เครือข่ายประชาสังคม แถลงข่าวเรียกร้องกระบวนการทำประชามติโปร่งใส รู้ทางเลือกหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน “โคทม” เสนอหากประชามติไม่ผ่าน ให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ชั่วคราว ชงตั้ง ส.ส.ร.ทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ ด้าน “อภิสิทธิ์-สมชาย-หญิงหน่อย” โผล่หนุนแถลงการณ์ ทุกสีลงขัน ขณะที่ “อนุสรณ์ ธรรมใจ” แนะเลื่อนทำประชามติ หากเป็นแค่พิธีกรรมหวั่นซ้ำรอยพฤษภาทมิฬ
วันนี้ (20 ก.ค.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เมื่อเวลา 15.30 น. เครือข่ายกลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย ประกอบด้วยเครือข่ายประชาสังคม และนักวิชาการจากหลายสถาบัน รวม 117 รายชื่อ 16 องค์กร นำโดยนายโคทม อารียา นักวิชาการด้านสันติวิธี นายสุริชัย หวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายบัณฑูรย์ เศรษฐศิโรตม์ ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และนางสุนี ไชยรส นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน จัดทำแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ว่าด้วยเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 ส.ค.
โดยนายโคทมกล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2559 ทางเครือข่ายฯ ได้จัดทำแถลงการณ์ฉบับที่ 1 แล้ว โดยเรียกร้องให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายร่วมกันผลักดันให้เกิดกระบวนการทำประชามติที่โปร่งใส สุจริต และเที่ยงธรรม ทุกฝ่ายได้ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างสร้างสรรค์ มีส่วนร่วมในการถกแถลงด้วยข้อมูลที่ถูกต้องตามกรอบของกฎหมาย แต่จนถึงขณะนี้การลงประชามติที่กำลังจะมีขึ้นจะยังไม่สมบูรณ์ เพราะผู้มีสิทธิไม่ทราบว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน จะมีกระบวนการอย่างไรให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ ทางเครือข่ายฯจึงมีความห่วงใยในสถานการณ์ เป็นที่มาของการจัดทำคำแถลงฉบับที่ 2
นายโคทมกล่าวว่า ในเรื่องความเห็นส่วนตัว หากประชามติไม่ผ่านจำเป็นต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ขึ้นใหม่นั้น ตนขอเสนอว่าให้ฉบับที่ 20 เป็นฉบับชั่วคราว เพื่อให้เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแมปที่ คสช.วางไว้ และให้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 มีเนื้อหาที่มีหลักการที่เคารพสิทธิของประชาชนต่างๆ โดยมีระยะเวลาที่ใช้เพียง 2 ปี ระหว่างนั้นต้องมีการหารือกันของทุกฝ่าย โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของภาคการเมือง เพื่อที่จะตั้ง ส.ส.ร.เหมือนปี 2540 ที่จะทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการฉันทามติของประชาชนต่อไป
จากนั้น นางสุนีนำอ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ว่าด้วยเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีข้อเรียกร้อง ดังนี้ 1. ให้ความเคารพในสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยเปิดให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ได้ถกแถลงด้วยข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้าน เอื้อให้มีพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย เพื่อการแสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์ 2. จำเป็นต้องมีการเสนอทางเลือกที่ชัดเจนให้กับประชาชน ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ ในวันที่ 7 ส.ค. 2559 ว่าจะมีกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรต่อไป 3. กรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ ควรมีกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มาจากฉันทามติผ่านกลไกที่ทุกกลุ่มทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการ และกำหนดหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตย เป็นไปตามกรอบเวลาที่มีการประกาศไว้โรดแมปสู่การเลือกตั้ง และตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
4. หากหลักการตามข้อเรียกร้องที่กล่าวมาข้างต้นเกิดขึ้นจริง ทุกกลุ่มทุกฝ่ายควรยอมรับในผลของการทำประชามติ และ 5. รัฐธรรมนูญที่จะได้มาควรมีหลักการสำคัญ อาทิ การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิของประชาชนในด้านต่างๆ ที่ไม่ถดถอยไปจากเดิม การตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจอธิปไตย ของกลไกทางการเมืองที่มีความสมดุล กำหนดมาตรการในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน และมาตรการในการป้องกันความขัดแย้งไม่ให้ขยายผลไปสู่การใช้ความรุนแรง รวมทั้ง มีบทบัญญัติที่เอื้อให้สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ยากเกินไป เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ และความเปลี่ยนแปลงของสังคมตามความจำเป็นและตามกรอบของกฎหมาย
ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า เราจัดกิจกรรมภายใต้ภาวะที่ขาดเสรีภาพ ทำให้นักการเมือง นักวิชาการ บางส่วนยังลังเลที่จะแสดงตัว แต่เห็นด้วยกับหลักการ และให้การสนับสนุนในหลักการของทางเครือข่ายฯ ซึ่งจะนำสู่สันติธรรมของประเทศ และเราคาดหวังว่าการแสดงประชามติจะมีความหมายตามครรลองประชาธิปไตย คือเปิดกว้างประชาชนได้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ และต้องเป็นการลงประชามติที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ภาวะกดดันใดๆ ที่สำคัญประชาชนต้องเห็นทางเลือก จึงขอเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องได้พิจารณาว่าการลงประชามติต้องฟังความเห็นจากทุกฝ่าย และต้องร่างรัฐธรรมนูญโดยเคารพต่ออำนาจของประชาชน
“ในนามส่วนตัว ขอเรียกร้องให้เลื่อนการทำประชามติออกไป จนกว่าจะมั่นใจได้ว่ามีประชาธิปไตยในการลงประชามติ โดยที่เสียงของประชาชนมีความหมาย ไม่เช่นนั้นจะเป็นแค่พิธีกรรม ซึ่งการลงประชามติที่มีปัญหาจะนำไปสู่กติกาสูงสุดที่มีปัญหา กระทบ คสช. กระทบชีวิตทุกคน จนนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงเหมือนพฤษภาทมิฬได้ ทั้งนี้ ถ้าไม่เลื่อนก็ขอให้เวลาที่เหลืออยู่เป็นบรรยากาศที่เปิดกว้างอย่างเต็มที่” นายอนุสรณ์กล่าว
ด้านนายบัณฑูรย์เปิดเผยถึงการเข้าร่วมของพรรคการเมืองว่า ได้สื่อสารเรื่องดังกล่าวกับทุกพรรคการเมือง ซึ่งพรรคไหนเห็นด้วยก็จะตอบรับร่วมลงชื่อในคำแถลง ส่วนกรณีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้หารือกันในโอกาสที่เจอกันตามเวทีต่างๆ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เห็นด้วยและสนับสนุนในแนวทางนี้ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายนามองค์กรที่ลงนามสนับสนุนคำแถลง เช่น คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตย เป็นต้น ส่วนรายนามบุคคลที่ลงนามสนับสนุนคำแถลง เป็นที่น่าสังเกตว่าเป็นบุคคลที่มาจากพรรคการเมืองเข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ บุคคลที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 9 คน เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ บุคคลที่มาจากพรรคเพื่อไทย จำนวน 18 คน เช่น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายโภคิน พลกุล นายภูมิธรรม เวชยชัย นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายชูศักดิ์ ศิรินิล และนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา บุคคลจากพรรคชาติไทยพัฒนา เช่น นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และนายนิกร จำนง
ขณะเดียวกัน ยังมีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมลงนามสนับสนุนคำแถลงครั้งนี้ด้วย อาทิ นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด อาสาสมัครพยาบาลที่เสียชีวิตช่วงการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง, นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เป็นต้น รวมถึงบรรดานักวิชาการ อาทิ นายประภาส ปิ่นตบแต่ง นางนฤมล ทับจุมพล นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นายสุณัย ผาสุข ผู้อำนวยการฮิวเมนไรท์วอตช์ประจำประเทศไทย เป็นต้น
ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสาเหตุที่ร่วมลงชื่อกับเครือข่ายประชาสังคมและกลุ่มบุคคลต่างๆ เพื่อเรียกร้องกระบวนการทำประชามติที่โปร่งใสและชอบธรรมว่า เหตุที่ตนเข้าร่วมลงรายชื่อดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าบรรยากาศการทำประชามติครั้งนี้ มีลักษณะปิดกั้นผู้ที่มีจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จนแทบไม่มีพื้นที่ได้อธิบายอย่างเต็มที่ว่าเหตุใดจึงจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เช่น การจับกุมคุมขังผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่างจากรัฐบาล หรือพยายามเผยแพร่ความคิดเห็นไปในทางที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐธรรมนูญสามารถประชาสัมพันธ์ได้อย่างเต็มที่ จนดูเหมือนว่า รัฐบาลและ คสช. พยายามทำทุกวิถีทางที่จะผลักดันร่างรัฐธรรมนูญให้ผ่านประชามติ อย่างไรก็ตาม ยิ่งระยะเวลาที่ผ่านไป กลับยิ่งมีผู้แสดงตัวว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมากขึ้น แต่ คสช.และรัฐบาลก็ไม่ได้ทำให้เกิดความชัดเจนว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติแล้ว กระบวนการต่อไปจะเป็นอย่างไร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพในการตัดสินใจลงประชามติ เพราะขณะนี้ มีประชาชนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็กลัวว่าถ้าประชามติไม่ผ่าน ก็อาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ อยู่ครองประเทศนานขึ้น ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้ อาจไปลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ นานไปกว่านี้ และต้องการให้รีบมีการเลือกตั้งก็เป็นได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ประชามติอาจไม่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชน เพราะประชาชนมีข้อมูลไม่ครบถ้วน และเดาใจผู้มีอำนาจผิด ทางที่ดีรัฐบาลและ คสช.ควรทำให้ประชาชนเข้าใจกระบวนการภายหลังการลงประชามติอย่างชัดเจนเพื่อให้การลงประชามติเป็นไปอย่างมีคุณภาพ