xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กป้อม” สั่งเร่งทางเลียบเจ้าพระยา เสร็จก่อนปี 61 ไฟเขียว 120 ล้าน จ้าง “สจล.- มข.” ที่ปรึกษาโครงการ ตลอดสองฝั่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้งที่ 1/2559
“บิ๊กป้อม” สั่งเร่งผุด “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” เปิดซอง ต.ค. 59 - เสร็จใช้ปี 61 ไฟเขียว 120 ล้านบาท ให้ กทม. จ้าง “ม.ลาดกระบัง - ม.ขอนแก่น” เป็นที่ปรึกษาโครงการ กำหนด 7 เดือน สำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บท ตามกำหนดระยะเวลาใหม่ ที่รัฐบาลเห็นชอบ คาดลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาได้ปลาย ก.พ. 59 นี้ เผยจ้างศึกษาตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขต กทม. 14 กิโลเมตร รวมถึงศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รับฟังความคิดเห็นประชาชน ประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนรับทราบอย่างกว้างขวาง ด้านอดีต ส.ส. ปชป.ย้ำ ยากเป็นจริง แนะ 5 แนวทางทำโครงการ ชี้ ปชช. ต้องมีส่วนร่วม

วันนี้ (17 ก.พ.) มีรายงานว่า ที่ห้องประชุม 1 กระทรวงมหาดไทย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้งที่ 1/2559 เพื่อรับรายงานความคืบหน้าการโครงการและเสนอขอปรับกรอบระยะเวลาดำเนินโครงการใหม่ภายหลังจากดำเนินการจ้างที่ปรึกษาโครงการเรียบร้อยแล้ว มี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม

นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการ รายงานความคืบหน้าโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ว่า อยู่ระหว่างดำเนินการจ้างที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาโดยวิธีตกลง เนื่องจากการจ้างที่ปรึกษาฯ โดยวิธีการคัดเลือกที่ผ่านมา มีผู้ผ่านคุณสมบัติ 2 ราย แต่แสดงความจำนงยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาเพียงรายเดียวเท่านั้น ทำให้คณะกรรมการคัดเลือกที่ปรึกษาโครงการจำเป็นต้องยกเลิกการจ้างที่ปรึกษาโดยวิธีการคัดเลือก และขออนุมัติให้ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาโดยวิธีการตกลง

โดยการจ้างมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่ง กทม. ได้ประสานความร่วมมือกับ “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)” ในการเป็นที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ตอบรับการเป็นที่ปรึกษา โดยจะทำงานร่วมกับ “มหาวิทยาลัยขอนแก่น” คาดว่า จะสามารถลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาได้ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2559

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาโครงการฯ จะดำเนินการสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำแผนแม่บทฯ ไม่เฉพาะระยะทางตามแผนงาน 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 - สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เท่านั้น แต่จะดำเนินการศึกษาให้ตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร รวมถึงศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนรับทราบอย่างกว้างขวางไปพร้อมกัน

มีรายงานว่า กทม. ได้แจ้งต่อคณะกรรมการอำนวยการ ในการขอปรับกรอบระยะเวลาดำเนินการโครงการ (Time Frame) เนื่องจากความล่าช้าในการจัดหาและการจ้างที่ปรึกษาโครงการ ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากลงนามในสัญญาจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ประมาณปลายเดือน ก.พ. 59

จากนั้นที่ปรึกษาโครงการฯ จะใช้เวลาในการศึกษา สำรวจ ออกแบบ และจัดทำแม่บท เป็นระยะเวลา 7 เดือน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการประมูลจ้างผู้รับเหมาดำเนินโครงการได้ในเดือน ต.ค. 59 และโครงการจะสามารถแล้วเสร็จประมาณในปี 2561 ในส่วนของการรื้อย้ายชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยานั้น คณะกรรมการอำนวยการฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการสำรวจและพิจารณาจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้แก่ชุมชนที่รุกล้ำและได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ ซึ่งผลสำรวจเบื้องต้นมีบ้านเรือนรุกล้ำจำนวน 256 หลังคาเรือน

