xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อคสช.ขออยู่อีก 5 ปีหลังเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ข้อเสนอ 16 ข้อจาก ครม.ถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะข้อ 16 นั้นชัดเจนแล้วว่า คสช.ต้องรักษาอำนาจเอาไว้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งเคยเป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแต่ถูกฉีกทิ้งไป บอกหลังจากเห็นข้อเสนอ 16 ข้อของรัฐบาลว่า เขาอยากอยู่ยาว

โดยรัฐบาลอ้างว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความยุ่งยากโกลาหลจนประเทศจวนเข้าสู่ภาวะรัฐล้มเหลวเหมือนก่อนพ.ค. 57 ย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีก

รัฐบาลต้องการให้หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หรือภายหลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ควรจะบัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วงเวลา

คือ ช่วงเฉพาะกิจหรือเฉพาะกาลในระยะแรก ซึ่งอาจไม่ยาวนานนัก โดยใช้หลักเกณฑ์อย่างหนึ่งเสมือนข้อยกเว้นตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยแต่อยู่บนพื้นฐานการปกครองของระบอบประชาธิปไตย ที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.ในระดับหนึ่ง อย่างมีดุลยภาพในช่วงเปลี่ยนผ่าน

และช่วงที่จะใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญในระยะต่อไป ซึ่งสอดคล้องหลักการสากลมากขึ้น และเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่ลดข้อจำกัดต่างๆ ลงให้มาก

นั่นก็แปลว่า รัฐบาลออกมาเรียกร้องแทน คสช.ให้สามารถดำรงสถานภาพอยู่ได้หลังเลือกตั้งในรูปแบบเดียวกับที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ที่ถูกฉีกทิ้งไป กำหนดให้มีคณะยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เป็นอำนาจพิเศษเอาไว้ช่วงระยะหนึ่ง ส่วนจะใช้ชื่อตัวย่ออะไรนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ในขณะที่เรายังไม่รู้ว่า คณะกรรมการที่กุมอำนาจพิเศษในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยจะชื่ออะไร เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ เราก็เรียกว่า “อำนาจพิเศษ” ไปก่อนแล้วกัน

หมายความว่า รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งหลังจากนี้ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของ “อำนาจพิเศษ” ตามข้อเสนอของรัฐบาลทหารถึงกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอีกระยะหนึ่ง

ล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ออกมาพูดชัดแล้วว่า รัฐธรรมนูญ 2 ขยักนั้นจะต้องมีระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี นั่นแสดงว่า ภายใน 5 ปีหลังการเลือกตั้งครั้งแรกจะต้องมี “อำนาจพิเศษ” กำกับดูแลอยู่อีกชั้นหนึ่ง ส่วนจะมีอำนาจอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างกับ คปป.ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์เคยเขียนหรือไม่ หรือซ่อนเร้นอำพรางได้ลึกล้ำกว่าต้องดูฝีไม้ลายมือของนายมีชัย ฤชุพันธุ์อีกทีหนึ่ง

ถ้าย้อนไปดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์บัญญัติไว้ในมาตรา 280 ที่ระบุในวรรค 2 ว่า ภายใน 5 ปีนับตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ถ้ามีความจำเป็นเพื่อรักษาความเป็นเอกราชของชาติ หรือมีกรณีที่เกิดความขัดแย้งอันอาจนำไปสู่ความรุนแรงขึ้นในประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีมติด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 มีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับจัดการสถานการณ์ดังกล่าวแทนได้ หลังจากมีการปรึกษากับประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลปกครองสูงสุด

เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคสองแล้ว ให้ประธานกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ มีอำนาจสั่งการระงับ ยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหารและให้ถือว่าคำสั่ง การกระทำ และการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง การกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และเป็นที่สุด

นั่นก็คือ บวรศักดิ์ยกมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวไว้ในร่างรัฐธรรมนูญนั่นเอง คิดเอาว่า “อำนาจพิเศษ” ของมีชัยก็น่าจะไม่ไกลจากนี้มากนัก

สรุปก็คือ รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งต้องเดินภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ คสช.เขียนไว้ แล้วอย่าลืมว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งมีอายุ 4 ปี แต่ “อำนาจพิเศษ” จะมีระยะ 5 ปีนั่นแสดงว่า คสช.จะกำกับการเลือกตั้งหลังได้รัฐธรรรมนูญใหม่แล้ว เมื่อรัฐบาลครบ 4 ปี คสช.ซึ่งแปลงไปเป็น “อำนาจพิเศษ” จะกำกับการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้น การเลือกตั้งอย่างน้อย 2 ครั้งหลังจากนี้จะเป็นการเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติหรือประชาธิปไตยครึ่งใบ

