xs
xsm
sm
md
lg

3 ปัญหา “ความมั่นคงของชีวิต” ล้วนเป็นหนึ่งเดียวกับ “ปัญหาความมั่นคงของชาติ” / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
ภาคใต้วันนี้มีเรื่องใหญ่ๆ อยู่ 3 เรื่องที่เป็นที่ยังเป็นเหมือน “กับดัก หรือไม่ก็ “ระเบิดเวลา ที่รอให้ผู้นำประเทศทำการแก้ไข ซึ่งทั้ง 3 เรื่องล้วนแต่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนทั้งนั้น
 
เรื่องแรกเป็นเรื่องที่เรื้อรัง ซึ่งเป็นทั้งปัญหากับความมั่นคงของประเทศ และความมั่นคงในชีวิตของผู้คน นั่นคือเรื่องของ “วิกฤตไฟใต้” ที่แม้ว่าวันนี้ประเทศนี้จะมีรัฐบาลที่มาจากกองทัพ ซึ่งมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในการกำหนดนโยบาย และสั่งการให้ทุกหน่วยงานขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียว โดยไม่มีหน่วยงานไหนแข็งขืนได้
 
แต่ 1 ปีกว่าผ่านไป ไฟใต้ก็ยังคงโชนแสง และยังไม่มีท่าทีที่จะมอดดับแต่อย่างใด?!
 
เรื่องที่สอง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเข้ามาของ คสช. นั่นคือเรื่องการ “จัดระเบียบการทำประมง” เพื่อแก้ปัญหาแรงงานเถื่อน แรงงานทาส โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการขึ้นบัญชีเทียร์ 3 ของสหประชาชาติ และสหรัฐอเมริกา โดยมีการจัดระเบียบเรือประมง เครื่องการทำประมง การให้เรือประมงหยุดทำประมงตามที่มีการกำหนด และการบังคับใช้กฎหมายในการแก้ปัญหาการทำการประมงอย่างเข้มงวด
 
ซึ่งล่าสุด รัฐบาลมีการประกาศใช้ยาแรง คือ การใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ที่ใช้ ม.44 ประกาศให้เครื่องมือประมงจำพวกที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นเครื่องมือทำลายล้างสัตว์น้ำห้ามใช้ เช่น โพงพาง ไซนั่ง ไอ้โง่ และเรืออวนอีกหลายประเภท เพื่อที่จะสร้างสมดุลของสัตว์น้ำกับผู้ประกอบอาชีพการทำประมง
 
แต่สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการก็ส่งผลกระทบต่ออาชีพของชาวประมงด้วย จนมีการออกมาเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยต่อการใช้ยาแรงในการจัดระเบียบของรัฐบาลในครั้งนี้ โดยผู้ประกอบการประมงส่วนใหญ่เห็นว่า กฎหมาย และระเบียบที่ออกมาสร้างความเดือดร้อนต่อการประกอบอาชีพ และเป็นการซ้ำเติมความยากจน จากที่ยากจนอยู่แล้วให้ยากจนยิ่งขึ้นไปอีก
 
และขณะนี้ “เจ้าหน้าที่อียูยูอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล และดูการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไทยอยู่ที่ จ.สงขลา ซึ่งต้องลุ้นกันว่าครั้งนี้ไทยจะหลุดจากบัญชีเทียร์ 3 หรือไม่??
 
เรื่องที่สามคือ “ความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง” จากเรื่องราคายางตกต่ำและทำได้ไม่พอกิน ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้เท่านั้น แต่เดือดร้อนไปทุกภาค เพราะวันนี้ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออกต่างมีพื้นที่ปลูกยาง และมีเกษตรกรที่เปลี่ยนอาชีพจากการปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง และพืชอื่นๆ หันมาทำสวนยางพาราไม่น้อยไปกว่าเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้
 
จึงสรุปได้ว่าปัญหาที่ 1 เป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นมานานกว่า 100 ปี พื้นที่ความเดือดร้อนมีเพียง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของสงขลา ผู้ที่ตกอยู่ในชะตากรรมนี้อาจจะมีเพียง 2-3 ล้านคน และการแก้ไขต้องใช้เวลา
 
ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบต้อง “รอ” เพราะเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน?!
 
