xs
xsm
sm
md
lg

"จาตุรนต์"ห่วงการแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่าง รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แสดงความน่าเป็นห่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของการแสดงความคิดเห็น และเห็นต่างที่ยังไม่สามารถทำได้ ซึ่งมีการชี้นำทางเดียวจากฝ่ายที่มีอำนาจหน้า สะท้อนว่าฝ่ายมีอำนาจกลัวว่าหากประชาชนทราบเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญก็จะทำให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนการเผยแพร่จดหมายแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญส่วนตัวมองว่า ไม่เป็นความผิดเพราะการ กระทำดังกล่าวไม่ใช่การบิดเบือนแต่เป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ขณะเดียวกันการที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าข้อความในจดหมายบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญแต่กลับไม่มีการชี้แจงรายละเอียดว่ามีความบิดเบือนอย่างไร จึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิในการรับรู้ของประชาชน พร้อมเสนอแนะว่าไทยควรนำเรื่องเหตุการณ์ในตุรกีมาเป็นกรณีศึกษา ว่าประชาชนในตุรกีแม้จะไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล และการทำรัฐประหารไม่ได้ช่วยในการแก้ปัญหาของประเทศ ในทางตรงกันข้ามกับสร้างความเสียหายให้กับประเทศมากกว่า ส่วนประเทศไทยหากประชาชนไม่เห็นด้วยก็ออกไปใช้สิทธิลงประชามติพร้อมศึกษาร่างรัฐธรรมนูญให้ดีเพื่อแสดงจุดยืน
ด้านนายพิชัย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวในเวทีถกแถลง ขีดเส้นใต้ประชามติ ว่า ประเด็นในรัฐธรรมนูญมีความซับซ้อนและยากต่อความเข้าใจ จึงไม่เหมาะกับการลงประชามติภายใต้เวลาที่จำกัด ขณะที่ประเด็นที่เหมาะสมคือประเด็นที่มีความกระชับ แหลมคมและประชาชนสามารถเข้าใจง่าย ดังนั้นประชามติครั้งนี้ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นจะไม่สร้างความแตกต่างไม่ว่าจะรับหรืไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้วางแผนไว้แล้วว่าให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2560 และการลงประชามติครั้งนี้เป็นเพียงการแสดงจุดยืนทางการเมืองในแต่ละฝ่ายว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่สะท้อนความคิดและเหตุผล แต่สะท้อนบรรยากาศทางการเมืองโดยรวม ซึ่งประชามติที่สร้างความสนใจ จะต้องให้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง
ส่วน นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความเห็นอย่างเป็นอิสระในเรื่องการรณรงค์ 3 ข้อคือ รณรงค์แบบไม่ผิดกฏหมาย รณรงค์อย่างอิสระและรณรงค์อย่างเท่าเทียมกัน เช่นเดียวกับนางสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้บัญญัติให้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน เนื่องจากให้เกิดการถกเถียงได้ ซึ่งทุกกลุ่มอยากแสดงความคิดเห็นเพื่อให้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฏหมายสูงสุดเป็นตามต้องการ ทุกวันนี้การแสดงออกสิทธิเสรีภาพรวมถึงการจัดเวทีต่างๆ เป็นไปอย่างจำกัด จึงต้องการให้มีแสดงออกที่เสรีและให้มีการถกเถียงรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง ไม่เช่นนั้นจะส่งผลให้การทำประชามติไม่มีคุณภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น