xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์-คสช.” ประกันความเสี่ยงอีก 5 ปี คำถามคนไทยต้องรีบตอบ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

นับว่ามีความชัดเจนออกมาเรื่อยๆ กับความพยายามในการ “ค่อยๆ ลงจากหลังเสือ” อย่างระมัดระวังของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากต้องมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมีรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งตามโรดแมปที่เคยประกาศไปแล้วว่าการเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นภายในปี 2560 อย่างแน่นอน ส่วนจะเป็นช่วงเดือนกรกฎาคมหรือไม่ก็อาจมีการบวกลบบ้างนิดหน่อยคงไม่เป็นไร

แต่สิ่งที่ต้องพิจารณากันก็คือ เวลานี้เริ่มเห็นความพยายามในการ “ป้องกันความเสี่ยง” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการ “ลงจากหลังเสือ” แบบที่ป้องกันไม่ให้เสือกัดได้อย่างไร ซึ่งวิธีการก็ต้อง “แนบเนียน” ที่สำคัญก็คือต้องไม่ทำให้เสือหรือเจ้าของเสือนั้น “เสียความรู้สึก” และหงุดหงิดขึ้นมาได้ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่ากังวลอยู่ไม่น้อย

แน่นอนว่าเวลานี้หากพิจารณาจากเส้นทางที่ต้องวัดกันข้างหน้า ก็ต้องดูจากหน้าตาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสียก่อนว่าจะออกมาแบบไหน และตามกระบวนการก็ถือว่ายังอยู่ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อนำมาปรับปรุงให้ตรงตามความต้องการให้มากที่สุด ซึ่งหลักการก็ต้องพูดกันแบบนั้น แต่ในความเป็นจริงความเห็นที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “ต้องฟัง” มากที่สุดก็คือความเห็นจากฝ่ายรัฐบาลและ คสช.นั่นแหละ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ส่งความเห็นไปให้พิจารณาแล้วจำนวน 16 ข้อ

อย่างไรก็ดีเมื่อได้อ่านแล้วที่ต้องเพ่งตามองมากที่สุดก็น่าจะเป็นข้อ 14-16 ที่น่าจับตามองมากที่สุด

เช่น “ขอให้ กรธ.พิจารณาขยายช่วงเวลาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นสองช่วง หรือขยายบทเฉพาะการที่ให้คงอำนาจพิเศษเพื่อเหตุผลความมั่นคง ให้ยาวครอบคลุมไปจนหลังการเลือกตั้งและหลังการมีรัฐบาลชุดใหม่ด้วย โดยอ้างถึงความขัดแย้งที่อาจก่อวิกฤตที่รุนแรงยิ่งกว่าที่ผ่านมา”

“ในขณะนี้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์และความเห็นต่างเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญมาก ส่วนใหญ่เป็นความไม่แน่ใจ หรือไม่วางใจในระบบ ตัวบุคคลที่จะเข้าสู่ระบบ วิธีการที่จะได้คนมาสู่ระบบ และอำนาจหน้าที่ แต่ที่ ครม. เป็นห่วงคือทำอย่างไรจึงจะป้องกันมิให้ความยุ่งยากโกลาหลความขัดแย้ง และความไม่สงบเรียบร้อยจนประเทศจวนเข้าสู่ภาวะรัฐที่ล้มเหลว ดังเมื่อก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 ย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีกภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ภายหลังการเลือกตั้งและภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพราะหากเช่นนั้นแล้วจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ เศรษฐกิจ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และคุณธรรมของคนในชาติอย่างรุนแรง ประเทศอาจจะตกอยู่ในวังวนหรือบ่วงแห่งการสู้รบ การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม การทุจริตคอร์รัปชัน การแทรกแซงกลไกของรัฐ การใช้วาจาก่อให้เกิดความเกลียดชัง การล้างแค้น การรื้อกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยอ้างความชอบธรรมในนามของระบอบประชาธิปไตยดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

และในครั้งนี้อาจหนักหน่วงขึ้นกว่าเดิมอันเป็นสภาวะที่ไม่ปรากฏในต่างประเทศ และยากแก่ความเข้าใจของประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้การบริหารราชการแผ่นดิน การสร้างความสามัคคีปรองดองและการปฏิรูปประเทศจะสะดุดหรือล้มเหลวจนเป็นไปไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อและความเป็นความตายของประเทศ ครม. จึงเห็นว่าบางทีหากบัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นช่วงสองเวลา คือ ช่วงเฉพาะกิจ หรือช่วงเฉพาะกาลในระยะแรก ซึ่งอาจไม่ยาวนานนัก โดยใช้หลักเกณฑ์อย่างหนึ่ง เสมือนข้อยกเว้นตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่อยู่บนพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระดับหนึ่งอย่างมีดุลยภาพ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และในช่วงที่จะใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญในระยะต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสากลมากขึ้น และเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่ลดข้อจำกัดต่างๆ ลงให้มาก ดังนี้ น่าจะแก้ปัญหาและอธิบายให้เป็นที่ยอมรับแก่ประชาชนและนานาชาติได้”

นั่นเป็นข้อเสนอของคณะรัฐมนตรีในข้อ 16 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ที่มีดสียงวิจารณ์มากขึ้นทุกขณะว่านี่คือความพยายามในการสืบทอดอำนาจและรักษาอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยอ้างถึงการป้องกันภาวะวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นใน “ช่วงเปลี่ยนผ่าน”

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ระบุให้ชัดขึ้นว่าระยะเวลาดังกล่าวจะใช้เวลา 5 ปี ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ดี เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องพิจารณากันให้รอบคอบว่ามีความจำเป็นเหมาะสมแค่ไหน ขณะเดียวกันก็ต้องย้อนกลับไปดูวิธีการทำงานของรัฐบาลและการใช้ “อำนาจพิเศษ” ในสถานการณ์พิเศษของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะของเขาว่าคุ้มค่าแค่ไหน และที่อ้างว่ามีผลงานมากมายนั้นสามารถจับต้องได้จริงหรือไม่ หรือว่าที่ผ่านมาเกือบสองปีแล้วยังไม่ไปถึงไหน มีแนวโน้มที่ดีหรือไม่

หรือว่าในทางตรงข้ามผลที่ออกมาให้เห็นมันงั้นๆ ไม่สมราคากับอำนาจและองคพยพที่มีอยู่อย่างพร้อมสรรพ มัน “เสียของ” หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าหากมองในมุมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะก็ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้อง “หาทางลงอย่างปลอดภัย” หรือหาทางป้องกันอันตรายในภายหลังเอาไว้สักระยะหนึ่งก่อนเพื่อประกันความเสี่ยง แต่เรื่องแบบนี้อีกด้านหนึ่งก็ต้องถามความรู้สึกของชาวบ้านด้วยว่าเห็นดีเห็นงามหรือเปล่า เชื่อว่านับจากนี้ไปจะต้องมีเสียงวิจารณ์กลับมาดังขึ้นหรือไม่ เพราะนี่อาจเป็นช่วงก่อนโค้งสุดท้ายว่าจะอยู่หรือไม่ และจบแบบไหนอีกด้วย!
กำลังโหลดความคิดเห็น