ส่วนปัญหาที่ 2 เรื่องการประมงมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ 22 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล โดยมีคนภาคใต้เดือดร้อนมากที่สุด เพราะภาคใต้มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลทั้งด้านอ่าวไทยและอันดามัน ขณะนี้มีการเคลื่อนไหวเพื่อรอการเยียวยาจากรัฐที่จะช่วยเหลือด้วยการชดเชย หรือหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อใช้ในการเปลี่ยนอาชีพใหม่
 
ซึ่งหากไม่มีการช่วยเหลือปัญหาชาวประมงก็อาจจะเป็น “ระเบิดเวลา” ที่รอการปะทุได้เช่นกัน?!
 
แต่ปัญหาที่ใหญ่สุดในขณะนี้คือ ปัญหาที่ 3 เรื่องความเดือดร้อนของชาวสวนยาง เพราะล่าสุด ราคายางใน “ท้องถิ่น” จ.สงขลา ที่ไม่ใช่ “ตลาดกลาง” เนื่องเพราะตลาดกลางไม่ใช่ตลาดของชาวสวนยางรายย่อย ราคาขายยางแผ่นดิบชั้น 3 อยู่ที่กิโลกรัมละ 38 บาท นั่นหมายถึงราคาน้ำยางสดที่ชาวสวนส่วนใหญ่จะขายแบบนี้ ราคาจึงอยู่ที่กิโลกรัมละแค่ 35 บาทเท่านั้น
 
ในขณะที่ต้นทุกการปลูก หรือการทำสวนยางพาราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 62 บาท แสดงให้เห็นว่าวันนี้เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ “ขาดทุน” อยู่ที่กิโลกรัมละ  25 บาทขึ้นไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชาวสวนยางไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสวนรายย่อยขนาด 15-20 ไร่ และลูกจ้างที่รับจ้างกรีดยางต่างได้รับความเดือดร้อนอย่างสาหัสสากรรจ์ด้วยกัน และจัดอยู่ในขั้นทำงานไม่พอกิน แถมต้องเป็นหนีเป็นสิ้นอีกด้วย
 
หลายคนที่ลูกต้องออกจากโรงเรียนในระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เพราะทางบ้านไม่มีปัญญาส่งเสีย หลายคนที่ต้องขายรถยนต์ หรือยอมให้ถูกยึด เพราะหมดปัญหาจ่ายค่างวด
 
สรุปให้เห็นภาพที่สั้นๆ คือ คนทำสวนยางต่าง “จนลง” แม้จะยังมีข้าวกิน แต่คุณภาพชีวิตแย่ลง ครอบครัวไม่มีความมั่นคง คุณภาพชีวิตของผู้คนที่เป็นชาวสวนยางตกต่ำ คนจำนวนมากตกงาน เศรษฐกิจโดยรวมของทุกพื้นที่ที่มีการทำสวนยางได้รับผลกระทบจากราคายางกันเป็นถ้วนหน้า เพราะเมื่อชาวสวนยางไม่มีเงิน ธุรกิจการค้าตั้งแต่คนทอดกล้วยแขกขาย ไปจนถึงเจ้าของโรงแรมใหญ่ก็ได้รับผลกระทบที่ไม่ต่างกัน
 
ล่าสุด “เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้” ประกาศว่า หากภายในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ รัฐบาลยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะช่วยชาวสวนยางอย่างไร เครือข่าวชาวสวนยางทั้งภาคเหนือ ใต้ อีสาน และตะวันออกจะรวมตัวกันเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยราคายางที่กิโลกรัมละ 65 บาท
 
ซึ่งหมายความว่า ชาวสวนยางจะได้กำไรจากการทำสวนยางแค่ที่กิโลกรัมละ 3 บาทเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่มากนัก แต่ก็ดีกว่าขาดทุน!!
 
