เมืองไทย 360 องศา
ถ้าเปรียบเหมือนดูหนังดูละครก็ต้องอดทนรอกันจนถึงท้ายเรื่อง หรือตอนใกล้จบก็จะได้เห็นทุกอย่างชัดเจนขึ้น เหมือนกับการเคลื่อนไหวของระดับ “บิ๊ก” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นาทีนี้เป็นต้นไปจะเริ่มเข้มข้นทุกขณะ จากเดิมที่เคยเก็บอาการหรือพูดแบบอ้อมๆ มาถึงตอนนี้จะชัดเจนไม่ต้องอ้อมค้อมกันอีกต่อไป โดยเฉพาะข้อสังเกตในเรื่องการ “รักษาอำนาจ” ที่รับรองว่ากำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดมากขึ้นเรื่อยๆ
แน่นอนว่าทุกฝ่ายกำลังจับตามองไปที่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ว่ากำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญที่มาในลักษณะ “ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้” ขณะเดียวกัน ที่ต้องจับตามองกันแบบต่อเนื่องก็คือ “มันเป็นข้อเสนอของใครกันแน่”
สำหรับประเด็นสำคัญและร้อนแรงที่สุดในเวลานี้ก็คือ ข้อเสนอจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้บรรจุประเด็น “ส.ว.สรรหา” ไว้ในบทเฉพาะกาลเป็นเวลา 5 ปี ด้วยข้ออ้างที่ว่าเพื่อต้องการประคับประคองสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะการมีส่วนช่วยในการปฏิรูปบ้านเมืองตามแผน “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” ที่กำหนดเอาไว้เป็นช่วง ช่วงละ 5 ปีตลอดระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า
ทุกสายตากำลังจับจ้องมาที่ประเด็น ส.ว.สรรหา ซึ่งจะว่าไปแล้วเป็น “ข้อเสนอใหม่” ที่มีรายละเอียดต่างกันกับแนวทางของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่แม้ว่าจะเป็นแบบ ส.ว.สรรหา แต่ที่มาจะต่างกันนั่นคือเดิมจะเป็นแบบสรรหาจากกลุ่มอาชีพมีการ “เลือกไขว้” จนได้ ส.ว.จำนวนหนึ่งจะเป็นจำนวน 200 คน หรือเท่าไหร่ยังไม่กำหนดตายตัว แต่สำหรับข้อเสนอใหม่ของ คสช.แม้ว่ายังไม่ได้อธิบายในรายละเอียดมากนัก เพราะเกรงกระแสต้านหรือเปล่า แต่รูปการณ์น่าจะออกมาในแบบสรรหาจาก คสช. “อาจจะ” เป็นแบบการสรรหาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยกำหนดอำนาจหน้าที่ให้จำกัดลงบางอย่าง เช่น ห้ามเกี่ยวข้องกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
แต่ที่สำคัญก็คือ ส.ว.สรรหาดังกล่าวเปิดทางให้สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาดำรงตำแหน่งได้ ทำให้มีความชัดเจนมากกขึ้นว่านี่คือ “โรดแมปในการรักษาอำนาจ” หลังจากที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และการใช้อำนาจพิเศษต้องพ้นไปหลังจากต้องมีการเลือกตั้งใหม่ซึ่งเลี่ยงไม่ได้แล้วว่าต้องเกิดขึ้นภายในปี 2560 แน่นอน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องมาพิจารณากันก็คือ ต้นตอข้อเสนอให้มี ส.ว.สรรหาแบบใหม่ดังกล่าวมาจากไหน หากให้ย้อนกลับไปก็ต้องบอกว่าเป็นข้อเสนอของ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และหมวกอีกใบก็คือ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยที่ผ่านมาตัวเขาก็ออกมายอมรับเองว่าเป็น “ความเห็นส่วนตัว” ถัดจากนั้นไม่กี่วัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ก็รับลูกและสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว แล้วนำไปสู่การประชุมของกลไกอำนาจรัฐที่เรียกว่า “แม่น้ำ 4 สาย” โดยตัวแทนแม่น้ำอีกหนึ่งสายคือจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคือ มีชัย ฤชุพันธุ์ ไม่เข้าร่วมประชุม อ้างทำนองว่าจะดูไม่งามอาจถูกมองว่าเป็นการผูกมัด และเป็นการตั้งวงร่างรัฐธรรมนูญกันเอง
ล่าสุดประเด็นดังกล่าวก็เดินหน้าเป็นจริงเป็นข้อเสนออย่างเป็นทางการที่ลงนามโดย พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไปถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนกลับไปพิจารณา 16 ข้อเสนอของคณะรัฐมนตรีภายใต้ข้อคิดเห็นจากหน่วยงานราชการต่างๆ ก่อนหน้านี้มีหลากหลายประเด็น แต่ที่เป็นประเด็นที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดก็คือ ข้อเสนอข้อสุดท้ายคือข้อที่ 16 ความว่า
“ขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญจำนวนมาก เป็นความไม่วางใจและไม่แน่ใจในระบบ ตัวบุคคลที่จะเข้าสู่ระบบ อาจทำให้บ้านเมืองเกิดความโกลาหล ขัดแย้งและไม่สงบเรียบร้อย เข้าสู่ภาวะรัฐที่ล้มเหลวดังเช่น ก่อน พ.ค. 2557 ย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีก ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ อาทิ ปัญหาการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล ปัญหาความมั่นคง เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่และคุณธรรมของคนในชาติ ประเทศตกอยู่วังวนแห่งการสู้รบ และปัญหาอื่นๆ ซึ่งส่งผลให้การบริหารราชการแผ่นดิน การสร้างความสามัคคีปรองดองและการปฏิรูปประเทศสะดุดล้มเหลว ซึ่งถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ และความเป็นความตายของประเทศ”
“ครม.จึงเห็นว่า หากบัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเฉพาะกิจ หรือเฉพาะกาลในระยะแรก ซึ่งอาจไม่ยาวนาน โดยใช้หลักเกณฑ์อย่างหนึ่ง เสมือนข้อยกเว้นตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองแต่อยู่บนพื้นฐานการปกครองของระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.ในระดับหนึ่งอย่างมีดุลยภาพในช่วงเปลี่ยนผ่าน และช่วงที่จะใช้รัฐธรรมนูญในระยะต่อไปซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลและเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่ลดข้อจำกัดต่างๆ ลงให้มาก ดังนี้ น่าจะแก้ปัญหาและอธิบายให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนและนานาชาติได้”
ความหมายก็คือ เสนอให้มีการบัญญัติและบังคับใช้รัฐธรรมนูญแบบ “สองขยัก” อ้างว่าใช้ใน “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” ในระยะสั้นๆ และช่วงปกติหลังจากนั้นเป็นลักษณะแบบสากล
ดังนั้น ข้อเสนอจาก “บิ๊กบราเตอร์” ในเรื่อง ส.ว.สรรหาแบบใหม่ที่เปิดทางให้สมาชิก คสช.เข้ามาดำรงตำแหน่งได้อย่างน้อย 5 ปี รวมไปถึงข้อบัญญัติอื่นๆ ที่จะกำหนดในบทเฉพาะกาล ถือว่าน่าสนใจยิ่งนัก เพราะ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญบอกว่า เป็น “ข้อเสนอที่มีน้ำหนัก” ต้องรับฟัง ส่วนจะเป็นแบบข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้หรือเปล่า ความหมายไม่ใช่ก็น่าจะใกล้เคียง!!