โดย..ประสิทธิ์ชัย หนูนวล
เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ตอนที่ 1 ทวงคืนผืนป่าเอามาทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขต ศก.พิเศษทั้งหมด 10 จังหวัดอยู่ในบริเวณชายแดน นั่นหมายถึงในบริเวณเหล่านั้นจะประกอบด้วย พื้นที่ป่า คำถามคือ แล้วจะเอาพื้นที่ป่ามาทำเขตเศรษฐกิจพิเศษได้อย่างไร รัฐบาลได้ใช้อำนาจด้วยแคมเปญทวงคืนผืนป่าไล่ที่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ตลอดแนวชายแดนด้วยคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 หลังจากนั้น คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจ (ตามคำสั่ง คสช.ที่ 72/2557) ออกประกาศเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ “ตลอดแนวชายแดน” ต่อด้วยคำสั่ง คสช.17/2558 เรื่องการจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง
เพราะคำสั่งนี้ได้ทำการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ เพิกถอนเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี เพิกถอนเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน และถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามแนวเขตแผนที่ในคำสั่งนี้ให้ตกเป็นที่ราชพัสดุ เพื่อนำมาใช้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ มันเป็นเรื่องน่าเศร้าเพราะไม่มีใครได้คิดว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษจะไปเกี่ยวข้องต่อเขตป่าสงวน หรือเขตป่าไม้ถาวรใด เพราะ 1 ปีก่อนหน้านั้น คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ทำการเข้าจับกุม และปราบปรามการทำลายป่าอย่างเข้มแข็ง
ตอนที่ 2 เอาที่ดินของชาติมาให้เช่าในราคาถูก และให้ผู้อื่นเช่าต่อได้ไม่น้อยกว่าคราวละ 50 ปี คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 17/2558 ยังกำหนดในข้อ 5 เปิดทางให้เกิดการรวบรวมที่ดินเป็นผืนใหญ่โดยให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมีอำนาจดำเนินการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำที่ดินอันเป็นที่ราชพัสดุแลกเปลี่ยนกับที่ดินของเอกชนรายนั้นได้ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกำหนดเอาเอง หรือจะสั่งให้ชดใช้เงินแทนการแลกเปลี่ยนที่ดินทั้งหมด หรือบางส่วนก็ได้ และหากมีการแลกเปลี่ยนที่ดินก็ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมทั้งปวง และให้ได้รับการยกเว้นภาษีการแลกเปลี่ยนซึ่งอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย
คำสั่ง คสช.ที่ 17/2558 ยังกำหนดในข้อ 6 ด้วยว่า ที่ดินซึ่งได้นำมาเป็นที่ราชพัสดุนั้น “ระยะเวลาการเช่า” นั้นยังได้ถูกกำหนดเอาไว้ในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558 ยังกำหนดด้วยว่า “ต้องไม่น้อยกว่าคราวละ 50 ปี” และอาจต่อสัญญาอีกได้ ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะกำหนดขึ้น ส่วนที่ดินซึ่งได้มาแล้วปล่อยเช่าโดยอาศัยมติคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้น คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558 ยังกำหนดในข้อ 7 ด้วยว่าผู้เช่ามีสิทธินำไปให้เช่าช่วง หรือนำไปหาประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ได้อีก และการให้เช่าแม้จะเกิน 100 ไร่ ก็ให้กระทำได้โดยไม่ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมที่ดิน
คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจ ได้ดำเนินการนำพื้นที่มาจากถอนสภาพที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินเขตป่าไม้ถาวร เขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน และที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ให้มาเป็นที่ราชพัสดุแล้ว ยังได้พื้นที่ของหน่วยราชการมาใช้ประโยชน์ให้เอกชน และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเช่าเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งสิ้นประมาณกว่า 19,211 ไร่ อนิจจาสิทธิประโยชน์มากมายถึง 50-100 ปี ด้วยค่าเช่าเริ่มต้นเดือนละประมาณไร่ละ 1,500-3,000 บาท และสามารถนำไปปล่อยเช่าต่อทำกำไรได้ด้วย
