ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า “ความเคลื่อนไหว” หรือ “สิ่งที่อยู่ในความสนใจ” ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน “คำสำคัญ” หรือ “คำเด่น” ในช่วงเวลา หรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียน หรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลัก และคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคน หรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสถานเป็นหลัก แม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น
ประมาณห้าโมงกว่าตามเวลาญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม กองเชียร์ญี่ปุ่นได้เฮกันสนั่น ไม่ใช่เพราะเชียร์ฟุตบอล แต่เพราะเชียร์ “อาคาร” และเพราะอาคารนี่เอง ญี่ปุ่นจึงได้มีมรดกโลกเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง
ขณะที่ผมเดินเยี่ยมชมมรดกโลกอยู่ในอิตาลีหลังการประชุมวิชาการเสร็จสิ้นในช่วงกลางเดือน ก็พลอยนึกยินดีกับญี่ปุ่นไปด้วยที่มีมรดกโลกเพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ก็นึกอิจฉาญี่ปุ่นที่มีแหล่งมรดกโลกถึง 20 แหล่ง ขณะที่ไทยมีเพียง 5 และแล้วคำว่า “เซะไก-อิซัง”—มรดกโลก กับบางแง่มุมจึงวาบขึ้นมาในความคิด
คำว่า “มรดกโลก” เป็นที่ได้ยินแพร่หลายผ่านสื่อมวลชนของญี่ปุ่นอีกระลอกในเดือนนี้หลังจากที่เป็นคำฮิตติด ๆ กันมาตลอดสามสี่ปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ในช่วงที่ภูเขาฟุจิได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี 2013 (พ.ศ. 2556) เป็นต้นมา สิ่งที่ “ญี่ปุ่นมุมลึก” ต้องการเน้นในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องความหมายของคำญี่ปุ่น แต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงความพยายามของญี่ปุ่นด้าน “ศักดิ์ศรี” ในเวทีโลกผ่านการ “สะสมมรดกโลก” จนมีมากกว่าไทยถึง 4 เท่า และโดยส่วนตัวก็อยากให้ไทยเร่งทำแต้มในด้านนี้บ้าง
“มรดกโลก” พูดเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “เซะไก-อิซัง” (世界遺産;sekai-isan) คำว่า “เซะไก” (世界;sekai) แปลว่า โลก และ “อิซัง” (遺産;isan) แปลว่า มรดก เมื่อประกอบกันจึงได้คำว่า “มรดกโลก” นี่คือ คำกลาง ๆ ที่ใช้เรียกแหล่งที่ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกเมื่อผ่านเกณฑ์การพิจารณาซึ่งใช้เวลายาวนานพอสมควร มรดกโลกที่เรียกกันติดปากมี 2 ประเภท คือ มรดกทางวัฒนธรรม ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “บุงกะ-อิซัง” (文化遺産;bunka-isan; “บุงกะ” แปลว่า วัฒนธรรม) และ มรดกทางธรรมชาติ ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ชิเซ็ง-อิซัง” (自然遺産;shizen-isan; “ชิเซ็ง” แปลว่า ธรรมชาติ) มรดกเหล่านี้คือสถานที่ แต่เรียกว่า “แหล่ง” เพราะบางมรดกก็ไม่ใช่สถานที่แห่งเดียว แต่มีหลาย ๆ จุดกระจายตัวกันอยู่ ไกลบ้างใกล้บ้าง เมื่อรวมกันแล้วจึงเป็นกลุ่มสถานที่