มีรายงานว่า รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาดำเนินงานใหม่ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์โครงการให้ผู้ประชาชนรับทราบและเข้าใจถึงวัตถุประสงค์โครงการ รวมถึงนำความต้องการและความคิดเห็นของประชาชนมาเป็นข้อมูลในการศึกษาและออกแบบโครงการ โดยให้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานต่อคณะกรรมการอำนวยการทุกเดือน

อนึ่ง โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ และใช้ประโยชน์ร่วมกัน อาทิ ทางเดิน ทางจักรยาน สถานที่ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อสุขภาพและนันทนาการ เกิดทัศนียภาพสวยงามและจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทยที่ประชาชนทุกคนได้ใช้สอยอย่างคุ้มค่าร่วมกัน

มีรายงานว่า โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ กทม. ได้จัดทำรายละเอียดให้ทันประมูลก่อสร้าง โดยงบที่นำมาใช้ก่อสร้างเป็นงบประจำปี จำนวนเงิน 14,006 ล้านบาท ระยะแรกของโครงการจะสร้างบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มที่สะพานพระราม 7 จนถึงบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า รวมระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ทางเดินติดริมแม่น้ำกว้าง 7 เมตร สวนหย่อม 3 เมตร ทางจักรยานกว้าง 7 เมตร ทางเท้า - บันได 2.50 เมตร ส่วนคอนกรีตที่ยื่นลงไปในแม่น้ำข้างละ 20 เมตร แต่ล่าสุดมีการปรับรูปแบบก่อสร้างใหม่ให้เล็กลง จากเดิมกว้างฝั่งละ 19.5 เมตร เหลือฝั่งละ 5 - 12 เมตร เพื่อลดแรงต้าน ทางเลียบเจ้าพระยา

กทม. ได้กำหนดการจัดจ้างที่ปรึกษา ออกแบบรายละเอียดแผนแม่บทเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ยื่นขออนุมัติงบประมาณจาก ครม. เดือนมีนาคม 2559 เปิดประกวดราคาเดือนเมษายน 2559 และลงนามสัญญาและเริ่มก่อสร้างในเดือนมิถุนายน 2559 จะใช้งบประมาณในการเริ่มก่อสร้าง 1,000 ล้านบาท ส่วนงบประมาณที่เหลือเป็นงบประมาณผูกพันปีต่อไปจนแล้วเสร็จในปี 2561

รายละเอียดเดิมโครงการงบประมาณ 14,006 ล้านบาทก่อสร้าง 4 สัญญา ซึ่งจะแบ่งเป็น - ปี 2558 570 ล้านบาท - ปี 2559 - 2560 13,136 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ก้อน - ปี 2559 จำนวน 9,100 ล้านบาท - ปี 2560 จำนวน 4,336 ล้านบาท งบประมาณในส่วนอื่น - งบควบคุมการก่อสร้าง 18 เดือน 250 ล้านบาท ซึ่งการก่อสร้างจะเริ่มขึ้น ในช่วงเดือนตุลาคม- ค่าชดเชยรับฟังความคิดเห็น 500 ล้านบาท - ค่าที่ปรึกษาออกแบบ 120 ล้านบาท ระยะของการออกแบบใช้เวลา ประมาณ 8 เดือน สิ่งก่อสร้างเขตโครงการศาสนสถาน 8 แห่ง สถานที่สำคัญ 19 แห่ง สถานที่ราชการ 8 แห่ง โรงเรียน 8 แห่ง ท่าเรือ 36 แห่ง ร้านอาหาร 6 แห่ง ชุมชนรุกล้ำ 29 แห่ง

