ศูนย์ข่าวภูเก็ต - หารือแก้ปัญหาข้อพิพาทชาวไทยใหม่ราไวย์ กับนายทุนเจ้าของที่ดิน ได้ข้อสรุปปรับที่ดินสาธารณะหลังเขื่อนกันคลื่นเป็นทางเดิน หลังไม่รับข้อเสนอบริษัท บารอน มอบที่ดิน 2 งาน และย้ายโต๊ะบาลัยมาอยู่ด้วยกัน ด้านเจ้าของที่ดินแปลงที่ชาวเลอาศัยอยู่นำโฉนดที่ดินดั้งเดิมที่ครอบครองมาช้านานโชว์ผู้สื่อข่าว และขอร้องสื่ออย่ากล่าวหาว่าเป็นนายทุนโกงที่ดินชาวเล ขณะที่ตัวแทนชาวไทยใหม่ระบุยังไม่พอใจข้อเสนอจังหวัด เตรียมร้องศาลปกครองคุ้มครองทางเดินชั่วคราว
เมื่อเวลา 12.00 น.วันนี้ (2 ก.พ.) นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต แถลงข่าวภายหลังการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างชาวไทยใหม่ (ชาวเล) กับบริษัท บารอน เวิลด์ เทรด จำกัด เจ้าของที่ดินที่ชาวไทยใหม่ใช้เป็นทางเดินไปประกอบพิธีกรรม และลงทะเลไปทำประมง โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น นายโชคดี อมรวัฒน์ นายขจรเกียรติ รักพาณิชมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายประเจียด อักษรธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัยพื้นที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวเล พล.ต.ธีร์ณฉัฎฐ์ จินดาเงิน ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41 พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ พล.ต.ต.ธีระพล ทิพย์เจริญ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต อัยการ ที่ดิน นายชาตรี หมาดสตูล ผู้ได้รับมอบอำนาจจากบริษัท บารอน เวิลด์ เทรด จำกัด เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน นางเตือนใจ ดีเทศก์ กรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ ทัพเรือภาค 3 ตัวแทนชาวไทยใหม่ราไวย์ ตัวแทนชาวไทยใหม่ ประกอบด้วย นายสนิท แซ่ชั่ว นายศักดิ์ชัย จลุทั้งสี่ นายบัญชา หาดทรายทอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
อย่างไรก็ตาม ในช่วงของการประชุมชาวไทยใหม่ราไวย์ได้เดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณสนามหญ้าหน้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ตเป็นจำนวนมากเพื่อรอฟังผลการประชุม ในขณะที่เจ้าของที่ดินในแปลงที่ชาวไทยใหม่ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่นั้นได้นำเอกสารสิทธิที่ดินมาแสดงต่อทางสื่อมวลชน ว่า เอกสารสิทธิที่ดินได้มาอย่างถูกต้อง และครอบครองที่ดินมาก่อนที่ชาวไทยใหม่จะอพยพมาอยู่ในที่ดินดังกล่าว
นายจำเริญ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เพื่อเป็นการหารือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชนในการคลี่คลายปัญหาข้อพิพาทระหว่างชาวไทยใหม่ราไวย์ กับ บริษัท บารอน เวิลด์ เทรด เจ้าของที่ดิน ที่ชาวไทยใหม่ต้องใช้ในการเดินทางไปประกอบพิธีกรรมที่ศาลาประกอบพิธีกรรม หรือโต๊ะบาลัย ซึ่งการประชุมในวันนี้ได้ข้อสรุปว่า ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับนายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ และตัวแทนบริษัท บารอนฯ ทำการสำรวจแนวเขตที่ดินบริเวณหน้าหาด