xs
xsm
sm
md
lg

นายกเมืองพัทยาออกหนังสือ ค.1 แจ้งโครงการ “วอเตอร์ฟร้อนท์” เร่งแก้ไขแบบแปลนอาคารใน 45 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกเมืองพัทยาออกหนังสือ ค.1 แจ้งโครงการ “วอเตอร์ฟร้อนท์” เร่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบแปลนอาคารใน 45 วัน หลังพบยังติดปัญหาพื้นที่ใช้สอยมีขนาดเกินกว่าที่ได้รับอนุญาตกว่า 5,000 ตร.เมตร พร้อมเตรียมประสาน สผ.ขอความเห็นชอบการดำเนินการตามขั้นตอน

สำหรับกรณีปัญหาโครงการคอนโดวอเตอร์ฟร้อนท์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนซ์ ที่มีการร้องเรียนต่อเนื่องไปยังหลายหน่วยงานว่า โครงการดังกล่าวมีปัญหาทั้งในเรื่องของการก่อสร้างต่อเติมอาคารผิดแบบ เรื่องของการบุกรุกที่สาธารณะ ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ซึ่งจนถึงปัจจุบันโครงการดังกล่าวก็ยังถูกระงับการก่อสร้างจนส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อการลงทุน และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะจัดการอย่างไร กระทั่งทาง สผ.ได้ลงความเห็นให้เมืองพัทยาในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการพิจารณาความเห็นชอบโครงการในฐานะที่กำกับดูแลกฎหมายด้านการควบคุมอาคารโดยตรง

ด้วยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงการก่อสร้างโครงการดังกล่าวไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม และเข้าข่ายการกระทำผิดตามกฎหมาย ขณะที่ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดประชุมหารือโดยเชิญเมืองพัทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวแทนของโครงการเข้าร่วมเจรจา หลังทางโครงการทำหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีแนวทางที่ให้เมืองพัทยาทำการเร่งรัดการตรวจสอบแบบให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งจะเน้นไปในเรื่องรายละเอียดของอาคาร และส่วนประกอบสำคัญที่ได้ขออนุญาตไว้ว่าครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ ก่อนมอบหมายให้ทางโครงการแก้ไข และส่งผลปฏิบัติกลับมาตรวจสอบ ซึ่งหากพิจารณาแล้วปรากฏว่า แก้ไขถูกต้องตามข้อกฎหมายก็ให้เมืองพัทยาอนุญาตให้ก่อสร้างได้ต่อไป

กระทั่งเมืองพัทยาได้ทำการตรวจสอบแบบอย่างละเอียด และเร่งด่วน ก่อนทักท้วงไปยังโครงการเกี่ยวกับปัญหาการก่อสร้างที่ไม่ตรงกับแบบที่ได้รับอนุญาตในหลายส่วน ซึ่งเป็นปัญหาทางด้านสถาปัตยกรรม และวิศวกรรม จำนวน 26 ข้อ เพื่อให้ทางโครงการจัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังบริเวณแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน หรือรายการคำนวณให้ถูกต้อง และเป็นไปตามกฎกระทรวง หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้นภายในกำหนด 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้

ต่อมา จากผลของการประชุมของคณะทำงานการตรวจสอบปัญหาโครงการ วอเตอร์ฟร้อนท์ พบว่า งานทางด้านสถาปัตยกรรม และวิศวกรรมของโครงการที่พบปัญหา จำนวน 26 ข้อ ที่เมืองพัทยาสั่งให้ทำการชี้แจง และแก้ไขนั้นยังคงมีอยู่ 2 ข้อที่ยังคงติดปัญหาอยู่ ได้แก่ 1.ปัญหาเรื่องของพื้นที่จอดรถระบบไฮดรอลิก และการบริหารจัดการการจอดรถของโครงการ และ 2.กรณีของพื้นที่ใช้สอยของโครงการนั้นตามที่ขออนุญาตเดิมจะมีพื้นที่โดยรวม 38,000 ตารางเมตร แต่จากการตรวจสอบพบว่า พื้นที่รวมของอาคารปัจจุบันมีสัดส่วนเกินจากที่ขออนุญาตไว้รวม 5,090 ตารางเมตร จนเป็นเหตุให้เมืองพัทยาไม่สามารถอนุญาตดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ตามกำหนดเดิมในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นั้น

