไม่เชื่อมั่น 8.82%
เพราะ เป็นนายกฯที่มาจากรัฐประหาร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่สามารถตรวจสอบได้ ฯลฯ

ด้านความเชื่อมั่นต่อ คณะรัฐมนตรีในภาพรวม = 60.94% (เชื่อมั่นมาก 10.21% + ค่อนข้างเชื่อมั่น 50.73%)
อันดับ 1ค่อนข้างเชื่อมั่น 50.73%
เพราะ การทำงานของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงจะต้องมีผลงาน มีการปรับตำแหน่งและประเมินการทำงาน ฯลฯ
อันดับ 2ไม่ค่อยเชื่อมั่น30.78%
เพราะ ส่วนใหญ่เป็นทหาร อาจไม่ค่อยมีประสบการณ์ บางกระทรวงไม่ค่อยมีผลงานให้เห็น ฯลฯ
อันดับ 3เชื่อมั่นมาก 10.21%
เพราะ การทำงานสอดคล้อง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งเหมือนที่ผ่านมา ฯลฯ
อันดับ 4ไม่เชื่อมั่น 8.28%
เพราะ รัฐมนตรีบางท่านไม่มีผลงาน ไม่เป็นที่รู้จัก ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ฯลฯ

ด้านความเชื่อมั่นต่อ ผลงานรัฐบาล “ด้านการเมือง” = 65.04% (เชื่อมั่นมาก 17.17% + ค่อนข้างเชื่อมั่น 47.87%)
อันดับ 1ค่อนข้างเชื่อมั่น 47.87%
เพราะ สามารถบริหารงานต่าง ๆ ได้ดี บ้านเมืองสงบเรียบร้อยมากขึ้น ทำงานตามนโยบายที่วางไว้ ฯลฯ
อันดับ 2ไม่ค่อยเชื่อมั่น25.06%
เพราะ ปัญหาการเมืองไทยฝังรากลึกมานาน ยังมีความขัดแย้งและไม่โปรงใส ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็ยังแก้ไขไม่ได้ ฯลฯ
อันดับ 3เชื่อมั่นมาก 17.17%
เพราะ เป็นรัฐบาลทหารที่มีอำนาจ ทำงานได้คล่องตัว ไม่มีการเรียกร้องคัดค้าน ไม่มีการชุมนุมเคลื่อนไหว ฯลฯ
อันดับ 4ไม่เชื่อมั่น 9.90%
เพราะ ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็นของประชาชน ตรวจสอบการทำงานไม่ได้ ฯลฯ

ด้านความเชื่อมั่นต่อ ผลงานรัฐบาล “ด้านเศรษฐกิจ” = 43.78% (เชื่อมั่นมาก 5.88% + ค่อนข้างเชื่อมั่น 37.90%)
อันดับ 1ไม่ค่อยเชื่อมั่น39.98%
เพราะ ปัญหาเศรษฐกิจแก้ไขได้ยาก ทั่วโลกประสบปัญหาเดียวกัน ประชาชนรายได้น้อย ค่าครองชีพสูง ฯลฯ
อันดับ 2ค่อนข้างเชื่อมั่น 37.90%
เพราะ แนวโน้มการแก้ปัญหาเศรษฐกิจดีขึ้น มีการลดราคาพลังงาน ขึ้นเงินเดือน กระตุ้นการใช้จ่าย ฯลฯ
อันดับ 3ไม่เชื่อมั่น 16.24%
เพราะ เศรษฐกิจในประเทศยังไม่ดีขึ้น ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก ประชาชนยังมีความเป็นอยู่ลำบาก ฯลฯ
อันดับ 4เชื่อมั่นมาก 5.88%
เพราะ มีทีมแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เก่ง ช่วงครึ่งปีแรกมีผลงานดี มีการส่งเสริมการค้าการลงทุนขนาดใหญ่ ฯลฯ

ด้านความเชื่อมั่นต่อ ผลงานรัฐบาล “ด้านสังคม” = 66.52%
(เชื่อมั่นมาก 16.40% + ค่อนข้างเชื่อมั่น 50.12%)
อันดับ 1ค่อนข้างเชื่อมั่น 50.12%
เพราะ การดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดได้รวดเร็ว เจ้าหน้าที่เข้มงวดมากขึ้น รัฐบาลให้ความสำคัญ ฯลฯ
อันดับ 2ไม่ค่อยเชื่อมั่น25.14%
เพราะ ยังมีปัญหาอยู่มากและหลากหลายรูปแบบ อาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง ปัญหาสังคมมีความรุนแรงมากขึ้น ฯลฯ
อันดับ 3เชื่อมั่นมาก 16.40%
เพราะ ปัญหาสังคมได้รับการแก้ไข มีการจัดระเบียบสังคม มีการปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสมมากขึ้น ฯลฯ
อันดับ 4ไม่เชื่อมั่น 8.34%
เพราะ การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด สังคมเสื่อมโทรม มีความเหลื่อมล้ำ ยังมีปัญหาระเบิดและความรุนแรงในภาคใต้ ฯลฯ