มรดกที่คนส่วนใหญ่รู้จักแพร่หลายกว่า คือ มรดกโลกทางวัฒนธรรม ที่เป็นเช่นนั้นคงเพราะภาพลักษณ์ของแหล่งนั้นมักผูกโยงกับชื่อเสียงของประเทศ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว จึงเป็นที่จดจำได้ง่ายทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมก็มักเดินทางไปเยี่ยมชมได้ง่ายกว่า ส่วนมรดกโลกทางธรรมชาติมีเรื่องทางนิเวศวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องมาก และอยู่ในภูมิประเทศที่มีลักษณะเฉพาะ ห่างไกลจากการคมนาคมขนส่งทั่วไป เดินทางลำบากกว่า หลาย ๆ ที่กว่าจะเข้าไปถึงต้องเดินเท้าเข้าไปหลายชั่วโมง และเมื่อพิจารณาจำนวนของมรดกโลกก็จะพบว่า จากทั้งหมด 1,052 แหล่งทั่วโลก มีมรดกโลกทางวัฒธรรมราว 800 กว่าแหล่ง ส่วนที่เหลืออีกราว 200 แหล่งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ หรือแบบผสม
มรดกโลกแหล่งล่าสุดของญี่ปุ่น คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลปะตะวันตก (อยู่ในย่านอุเอะโนะ) โดยได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เป็นผลงานการออกแบบของเลอกอร์บูซีเย สถาปนิกชาวสวิส-ฝรั่งเศส และเป็นอาคารแห่งหนึ่งในหลายผลงานของผู้สร้างสรรค์คนเดียวกันที่กระจายอยู่ในหลายประเทศ
จากการขึ้นทะเบียนล่าสุดนี้ ญี่ปุ่นจึงมีมรดกโลกรวมทั้งสิ้น 20 แหล่ง ณ ปี 2559 ส่วนประเทศไทย ห้าแหล่งที่มีในขณะนี้ ได้แก่ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (วัฒนธรรม), เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (วัฒนธรรม), เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (ธรรมชาติ), แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (วัฒนธรรม), ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (ธรรมชาติ)
“ยี่สิบ” กับ “ห้า”...ต่างกันถึง 4 เท่าทั้ง ๆ ที่ขนาดของประเทศก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไร ถ้าคิดเข้าข้างตัวเอง คงต้องบอกว่าการมีมาก ๆ แบบญี่ปุ่นอาจถือว่าเข้าขั้นเกร่อ และพอมีมากขนาดนั้นแล้ว คุณค่าที่แท้จริงของความเป็นสิ่งหายากมันไม่ลดลงไปหรอกหรือ? แต่มองไปมองมา การคิดแบบนั้นคงคงเข้าข่ายองุ่นเปรี้ยว และหากถามว่าถ้าไทยจะมีสัก 20 แห่งบ้าง คนไทยจะชอบใจหรือไม่...ชอบหรือไม่ก็แล้วแต่ ที่แน่ ๆ คือ นั่นจะเป็นจุดขายสำหรับการท่องเที่ยวขึ้นมาทันที ดังที่คนญี่ปุ่นมากมายพากันไปถ่ายรูปพิพิธภัณฑ์ทันทีที่มีการประกาศขึ้นทะเบียน
อะไรที่ดี ๆ ใคร ๆ ก็ย่อมอยากมีให้มากเข้าไว้ และเอาเข้าจริง เมื่อว่ากันในเชิงประวัติศาสตร์กับวัฒนธรรมด้วยแล้ว ผมไม่เชื่อว่าไทยด้อยกว่าญี่ปุ่น แต่สิ่งที่ด้อยกว่าคงจะเป็นด้านความพยายาม เพราะกระบวนการให้ได้มาซึ่งมรดกโลกนั้นไม่ง่าย แต่ญี่ปุ่นก็อึดมาก และก็ทำได้ถี่ ๆ นับตั้งแต่ปี 2013 ในกรณีของภูเขาฟุจิ จนกระทั่งปีนี้ 2016 ญี่ปุ่นได้ขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกติดกันทุกปีเป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน และเมื่อพิจารณาสถิติประเทศที่มีแหล่งมรดกโลกมากที่สุด 6 อันดับแรกจนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 จะพบว่ามีดังนี้
