เอาแน่! “ทีมเศรษฐกิจสมคิด” ถก “มหาดไทย” จ่อยืม “เงินฝากท้องถิ่น” จากสถาบันการเงิน ที่มีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 3 แสนล้านบาท มาขับเคลื่อนภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก เผย ปี 2557 จัดเก็บจาก อปท. มีรายได้รวม 565,901.00 ล้านบาท ส่วนการจัดเก็บจาก อปท. ถึงไตรมาสสาม มีรายได้รวม 476,416.70 ล้านบาท
วันนี้ (7 ก.พ.) มีรายงานว่า ภายหลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ เพื่อการขับเคลื่อนภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก โดยมีแนวคิดจะนำเงินฝากขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับสถาบันการเงินรอการเบิกจ่ายไปใช้ในการลงทุนและฝากใช้ ซึ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียนกว่า 3 แสนล้านบาทนั้น
“หากนำออกมาใช้เพียงบางส่วน จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ภายในท้องถิ่น จึงต้องศึกษาแนวทางการลงทุนให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น ดังนั้น ต่อไปรัฐบาลจะร่วมมือผ่านเครือข่ายสหกรณ์ อปท. สภาเกษตรกร ช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจในระดับแนวนอนมากขึ้น” นายสมคิด ระบุไว้
และว่า โดยที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามส่งเสริมการลงทุนตำบลละ 5 ล้านบาท วงเงิน 36,275 ล้านบาท เพื่ออัดฉีดเงินสู่ระบบฐานราก แต่ยังเบิกจ่ายได้ล่าช้า และค้างท่ออยู่น่าจะออกสู่ระบบได้หมดในช่วงไตรมาส 2 ดังนั้น ครม. จึงเห็นชอบอัดฉีดเม็ดเงินผ่านกองทุนหมู่บ้านเพิ่มเติมอีก 35,000 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้กองทุนหมู่บ้านละ 5 แสนบาท พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น คาดว่า จะออกสู่ระบบได้ช่วงปลายเดือนก.พ. นี้ โดยการเงินอัดฉีดโดยตรงผ่านกองทุนหมู่บ้านทุกแห่ง จะให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงสีข้าวชุมชน รถสีข้าว รถเกี่ยวข้าวลานตากข้าว แหล่งน้ำชุมชน เพื่อใช้เงินพัฒนาแนวทางดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จึงคาดว่าจะประคับประคองเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีแรกให้ผ่านพ้นไปได้ โดยไม่ได้หวังให้เศรษฐกิจเติบโตสูง
มีรายงานว่า จากการกระจายอำนาจการบริหารจัดการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตั้งแต่ปี 2544 ตามรัฐธรรมนูญ 2540 รัฐบาลต้องจัดสรรภาษี งบอุดหนุน และรายได้อื่น ๆ ไม่น้อยกว่า 20% และกำหนดว่าในปี 2549 ต้องเพิ่มไม่น้อยกว่า 35% ของรายได้รัฐแต่ละปี
ตามกฎหมาย อปท. จะมีรายได้อยู่ 3 ทาง คือ 1. รายได้รัฐบาลกลางจัดเก็บให้และจัดสรรไปให้ อปท. 2. งบอุดหนุนจากรัฐบาลกลาง และ 3. รายได้ที่ อปท. เป็นผู้จัดเก็บเองและการกู้เงิน ขณะที่กลไกหรือเส้นทางการใช้จ่ายเงินของ อปท. ทั้งที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลกลางและในส่วนที่ อปท. จัดเก็บเอง จากรายงานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่รวบรวมเงินฝาก ซึ่งเปิดในชื่อ “อปท.” เป็นเจ้าของบัญชีกระจายอยู่ตามบัญชีเงินฝากของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
รวมทั้งเงินที่ อปท. สะสมไว้กับกองทุนของกระทรวงมหาดไทย 2 กองทุน ณ เวลาใดเวลาหนึ่งมาประกอบการวิเคราะห์ปริมาณสภาพคล่องทางการเงินของ อปท. ประกอบไปด้วย เทศบาล อบจ. อบต. กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร และ อปท. และกองทุนเงินสะสมอีก 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล และกองทุนเงินสะสมองค์การบริหารส่วนจังหวัด ชื่อว่า “รัฐบาลท้องถิ่น” (Local Governmemt ) ได้แก่ เงินรับฝากของท้องถิ่น คือ เงินรับฝากทุกประเภทที่ท้องถิ่น ฝากไว้ที่สถาบันรับฝากเงิน โดยในข้อมูลเผยแพร่ของ ธปท. ใช้ว่า “เงินฝากของรัฐบาลท้องถิ่น”
