xs
xsm
sm
md
lg

จุดเปลี่ยน รธน.มาจากฝ่ายรัฐ-กกต. เสี่ยงทำ “ประยุทธ์” ตกที่นั่งลำบาก!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

สำหรับวันนี้หากใครให้ความสำคัญก็จะพอจำได้เป็นวันเกิดของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ตรงกับวันที่ 26 กรกฎาคม ส่วนจะครบรอบกี่ปีนั้นเชื่อว่าคนทั่วไปไม่จำเป็นต้องใส่ใจก็ได้ แต่ถึงอย่างไรก็คงได้เห็นการฉวยโอกาสเคลื่อนไหวทางการเมืองแฝงตามมาไม่มากก็น้อยเหมือนเช่นทุกปี อย่างไรก็ดีในปีนี้จากเดิมที่เคยปล่อยข่าวว่าจะจัดงานกันในต่างประเทศแบบยิ่งใหญ่ แต่เอาเข้าจริงก็ลดขนาดลงเหลือแค่เฉพาะคนวงใน อ้างว่าเกรงคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลัวว่าบรรดาลูกน้องที่เดินทางออกไปร่วมงานวันเกิดแล้วจะไม่ได้กลับมาบ้าง กลัวมีปัญหาบ้างละ แต่เอาเป็นว่ารอดูก็แล้วกันว่าจะมีกิจกรรมอะไรออกมาบ้าง ซึ่งก็คงไม่มีสาระที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่นอกจากในหมู่เครือญาติและบรรดาลูกน้องยังจงรักภักดีเท่านั้น

ที่ต้องเกริ่นถึง ทักษิณ ชินวัตร ก่อนสักเล็กน้อย ก็เพราะต้องถือว่าเขาเป็นหัวขบวนต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติและต้องการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมีการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ และเชื่อว่าในงานวันเกิดของจะต้องมีกิจกรรมสร้างสัญลักษณ์เกี่ยวกับการโหวตร่างรัฐธรรมนูญประเภทยั่วประสาท คสช.อย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งเมื่อหันมาพิจารณาในฝ่ายรัฐบ้าง ก็เริ่มนั่งไม่ติดแบบไฟลนก้นกันแล้ว เนื่องจากเริ่มมีบางหน่วยเริ่มอืดอาด โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่รณรงค์เกี่ยวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ อย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีเสียงบ่นออกมาจากปากของ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายในทำนองว่าทำงานล่าช้า มีการแจกร่างไปให้แก่ประชาชนยังไม่ค่อยถึงมือทั่วถึงนัก

หากเป็นแบบนี้จริงก็ต้องถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะมันมีผลต่ออนาคตข้างหน้า เป็นการชี้ชะตาส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของบุคคลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ หากการลงประชามติคราวนี้มีคนออกไปใช้สิทธิน้อยกว่าที่คาด ยังไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องโหวตรับหรือไม่รับในตอนนี้ เพราะมีรายละเอียดให้พูดกันยาว แต่สมมติว่ามาน้อยไม่ถึงร้อยละ 50 นั่นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่จะถูกฝ่ายตรงข้ามนำไปเคลมได้ทันทีชาวบ้านบอยคอตรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต่างจากกรณีโหวตไม่รับร่าง เพราะนั่นอาจมีความหมายว่าชาวบ้านยังไม่อยากเลือกตั้งที่กำหนดเอาไว้ในปี 60 หรือต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ต่อไปอีกสักพักหนึ่ง

แต่ในเมื่อพิจารณากันในบรรยากาศแบบนี้ เฉื่อยชาอย่างที่เป็นอยู่มันก็น่าหนักใจเหมือนกัน เพราะแค่รณรงค์ให้ชาวบ้านออกมายังถือว่ายากแล้ว นี่ยังส่งช้าส่งไม่ทั่วถึงมันก็ยิ่งไปกันใหญ่ เนื่องจากขนาดที่ว่าส่งไปถึงมือทุกบ้านแล้วมันก็ใช่ว่าจะอ่านทำความเข้าใจกันได้ง่ายๆ หรือจะมีคนอ่านกันสักกี่คน มันถึงได้บอกว่าเหนื่อยเอาการ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการไปตั้งเวทีชี้แจงตามภูมิภาคต่างๆ หรือแม้แต่พวกครู ค.อะไรก็เหมือนกัน กลายเป็นว่ามีเสียงบ่นทำนองเดียวกันว่าทำงานไม่เข้าเป้า หลายพื้นที่ไม่ได้ออกไปชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องเนื้อหากับชาวบ้าน