อิตาลี 51แหล่ง
จีน50แหล่ง
สเปน45แหล่ง
ฝรั่งเศส42แหล่ง
เยอรมนี41แหล่ง
อินเดีย35แหล่ง
ญี่ปุ่นมี 20 แหล่ง เท่ากับเม็กซิโก และครองอันดับ 12 ร่วมกัน แต่ก็เชื่อได้ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ญี่ปุ่นจะมีมรดกโลกเพิ่มขึ้นอีก เพราะนี่คือยุทธศาสตร์ประการหนึ่งของประเทศ ในอันที่จะบอกให้โลกรู้ว่าญี่ปุ่นมีแหล่งคุณค่าฝากไว้แก่โลก และขณะเดียวกัน การลุ้นให้ได้มาซึ่งมรดกโลกก็เป็นการประสานใจของคนญี่ปุ่นในท้องถิ่นนั้น ๆ ให้รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวเหมือนการเชียร์กีฬาระหว่างประเทศ ดังนั้น เย็นวันที่ 17 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นจึงพากันรวมตัวนั่งลุ้นการประกาศมรดกโลกแหล่งใหม่ และพอมีคำประกาศออกมา ก็เฮเหมือนแข่งกีฬาชนะ
ปัจจุบันการแข่งขันระหว่างประเทศกำลังรุนแรงขึ้นในหลาย ๆ ด้าน เหล่าประเทศกำลังพัฒนาค่อย ๆ ขยับฐานะขึ้นมามีที่ยืนในประชาคมโลกมากขึ้น และยิ่งมีประเทศแบบนี้มากขึ้นเท่าไร ประเทศที่เคยเป็นเจ้าถิ่นก็ยิ่งอยู่ยากขึ้นเท่านั้น การได้มาซึ่งมรดกโลกในขณะนี้ก็เช่นกัน ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป เพราะทุกประเทศอยากมีมรดกโลก เพื่อเป็นหน้าเป็นตาของตนและเป็นแหล่งดึงดูดผู้คน จนกลายเป็นเรื่องน่าคิดว่า การแสวงหามรดกโลกนี่คงไม่ใช่เพื่อสืบสานคุณค่าให้แก่ลูกหลาน แต่เป็นการหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ เสียมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อกระแสโลกเป็นเช่นนั้น การจะทวนกระแสคงมีแต่เสียผลประโยชน์ ญี่ปุ่นเองก็คงตระหนักถึงจุดนี้ จึงพยายามเต็มที่และทำสำเร็จเสียด้วย สื่อมวลชนและประชาชนก็ให้ความสนใจอย่างกว้างขวางด้วย ส่วนหนึ่งคงตระหนักอยู่ลึก ๆ ว่า นี่คือ ศักดิ์ศรีอย่างหนึ่งของประเทศนอกจากด้านเศรษฐกิจ จากฐานข้อมูลของหนังสือพิมพ์และข่าวของสื่อมวลชนชั้นนำ 4 องค์กร ได้แก่ NHK, อะซะฮิ, ไมนิชิ, และโยะมิอุริ เมื่อค้นคำสำคัญ “มรดกโลก” จะพบการรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ปี 1992 มี 105 ข่าว, ปี 1998 มี 1,000 ข่าว, ปี 2007 มี 4,000 ข่าว, ปี 2013 มี 5,980 ข่าว, สิ้นเดือนตุลาคมปี 2015 มีมากกว่า 5,000 ข่าวแล้ว (http://www.isan-no-sekai.jp/feature/20160113_03)
การดำเนินงานเพื่อให้ได้มาซึ่งมรดกโลกนั้น ขั้นตอนคร่าว ๆ คือ
1) นำรายชื่อขึ้นบัญชีเบื้องต้น
2) รัฐบาลนำเสนอต่อยูเนสโก
