ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เมื่อเช้าวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะผู้แทนไทยจำนวน 19 คน นำโดยนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในฐานะเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยตัวแทนจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานมรดกโลก นายวิชัย พรลีแสงสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนอุทยาน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 กรมอุทยานแห่งชาติ นายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ฯลฯ ในฐานะ“ทีมไทยแลนด์”ได้เดินทางกลับจากการเดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 40 ที่ กรุงอิสตันบลู ประเทศตุรกี ระหว่างวันที่ 10-20 ก.ค.
โดยทีมไทยแลนด์ นำความเห็นของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบท่าทีของราชอาณาจักรไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยดังกล่าว ซึ่งมีวาระที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ได้แก่ 1. การรายงานสถานภาพการอนุรักษ์พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่ 2. การขึ้นทะเบียนมรดกโลก พื้นที่กลุ่มป่าแก่งประจาน และ 3.การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี (ไทยขอถอนเรื่อง)
ก่อนหน้านั้นรัฐบาลไทยได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ มีหนังสือประสานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศรัฐภาคีสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก ทั้ง 21 ประเทศ เพื่อขอสนับสนุนท่าทีของไทยในการประชุมดังกล่าว
แม้จะเกิดสถานการณ์ตึงเครียดในประเทศเจ้าภาพ แต่ทาง“ทีมประเทศไทย”ก็ถือว่า ประสบความสำเร็จได้หลายเรื่อง บนเวทีการประชุมดังกล่าว จากบทสัมภาษณ์ของนายสีหศักดิ์ หรือ นางรวีวรรณ ที่ข้ามประเทศมาถึงคนไทยและรัฐบาลไทย โดยเฉพาะสถานภาพการอนุรักษ์พื้นที่ กลุ่มป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่ ที่มีการยืนยันจาก “สมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก ทั้ง 21 ประเทศ”อย่างเป็นเอกฉันท์ว่า“กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่”มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 2 ของไทย จะไม่ถูกขึ้นบัญชีมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย
มีการสรุปผลว่า ภาพรวมถือว่าประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะวาระการพิจารณา กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ในช่วงบ่ายวันที่ 14 ก.ค. ซึ่งเป็นวันที่ 4 ของการประชุม ได้รับการพิจารณาไม่ขึ้นทะเบียนเป็นบัญชีมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย หลังประเทศไทยนำเสนอข้อมูลสำคัญชี้แจงเพิ่มเติมจากข้อมูลเดิมที่ส่งไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 ก.พ.59
ทำให้คณะกรรมการมรดกโลกเห็นว่า ไทยมุ่งมั่นแก้ปัญหาการตัดและค้าไม้พะยูงอย่างจริงจัง และเข้มงวดการจับกุมผู้กระทำความผิด โดยใช้กระบวนการทางกฎหมาย เพื่อลดความรุนแรงของการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูง ควบคู่กับการรักษากลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ ป่าผืนสุดท้ายของโลกที่มีไม้พะยูงเหลืออยู่ โดยเฉพาะไทยได้นำข้อมูลการนับจำนวนต้นไม้พะยูงที่มีอยู่ทุกรุ่นทุกขนาดในพื้นป่าของไทย ชี้แจงต่อคณะกรรมการมรดกโลก รวมถึงความร่วมมือระดับประเทศที่ดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะเป็นปัญหาในระดับชาติของกลุ่มขบวนการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงข้ามชาติ และให้ระยะเวลาไทยดำเนินมาตรการเพิ่มเติมต่อไป เพื่อรายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาอีกครั้งในปีหน้า
