xs
xsm
sm
md
lg

อปท.พอใจแก้ปัญหางบฯ เฉพาะหน้า เร่งให้ทันงบ 58 “ปนัดดา” รับปรับปีนี้ไม่ทัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
ผลประชุมแก้ปัญหางบฯอุดหนุนองค์กรท้องถิ่น อปท.พอใจ ให้โยกเงินสร้างถนน 2 หมื่นล้าน ชดเชยเงินอุดหนุนทั่วไป เตรียมชงหารือ “นายกฯ ตู่” เร่งถกให้ทันงบฯ 58 รับแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ระยะยาวต้องปฏิรูปจัดสรรงบตามจริง “ปนัดดา” ชี้ ศก.อปท.แต่ละที่ไม่เท่ากัน รวยควรช่วยจน ให้ร่วมถก กก.ที่ตั้งขึ้นให้เห็นปัญหา ทบทวนจัดสรรงบไม่จำเป็น แต่รับปีนี้คงไม่ทัน เร่งแก้ให้ทันงบปีหน้า



วันนี้ (3 ก.ย.) ห้องประชุมอาคารสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมหารือหาแนวทางการแก้ไขปัญหางบประมาณอุดหนุนองค์การปกครองส่วนส่วนท้องถิ่น โดยมีตัวแทนจาก 3 สมาคม ได้แก่ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พร้อมตัวแทนจากสำนักงบประมาณ และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น

นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง นายก ส.ท.ท.กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย (อปท.) ได้รับผลกระทบจากการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนอปท. ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยมีการลดเงินอุดหนุนตามอำนาจหน้าที่ จาก 6.1 หมื่นล้าน เป็น 3.7 หมื่นล้านบาท ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายประจำ เช่น เงินเดือนข้าราชการประจำ ค่าประปา ค่าไฟฟ้า หรือการบริการสาธารณสุขต่อประชาชนในพื้นที่ ขณะที่เงินอุดหนุนเฉพาะกิจกลับเพิ่มขึ้น โดยอ้างว่ารัฐบาลต้องการให้มีงบลงทุนเพิ่มขึ้น และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการประเมินรายได้ท้องถิ่นสูงกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ มีการรวมเอารายการโครงการที่มีวัตถุประสงค์อยู่แล้วมาใส่ไว้ในเงินอุดหนุนทั่วไป ทำให้ไม่สามารถโยกย้ายเงินตรงนี้มาทดแทนในส่วนที่ขาดไปได้ จึงขอให้มีการแก้ไขปัญหาเงินอุดหนุนตามอำนาจหน้าที่ที่หายไปกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหานี้

ด้านนายภาณุ จันทร์เจียวใช้ ผู้อำนวยการสำนักจัดทำงบประมาณด้านความมั่นคง 1 กล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณ ที่ได้เสนอไปแล้วนั้นไม่สามารถแก้ไขใดๆ ได้ เนื่องจากขณะนี้ล่วงเลยขั้นตอนนั้นมาแล้ว และการแปรญัตติในสภาไม่สามารถเพิ่มงบประมาณได้ ทำได้เพียงปรับลดงบประมาณลงเท่านั้น จึงเสนอว่าให้ทำเรื่องเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีหรือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ และยืนยันว่าการจัดทำงบประมาณนั้นทำไปตามหลักการสากล และทำตามนโยบายของ คสช.ที่ต้องการให้มีงบลงทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องจัดสรรงบอุดหนุนเฉพาะกิจเพิ่มขึ้น ส่วนงบอุดหนุนทั่วไปที่มีการเพิ่มรายการต่างๆ มากขึ้นนั้น เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการงบได้เอง ขณะนี้เป็นช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนระบบ แต่จะมีผลดีในระยะยาว และเป็นโอกาสเดียวที่จะเปลี่ยนระบบให้เหมือน อปท.มีอำนาจในการบริหารงบตามที่ อปท.เรียกร้องมาตลอดอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ประชุมหารือใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง โดยนายเกรียงไกรกล่าวว่า ทั้ง 3 สมาคมพอใจในผลสรุป โดยในส่วนงบที่ถูกลดไป 2.4 หมื่นล้านนั้น ที่ประชุมเสนอให้มีการโยกเงินอุดหนุนเฉพาะกิจในส่วนของการก่อสร้างถนนกว่า 2 หมื่นล้านบาท มาชดเชยเงินอุดหนุนทั่วไป ซึ่งจะทำให้บริหารจัดการได้ ถึงแม้เงินจะไม่ครบจำนวนก็ตาม ทั้งนี้จะต้องเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานตามตำแหน่ง เพื่อเรียกประชุมด่วนและเสนอให้ ครม.อนุมัติภายในเดือน ก.ย. เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันการใช้จ่ายงบประมาณปี 2558

