xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อไทยเดิมพันอนาคต-รธน.ผ่าน “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” จบเกม!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

ต้องถือว่าไม่ได้ผิดความคาดหมาย หรือน่าแปลกใจอะไรสำหรับแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยคณะของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” โดยอ้างเหตุผลว่าไม่เคารพสิทธิของประชาชน ไม่เป็นประชาธิปไตยและสร้างปัญหาในอนาคต พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนร่วมมือกันคว่ำในขั้นตอนการลงประชามติอีกด้วย

ฟังดูเผินๆ จากการแจงแจงเหตุผลมาเป็นข้อๆ ก็น่าชื่นชม เพราะนี่คือหลักการประชาธิปไตย มีการเคารพสิทธิของประชาชน หรือประชาชนต้องเป็นใหญ่ และที่สำคัญไม่ใช่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงอย่างที่อ้างกันไว้ แต่มีเบื้องหลังเพื่อกีดกันทำลายนักการเมือง ขณะเดียวกันกลับส่งเสริมให้ข้าราชการเข้ามาควบคุมนักการเมืองและมีบทบาททางการเมือง

เหตุผลที่พรรคเพื่อไทยอ้างสำหรับการรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ หรือฉบับของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยกล่าวโจมตีเอาไว้ก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดของสมาชิกพรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง ซึ่งในความเป็นจริงก็ล้วนเป็นพวกเดียวกัน เป็นคนในสังกัดของครอบครัวทักษิณ ชินวัตร

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณากันแบบรู้ทันและไม่ต้องพิจารณากันถึงเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากนัก ก็ต้องบอกว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติและมีผลบังคับใช้ พรรคเพื่อไทยจะอยู่ในฐานะลำบากทันที นั่นคือหากพิจารณาจากคุณสมบัติต้องห้ามของนักการเมืองที่เคยมีความผิดในข้อหาทุจริต ถูกยึดทรัพย์ กระทำผิดต่อหน้าที่ คนพวกนี้จะถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต แน่นอนว่าต้องรวมไปถึง ทักษิณ ชินวัตร และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งสำหรับพรรคเพื่อไทยแล้วก็ย่อมรับรู้กันอยู่แล้วการ “ห้ามเข้า” พวกเขาก็เหมือนกับการ “ปลิดขั้วหัวใจ” ทิ้งไปนั่นแหละ

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณากันถึงวิธีการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ที่นำทุกคะแนนมาคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หลายคนมองออกว่านี่คือการให้พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กมีที่นั่ง ส.ส.เพิ่มขึ้น ทำให้จำนวน ส.ส.เฉลี่ยกันไป ความหมายก็คือจะไม่มีพรรรการเมืองใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด นั่นจะส่งผลต่อการมีรัฐบาลผสม ที่พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าจะทำให้รัฐบาลอ่อนแอ และนี่คือเจตนาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

นอกจากนี้ เนื้อหาในบทเฉพาะกาลที่กำหนดให้ ส.ว.สรรหาจำนวน 250 คนมีที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และมีบทบาทอย่างมากในรัฐสภา รวมไปถึงการกำหนดตัวนายกฯ คนนอกโดยอ้อมอีกด้วย และที่สำคัญยังกันโควตาเอาไว้ให้กับข้าราชการประจำอีกด้วย

นั่นคือเหตุผลที่พรรคเพื่อไทยนำมาอ้างเพื่อคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ร่างโดยคณะของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่อ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ ทำลายประชาธิปไตย ไม่ให้ประชาชนเป็นใหญ่ ถือว่าเป็นการ “วางเดิมพัน” ครั้งสำคัญของพรรคเพื่อไทย เพราะหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ นอกจากพรรคเพื่อไทยจะกระทบกระเทือนหนักจากผลการเลือกตั้งแล้ว บุคคลสำคัญของพรรคที่มีคุณสมบัติต้องห้ามจะอดลงสนามการเมืองตลอดชีวิตหลายคน และยังมีผลต่อเนื่องไปถึงรัฐบาลหน้าอีกด้วย เนื่องจากมีโอกาสสูงที่พรรคเพื่อไทยอาจต้องไปเป็นพรรคฝ่ายค้านอีก 5 ปี ตามวาระของ ส.ว.สรรหาตามที่กำหนดเอาไว้ในบทเฉพาะกาล