ควันหลงของความสำเร็จครั้งนี้ มีการเปิดเผยว่า “นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว”ได้ใช้เวลา 2-3 วัน ก่อนจะมีการพิจารณาวาระนี้ เดินสายชี้แจงทำความเข้าใจกับคณะกรรมการทั้ง 21 ชาติ รวมทั้งตัวแทนขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ไอยูซีเอ็น) โดยเฉพาะนำข้อมูลการแก้ปัญหาตัดไม้พะยูงที่ไทยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง สถานภาพ สถิติไม้พะยูงที่เป็นข้อมูลใหม่ ทำให้เกิดการสนับสนุนไทย และในที่สุด ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ไม่ถูกขึ้นบัญชีมรดกโลกในภาวะอันตรายในปีนี้
ขณะที่หัวหน้าคณะทีมไทย ยอมรับว่าหลังจากได้เข้าไปพูดคุยกับประเทศต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลล่าสุดของไทยที่ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง หลังการยื่นรายงานต่อคณะกรรมการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งถือว่ามีความคืบหน้าในหลายประเด็น
ส่วนประเด็นหลักที่มีข้อห่วงกังวล อาทิ การรุกล้ำพื้นที่ป่าด้วยการสร้างรีสอร์ต แผนการสร้างเขื่อนของไทย รวมถึงการขยายถนนในพื้นที่ ได้ชี้แจงว่าขณะนี้ปัญหาต่างๆได้รับการแก้ไขแล้ว โดยเฉพาะการจัดการกับรีสอร์ตที่บุกรุกพื้นที่ป่าอย่างจริงจังของรัฐบาล ขณะที่เขื่อน และถนนทางการไทยก็ได้ยกเลิกโครงการก่อสร้างไปแล้วเช่นกัน ในระหว่างการประชุมมีหลายประเทศออกมาพูดสนับสนุนไทย ที่สุดแล้วที่ประชุมจึงตัดสินใจ ไม่ขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าดงพยาเย็น-เขาใหญ่ เป็นมรดกโลกที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย
อย่างไรก็ตามไทยต้องไม่ประมาทเพราะหลังจากมีการประเมินผลครั้งล่าสุดแล้ว ไทยต้องนำเสนอรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณากรณีอีกครั้งในการประชุมปีต่อไป
กลับมาที่ประเด็น“ไม่ถูกขึ้นบัญชีมรดกโลก”นี้ มีปัญหาหมักหมม ต่อเนื่องมานาน จนเมื่อวันที่ 27 พ.ค.59 ศูนย์มรดกโลกได้เผยแพร่ร่างข้อมติคณะกรรมการมรดกโลก วาระที่ 7B รายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก “กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่”เป็นแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย เพราะมีการปราบปรามขบวนการตัดไม้พะยูงไม่หมด
ขณะที่ ทส. เสนอรัฐบาล ให้มีการลาดตระเวนร่วมระหว่างไทยกับกัมพูชา ป้องลักลอบตัดไม้พะยูง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวในพื้นที่ “ดงพญาเย็น-เขาใหญ่” เพื่อไม่เสี่ยงต่อการถูกถอดถอนพ้นมรดกโลก
ทำให้ สผ.ในขณะนั้น ต้องทำหนังสือถึง นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ขอประสานมายังกรมอุทยานฯ เพื่อทราบและพิจารณากำหนดท่าทีของไทยต่อข้อมตินี้ ต่อมาในเดือน มิ.ย.59 มีการเสนอเรื่องต่อ“คณะกรรมการแห่งชาติฯ ว่าด้วยมรดกโลก พิจารณา ก่อนนำมาเป็นมติ ครม.ต่อท่าทีของไทยดังกล่าว
กลับมาอีก 2 เรื่อง ที่คณะผู้แทนไทยได้รับการบ้านจากรัฐบาลไทย เรื่อง“การพิจารณากลุ่มป่าแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ที่ไทยเสนอขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 3 เมื่อวันที่ 17 ก.ค.”
มีการสรุปจากเลขาธิการ สผ.ว่า วาระการพิจารณา “กลุ่มป่าแก่งกระจาน”ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากมีความซับซ้อน โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งซ้ายของกลุ่มป่าแก่งกระจานของไทยที่มีแนวเขตแดนติดต่อกับเมียนมา ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ยังคงถกเถียงเรื่องคำที่จะใส่ลงในมติที่ประชุมที่จะออกมายังไม่ตรงกันระหว่างไทยกับเมียนมา แต่ข้อจำกัดของเวลาที่ประชุมฯ จำเป็นต้องปิดการประชุมในเวลา 21.00 น. ของวันที่ 17 ก.ค. (ต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์ยึดอำนาจในประทศตุรกี) ทำให้ต้องยกประเด็นการพิจารณาออกไปเป็นการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 41 ในเดือนต.ค.60 ที่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
และมีไอยูซีเอ็น เป็นหน่วยงานติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการ ทั้งนี้ประเทศไทยต้องมีแผนปฏิบัติการในการป้องกันการลักลอบตัดไม้พะยูง ซึ่งเป็นข้อห่วงใยของคณะกรรมการมรดกโลก ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน และรายงานผลการดำเนินไปยังศูนย์มรดกโลก ประเทศฝรั่งเศส ภายในวันที่ 1 ก.พ.60