ด้านความเชื่อมั่นต่อ ผลงานรัฐบาลในภาพรวม = 66.66% (เชื่อมั่นมาก 14.46% + ค่อนข้างเชื่อมั่น 52.20%)
อันดับ 1ค่อนข้างเชื่อมั่น 52.20%
เพราะ มีประสบการณ์ในการทำงานมากขึ้น แก้ปัญหาได้รวดเร็ว ทำงานเด็ดขาด ไม่มีการขัดแย้งกันเอง ฯลฯ
อันดับ 2ไม่ค่อยเชื่อมั่น24.05%
เพราะ มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ไม่เห็นด้วยกับการทำงาน ยังมีการทุจริตคอร์รัปชัน ฯลฯ
อันดับ 3เชื่อมั่นมาก 14.46%
เพราะ ทำงานตามนโยบายที่วางไว้ มีโรดแมปการทำงานที่ชัดเจน หลายปัญหาได้รับการแก้ไข มีการพัฒนาประเทศ ฯลฯ
อันดับ 4ไม่เชื่อมั่น 9.29%
เพราะ ยังไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีผลงานชัดเจน ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ ไม่โปร่งใสในหลาย ๆ ด้าน ฯลฯ

เมื่อถามว่า “5 อันดับ” ผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประชาชนชื่นชอบ
อันดับ 1การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันทั้งภาครัฐและเอกชน 75.48%
อันดับ 2มาตรการทวงคืนผืนป่า ดำเนินการกับผู้บุกรุกพื้นที่ป่าสงวน 71.31%
อันดับ 3การดูแลความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง จัดระเบียบสังคม กวาดล้างยาเสพติด 70.62%
อันดับ 4การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ เพิ่มระดับจากเทียร์ 3 เป็นเทียร์ 2 65.51%
อันดับ 5ลดราคาน้ำมัน ราคาพลังงาน 63.36%

เมื่อถามว่า “5 อันดับ” ผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยังต้องเร่งดำเนินการ
อันดับ 1การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ 82.60%
อันดับ 2การแก้ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ ความเป็นอยู่ของประชาชน 78.65%
อันดับ 3การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดภาคใต้73.02%
อันดับ 4การร่างรัฐธรรมนูญ การร่างกฎหมายลูก การแก้กฎหมาย 67.05%
อันดับ 5การแก้ปัญหาภาคการเกษตร ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ 62.26%

ด้านกรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ความเชื่อมั่นประเทศไทยหลังผ่านการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,215 คน พบว่า

ประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทยเฉลี่ยในภาพรวม 5.41 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน) เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน 59 ที่ผ่านมา 0.42 คะแนน โดยเชื่อมั่นด้านการเมืองมากที่สุด (5.59 คะแนน) รองลงมาคือ ด้านเศรษฐกิจ (5.38 คะแนน) และด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (5.27 คะแนน)

เมื่อแยกพิจารณาจากด้านที่ได้ความเชื่อมั่นมากที่สุดไปน้อยที่สุด พบว่า ความเชื่อมั่นด้านการเมืองในภาพรวมได้คะแนนเฉลี่ย 5.59 คะแนน เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจครั้งก่อน 0.47 คะแนน (5.12 คะแนน) โดยตัวชี้วัดด้านการเมืองที่ประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่นมากที่สุด คือ ด้านความสามารถในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน / คสช. (6.15 คะแนน) ขณะที่ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนน้อยที่สุด คือ ด้านการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน (5.03 คะแนน)

ความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจในภาพรวมได้คะแนนเฉลี่ย 5.38 คะแนน เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจครั้งก่อน 0.31 คะแนน (5.07 คะแนน) โดยตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจที่ได้คะแนนมากที่สุด คือ ด้านความสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน (5.96 คะแนน) ส่วนด้านที่ได้คะแนนน้อยที่สุด คือ ด้านฐานะทางการเงินของประเทศ (5.01 คะแนน)

ความเชื่อมั่นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในภาพรวมได้คะแนนเฉลี่ย 5.27 คะแนน เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจครั้งก่อน 0.49 คะแนน (4.78 คะแนน) โดยตัวชี้วัดด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ได้คะแนนมากที่สุดคือ ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (6.05 คะแนน) ส่วนด้านที่ได้คะแนนน้อยที่สุด คือ ด้านความรักและความสามัคคีของคนในชาติ (4.93 คะแนน)

สุดท้ายเมื่อถามว่า ทิศทางการพัฒนาของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร หลังจากผ่านการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่ร้อยละ 55.8 เห็นว่า จะดีขึ้นและเดินมาถูกทางแล้ว ขณะที่ร้อยละ 31.8 เห็นว่ายังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนร้อยละ 7.1 เห็นว่าแย่ลงกว่าเดิม ที่เหลือร้อยละ 5.3 ไม่แน่ใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น