นายเกรียงไกรกล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาในครั้งนี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ถ้าจะแก้ปัญหาในระยะยาวนั้นต้องปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณให้แก่ อปท.ใหม่ทั้งระบบ โดยตัดส่วนที่เป็นนโยบายประชานิยมออกจากความรับผิดชอบของงบประมาณส่วนท้องถิ่นและการประเมินการรายได้หรือการจัดสรรงบต้องมองตัวเลขตามความเป็นจริง

ด้าน ม.ล.ปนัดดาให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าหารือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรณีการปรับลดค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุนงบทั่วไปของ อปท.ว่า ทุกคนคงเข้าใจว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจของ อปท.แต่ละแห่งมีไม่เท่าเทียมกัน บางที่ร่ำรวยมาก บางที่ปานกลาง และบางที่ร่ำรวยน้อย ทั้งนี้มองว่า อปท.ใดร่ำรวยมากก็ควรช่วยเหลือ อปท.ที่ร่ำรวยน้อยหรือขาดแคลน ซึ่งสิ่งที่ได้จากการคุยในวันนี้คือทำอย่างไรให้เงินอุดหนุนทั่วไป หรือฟรีแฮนด์ มีความเพียงพอต่อปีงบประมาณปีหน้า ซึ่งปีนี้เราจะตั้งคณะทำงานประกอบด้วย สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาก่อนเสนอให้รัฐบาลรับทราบต่อไป

ม.ล.ปนัดดากล่าวอีกว่า โดยตนได้เสนอเข้าไปยังห้องประชุมโดยขอให้ สปน. กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงผู้แทนของ อปท.เข้าร่วมหารือปัญหาดังกล่าวกับคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้ส่วนกลางได้ทราบข้อมูลโดยตรงจากพื้นที่ เพื่อจะได้จัดสรรงบประมาณต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ไม่ทำให้ อปท.เล็กๆ ต้องขาดรายได้ และไม่ต้องถูกหน่วยงานของภูมิภาคใช้งบประมาณของท้องถิ่นไปดูงานต่างประเทศอย่างที่ผ่านมา อย่างตอนนี้มีปัญหาเกิดขึ้นว่าการจ่ายเงินเดือนให้บุคลากรในสังกัดของท้องถิ่นไม่เพียงพอ เรื่องนี้เราคงต้องขอความร่วมมือจากรัฐบาลเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณให้กับ อปท.ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจมากคงจะต้องมีการทบทวน รวมทั้งการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผู้พิการ อาหารกลางวันเด็กนักเรียน อาหารเสริม ที่เรียกว่าประชานิยม หากใช้งบประมาณจากส่วนอื่นไปดำเนินการจะได้หรือไม่ เพื่อให้ อปท.มีเงินไปใช้บริหารในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“หากจะปรับเปลี่ยนงบประมาณในปีนี้คงไม่ทัน เพราะผู้แทนสำนักงบประมาณก็ได้ชี้แจงแล้ว แต่จะเร่งทำเป็นบทเรียนแก้ไขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่จะเกิดในการทำงบประมาณปีหน้าได้ แต่ทั้งนี้หากเงินของ อปท.ใดไม่เพียงพอที่จะจ่ายเงินให้ผู้ใต้บังคับบัญชา เราก็จะขอส่วนกลางเป็นกรณีพิเศษ เพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อการดำรงชีวิต จากการประชุมวันนี้ยังไม่มีตัวเลขชัดเจนว่า อปท.แต่ละที่ขาดเงินเท่าไร ขาดกี่คน และขาดพื้นที่ไหน หากได้ความชัดเจนจะสามารถนำเสนอต่อส่วนกลางได้” ม.ล.ปนัดดากล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น