หลังกำแพงกันคลื่นเพื่อทำเป็นทางสาธารณะให้ชาวไทยใหม่ได้เดินไปประกอบพิธีกรรมที่โต๊ะบาลัย เป็นระยะทางประมาณ 3 เมตรกว่าๆ เพราะจากการตรวจสอบเอกสารสิทธิของบริษัทบารอนฯ ไม่ปรากฏว่า มีทางสาธารณะในโฉนดที่ดินดังกล่าว และได้มอบหมายให้นายประเจียด อักษรธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นหัวหน้าคณะในการดำเนินการเรื่องนี้ แม้ว่าในที่ประชุมตัวแทนชาวไทยใหม่จะแบ่งรับแบ่งสู้ในการใช้บริเวณดังกล่าวเป็นทางสัญจรไปมาก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากกังวลว่าจะไม่สามารถใช้เส้นทางดังกล่าวได้ในช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุด แต่เชื่อว่าเมื่อมีการปรับปรุงเส้นทางดังกล่าวแล้ว ชาวไทยใหม่จะสามารถใช้เป็นทางสัญจรไปมาได้ และหลังจากที่มีการสำรวจแล้วเสร็จก็จะออกเป็นหนังสือสำคัญที่หลวงต่อไป
นอกจากนี้ ในที่ประชุมบริษัทบารอนฯ ยังได้เสนอที่จะมอบที่ดิน จำนวน 2 งาน หรือประมาณครึ่งไร่ ให้เป็นที่สาธารณะสำหรับชาวไทยใหม่จะใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน และให้ย้ายศาลาประกอบพิธีกรรมมาอยู่ในที่ดินดังกล่าว ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของชาวไทยใหม่ แต่จะขอพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับสถานที่ประกอบพิธีกรรม ซึ่งทางบริษัทบารอนฯ จะนำไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
นายจำเริญ กล่าวต่อว่า ในส่วนของข้อสรุปวันนี้ หากทางชาวไทยใหม่ไม่พอใจ และยืนยันว่ามีทางสาธารณะจริงๆ ในที่ดินของบริษัทบารอนก็สามารถไปดำเนินการฟ้องร้องศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราวได้ โดยอ้างออกเอกสารสิทธิไม่ถูกต้อง ในขณะที่บริษัท บารอนฯ เองก็สามารถใช้กระบวนการทางศาลยุติธรรมในการปกป้องที่ดินของตนเองได้เช่นกัน และบริษัทฯ เองยืนยันว่า ไม่สะดวกที่จะพัฒนาที่ดินในขณะที่ชาวไทยใหม่ยังคงเดินผ่านที่ดินที่พัฒนา และขณะนี้ยังคงให้ทางบริษัท บารอนฯ เปิดทางระยะทาง 2 เมตร ให้ชาวไทยใหม่สัญจรไปมาได้ รวมทั้งทางจังหวัดภูเก็ตจะไม่ยอมให้มีเหตุการณ์ปะทะกันอีกระหว่างชาวไทยใหม่ และเจ้าของที่ดิน
นายจำเริญ ยังกล่าวถึงกรณีที่เจ้าของที่ดินที่ชาวไทยใหม่ปลูกบ้านอาศัยอยู่ ได้เสนอที่จะให้ทางจังหวัด หรือรัฐบาลชื้อที่ดินดังกล่าวมาพัฒนาเป็นที่อยู่ในชาวไทยใหม่ ว่า สามารถดำเนินการได้หากรัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการ ซึ่งทางจังหวัดภูเก็ตเองก็ต้องการที่จะดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้วเพื่อให้การดูแล และยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวไทยใหม่ให้ดีขึ้น
เจ้าของที่ดินเดินหน้าพัฒนาต่อไป
ด้าน นายชาตรี หมาดสตูล ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท บารอน เวิลด์ เทรด จำกัด กล่าวว่า ในการประชุมตัวแทนชาวไทยใหม่ไม่ยอมรับข้อเสนอที่จะกันที่จำนวน 2 งาน ไว้สำหรับทำกิจกรรมร่วมกัน และให้ย้ายศาลาประกอบพิธีกรรมมาไว้ในจุดเดียวกัน ทางบริษัทก็จะดำเนินการพัฒนาที่ดินแปลงดังกล่าวต่อไป แต่จะเริ่มดำเนินการในส่วนที่ไม่มีปัญหาก่อน และหลังจากนี้จะหารือกันในส่วนของผู้บริหารอีกครั้งหนึ่งถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในทางเดิน และในการดำเนินการต่างๆ นั้นจะดำเนินการตามกฎหมาย และยืนยันว่า เอกสารสิทธิที่ดินได้มาถูกต้องตามกฎหมาย