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว พรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ก็มีท่าคัดค้าน และมีข้อสังเกตไม่ต่างกันนัก ซึ่งล่าสุด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงความเห็นแล้ว แต่ที่แตกต่างกันก็คือพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ถึงขั้นรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แต่อย่างใด ทางหนึ่งหากมองลึกๆ อาจเป็นเพราะพวกเขาน่าจะได้รับประโยชน์มากกว่าพรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะจากการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

แต่นาทีนี้หากถามว่าสำหรับพรรคเพื่อไทยและครอบครัวของทักษิณ ชินวัตร รวมไปถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กำลังอ่วมกับสารพัดข้อหาหนัก และจากคุณสมบัติในรัฐธรรมนูญใหม่ย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง ก็ต้องขัดขวางทุกวิถีทาง อย่างไรก็ดี หากสังเกตให้ดีการวางเดิมพันคราวนี้ก็ไม่ได้ “สุดๆ” ไม่ใช่ประเภทที่ว่าหากแพ้หรือร่างรัฐธรรมนูญผ่าน พวกเขาจะไม่ลงเลือกตั้งเพื่อประท้วงแต่อย่างใด พวกเขาเพียงแต่บอกว่าไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็เชื่อว่าต้องมีการเลือกตั้งในปี 2560 แน่นอน เพราะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เคยประกาศเอาไว้แล้วว่าไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ต้องมีการเลือกตั้งในปี 60 อยู่ดี และสิ่งที่พวกเขาต้องการก็คือหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 มาปรับใช้ แม้ว่าหากพิจารณาจากบรรยากาศและกระแสในเวลานี้มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยก็ตาม

หากพิจารณากันแบบประเมินสถานการณ์กันแบบรวมๆ นาทีนี้ยังมองไม่เห็นว่าความต้องการของพรรคเพื่อไทยจะประสบความสำเร็จนั่นคือสามารถคว่ำร่างรัฐธรรานูญได้สำเร็จ เพราะเมื่อพิจารณาจากปัจจัยหลายอย่างยังไม่อำนวย ไม่ว่าจะเป็นการ “คุมเข้ม” ที่ไม่อาจทำให้ฝ่ายพรรคเพื่อไทยขยับได้เลย สองความรู้สึกรังเกียจนักการเมืองขี้โกงยังตามหลอกหลอนจนกลบกระแสประชาธิปไตยจนมิด ดังจะเห็นได้จากเรื่อง นายกฯ คนนอกและ ส.ว.แต่งตั้ง ก็ปลุกกระแสต้านไม่แรงพอ ซึ่ง คสช.ก็คงอ่านเกมขาดถึงได้เดินหน้าเต็มกำลัง อีกทั้งยังได้ “มนุษย์ผลิตรัฐธรรมนูญ” ชั้นเซียนอย่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ เข้าไปอีกที่รับรู้ในเรื่อง “กระแสปราบโกง” เขาจึงชูจุดนี้นำหน้า เรื่องอื่นจึงด้อยลงไป

ดังนั้น หากพิจารณากับแบบเฉพาะตัว สำหรับพรรคเพื่อไทยแล้วหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติก็ต้องอ่วมแน่ เพราะกระทบกับ “หัวใจของพรรค” ดังกล่าวแล้ว แต่ถึงอย่างไรเมื่อถึงเวลาดิ้น มันก็ดิ้นให้ถึงที่สุด แม้ว่าโอกาสจะประสบความสำเร็จตามต้องการนั้นน้อยมากก็ตาม เพราะอย่างที่บอกกระแสรังเกียจนักการเมืองยังสูงอยู่ ซึ่งนักการเมืองฝ่ายไหนได้สร้างรอยด่างเอาไว้ก็น่าจะรู้กันดี!
กำลังโหลดความคิดเห็น