3) พิจารณาคุณสมบัติโดยผู้เชี่ยวชาญขององค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภานานาชาติว่าด้วยการดูแลอนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี (International Council on Monuments and Sites: ICOMOS) หรือเรียกตามชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า “อิโคโมส” ซึ่งเป็นองค์กรทางวิชาชีพที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อการอนุรักษ์และปกป้องสถานที่มรดกโลกทางวัฒนธรรม และ สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature and Natural Resources หรือ World Conservative Union : IUCN) ซึ่งทำงานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
4) คณะกรรมการมรดกโลกแห่งยูเนสโกพิจารณาตัดสินการขึ้นทะเบียนมรดกโลก
การขึ้นทะเบียนเบื้องต้นนั้น แต่ละประเทศดำเนินการกันอยู่แล้ว ในกรณีของไทย ตอนนี้มีการนำสถานที่ขึ้นบัญชีเบื้องต้นไว้ 5 แห่ง รวมทั้งกลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งถูกเลื่อนการขึ้นทะเบียนออกไปเพราะปัญหาทางการเมืองระหว่างการประชุมมรดกโลก กับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ เป็นต้น ส่วนญี่ปุ่น ตอนนี้จ่อคอยท่าอยู่ 10 แห่ง เพื่อรอการพิจารณา และเนื่องจากคิวยาว จึงหยุดไว้แค่นี้ก่อน พอไปถึงขั้นที่ 2 เอกสารที่จะต้องจัดทำเพื่อเสนอนั้นมีจำนวนับพันหน้า จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาต่อไป
ทว่า เส้นทางไม่ตรงขนาดนั้น การพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลกกลายเป็นการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้น มีการ “ล็อบบี้” มากขึ้นเพื่อให้ชนะใจกรรมการ ญี่ปุ่นรู้เรื่องนี้ดี แล้วก็มีข่าวออกมาตั้งแต่ตอนที่ภูเขาฟุจิได้ขึ้นทะเบียนว่าญี่ปุ่นก็ล็อบบี้ อันที่จริง การล็อบบี้ (แบบเบา ๆ) เป็นวัฒนธรรมองค์กรประการหนึ่งของญี่ปุ่นมาช้านานแล้ว ดังนั้น เมื่อเปลี่ยนเวทีจากในประเทศมาเป็นระหว่างประเทศ ย่อมไม่ได้อยู่นอกข่ายความคาดหมายของญี่ปุ่น
ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น มี “เนะมะวะชิ” (根回し;nemawashi) ซึ่งปฏิบัติกันทั่วไปในบริษัทและสังคมญี่ปุ่นเมื่อต้องมีการประชุมหรือเจรจาต่อรอง ความหมายเดิมตามรูปศัพท์คือ การแซะรอบๆ รากของต้นไม้ เมื่อต้องการขยับต้นไม้จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เมื่อนำมาใช้ในด้านการต่อรองจะหมายถึงการเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจหรืออาจถึงขั้น ‘หาเสียง’ ไว้ล่วงหน้า เพื่อให้การประชุมจริง หรือการตกลงอย่างเป็นทางการดำเนินไปด้วยความราบรื่น คำว่า “เนะมะวะชิ” นี่ ถ้าพูดให้ดีคือ “ประสานงาน” หรือถ้าพูดให้บ้าน ๆ หน่อยคือ “วิ่งเต้น” หรือถ้าพูดให้ฟังอินเตอร์อีกหน่อยก็คือ “ล็อบบี้” นั่นเอง
การล็อบบี้เป็นที่ยอมรับในวงการเมืองของหลายประเทศ แน่นอนว่า บางรูปแบบอาจเข้าข่ายการติดสินบนและผิดกฎหมาย ถึงแม้จะหมิ่นเหม่ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าการล็อบบี้ในระดับนานาชาติมีอยู่แพร่หลาย ถึงขนาดมีบริษัทรับจ้างล็อบบี้ให้กันเลยทีเดียว รายละเอียดของการล็อบบี้ในแต่กรณีเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเปิดเผย แต่ในหลาย ๆ กรณี แม้ไม่มีข่าวออกมา ก็คาดเดาไว้ว่าญี่ปุ่นล็อบบี้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ จะเรียกว่านั่นคือทักษะการบริหารทรัพยากรเงินและบุคคลก็คงจะได้ เพราะการล็อบบี้ก็ต้องใช้เงิน เช่น ต้องไปพบอีกฝ่าย ต้องเชิญไปทานข้าว ต้องเตรียมเอกสารเพื่ออธิบาย สารพัด “ต้อง” ที่คนนอกวงการก็ไม่อาจจะหยั่งรู้
