xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองยกฟ้องคดี “อุเทนถวาย” ฟ้อง ครม.คืนที่ดินให้จุฬาฯ มิชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศาลปกครองยกฟ้องคดี “อุเทนถวาย” ขอเพิกถอนคำสั่งโอนที่ดินให้ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” หลัง ผู้บริหารอุเทนฯ ยื่นฟ้องส่วนราชการ คณะรัฐมนตรี และ จุฬาฯ เหตุให้ขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืน พร้อมชำระค่าเสียหายให้แก่จุฬาฯ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

วันนี้ (24 ก.พ.) มีรายงานว่า เพจ สำนักประชาสัมพันธ์ ศาลปกครอง ได้เผยแพร่ คำพิพากษา ศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2559 โดยมีคำสั่ง “ยกฟ้อง” ในคดีหมายเลขดำที่ 1912/2556 ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (วิทยาเขตอุเทนถวาย) ยื่นฟ้อง คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ผู้ถูกฟ้องที่ 1) คณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องที่ 2) และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผู้ถูกฟ้องที่ 3)ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดในการประชุมครั้งที่ 9/2552 เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2552 ให้ผู้ฟ้องคดีขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนพร้อมชำระค่าเสียหายให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ซึ่งเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2555 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีหนังสือที่ อส 0020/10727 แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่า กรณี นายสมศักดิ์ รัตนเชาว์ กับพวก ทูลเกล้าฯถวายฎีกาปัญหาที่ดินวิทยาเขตอุเทนถวายนั้น สำนักราชเลขาฯได้รับแจ้งว่ากรณีดังกล่าวได้ยุติตามการตัดสินชี้ขาดของผู้ถูกฟ้องคดี และคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบผลดังกล่าวแล้ว เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

มีรายงานว่า คดีนี้สืบเนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) มีมติชี้ขาดในการประชุมครั้งที่ 9/2552 เมื่อ 24 พ.ย. 2552 ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (วิทยาเขตอุเทนถวาย) ขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืน พร้อมชำระค่าเสียหายให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเงินปีละ 1,140,900 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2549 จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่คืนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เสร็จสิ้น ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก จึงได้ฟ้องศาลขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าว

โดยประเด็นข้อพิพาทนี้ทางผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ให้การว่า กรณีพิพาทระหว่างส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ ได้มีมติ ครม. กำหนดห้ามไม่ให้ฟ้องคดีแพ่งระหว่างกัน เพราะต่างก็เป็นหน่วยงานรัฐ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี จึงกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างกัน

และเมื่อศาลได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏว่า กระบวนการในการพิจารณามีมติของ กยพ. ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอ ไม่ปรากฏว่ามีส่วนใดบกพร่อง

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างถึงการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ซึ่งทางผู้ฟ้องคดีได้อ้างว่ามีความชอบธรรมที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนเฉกเช่นเดียวกับสถานเสาวภา สภากาชาดไทยด้วยนั้น เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่า จะมีพระบรมราชโองการพระราชทานที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดีในขณะเมื่อเริ่มก่อตั้ง รวมถึงประเด็นดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีควรยกขึ้นกล่าวอ้าง หรือกล่าวกันมาแล้วตั้งแต่ในชั้นที่ได้มีการตรา พ.ร.บ. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2482 และกรณีเป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องพิจารณาและดำเนินการเพื่อให้มีการออกกฎหมายโอนที่ดินพิพาทแก่วิทยาเขตอุเทนถวาย

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ายังมิได้มีกฎหมายโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้วิทยาเขตอุเทนถวาย ขนย้ายและส่งมอบที่ดินพิพาทคืน พร้อมชำระค่าใช้ประโยชน์ในที่ดินให้ข้ออ้างของผู้ฟ้อง คดีจึงไม่อาจรับฟังได้

มีรายงานว่า เมื่อปี 2557 ฝ่ายกฎหมายของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย จัดแถลงข่าว “ขอคืนความสุขให้อุเทนถวาย” หลังจากศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับฟ้องกรณีที่อุเทนถวายได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการพิจารณา ชี้ขาดการยุติในการดำเนินการคดีแพ่งของส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือ กยพ. ที่พิจารณาและมีมติชี้ขาดให้ มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ย้ายและมอบที่ดิน พร้อมชำระค่าเสียหายให้กับจุฬาฯ เป็นปีละ 1,140,900 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 เป็นต้นไป จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่คืน ซึ่งมติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งมีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และศาลปกครองกลางยังมีคำสั่งเพิ่มเติมให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และจุฬาฯ เข้ามาเป็นผู้ถูกฟ้องด้วย ทั้งนี้ หากศาลพิพากษาเพิกถอนมติ กยพ. และมติ ครม. จะมีผลทำให้ มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ยังคงเป็นส่วนราชการที่ครอบครองที่ดินอันเป็นที่ราชพัสดุต่อไปเพื่อประโยชน์ต่อลูกหลานในการศึกษาเล่าเรียน

โดย มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ได้เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปี 2557 ให้แก้ พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 มาตรา 16 ระบุ พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 มาตรา 16 ที่บัญญัติให้ที่ดินที่มหาวิทยาลัยได้มาตาม พ.ร.บ. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2482 ไม่เป็นที่ราชพัสดุและให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย โดยในการแก้กฎหมายดังกล่าวจะเสนอให้จุฬาฯต้องคืนที่ดินตาม มาตรา 16 ให้ราชพัสดุเหมือนเดิม ซึ่งจะทำให้อุเทนถวายได้มีโอกาสใช้พื้นที่เหมือนเดิมด้วย” ฝ่ายกฎหมาย มทร. ตะวันออก กล่าวไว้.


กำลังโหลดความคิดเห็น