ชาวเลยังไม่พอใจข้อเสนอ ฟ้องศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว
ขณะที่ นายบัญชา หาดทรายทอง ตัวแทนชาวบ้านหาดราไวย์ ที่เข้าร่วมประชุม กล่าวถึงผลสรุปในการประชุม และข้อเสนอที่ทางบริษัทเอกชนเสนอจะกันพื้นที่ จำนวน 2 งาน และย้ายโต๊ะบาลัย มาอยู่ในบริเวณเดียวกัน ว่า สำหรับข้อเสนอดังกล่าวนั้นทางชาวบ้านไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากโต๊ะบาลัย ถือว่าเป็นสถานที่ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมไม่สามารถที่จะย้ายมาได้ ชาวบ้านยังจำเป็นที่จะต้องใช้โต๊ะบาลัยในบริเวณเดิม
ส่วนกรณีที่ทางจังหวัดเสนอทางออกให้ใช้พื้นที่สาธารณะซึ่งอยู่ถัดจากที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเป็นทางเดินนั้น จุดนี้ก็เช่นกันไม่สามารถที่จะรับได้เพราะในช่วงมรสุมชาวบ้านไม่สามารถที่จะใช้เส้นทางดังกล่าวในการสัญจรได้ เนื่องจากน้ำทะเลขึ้นสูง การจอดเรือก็ไม่สามารถจอดได้ต้องย้ายเรือมาจอดบนฝั่ง ซึ่งจริงแล้วข้อเสนอจากทั้งทางจังหวัด และเจ้าของที่พิพาทในส่วนของชาวไทยใหม่ไม่สามารถรับได้ แต่ก็ต้องรับสภาพซึ่งจะต้องรอดูข้อสรุปร่วมกับคณะทำงานชุดจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง
การดำเนินการของชาวบ้านหลังจากนี้ก็จะทำเรื่องไปยังศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองเป็นการชั่วคราวกรณีให้ชาวบ้านใช้ทางสัญจรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และที่สำคัญก็จะต้องมาต่อสู้กันทางกฎหมายในเรื่องของการออกเอกสารสิทธิที่ดินว่ามีการออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวันนี้ได้มีตัวแทนเจ้าของที่ดินแปลงที่ชาวไทยใหม่เข้าไปอาศัยตั้งชุมชน ซึ่งอยู่ใกล้กับที่ดินที่กำลังเป็นกรณีพิพาทเรื่องทางสัญจร มาร่วมชี้แจงข้อเท็จจริง และสังเกตการณ์ กรณีการครอบครองที่ดินที่มีชาวไทยใหม่เข้าไปอาศัย และเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาขึ้น โดยนายวีระชัย ตันติวัฒนวัลลภ ตัวแทนเจ้าของที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 8324 ซึ่งขณะนี้ชาวไทยใหม่เข้าไปอาศัยอยู่เต็มพื้นที่ 5 ไร่ กล่าวว่า กรณีปัญหาที่ดินที่ชาวไทยใหม่เข้าไปอยู่อาศัยกับเจ้าของที่ดินซึ่งมีเอกสารสิทธิเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งปัจจุบันชาวไทยใหม่อาศัยอยู่ในที่ดินที่มีโฉนดประมาณ 19 ไร่ โดยเป็นที่ดินที่มีเจ้าของทั้งสิ้น และมีแปลงใหญ่อยู่ประมาณ 4 ราย
ในส่วนของตน และครอบครอบนั้นมีอยู่ประมาณ 5 ไร่ เดิมที่ดินดังกล่าวอยู่ในการครอบครองของ นายพันล้อม วงศ์จันทร์ มาก่อนที่จะมีการขอออก ส.ค.1 ซึ่ง การขอออก ส.ค 1.