ผมมานั่งนึกนะครับว่า รัฐบาลหลังเลือกตั้งชุดแรกที่จะอยู่ภายใต้การกำกับของ “อำนาจพิเศษ” นั้นจะบริหารประเทศอย่างไร พรรคการเมืองจะหาเสียงกับประชาชนอย่างไร เพราะต้องเดินตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ คสช.กำลังเขียนในตอนนี้

แล้วฟังพล.อ.ประยุทธ์บอกว่า ในช่วงแรกจะสร้างความเข้าใจว่าวาระประเทศชาติจะมั่นคงแข็งแรงภายในรัฐบาลหน้า โดยช่วงนี้ก็ต้องมีการปรับวิธีการบริหารราชการสักหน่อย แต่ไม่ได้ปรับทั้งหมด ตัวอย่างเช่น เรื่องของ ส.ว.จำเป็นหรือไม่ เพื่อให้เกิดการคานอำนาจในช่วงนี้

นั่นแสดงว่า อาจยังไม่มี ส.ว.ที่จะมาจากกรรมวิธีที่รัฐธรรมนูญใหม่เขียนไว้คือสรรหา แต่อาจจะมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ส.ว.ที่แต่งตั้งนี้นี่แหละที่จะเข้ามาคานอำนาจรัฐบาล นึกไม่ออกเหมือนกันนะครับว่า รัฐบาลจะทำอย่างไร นอกจากต้องทำตัวเป็นเด็กดีของ “อำนาจพิเศษ”

แล้ว “อำนาจพิเศษ” จะยึดถือประโยชน์ของชาติประชาชนจริงหรือ ถ้าเราดูอำนาจของ คสช.ในขณะนี้ที่พยายามตอบสนองกลุ่มทุนด้วยการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่ง 2 ชุด ยกเลิกการใช้กฎหมายผังเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการตั้งโรงงานขยะ กิจการด้านพลังงาน คลังน้ำมัน ท่อส่งน้ำมัน และสายไฟฟ้า แสดงว่ารัฐบาลไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชน แถมเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ที่เป็นป่าชุมชนและป่าสงวนแห่งชาติ

แล้วถ้ารัฐบาลหลังการเลือกตั้งเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับ “อำนาจพิเศษ” แม้ประชาชนจะมีเสรีภาพมากขึ้นหลังจากนี้ แต่ก็ต้องเผชิญกับอำนาจพิเศษ และพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะที่ซับซ้อนแล้วอำนาจการต่อรองของประชาชนจะอยู่ตรงไหน แถมสิทธิประชาชนยังถูกลบจากรัฐธรรมนูญ

ผมลองคิดง่ายๆ ว่า แม้พล.อ.ประยุทธ์จะบอกว่าไม่เอาแล้วเก้าอี้นายกฯ แต่ไปนั่งอยู่บนยอดของ “อำนาจพิเศษ” และหลังจากเลือกตั้งแล้วพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งอาจจะได้รับการเสนอชื่อจากพรรคหนึ่งเป็นนายกฯ รัฐบาลกับ “อำนาจพิเศษ” ก็จะเป็นเนื้อเดียวกันทันที ในขณะที่มาตรา 44 ซึ่งย้ายไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญก็ยังคงอยู่ พออยู่ครบสมัย 4 ปี การเลือกตั้งครั้งต่อไป “อำนาจพิเศษ” ก็ยังควบคุมอยู่ แล้วตั้งรัฐบาลอีกชุด

คำถามว่าแล้ว 1 ปีกว่าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจเบ็ดเสร็จแก้ปัญหาอะไรที่เป็นปัญหาของประเทศหรือยังนอกจากสนองตอบกลุ่มทุน

ปัญหาประเทศในความหมายของพล.อ.ประยุทธ์คืออะไร ปฏิรูปอะไรไปแล้วบ้าง จะแก้ปัญหาความปรองดองแล้วให้คนไทยพ้นจากความแตกแยกอย่างไร แล้วคิดว่า 5 ปีข้างหน้าจะทำอะไร

เรายอมรัฐบาลทหารเข้ามาเพราะประเทศชาติถึงทางตัน นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งฉ้อฉล ต่อไปก็ตัดสินกันด้วย “ประชามติ” ถ้าเรายอมรับ “อำนาจพิเศษ” ก็เป็นชะตากรรมร่วมกันของประเทศแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น