xs
xsm
sm
md
lg

รธน.“ใบสั่ง” หงายหลัง เปิดทางล็อกเก้าอี้ “ขาใหญ่” คุมเกมยาว !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

ต้องบอกว่า “หงายหลัง” สำหรับหลายคนกับข้อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ “กลุ่มอำนาจ” ที่นำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล รวมทั้งเป็นผลการประชุมที่เรียกว่า “แม่น้ำสี่สาย” ที่มีตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) เข้าร่วมก่อนหน้านี้ แต่ในความเป็นจริงก็ต้องยอมกันว่าน่าจะเป็นเพียงความเห็น หรือ “ข้อเสนอ” ที่มาจากระดับ “ซูเปอร์บิ๊ก” ใน คสช. ซึ่งก็อยู่ในรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นแหละ

ก่อนหน้านี้ มีการเปิดเผยข้อเสนอของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ได้รับความเห็นชอบจากกลไกอำนาจแม่น้ำ 4 สาย ที่ส่งข้อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไปถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เป็นเอกสารจำนวน 6 หน้า

เริ่มต้นด้วยการอ้างเหตุผลว่า “เมื่อเข้าสู่โรดแมประยะที่ 3 พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล และเปลี่ยนผ่านไปสู่ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติชุดใหม่ ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ประเทศอาจจะประสบปัญหารุนแรง ความไม่สงบเรียบร้อย และเกิดเงื่อนไขความขัดแย้งขึ้นใหม่ และปัญหาอาจหวนกลับเข้าสู่วงจรเดิม เศรษฐกิจของประเทศ ไม่อาจเติบโตได้ มีผลกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนเป็นกับดักทางการเมืองที่สร้างแบ่งแยกประชาชนออกเป็นฝักเป็นฝ่าย”

“รัฐบาลก็จะขาดเสถียรภาพ การปฏิรูปและการออกกฎหมาย อาจดำเนินการต่อไปไม่ได้ อันจะทำให้ระบบประชาธิปไตยและความมั่นคงล้มครืนลง กรณีเช่นนี้ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ คสช. ในการเข้าควบคุมการบริหารประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557” เอกสารระบุ และว่า คสช. ได้รับฟังความเห็นจากหลากหลายฝ่ายตลอดมา เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์แล้ว สิ่งที่วิตกกังวลมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้สูง โดยพิจารณาจากความเคลื่อนไหวและความพยายามของบุคคลบางหมู่ ที่วางแผนเคลื่อนออกมาต่อต้าน ปลุกระดมและแทรกซึมอยู่ทั่วไป เพื่อทำลายความชอบธรรมและขัดขวางการดำเนินการต่าง ๆ ในการคืนความสงบสุขแก่ประชาชนในขณะนี้”

อย่างไรก็ดี สำหรับสาระสำคัญของข้อเสนอดังกล่าวพอสรุปให้เห็นว่าส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขและกำหนดใน “บทเฉพาะกาล” เป็นหลัก ซึ่งมีประเด็นหลัก ๆ ดังนี้

ให้กำหนดในบทเฉพาะกาลให้มี ส.ว. จากการสรรหาจำนวน 250 คน มีวาระดำรงตำแหน่งในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี และกำหนดให้มีที่นั่งจากเหล่าทัพจำนวน 6 ที่นั่ง โดยตำแหน่งอันประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้

เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีจากคนนอก นั่นคือ พรรคการเมืองไม่ต้องเปิดเผยบัญชีเสนอชื่อนายกฯจำนวน 3 คน อ้างว่าเพื่อป้องกันปัญหาทั้งเรื่องคุณสมบัติ การปลุกระดมต่อต้านฯ

ในระยะแรกให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่การเลือกตั้งจะกำหนดให้เลือก ส.ส.เขต ได้เพียงคนเดียว

จากข้อเสนอดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเค้นเอามาเฉพาะที่เป็น “หัวใจ” มันก็พอมองเห็นภาพการเมืองในภายหน้า อย่างน้อยก็ในช่วง 5 ปี หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ตาม “บทเฉพาะกาล” คือ จะได้เห็น “นายกฯคนนอก” ซึ่งแน่นอนว่า นี่คือการเปิดทางให้ “ขาใหญ่” เข้ามานั่งเก้าอี้ตัวนี้ ซึ่งมีการวางแผนเอาไว้อย่างแยบยล

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากข้อเสนอที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.เขต ได้เพียงคนเดียวผลที่ตามมาก็คือจะได้ ส.ส. แบบเบี้ยหัวแตก มีแนวโน้มสูงที่ผลการเลือกตั้งจะไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก และต้องเป็นรัฐบาลผสม

นี่ยังไม่นับกับข้อเสนอที่มีแนวโน้มว่าจะกำหนดให้ ส.ส. สามารถลงสมัครแบบอิสระ นั่นคือไม่ต้องสังกัดพรรคได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี แม้ว่ายังไม่เป็นข้อยุติ ยังเป็นเพียงข้อเสนอ เพราะต้องรอให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญประชุมสรุปกันอีกครั้งในวันที่ 23 มีนาคมนี้ แต่คำถามก็คือในเมื่อนี่คือ “ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้” จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มันก็ต้องเป็นไปตามนั้น

แน่นอนว่า เมื่อมาถึงขั้นนี้ พิจารณาจากเงื่อนไขเวลาที่บังคับให้ต้องเปิดให้เห็นแบบนี้ มันก็ต้อง “เสี่ยงวัดดวง” กันแล้วว่า สังคมจะยอมรับได้แค่ไหน จะ “เอาหรือไม่เอา” เท่านั้น และหากผลเป็นไปตามข้อเสนอ โอกาสที่ในวันหน้า เราอาจจะได้เห็นสภาผู้แทนราษฎรโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาเป็นนายกรัฐมนตรีมันก็เป็นไปได้ แม้ว่าในวันนี้จะยืนยันตลอดเวลาว่า “ไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ” แต่ในวันหน้ามีคำพูดที่ว่า “เพื่อชาติและประชาชน” ละจะว่าไง

ดังนั้น ถ้าจะสรุปว่าข้อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญดังกล่าวและกำหนดในบทเฉพาะกาล เป็นการเปิดทางให้ “ขาใหญ่” อยู่ในอำนาจต่อไป อย่างน้อยเป็นเวลาอีก 5 ปี โดยอ้างเรื่องความมั่นคง และแก้ปัญหาความแตกแยกอย่างแนบเนียน แต่ขณะเดียวกันนี่ ก็คือ การเปิดหน้าออกมาให้เห็น “ตัวตน” ที่ชัดเจนแบบเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าสังคมจะยอมรับได้แค่ไหน และหากประชามติไม่ผ่านจะหาทางออกอย่างไร เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยืนยันแล้วว่าหากไม่ผ่านก็ร่างใหม่อีก แต่คำถามก็คือไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยหรือ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น