ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผลพวงจากที่ “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ เข้าหารือโดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที กับ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อสัปดาห์ก่อน เป็นการขยายผลที่รัฐบาลมุ่งหวังจะเข้าไปกระตุ้นสภาพเศรษฐกิจในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ตามนโยบายประชารัฐ โดยมุ่งหวังจะใช้ประโยชน์จากกลไกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)
หลังจากที่ต้นเดือนที่ผ่านมา นายสมคิด ออกมาเปิดเผยว่าได้หารือกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ เพื่อการขับเคลื่อนภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก โดยมีแนวคิดจะนำเงินฝากขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับสถาบันการเงินรอการเบิกจ่ายไปใช้ในการลงทุนและฝากใช้ ซึ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียนกว่า 3 แสนล้านบาท
“หากนำออกมาใช้เพียงบางส่วน จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาโครงการต่างๆ ภายในท้องถิ่น จึงต้องศึกษาแนวทางการลงทุนให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น ดังนั้นต่อไปรัฐบาลจะร่วมมือผ่านเครือข่ายสหกรณ์ อปท. สภาเกษตรกร ช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจในระดับแนวนอนมากขึ้น”นายสมคิดระบุไว้
วันนั้น พล.อ.อนุพงษ์ ยอมรับว่า มีการพูดคุยประเด็นที่จะนำเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วเรื่องนี้ก็กำลังให้ทาง “กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.)” ไปดูแต่ละพื้นที่ก่อน จะสามารถทำตามนโยบายได้อย่างไร แต่ก็ได้เน้นไปว่าให้ใช้กับการแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำ หรือการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์กับท้องถิ่นนั้นๆ
รมว.มหาดไทย ระบุว่า ระยะเวลาที่จะนำเม็ดเงินมาใช้ได้จะอยู่ในช่วงปลายมี.ค.-เม.ย.นี้ ซึ่งต้องอิงกฎหมาย และระเบียบที่ทางท้องถิ่นมีอยู่ อย่างไรก็ตาม รมว.มหาดไทย ยังไม่ทราบว่า เงินทุนหมุนเวียนในอปท. จะนำมาใช้เท่าไร แม้ รองนายกฯ และรมว.คลัง ระบุเช่นกันว่า จะนำไปใช้จำนวน 30 %ของยอดเงินสะสมของอปท.มาใช้ แต่ก็ได้เน้นย้ำให้ไปใช้ประโยชน์ให้กับพื้นที่
ประเด็นนี้ “นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.คลัง บอกว่า เม็ดเงินนี้ถือเป็นโครงการที่กระทรวงมหาดไทยจะนำไปพิจารณา
"รัฐบาลไม่ได้คิดที่จะเอามาทั้งหมด 3 แสนล้านบาท ถ้ามีการนำมาใช้แค่ 30% ถือว่าดีมากแล้ว ซึ่งการนำมาใช้นั้นต้องมีการแก้ระเบียบของกระทรวงมหาดไทย เพราะมีระเบียบล็อกเงินตรงนี้ไว้พอสมควร เพราะเขาก็กลัวนำเงินไปใช้สุรุ่ยสุร่าย ซึ่งการนำเงินมาใช้นั้นให้ท้องถิ่นนำไปใช้ลงทุนในโครงการของท้องถิ่นเอง เพราะตรงนี้เป็นเงินของท้องถิ่น ไม่ได้ดึงมาเป็นเงินของส่วนกลาง"
ทั้ง รมว.คลัง รวมถึงโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาย้ำเช่นกันว่า “ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลถังแตก” เพราะรัฐบาลยังมีเงิน รวมถึงเงินคงคลังยังอยู่ในระดับสูง ขณะนี้ยังสามารถจัดทำงบประมาณปกติได้ในทุกปี แต่มองว่าเงินของท้องถิ่นที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลกว่า 10 ปี ตามพ.ร.บ.การกระจายอำนาจนั้น มีเงินอยู่กว่า 3 แสนล้านบาท และเงินดังกล่าวถูกนำไปฝากธนาคารไว้เฉยๆ