ดังนั้น นาทีนี้หากกล่าวว่าจุดเปลี่ยนของรัฐธรรมนูญจะมาจากสาเหตุของฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมทั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีหน้าที่ไปชี้แจงถึงเนื้อหากับชาวบ้าน ยังทำงานไม่ได้ตามเป้าหมาย ประกอบกับฝ่ายตรงข้ามเริ่มโหมเล่นเกมใต้ดินเข้ามาทุกทาง ทั้งเรื่องการทำฉบับปลอมบิดเบือน รณรงค์คว่ำ จนกระทั่งไปถึงการฉีกร่างตามบอร์ดที่ติดประกาศเอาไว้ มันก็ยิ่งชวนปวดหัว

อย่างไรก็ดี ภารกิจในช่วงนี้ก็ต้องลุ้นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำหน้าที่ได้ตรงเป้าหมายมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมไปถึงกระทรวงมหาดไทยที่ต้องอำนวยความสะดวกในพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากระบบราชการที่อืดอาดยืดยาดมันก็พอหลับตาเห็นภาพ ขณะเดียวกันยังมีข้อจำกัดในเรื่องคำสั่งที่เข้มงวดป้องกันพวกผสมโรงป่วน ทำให้ต้องมีการปิดปากทำให้เกิดบรรยากาศตึงเครียดไม่เป็นธรรมชาติ ทำให้หลายฝ่ายเกิดอาการเกร็ง

และที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ ในช่วงที่เหลือเวลาใกล้นับถอยหลังก่อนวันลงประชามติ ชาวบ้านยังตัดสินใจไม่ถูกว่าจะโหวตแบบไหน จะรับหรือไม่รับดี พิจารณาจากผลสำรวจออกมาระบุว่ามีชาวบ้านอีกกว่าร้อยละ 40 ที่ยังไม่ตัดสินใจ หลายคนละล้าละลังประเภทถ้ารับแล้วต้องมีการเลือกตั้งในปี 60 ก็จะได้พวกนักการเมืองกระจอกเข้ามาอีก ไอ้ครั้นจะไม่รับเดี๋ยวฝ่ายนักการเมืองก็นำไปโมเมอีกว่านี่ไงชาวบ้านเข้ารังเกียจ คสช.ต้องรับผิดชอบ ทั้งที่ในรายละเอียดสาเหตุที่ไม่รับเพราะยังไม่อยากเลือกตั้ง ยังอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ต่ออีกพักหนึ่ง ซึ่งรายการแบบนี้แหละที่ทำให้ชาวบ้านยังตัดสินใจไม่ถูก

ดังนั้น ถ้าให้สรุปอีกทีจนถึงตอนนี้ยังเดาไม่ออกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะออกมาแบบไหนจะผ่านหรือไม่ผ่าน รวมไปถึงจะมีคนออกมาโหวตกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าออกมาแบบสองอย่างหลังมันจะส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาล คสช.รวมไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่น้อย หากไม่รีบเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้เคลียร์สาเหตุที่ “ไม่รับ” หรือ “ไม่ไป” เพราะสาเหตุอะไรกันแน่ เพราะมันทับซ้อนกันอยู่จนแยกไม่ออกกับเจตนาของพวก ทักษิณ ชินวัตร พวกนักการเมืองและพวกโลกสวยทั้งหลาย!
ยังไม่อยากเลือกตั้ง กระแสคว่ำ รธน.เริ่มแรง เจตนาให้ “ประยุทธ์” อยู่ต่อ !!
ยังไม่อยากเลือกตั้ง กระแสคว่ำ รธน.เริ่มแรง เจตนาให้ “ประยุทธ์” อยู่ต่อ !!
กระบวนการที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องอยู่ต่อภายใต้ “อำนาจเบ็ดเสร็จ” ก็คือ ต้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพราะหากไม่ผ่านประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม เขาก็ย้ำว่าจะ “ร่างใหม่” ซึ่งแน่นอนว่า ต้องมีกระบวนการอีกระยะหนึ่ง นั่นคือ มีการตั้งคณะกรรมการยกร่างฯ มีการระดมความเห็นใม่ว่าจะเอาประเด็นใด มีเนื้อหาอย่างไรก็ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยอาจเป็นปี ซึ่งกระแสแบบนี้เริ่มมาแรงแม้ว่าจะไปตรงกับแนวทางของพรรคเพื่อไทย และนักการเมืองที่ต้องการคว่ำร่างฉบับนี้เหมือนกัน แต่มีเป้าหมาย และวิธีการหลังจากนั้นมันต่างกันอย่างสิ้นเชิง
กำลังโหลดความคิดเห็น