นั้นได้ขอออกเมื่อ ปี 2498 และมาออกเป็นโฉนดในสมัย นายทัน มุกดี ซึ่งเป็นลูก หลังจากนั้นที่ดินดังกล่าวต่อตกทอดมาเรื่อยๆ ซึ่งในสมัยนายทัน มุกดี ครอบครองก็เริ่มที่จะมีชาวไทยใหม่เข้ามาอาศัย ซึ่งตอนนั้นมีจำนวนไม่มากนักก็ให้อาศัยมาเรื่อย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นทั้งที่อยู่อาศัยของครอบครัว และปลูกต้นมะพร้าว แต่หลังๆ ก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจึงได้ให้ทำสัญญาเช่า ช่วงแรกก็มีประมาณ 20 ราย โดยคนที่อาศัยอยู่ในที่ดินก็รับจ้างขึ้นมะพร้าวให้แก่เจ้าของที่ ต่อมา ชาวไทยใหม่ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนขยายพื้นที่ออกไปจำนวนมาก มีการโค่นต้นมะพร้าวที่เจ้าของที่ปลูกไว้ หลังๆ ก็พยายามที่จะยึดที่ และข่มขู่ไม่ให้เจ้าของเข้าในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เกิดขึ้นอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะดีเอสไอ และสื่อมวลชนมาสอบถามในส่วนของเจ้าของที่ดินด้วย การที่จะมาบอกว่าชาวเลอาศัยมาเป็นร้อยปี แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีถามว่าเจ้าของที่ดินอยู่กันมาอย่างไร คนราไวย์ อยู่กันมาอย่างไร มีการครอบครองกันมาอย่างไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งเจ้าของที่ดินมีหลักฐานทุกอย่าง แต่การเข้ามาของชาวเลเข้ามาอย่างไร ไม่เคยมีการสอบถามเรื่องนี้ อยากให้ผู้สื่อข่าว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเป็นธรรมต่อเจ้าของที่ดินด้วย ตอนนี้เจ้าของที่ดินกำลังตกเป็นจำเลยของสังคม
สำหรับหลักฐานการครอบครองที่ดินนั้นมีหลักฐานอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในแปลงของครอบครัวตนนั้นไม่เคยขายที่ดินต่อให้ใคร มีการครอบครองมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ในส่วนเจ้าของที่ดินหลายๆ รายก็ได้มีการพูดคุยกันถึงแนวทางที่จะทำอย่างไรให้มีการพัฒนาที่ดินที่มีปัญหาให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น และทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้ชาวไทยใหม่ได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีอาชีพ และมีรายได้ ซึ่งได้มีการพูดคุยกับทางจังหวัดถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว มีการเสนอไปยังรัฐบาล
และในการเดินทางมาวันนี้ก็ได้มีการตกลงกันในส่วนของครอบครัว และเจ้าของที่ดินบางรายว่า ยินดีที่จะขายที่ดินที่ชาวไทยใหม่อาศัยอยู่ในปัจจุบันให้แก่ทางราชการเพื่อนำไปจัดสรร และพัฒนาให้เป็นที่อยู่อาศัยให้แก่ชาวไทยใหม่ และทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวอาจจะสร้างเป็นศูนย์วัฒนธรรมชาวไทยใหม่ก็ได้ สำหรับในส่วนของต้นนั้นมี 5 ไร่ ให้ทางราชการกำหนดราคาซื้อลงมาได้เลย พร้อมที่จะร่วมกับทางจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภายหลังแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนแล้วเสร็จ นายจำเริญ ได้มาพบปะกับชาไทยใหม่ที่มาฟังผลการประชุมหารือ โดยบอกแก่ชาวไทยใหม่ว่า จะใช้ที่ดินสาธารณะบริเวณด้านหลังกำแพงกั้นคลื่นมาปรับปรุงเป็นทางเดินสำหรับสัญจรไปมาในการประกอบพิธีกรรม โดยได้แต่งตั้งให้นายประเจียด อักษรธรรมกุล รองผู้ว่าฯ ภูเก็ต เป็นหัวหน้าคณะทำงานลงพื้นที่สำรวจแนวที่ดินดังกล่าวในเร็วๆ นี้ ซึ่งชาวไทยใหม่พอใจผลสรุปในระดับหนึ่ง แต่จะต้องรอดูผลการลงพื้นที่ของคณะทำงานในการกำหนดแนวเขตทางเดินริมหาดว่าสามารถใช้ได้จริงได้หรือไม่