อดีต กมธ.ยกร่างฯ มอง ม.54 ยังไม่ตอบโจทย์ ไม่หนุนแก้เปลี่ยนหมวดสิทธิชุมชุน ไปอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ เหตุไม่แก้ปัญหา หวั่นตีความที่ระบุว่า การดำเนินการใดของรัฐ และตัดคำว่า ทรัพยากรธรรมชาติจำกัดแคบลงไปอย่างมาก โวยตัด กอสส. ชี้เป็นองค์กรอิสระถ่วงดุลการตัดสินใจรัฐ จี้เร่งปรับปรุงเนื้อหา
วันนี้ (13 มี.ค.) นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีตกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 54 ว่าด้วยการกำหนดให้มีกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชนก่อนรัฐจะดำเนินการใดๆ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ปรับปรุงแก้ไขแล้วว่า แม้ กรธ.จะแก้ไขแล้ว แต่ขอตั้งข้อสังเกต 11 ประการ เพราะยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ ซึ่งเห็นด้วยที่ กรธ.วิเคราะห์ว่า “สิทธิชุมชน” ในการจัดการทรัพยากรมีปัญหาในทางปฏิบัติ โดยจะเห็นตัวอย่างจากคดีมาบตาพุด ที่มีรัฐธรรมนูญแล้ว แต่หน่วยงานภาครัฐยังตีความในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ และตนไม่เห็นด้วยต่อวิธีแก้ไขปัญหาของ กรธ.ที่ไปแก้ไขเปลี่ยนหมวด “สิทธิชุมชุน” ไปอยู่ในหมวด “หน้าที่ของรัฐ” แม้เป็นเจตนาดี แต่จะไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา เนื่องจากการบัญญัติเป็น “สิทธิชุมชน” แบบเดิมตามรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 ก่อให้เกิดพันธะเป็นหน้าที่ของรัฐในการรับรอง เคารพ คุ้มครอง และทำให้สิทธิชุมชนเกิดผลในทางปฏิบัติ แต่ในทางการกลับกันการบัญญัติให้เป็น “หน้าที่ของรัฐ” ไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิของชุมชน
อดีต กมธ.ยกร่างฯ กล่าวต่อว่า ส่วนการระบุว่า “การดำเนินการใดของรัฐ” มีความหมายและขอบเขตอย่างไร และจะอ้างอิงกฎหมายใดในการกำหนดประกาศ หากไม่มีความชัดเจนในประเด็นนี้ ก็จะเป็นปัญหาในการตีความ และการปฏิบัติได้ ขณะที่เรื่องผลกระทบต่อ “ทรัพยากรธรรมชาติ” หายไป ซึ่งตรงนี้เป็นเงื่อนไขเดิมที่อยู่ในรัฐธรรมนูญปี 50 คือ ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ทรัพยากรป่า ทรัพยากรทางทะเลทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรที่ดิน ฯลฯ เป็นผลกระทบหลักที่มักเกิดขึ้นจากการดำเนินงานโครงการ หรือกิจกรรมพัฒนา ซึ่งการตัดคำว่า “ทรัพยากรธรรมชาติ” ออกไป ทำให้ “การดำเนินการใดของรัฐ” ที่จะเข้าข่ายมาตรา 54 จำกัดแคบลงไปอย่างมาก
นายบัณฑูร กล่าวต่อว่า ส่วนการกำหนดให้มีการศึกษา และประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ซึ่งในปัจจุบันมีปัญหาในเชิงระบบและโครงสร้างที่ต้องการการปฏิรูปอย่างมาก แต่ในมาตรานี้ไม่ได้มีข้อบัญญัติใดๆ เพิ่มเติม ที่จะมีผลต่อการให้ปฏิรูประบบอีเอชไอเอ รวมทั้งไม่ได้เพิ่มเติมข้อบัญญัติเรื่องการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ) ซึ่งเป็นข้อเสนอในการปฏิรูปของ สปช.ที่สำคัญไม่มีข้อบัญญัติเรื่องการให้ความเห็นประกอบของ “องค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” (กอสส.) ถือว่าเป็นการตัดองค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 50 ออกไป เพราะองค์การฯ ดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อการถ่วงดุลการตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐ และทำให้การตัดสินใจมีความรอบคอบ และรอบด้าน
“เนื้อหาในมาตรา 54 ยังเป็นข้อบัญญัติที่ให้รัฐดำเนินการใดที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงได้ หากทำตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ครบคือ ทำอีเอชไอเอ และการรับฟังความเห็นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างโครงการพัฒนากับประชาชน และชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งควรมีการปรับปรุงแก้ไข หรือเพิ่มเติมเนื้อหาในมาตรา 54 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว” อดีต กมธ.ยกร่างฯ กล่าว