ตอนที่ 3 ใช้เงินของรัฐเกือบ 20,000 ล้าน พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อให้คนไม่กี่กลุ่มได้รับประโยชน์ นอกจากจะได้รับที่ดินมาบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว เขตเศรษฐกิจพิเศษยังต้องมีการลงทุนโดยได้งบประมาณแผ่นดิน ประจำปี พ.ศ.2560 รวม 19,114 ล้านบาท แบ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 3,974 ล้านบาท การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบลอจิสติกส์ 13,238 ล้านบาท การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 1,610 ล้านบาท และการบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม 292 ล้านบาท
ตามนัยนี้คือ เอาเงินรัฐไปลงทุนให้เอกชนแสวงหากำไรด้วยการเช่าที่ดิน และใช้เช่าช่วงต่อได้ ยังไม่นับรวมสิทธิพิเศษอื่นๆ ที่ได้กำหนดไว้แล้ว เช่น ภาษี นอกจากนี้ ยังต้องมีการทำถนน ไฟฟ้า การสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ หรือระบบน้ำอื่นใดเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ อันจะก่อปัญหาตามมาอีกมากมาย
ตอนที่ 4 เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ้างงานแก่คนไทยหรือไม่? อย่าคิดว่าจะเกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้ให้แก่แรงงานไทย เพราะมติคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบการจัดระบบการจ้างคนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับตามฤดูกาล ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 รองรับเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558
เมื่อทำทุกอย่างแล้วอุปสรรคประการถัดไปคือ ผังเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้อาศัยอำนาจลงนามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2559 เพื่อยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ยกเว้นข้อบัญญัติท้องถิ่น ยกเว้นประกาศกรมโยธาธิการและผังเมืองที่ห้ามก่อสร้าง ห้ามดัดแปลง ห้ามรื้อถอน ห้ามเคลื่อนย้าย หรือการห้ามใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารที่เป็นอุปสรรคทั้งปวงในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านโดยให้กระทรวงมหาดไทย เร่งดำเนินการออกกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง กฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่นให้สอดคล้องต่อแนวทางการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
ตอนที่ 5 คนไทยได้ประโยชน์อะไรจากเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ประการ 1 การจ้างงานจะเกิดขึ้นต่อแรงงานต่างชาติเป็นหลัก ข้ออ้างเรื่องเกิดการจ้างงานในประเทศจึงฟังไม่ขึ้น ประการ 2 มีการเช่าที่ได้ครั้งละไม่น้อยกว่า 50 ปี และต่อสัญญาได้อีก มันคือการยกที่ดินให้ต่างชาติ 100 ปี ประการ 3 ที่ดินที่รัฐ หรือเอกชนเช่าไปนั้นสามารถให้ผู้อื่นเช่าต่อได้ โดยรัฐเป็นคนลงทุนปรับโครงสร้างพื้นฐานให้ มันหมายถึงเอาที่ดินของชาติไปให้เอกชนเช่าแล้วเอกชนก็เอาไปปั่นกำไรกันโดยไม่มีเงื่อนไขตามข้อบังคับของกรมที่ดิน ประการ 4 หลังจากนี้จะเกิดการทำลายผืนป่าอันมหาศาล เกิดการแย่งชิงน้ำ เกิดปัญหาสังคมตามมาอีกมากมายที่กระทบต่อคนไทยทั้งสิ้นภายใต้ประโยชน์ของต่างชาติ
เขตเศรษฐกิจพิเศษแบบไหนจึงจะเป็นของคนไทย… คือ การส่งเสริมความสามารถพิเศษของคนไทย มีความสามารถอะไรอะไรก็ส่งเสริมอันนั้น ไม่ต้องมากว้านที่ดิน ผืนป่า ทำลายกฎหมายผังเมือง เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษว่าด้วยการท่องเที่ยวอันดามัน ทำให้อันดามันเป็นพื้นที่สีเขียวเรื่องการท่องเที่ยว เขตเศรษฐกิจพิเศษว่าด้วยข้าวอินทรีย์ เพราะคนไทยหลายจังหวัดมีความสามารถในการผลิตข้าวที่ดี เขตเศรษฐกิจพิเศษการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในภาคตะวันออก เป็นต้น
ทั้งหมดนี้คือการส่งเสริมฐานรากที่มีการทำอยู่แล้ว ประโยชน์จะเกิดขึ้นต่อคนไทยทุกกลุ่มโดยรวมไม่ต้องไปทำลายป่า ไม่ต้องไปออกกฎหมาย เอาเงินหลายหมื่นล้านมาส่งเสริมคนไทยดีกว่าไหม เอาสิทธิพิเศษที่ให้ต่างชาติมาให้คนไทยดีกว่าไหม เก็บผืนป่าไว้ให้แก่แผ่นดิน เราไม่มีทรัพยากรธรรมชาติอันเหลือเฟือให้ทำลายอีกต่อไป