ล่าสุด วันนี้ (17 ก.พ.) แหล่งข่าวระดับสูงจากเมืองพัทยา เปิดเผยว่า ขณะนี้ นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ได้อาศัยอำนาจในฐานะเจ้าพนักงานส่วนท้องถิ่นที่กำกับดูแลในส่วนของกฎหมายควบคุมอาคาร ได้ลงนามคำสั่งให้เปลี่ยนแปลงแผนผังบริเวณแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน หรือรายการตำนวณตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง หรือ ค.1 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เพื่อแจ้งไปยัง บ.บาลีฮาย จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 301 ม.10 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ตามคำขออนุญาตที่ 2 กันยายน 2558 เพื่อทำการขอเปลี่ยนแปลงอาคารนั้นมีข้อความสำคัญปรากฏว่า (1) แผนผังบริเวณแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน หรือรายการคำนวณยังไม่ถูกต้อง และไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 (2) คำขออนุญาตที่ยื่นไว้ยังขาดเอกสารไม่ถูกต้อง โดยให้จัดการแก้ไข เปลี่ยนแปลงแผนผัง บริเวณแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน หรือรายการคำนวณในถูกต้อง และเป็นไปตามกฎกระทรวง หรือข้อบัญญัติท้องถิ่น และให้ไปขอรับคำขอใบอนุญาตคืน เพื่อจัดการแก้ไข และจัดส่งเอกสารให้ถูกต้องภายใน 45 วัน นับแต่ได้รับคำสั่ง โดยหากพ้นกำหนดแล้วให้ถือว่าได้เพิกถอนคำขออนุญาตที่ได้ยื่นนั้น

โดยมีการขอที่ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง 2 กรณีหลัก ได้แก่ 1.กรณีทางด้านสถาปัตยกรรมคือ ให้ชี้แจงรายละเอียดการจอดรถแบบไฮดรอลิก และการบริหารจัดการการจอดรถของโครงการให้ชัดเจน ด้วยการบริหารจัดการรถที่มีขนาดความสูงแตกต่างกันจะมีการจัดสรรที่จอดรถอย่างไรให้สัมพันธ์ต่อการใช้งานจริง โดยขอให้แสดงมาตรการและแผนการจัดกรตลอดจนรายละเอียดของแผนบุคลากรที่จะใช้ในการจัดการในกรณีฉุกเฉิน หรือไฟฟ้าดับควรจะมีระบบไฟฟ้าสำรองเพื่อจ่ายให้แก่ระบบที่จอดรถไฮดรอกลิคได้ด้วย และให้แสดงในแบบระบบเครื่องกล และไฟฟ้าให้ครบถ้วน รวมทั้งให้แสดงตัวอย่างของโครงการที่ใช้ระบบดังกล่าวโดยระบชื่อโครงการ และที่ตั้ง

และ 2.เรื่องของพื้นที่ใช้สอย เนื่องจากพื้นที่ส่วนที่ไม่ได้ใช้สอยระบุไว้ในแบบแต่มีลักษณะเป็นพื้นที่คอนกรีตที่รวมกันมีขนาดมากกว่า 5,000 ตารางเมตร ซึ่งโครงการต้องชี้แจงรายละเอียดของพื้นที่ใช้สอยเนื่องจากอาคารนี้เป็นอาคารชุดพักอาศัยจึงจะมีวิธีการจัดการต่อกรรมสิทธิ์ของพื้นที่ส่วนที่ไม่ใช้สอยเหล่านี้อย่างไร เช่น จะใช้เป็นพื้นที่ส่วนกลางหรือไม่ หรือจะมีการนำไปจดทะเบียนขายให้แก่ผู้ซื้ออาคารชุดหรือไม่อย่างไร ตลอดจนมาตรการหลังจากการโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อไปแล้วว่าผู้ซื้อจะไม่มีการปรับเปลี่ยนไปใช้เป็นพื้นที่ใช้สอยอาคารเพิ่มอีก ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการพิจารณาอนุญาตต่อไป

แหล่งข่าวยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีของเรื่องพื้นที่รวมของโครงการที่พบว่ามีพื้นที่เกินกว่าการขออนุญาตถึง 5,090 ตารางเมตรนั้น เมืองพัทยาเองก็คงต้องการความชัดเจนในการปฏิบัติในแง่ของกฎหมาย จึงเตรียมประชุมร่วมในส่วนของฝ่ายนิติกรเมืองพัทยาเพื่อหาบทสรุป รวมทั้งการจัดส่งหนังสือไปสอบถามยังสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อขอความเห็นในการดำเนินการต่อไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น