ดังนั้น หากนักเงินดังกล่าวมาให้ประโยชน์ ให้ท้องถิ่นลงทุนระบบโครงการพื้นฐาน หรือพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว จะช่วยทำให้เงินนั้นกลับมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานของท้องถิ่นดีขึ้น
“ในการโอนเงิน ให้ท้องถิ่นนั้น จริงๆ ต้องมีงาน หรือภารกิจที่ต้องโอนให้ท้องถิ่นดำเนินการด้วย แต่บางครั้งงานไม่ได้ โอนลงไป ทำให้เงินที่ท้องถิ่นสะสมไว้สูงมาก พอตอนไปทำงบประมาณประจำปี 2559 พบว่า เงินท้องถิ่นมีเงินฝากไว้ถึง 3 แสนล้านบาท จึงหารือกับกระทรวงมหาดไทยขอให้นำเงินดังกล่าวมาใช้ เพราะเงินที่จะนำมาลงทุนตรงนี้ถือเป็นการลงทุนภาครัฐตัวหนึ่งเหมือนกัน ดังนั้นไม่ควรเก็บไว้เฉยๆ ถ้านำเงินมาใช้เงินจะได้หมุนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมหาดไทยเห็นด้วยและก็กำลังทำอยู่” นายอภิศักดิ์ ระบุ
ล่าสุดมีข้อมูล จากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ที่กระทรวงการคลังจะนำเม็ดเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ที่มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เทศบาล องค์การบิหารส่วนตำบล (อบต.) พัทยา และกทม. รวมจำนวน 7,853 แห่งทั่วประเทศ ในปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา มียอดเงินสะสมอยู่ประมาณ 215,105 ล้านบาท
โดยเป็นเงินสะสมของอบจ. จำนวน 25,254 ล้านบาท เทศบาล จำนวน 98,570 ล้านบาท อบต.จำนวน 82,874 ล้านบาท เมืองพัทยาจำนวน 1,646 ล้านบาท และกทม.จำนวน 6,760 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมีการนำไปใช้ตามนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 30% ของเม็ดเงิน 215,105 ล้านบาท มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะสามารถนำเงินไปใช้ได้ประมาณ 64,531 ล้านบาทเท่านั้น ที่เหลือใช้เก็บสำรองฉุกเฉินด้านต่างๆเช่น กรณีเงินเดือนจ่ายค่าบุคคลากรล่าช้า เบี้ยคนพิการ เบี้ยคนชราหรือกรณีเกิดภัยพิบัติ เป็นต้น
ย้อนกลับไปดูที่มาของเงินดังกล่าวเกิดจากการกระจายอำนาจการบริหารจัดการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตั้งแต่ปี 2544 ตามรัฐธรรมนูญ 2540 รัฐบาลต้องจัดสรรภาษี งบอุดหนุนและรายได้อื่นๆ ไม่น้อยกว่า 20 % และกำหนดว่าในปี 2549 ต้องเพิ่มไม่น้อยกว่า 35 % ของรายได้รัฐแต่ละปี
ตามกฎหมายอปท. จะมีรายได้อยู่ 3 ทาง คือ 1. รายได้รัฐบาลกลางจัดเก็บให้และจัดสรรไปให้อปท. 2. งบอุดหนุนจากรัฐบาลกลางและ 3. รายได้ที่อปท. เป็นผู้จัดเก็บเองและการกู้เงิน ขณะที่กลไกหรือเส้นทางการใช้จ่ายเงินของ อปท. ทั้งที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลกลางและในส่วนที่ อปท.จัดเก็บเอง โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นฝ่ายรวบรวมเงินฝาก ในชื่อบัญชี “อปท.” เป็นเจ้าของบัญชีกระจายอยู่ตามบัญชีเงินฝากของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