มีรายงานว่าด้วยว่า ที่ผ่านมา เมื่อปี 2554 กระทรวงการคลัง เคยพยายามหาทางนำเงินฝากจาก อปท. กลับเข้ามาอยู่ในงบประมาณภายใต้การกำกับดูแลของกรมบัญชีกลาง เมื่อหน่วยงานเหล่านี้ต้องการใช้จ่ายเงินก็จะต้องเรื่องมาขอเบิกเงินจากออกไปกรมบัญชีกลาง
โดยช่วงนั้นมีการระบุว่า เป็นเงินนอกงบประมาณที่จะดึงเข้ามาอยู่ในงบประมาณ จะทำให้ระดับเงินคงคลังเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้การปรับลดวงเงินในการออกพันธบัตรกู้เงิน โดยรักษาสัดส่วน หรือระดับเงินคงคลังไว้ให้พอดีกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เพื่อลดต้นทุนเงินกู้ลง แต่อย่างไรก็ตาม การดึงเงินนอกงบประมาณเข้ามาอยู่ในงบประมาณไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะ อปท. มีหน่วยงานในสังกัดเป็นจำนวนมาก รัฐบาลช่วงนั้น ไม่ได้ตัดสินใจเพื่อยกร่างแก้ไขกฎหมาย อปท.
ทั้งนี้ พบว่า ล่าสุด จากข้อมูลจากส่วนสถิติการคลัง สำนักนโยบายการคลัง กระทรวงการคลัง เผยแพร่ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2558 เป็นข้อมูลฐานะการคลังของ อปท. ประกอบด้วย ข้อมูลรายได้ของ อปท. และรายได้ของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ข้อมูลรายได้จากการจัดสรรภาษีที่รัฐจัดเก็บหรือแบ่งให้ (ข้อมูลกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น) หมวดเงินอุดหนุน (ข้อมูลกรมบัญชีกลาง) รายจ่าย เป็นประมาณการจากการเปลี่ยนแปลงเงินฝากสุทธิของ อปท. ในระบบธนาคาร และเป็นข้อมูลรายได้หักด้วยรายจ่ายประมาณการเปลี่ยนแปลงเงินฝากสุทธิของ อปท. ในระบบธนาคาร
พบว่า ใน 3 ปี (2556 - 2558) โดยปีงบประมาณ 2555 สำนักนโยบายการคลัง จัดเก็บจาก อปท. จำนวน 1,829 แห่ง จากจำนวน 7,853 แห่ง มีรายได้รวม497,435.56 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2556 สำนักนโยบายการคลัง จัดเก็บจาก อปท. จำนวน 2,224 แห่ง จากจำนวน 7,853 แห่ง มีรายได้รวม 536,871.29 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2557 สำนักนโยบายการคลัง จัดเก็บจาก อปท. จำนวน 1,878 แห่ง จากจำนวน 7,853 แห่ง มีรายได้รวม 565,901.00 ล้านบาท ขณะที่ ปีงบประมาณ 2558 สำนักนโยบายการคลัง จัดเก็บจาก อปท. ถึงไตรมาสสาม มีรายได้รวม 476,416.70 ล้านบาท
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๘ ลงนาม โดยพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๗ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๗๖ แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๖๙ และมาตรา ๗๗ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๕ และมาตรา ๘๘ แห่งพระราชบัญญัติสภาตําบล และองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทําบัญชีโดยระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Electronic Local Administrative Accounting System : e-LAAS) ใน ๔ ระบบ ดังนี้
(๑) ระบบงบประมาณ ประกอบด้วย การจัดทําข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปี หรือเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม การโอน และการแก้ไข เปลี่ยนแปลงคําชี้แจงงบประมาณ รวมทั้งการควบคุมงบประมาณและรายงานยอดงบประมาณคงเหลือ
(๒) ระบบรายรับ ประกอบด้วย การรับเงินทุกประเภท รวมทั้งการออกใบเสร็จรับเงินและหลักฐานการรับเงิน รายงานและทะเบียนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
(๓) ระบบรายจ่าย ประกอบด้วย การก่อหนี้ผูกพันและการเบิกจ่ายเงิน รวมทั้งการจัดทําฎีการายงานและทะเบียนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
(๔) ระบบบัญชี ประกอบด้วย การจัดทําบัญชีและทะเบียนต่าง ๆ รวมทั้งการจัดทํารายงานการเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”.