xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ม.178 อีกจุดโหว่ร่าง รธน.59 ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ นำโดย พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 25 ก.ค. กรณีมาตรา 178 ร่างรัฐธรรมนูญ 2559
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลือเวลาอีกประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะถึงวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ก็เริ่มมีกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มออกมาแสดงจุดยืนว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญกันแล้ว

โดยกลุ่มที่มีจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น กลุ่มแรกที่ประเทศตัวอย่างชัดเจนไปก่อนหน้านี้ก็คือกลุ่มคนในเครือข่ายนายทักษิณ ชินวัตร ทั้งเพื่อไทย และกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ต้องการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มากกว่าการคัดค้านเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง

และล่าสุด คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่แถลงจุดยืนเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เนื่องจากยังไม่ตอบโจทย์ในการที่จะทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ใน 3 เรื่อง คือการมีส่วนร่วมของประชาชน การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และการปราบปรามการทุจริต พร้อมเสนอว่า หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านประชามติให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยนำจุดอ่อนของฉบับเดิมไปแก้ไข และยืนอยู่บนหลักของการปฏิรูปประเทศและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น

ท่าทีของนายอภิสิทธิ์ดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายคน ขณะที่นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ของพรรคออกมาระบุว่า ท่าทีของนายอภิสิทธิ์ถือว่าเป็นท่าทีของพรรค ถ้าใครที่ยังอยู่ในพรรคแต่ไม่ทำตาม ก็ขอให้พิจารณาตัวเอง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่แสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้มีแต่เพียงเครือข่ายนายทักษิณ หรือกลุ่มนักการเมืองอย่างพรรคประชาธิปัตย์ แต่ยังมีภาคประชาชนอย่างกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ” นำโดย พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านในประเด็นการทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ ในมาตรา 178 ซึ่งมีรายละเอียดว่า

“มาตรา ๑๗๘ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ

หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางตามวรรคสอง ได้แก่ หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน หรือหนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

ให้มีกฎหมายกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาตามวรรคสามด้วย

เมื่อมีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใดเป็นกรณีตามวรรคสองหรือวรรคสามหรือไม่ คณะรัฐมนตรีจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้ ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ”

เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ออกมาเคลื่นไหวคัดค้านมาตรานี้ ตั้งแต่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ยกร่างฯ เสร็จใหม่ๆ โดยเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ได้เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าเนื้อหามาตรา 178 ขัดกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 1 และมาตรา 4 รวมทั้งขัดต่อเจตนารมณ์ของ คสช.ที่จะคืนความสุขให้คนในชาติหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า บทบัญญัติมาตรานี้เป็นการออกกฎระเบียบที่เอื้อต่อกลุ่มนายทุน เหมือนเป็นการยกทรัพย์สินให้ฟรีๆ หลังพ้นระยะเวลา 60 ถ้ารัฐสภาไม่พิจารณา รวมทั้งสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้ประเทศไทยเสียดินแดน เพราะการกำหนดเวลากระชั้นชิดอาจจะพิจารณาไม่รอบคอบ

หลังจากนั้น วันที่ 30 พฤษภาคม เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ได้ยื่นร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินอีกครั้ง วันที่ 21 มิถุนายน ยื่นหนังสือขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณายับยั้งการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีมาตรา 178 ที่ขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา ทำให้ประเทศไทยเสี่ยงต่อการเสียดินแดน และขอให้แจ้งไปยังรัฐบาลเพื่อขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ กรธ.แก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวก่อนนำไปลงประชามติ

ล่าสุด วันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา พ.ท.พญ.กมลพรรณ ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอทราบความคืบหน้าในเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญขัดต่อกติกาสากล รัฐธรรมนูญ และกฎหมายอาญา และขอเข้าร่วมรายการเสวนาถกเถียงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของ กกต. ในประเด็นมาตรา 178

นอกจากกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศแล้ว อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์หลายคน อาทิ นายวัชระ เพชรทอง ก็ยกเอาประเด็นการมีมาตรา 178 เป็นสาเหตุของการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเช่นกัน เพราะการบังคับให้รัฐสภาต้องผ่านเรื่องที่รัฐบาลเสนอมาภายใน 60 วัน เท่ากับเป็นการทำให้รัฐสภาเป็นตรายางเท่านั้น หากได้รัฐบาลที่เป็นทรราชจะเป็นอย่างไร

ข้อถกเถียงเรื่องมาตรา 178 นี้ นายปกรณ์ นิลประพันธุ์ เลขานุการ กรธ.ได้ชี้แจงเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ว่า การมองว่ามาตรานี้เป็นบทบัญญัติที่สุ่มเสี่ยงทำประเทศไทยเสียดินแดนนั้น เป็นการใช้จินตนาการ เพราะการกำหนดให้รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน เป็นหลักการเดิมที่เคยระบุไว้ในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แต่ที่ต้องเพิ่มถ้อยคำกรณีที่รัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 60 วันให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ ก็เพื่อเติมกระบวนการการทำงานในรัฐสภาให้มีความสมบูรณ์ และป้องกันกรณีที่รัฐสภาเล่นเกมการเมืองจนบ้านเมืองเสียหาย และเป็นต้นเหตุให้มีการชุมนุมบนถนนเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

นายปกรณ์บอกอีกว่า กรณีที่มีหนังสือสัญญาซึ่งมีความสำคัญต่อประเทศ ต้องรีบพิจารณาเนื้อหาให้เสร็จโดยเร็วเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ ไม่ใช่การใช้จิตนาการว่ารัฐสภาพิจารณาไม่เสร็จภายใน 60 วันแล้วจะทำให้ประเทศเสียดินแดน และหากมีเหตุให้รัฐสภาพิจารณาไม่เสร็จภายใน 2 เดือน ควรต้องกำหนดให้เป็นเหตุให้สมาชิกผู้เกี่ยวข้องพ้นจากตำแหน่งไว้ในมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้แล้ว เพราะไม่มีความรับผิดชอบในการทำงาน และไม่ควรให้กลับมาดำรงตำแหน่งใดๆ ตามรัฐธรรมนูญนี้ตลอดชีวิตด้วย

อย่างไรก็ตาม หากจะย้อนไปดูมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่แม้จะมีการกำหนดระยะเวลาให้รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน เหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างที่ชัดเจน เพราะนอกจากจะไม่ระบุว่า “หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ” มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ยังมีการกำหนดว่า ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ให้ ครม.เสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย และเมื่อลงนามในหนังสือสัญญาแล้ว ก่อนจะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน ครม.ต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และในการที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน หรือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม ซึ่งบทบัญญัติเหล่านี้ไม่มีในมาตรา 178 ของร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้

เนื้อหาของมาตรา 178 ของร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กับ 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 จึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

หากจะย้อนไปดูความเป็นมาของมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็จะเห็นว่า เป็นบทบบัญญัติที่เขียนขึ้นมาเพื่อแก้ไขความผิดพลาดจากกรณีที่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ไปทำสัญญากับต่างประเทศเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้ตัวเองแต่ส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ เนื่องจากขั้นตอนการทำสัญญาเหล่านั้น ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน อาทิ การเปิดการค้าเสรีกับออสเตรเลีย และจีน เป็นต้น

ที่ผ่านมา หลังจากรัฐธรรมนูญ 2550 มีผลบังคับใช้แล้ว ก็มีความพยายามแก้ไขมาตรา 190 หลายครั้ง ทั้งในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยข้ออ้างที่ว่า หากผ่านขั้นตอนการพิจารณาที่ยาวนานจะทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์

แต่เบื้องหลังความพยายามที่จะแก้ไขมาตรา 190 นั้น มีเงาทะมึนของกลุ่มผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง

มาตรา 178 ของร่างรัฐธรรมนูญ 2559 นี้ แม้จะมีการระบุให้มีกฎหมายกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญา แต่ก็กล่าวไว้แบบกว้างๆ ไม่ชัดเจนเท่ากับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550

มาตรา 178 จึงเป็นจุดอ่อนอีกจุดหนึ่งของร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ที่จะมีการลงประชามติกันในวันที่ 7 สิงหาคมนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น