อีกด้าน นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัววิจารณ์โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ว่า ยากที่จะเป็นจริง เพราะที่รัฐบาลต้องการให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เร่งก่อสร้างสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทางยาวฝั่งละ 7 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถึงสะพานพระราม 7 เห็นทีว่ายากที่จะเริ่มก่อสร้างได้ในกลางปีนี้ ตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ หลังจากที่เลื่อนมาจากเดือนตุลาคม 2558 เนื่องจากจนถึงวันนี้ กทม. ยังไม่ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ รวมทั้งออกแบบและรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ แต่คาดว่า กทม. จะลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษาได้ในเดือนหน้า ซึ่งต้องใช้เวลาในการศึกษา ออกแบบและรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ 7 เดือน ต่อจากนั้น ต้องใช้เวลาในการประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างอีก 4 เดือน ดังนั้น หากการดำเนินงานต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นผ่านฉลุย ก็จะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในต้นปี พ.ศ. 2560

นายสามารถ กล่าวอีกว่า แต่ตนไม่คิดว่าประชาชนทั้งที่อยู่ใกล้และไกลจากโครงการนี้ จะเห็นด้วยกับแนวคิดและรูปแบบของโครงการที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ดังที่ผ่านมาได้มีกลุ่มคน องค์กร และสถาบันต่าง ๆ แสดงความคิดเห็นในเชิงเสนอแนะ ทักท้วง และคัดค้าน เพราะเขาเหล่านั้นเป็นห่วงว่าทางเลียบเจ้าพระยา ซึ่งเป็นโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่ จะทำให้ทัศนียภาพอันสวยงามของสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาต้องสูญเสียไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ของโบราณสถานที่สำคัญจะถูกลดทอนลงด้วย หากรัฐบาลต้องการให้โครงการนี้เป็นจริง ตนขอเสนอแนะดังนี้

1. ยกเลิกแนวคิดและรูปแบบโครงการที่ต้องการก่อสร้างโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่กว้าง 19.5 เมตร ยาว 7 กิโลเมตร ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อให้คนเดินและปั่นจักรยาน เนื่องจากเป็นรูปแบบที่แข็งทื่อ ไม่สวยงาม ไม่เข้ากับบรรยากาศริมแม่น้ำ

2. ออกแบบทางเลียบเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน มีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่ใช้แบบที่เหมือนกันตลอดเส้นทาง เช่น บางพื้นที่เป็นลานพักผ่อน บางพื้นที่เป็นทางสัญจร บางพื้นที่เป็นสวนหย่อม และบางพื้นที่เป็นโบราณสถาน ย่านประวัติศาสตร์ เป็นต้น ทั้งนี้ จะต้องใช้รูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่สวยงามและเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ไม่ก่อสร้างเป็นเส้นตรงตลอดทาง บางพื้นที่ควรมีแนวโค้งประกอบด้วย

3. ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างเป็นทางยาวต่อเนื่องตลอดระยะทาง 7 กิโลเมตร แต่ควรสร้างเป็นพื้นที่ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจจะยาว 100 - 200 เมตร ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมทางกายภาพ หากพื้นที่ใดมีปัญหาทางกายภาพก็ไม่ควรก่อสร้าง

4. ลดขนาดความกว้างของทางเลียบตามที่กำหนดไว้ คือ 19.5 เมตร ซึ่งกว้างมากเกินความจำเป็น ความกว้างที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 5 - 6 เมตร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

5. ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการศึกษาและออกแบบ ทั้งนี้ เพื่อปรับแนวคิดให้เป็นแนวเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เสียงคัดค้านลดน้อยลง เพราะหากรัฐบาลยังดื้อดึงที่จะเดินหน้าก่อสร้างตามรูปแบบเดิม โดยไม่ยอมรับฟังเสียงท้วงติงจากผู้ห่วงใยทั้งหลายแล้ว เห็นทีโครงการทางเลียบเจ้าพระยาจะเป็นหมันอย่างแน่นอน



กำลังโหลดความคิดเห็น