จะเห็นได้ว่าเดี๋ยวนี้อะไร ๆ ก็กลายเป็นเรื่องของการเมืองไปเสียหมด แม้แต่เรื่องวัฒนธรรมกับธรรมชาติ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องตรงไปตรงมา ก็ยังมีอิทธิพลของการเมืองแทรก อิซะโอะ คิโซะ อดีตนักการทูตประจำยูเนสโกของญี่ปุ่นก็ได้นำเรื่องราวเบื้องหลังเกี่ยวกับประเด็นนี้และกระบวนการเคลื่อนไหวมาเปิดเผยให้ทราบ (ในระดับที่ไม่สร้างความเสียหายแก่ประเทศ) ดังที่ผมยกตัวอย่างข้างต้นผ่านหนังสือชื่อ “ธุรกิจมรดกโลก” (世界遺産ビジネス;sekai-isan bujinesu) และไม่ใช่การเมืองเรื่องการล็อบบี้อย่างเดียว การสกัดดาวรุ่งอย่างกรณี พื้นที่เขตปฏิวัติอุตสาหกรรมญี่ปุ่นสมัยเมจิ ก็เกิดขึ้น คือ เกาหลีใต้คัดค้าน (เพราะสองประเทศนี้ไม่กินเส้นกันในหลายด้าน) แต่ในที่สุดก็ขึ้นทะเบียนได้สำเร็จในปี 2015
เมื่อหลีกเลี่ยงการเมืองระหว่างประเทศไม่ได้ สิ่งที่ไทยต้องรีบทำคือต้องสร้างนักล็อบบี้เก่ง ๆ ให้มากขึ้น แน่นอนว่าภาษาต้องดี ความรู้ต้องแน่น อีกทั้งบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะต้องอึด ละเอียด เพราะการทำเอกสารเข้าสู่เวทีโลกเป็นพัน ๆ หน้า ต้องใช้พลังอย่างมาก และจะต้องอุดทุกรูรั่วที่กรรมการอาจติงกลับมาอย่างกรณีของแก่งกระจาน
สิ่งที่กล่าวมานี้ ญี่ปุ่นรู้ดีมาเนิ่นนาน และถ้าว่ากันถึงเรื่องเอกสารกับรายละเอียด ญี่ปุ่นเป็นเลิศอยู่แล้ว แต่นั่นคือจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะเมื่อได้มรดกโลกเพิ่มขึ้นแล้ว ญี่ปุ่นก็ต่อยอดด้วยการ “สร้างคุณค่า” ผ่านเรื่องราวประจำแหล่ง ประชาสัมพันธ์ให้คนตระหนัก สื่อมวลชนก็ขานรับ การบริหารพื้นที่ก็ทำอย่างจริงจัง แล้วคนก็ไปเที่ยวกันมากมาย มีจุดขายให้คนในประเทศตระหนักมากขึ้น ตลอดจนสร้างที่ยืนให้แก่ตนเองในเวทีโลกได้มากขึ้นด้วย นั่นคือการบริหารจัดการในระยะยาวแบบที่ญี่ปุ่นทำจนชิน และไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องยากแม้จะต้องรอเป็นสิบปีก็ตาม
มองได้ว่าญี่ปุ่นเล่นการเมืองระดับโลกเป็น และสามารถโยงสู่การดึงความสนใจของคนในชาติ ตลอดจนกระตุ้นการท่องเที่ยวได้อย่างมีทักษะ เมื่อญี่ปุ่นมีมรดกโลกมากขึ้น ผมก็ดีใจด้วย แต่อีกใจหนึ่งก็ท้อเล็กน้อย เพราะเดิมมีความฝันว่าจะ “ตามเก็บ” มรดกโลกในญี่ปุ่นให้ครบทุกแหล่ง แต่นับวัน ความฝันในการตามไปเที่ยวให้ครบทุกมรดกโลกในญี่ปุ่นคงจะยากขึ้นทุกที เพราะเท่าที่สังเกต ญี่ปุ่นคงยังไม่หยุดสะสมมรดกโลกต่อไปแน่ ๆ
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุก ๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th