โดยจะมีการประชุมนัดพิเศษเพื่อเก็บตกวาระต่างๆ อีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องการปักปันเขตแดน เพราะเมียนมาให้ใส่ คำว่า "Demarcation"หรือ "ผลการทำการปักปันเขตแดน" เข้าไปในข้อมติที่ประชุมฯ ขณะที่ไทยได้ที่แจ้งที่ประชุมฯว่า มีคณะกรรมการแก้ปัญหาการปักปันเขตแดนร่วมกันระหว่างไทย-เมียนมา อยู่แล้ว และขอให้ใช้กลไกที่มีอยู่เดิมดำเนินการ และไทยดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลก ทำงานด้านการอนุรักษ์ไม่มีอำนาจหน้าที่เรื่องการปักปันเขตแดน โดยคณะกรรมการมรดกโลกหลายประเทศ เห็นด้วยกับไทย
“ไทยไม่เห็นด้วย และไม่ต้องการให้มีคำนี้ เพราะไม่อยู่ในขอบข่ายของอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ที่สำคัญ ไทยได้ดำเนินการเรื่องการปักปันเขตแดนกับเมียนมาอยู่แล้วในคณะกรรมการชุดอื่น จึงยังตกลงกันเรื่องนี้ไม่ได้”
ประเด็นนี้ท่าที รัฐบาลไทยคือ ข้อกังวล เกี่ยวกับผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน และ ความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งที่ผ่านมาเมียนมาร์มีความกังวลเรื่องผลกระทบการปักปันเขตแดน
เรื่องนี้ นายสีหศักดิ์ ระบุว่า ประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน และความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยการหารือกับชุมชนในพื้นที่ และจัดสรรที่ดินทำกินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เมียนมามีความกังวลเรื่องผลกระทบการปักปันเขตแดน โดยได้มีการหารือร่วมกันระดับทวิภาคี แต่ยัง ไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งเมียนมามีความกังวลเรื่องนี้อย่างมาก ทำให้ไทยต้องขอเลื่อนการพิจารณาต่อคณะกรรมการมรดกโลกไปพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 41 ที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อหาข้อยุติเรื่องนี้กับเมียนมาให้เสร็จสิ้นก่อน
“ที่ผ่านมาไทยได้ชี้แจงและทำความเข้าใจกับเมียนมามาโดยตลอดว่า การขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานของไทย ไม่กระทบกับการปักปันเขตแดนแน่นอน แต่เพื่อความสบายใจของทั้ง 2 ฝ่าย ไทยจึงจำเป็นต้องขอเลื่อนการพิจารณาออกก่อน”
ส่วนประเด็นสุดท้าย เรื่อง "การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี" เป็นไปตามที่ คณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้ไทยถอนเรื่องการเสนอขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลก ออกจากวาระการประชุมสามัญของยูเนสโก หลังจากได้เสนอเรื่อง ขอขึ้นทะเบียนภูพระบาทเป็นมรดกโลก ไปยังคณะกรรมการมรดกโลก ตั้งแต่ปี 58 และผ่านการพิจารณาเบื้องต้นแล้ว และได้รับการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมปี 59 และต่อมาไทยก็ทำเรื่องขอถอนออกมาก่อน โดยมีเหตผลว่า
“คณะทำงานฝ่ายไทย ได้พิจารณาเอกสารที่เสนอไป แล้วมีความเห็นมาว่า ให้ไทยถอน หรือเลื่อนการเสนอภูพระบาทออกไปก่อน เพราะข้อมูลยังไม่ครบถ้วนตามเกณฑ์การพิจารณาเป็นมรดกโลก อาจส่งผลให้ภูพระบาทไม่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก โดยมีข้อเสนอแนะในหลายประเด็นแก่ทางไทยด้วย อาทิเช่น ให้กลับไปศึกษาวิจัยทางวิชาการอย่างต่อเนื่องในแง่มุมต่างๆ โดยมีกระบวนการวางแผนที่ชัดเจน เมื่อทางไทยปรับปรุงข้อมูลจนมีความพร้อมเพียงพอแล้ว จึงค่อยเสนอเรื่องมาอีกครั้ง
“กรณีภูพระบาท ไทยเลือกเสนอ 4 หลักเกณฑ์ คือหลักเกณฑ์ที่ 3-6 ซึ่งถ้าไม่ถอนเรื่องออกมาก่อน ยืนยันจะเสนอตามเดิม อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะเพราะไทยเสนอ ถึง 4 หลักเกณฑ์ เพราะฉะนั้นครม.จึงมีมติให้ถอนเรื่องออกมาก่อน ซึ่งจะเป็นผลดีมากกว่า แล้วค่อยทำข้อมูลเสนอใหม่โดยอาจจะเสนอแค่ 1 หรือ 2 หลักเกณฑ์เท่านั้น และได้มอบให้ “กรมศิลปากร”ไปศึกษาเชิงลึกว่า สมควรเลือกเสนอตามหลักเกณฑ์ข้อใด ”
สรุปผลงานของทีมไทยแลนด์ ทั้ง 3 เรื่องนี้ ถูกใจหรือไม่ ต้องติดตามต่อไปในอนาคต