รวมทั้งเงินที่อปท. สะสมไว้กับกองทุนของกระทรวงมหาดไทย 2 กองทุน ณ เวลาใดเวลาหนึ่งมาประกอบการวิเคราะห์ปริมาณสภาพคล่องทางการเงินของ อปท.ประกอบไปด้วย เทศบาล อบจ. อบต. กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร และอปท. และกองทุนเงินสะสมอีก 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล และกองทุนเงินสะสมองค์การบริหารส่วนจังหวัด ชื่อว่า “รัฐบาลท้องถิ่น” (Local Governmemt ) ได้แก่ เงินรับฝากของท้องถิ่น คือ เงินรับฝากทุกประเภทที่ท้องถิ่น ฝากไว้ที่สถาบันรับฝากเงิน โดยในข้อมูลเผยแพร่ของธปท. ใช้ว่า “เงินฝากของรัฐบาลท้องถิ่น”
ดังนั้นแนวคิดที่จะนำเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็กำลังเดินหน้าให้ทันใช้เงินในเดือนเมษายนนี้ ขณะที่ การดำเนินการจัดทำงบประมาณปี 2560 ก็เดินหน้าเช่นกัน
วันก่อน “สำนักงบประมาณ” ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแนวทางการปฏิรูปการจัดทำงบประมาณ ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ในลักษณะการบูรณาการการใช้งบไม่ให้ซ้ำซ้อนและเกิดประโยชน์สูงสุด
มีการเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายวิธีงบประมาณ กำหนดหลักความรับผิดชอบทางการคลัง การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่สำหรับจัดทำแผนในระดับพื้นที่จังหวัด กลุ่มจังหวัด และ อปท. การเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงบประมาณ และการปรับปรุงระบบติดตามและประเมินผลเป็นต้น
ยังเสนอให้จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยให้ยึดยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาล แผนปฏิรูปภาครัฐ นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ และแผนอื่นๆ โดยจัดทำกรอบงบประมาณรายรับและรายจ่ายล่วงหน้า 20 ปี และยุทธศาสตร์การจัดสรร งบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้ส่วนราชการใช้ในการจัดทำคำของบประมาณประจำปี
มีการเสนอเปลี่ยนแปลงการจัดงบประมาณประจำปี โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มภารกิจ พื้นฐาน 2.กลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์ นโยบายเร่งด่วน แนวทางปฏิรูปภาครัฐ งบประมาณบูรณาการ 3.กลุ่มภารกิจพื้นที่ ท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด 4.กลุ่มงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบภัยพิบัติหรืองบเร่งด่วนและ 5.รายจ่ายชดเชยเงินกู้และดอกเบี้ย
นายกรัฐมนตรี ยังมอบหมาย “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อเสนอของสำนักงบประมาณไปใช้ในการดำเนินการจัดทำงบประมาณปี 2560
มีข้อสังเกตว่า “ในการจัดทำงบประมาณปี 2560 ให้ส่วนราชการจัดทำงบประมาณรายจ่ายภายใต้มิติรายจ่ายภารกิจพื้นฐาน มิติรายจ่ายภารกิจยุทธศาสตร์ และมิติรายจ่ายภารกิจพื้นที่ ให้เกิดความเชื่อมโยงและสอดรับกัน ทั้งนี้ ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณากลไกในการเชื่อมโยงงบจังหวัดและงบ อปท. กับยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ระยะ 20 ปี และงบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้สำนักงบประมาณชี้แจงและทำความเข้าใจแนวทางจัดทำงบประมาณรูปแบบใหม่กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง"
พูดง่าย ๆก็คือ ให้ไปรื้อวิธีการจัดทำงบประมาณแบบเก่า เพื่อแก้กฎหมายให้ จังหวัด อปท. ท้องถิ่น เป็นหน่วยงานรับงบประมาณ ปี 2560 เป็นหลัก “ใช้เงินสะสม อปท. แล้ว ก็ต้องหาทางส่งเงินให้ อปท. ได้ใช้”.