เมืองไทย 360 องศา
แย้มออกมาทำนองข่มขู่ฝ่ายพรรคการเมือง โดยเฉพาะการส่งสัญญาณล่าสุดของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ เกิดพลิกล็อกไม่ผ่านประชามติก็อาจหยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ เช่น อาจเป็นฉบับปี 40 ฉบับปี 50 ร่างฉบับปี 58 หรือร่างฉบับปี 59 ในปัจจุบันนี้ หรืออาจนำมาผสมกันก็ได้
ที่สำคัญที่สุดที่บอกว่าเป็นสัญญาณล่าสุดก็คืออาจมีการ “ร่างใหม่” แล้วประกาศใช้เลย โดยไม่มีการลงประชามติ เพื่อให้ทันการเลือกตั้งในปี 2560 ซึ่งตามขั้นตอนที่ วิษณุ เครืองาม ระบุเอาไว้คือหากไม่ผ่านประชามติก็จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ว่าจะทำอย่างไรเสียก่อน
ดังนั้น หากเป็นแบบนี้ก็ได้แต่หวังว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ คงผ่านประชามติ เพราะถ้าเกิดไม่ผ่านขึ้นมาจริงๆ แล้วคงยุ่งเหมือนกัน โดยเฉพาะกับพวกพรรคการเมือง และนักการเมือง และหากถามว่าพรรคไหนน่าจะอ้วกที่สุด คำตอบก็คือพรรคเพื่อไทย และเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร นั่นแหละ พรรคที่มีการออกแถลงการณ์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนี่แหละ รวมไปถึงการรณรงค์ให้มวลชนกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาอาการล่าสุดของบรรดาคนในพรรคเพื่อไทยจากที่เคยทำท่าทางฮึดฮัด ประกาศว่า “ต้องคว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โจมตีสารพัดว่า “ถอยหลังลงคลอง” ไม่เคารพสิทธิของประชาชน ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ตามแต่จะสรรหามาอ้าง แต่เวลานี้รู้สึกว่าเริ่มเงียบเสียงลงไปแล้ว และเพิ่งจะได้ยินจากปากของ จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดงที่แสดงท่าทีแบบ “ยกธงขาว” ทำนองว่าคงไม่อาจขัดขวาง ความหมายคือเขาเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญคงผ่านประชามติแน่นอน เพราะฝ่ายรัฐมีกลไกปิดปากสารพัด ซึ่งในความเป็นจริงมันก็ไม่ได้ผิดไปจากนี้มากนัก เพราะมี “กฎเหล็ก” ออกมาล่วงหน้าแล้วว่าหากใคร “ป่วน” หรือขัดขวางการลงประชามติต้องเจอโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาตามความเป็นจริงมันก็ต้องเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศที่คนละเรื่องกับในยุคของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ตอนนั้นถือว่า “ปล่อยฟรี” ถล่มกันเต็มที่ แต่ก็ยังผ่านกันฉลุย ผิดกับยุคนี้ที่นักการเมืองไม่มีปากเสียง ชาวบ้านยังเบื่อการเลือกตั้ง ถือว่าเครดิตของนักการเมืองติดลบป่นปี้ เพียงแค่นี้มันก็ย่อมมีเหตุผลเกินร้อยที่สนับสนุนความมั่นใจว่าร่างฉบับนี้ต้องผ่านประชามติแน่นอน
อีกด้านหนึ่งที่ต้องพิจารณากันก็คือ หากไม่ผ่านย่อมถือว่าเป็น “หายนะ” ของพวกพรรคการเมืองและนักการเมืองมากกว่าเดิม เพราะเมื่อฟังจากท่าทีล่าสุดจากปากของ วิษณุ เครืองาม ดังกล่าวข้างต้นถึงความเป็นไปได้ในการ “ร่างใหม่แล้วประกาศใช้ทันที” และเมื่อนำมาปะติดปะต่อกับคำพูดของเขาก่อนหน้านี้ที่บอกว่าอาจนำร่างของ มีชัย มาปรับปรุงแก้ไขแล้วประกาศใช้ ซึ่งความหมายก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก เพราะเอาแค่ร่างฉบับเต็มที่เห็นกันอยู่ตอนนี้ก็ถือว่า “อ่วม” แล้ว สำหรับนักเลือกตั้งโดยเฉพาะในฟากของ ทักษิณ ชินวัตร ยิ่งหากมีการร่างใหม่ขึ้นมามันถึงได้บอกว่า “อาจหงายหลังตึง” กันเลยทีเดียว
ขณะเดียวกัน อีกมุมหนึ่งกลับไม่มีการพูดถึงก็คือหากร่างฉบับมีชัยไม่ผ่านประชามติ ทำไมถึงไม่มีใครต้องแสดงความรับผิดชอบบ้าง เพราะในความเป็นจริงในร่างฉบับนี้บรรจุเนื้อหาตามคำขอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในประเด็นสำคัญเอาไว้แทบทั้งหมด ดังนั้นหากประชามติไม่ผ่านก็เท่ากับว่าพวกเขาปฏิเสธแนวทางของ คสช.ใช่หรือไม่
แต่ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.แสดงอารมณ์หงุดหงิดทุกครั้งเมื่อถูกซักถามถึงเรื่องนี้ ดังนั้นเมื่อพิจารณากันถึงความเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ “ต้องผ่าน” เพราะถ้าไม่ผ่านท่าทางจะ “หนัก” กว่าเดิมหลายเท่า เพราะเจอ “ร่างใหม่” หรือฉบับปรับปรุงใหม่ก็เข้มข้นกว่าเดิม และนาทีนี้บางครั้งก็อยากรู้เหมือนกันว่ามีการ “เตรียมร่างสำรอง” แบบที่กล่าวกันว่า “ฉบับใต้ตุ่ม” เหมือนในอดีตเอาไว้แล้วหรือเปล่า!!