นอกจากนั้น เครือข่ายชาวสวนยางยังมีความเห็นว่า รัฐบาลจะช่วยด้วยใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. โดยใช้ ม.44 บังคับให้กระทรวงคมนาคม รวมทั้งหน่วยงานของรัฐรับซื้อน้ำยางดิบไปดำเนินการสร้าง และซ่อมถนนหนทาง สร้างสนาม สร้างทางเดิน และอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อให้ผลผลิตยางที่ออกมาหายไปจากตลาด อันเป็นการทำให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้น
 
ในขณะที่รัฐบาลยังคงยืนยันจุดยืนที่ชัดเจนว่า จะไม่มีการชดเชยราคายางให้แก่ชาวสวนยาง เพราะการแทรกแซง หรือการชดเชยอาจจะขัดต่อกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) แต่จะแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบภายใต้ “พ.ร.บ.ยางแห่งชาติ” ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพให้ชาวสวนยางทั้งระบบ เสริมสร้างอาชีพความเข้มแข็ง และมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ
 
ส่วนในเรื่องของบอุดหนุนปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,500 บาทต่อครัวเรือน ยังไม่มีการพิจารณา?!
 
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่รัฐบาลนำเสนอคือ การเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความเข้มแข็งให้ชาวสวนยางทั้งระบบ เป็นเรื่องของ “นามธรรม ที่ยังไม่เห็นว่าจะชัดเจนอย่างไร และเป็นเรื่องการมองปัญหา และการแก้ปัญหาของ “อนาคต ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 5-10 ปี เช่น การลดพื้นที่ปลูกยาง การปลูกยางแบบใหม่ไร่ละ 40 ต้น เพื่อใช้พื้นที่ที่เหลือปลูกพืชอื่นๆ หรือทำการเกษตรแบบอื่นๆ รวมทั้งเรื่องของ “เมืองยางหรือ “รับเบอร์ซิตี ซึ่งยังไม่มีการตั้งไข่ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ผู้เดือดร้อนรอไม่ได้
 
โดยข้อเท็จจริง “หัวใจ” ของการแก้ปัญหาพืชผลทางการเกษตรคือ การลดต้นทุนในการผลิต การเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น และการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อให้เกษตรได้กำไรมากขึ้น แต่ที่ผ่านมา รัฐบาล “ดีแต่พูด” โดยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ดำเนินการที่เป็น “รูปธรรม” ให้เห็นแม้แต่น้อย
 
วันนี้สิ่งที่ชาวสวนยางต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือคือ เรื่อง “ความเดือดร้อนเฉพาะหน้า” ที่เกิดขึ้น ชาวสวนยางต้องการผ้าพันแผล และยาแก้ปวดเพื่อหยุดการไหลของเลือด ส่วนวิตามิน และอาหารเสริมแม้จะกินได้ในวันนี้ แต่ไม่สามารถช่วยยืดชีวิตออกไปจนถึงวันที่ต้องการ ซึ่ง “ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า ที่ชาวสวนต้องการเพื่อหยุดการไหลออกของเลือดคือ ประเด็นสำคัญที่รัฐบาลจะต้องมีคำตอบ
 
เพราะการเคลื่อนไหวของชาวสวนยางในการเรียกร้องราคายาง เป็นความเคลื่อนไหวที่ “สะสม” มาเป็นแรมปี และสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ยิ่งเคลื่อนไหว ยิ่งเรียกร้อง ราคายางกลับยิ่งตกต่ำ ยิ่งทำให้สถานการณ์วิกฤตยิ่งขึ้น ตรงนี้ต่างหากที่น่าเป็นห่วงว่า หากรัฐบาลยังไม่มีมาตรการหยุดเลือดไหลออกจากร่างในเร็ววัน ปัญหาการเรียกร้องของชาวสวนยางทั่วประเทศจะเป็น “ระเบิดเวลาลูกใหญ่” ที่อาจจะปะทุขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้
 
ทุกข์ของประชาชน คือ ทุกข์ของแผ่นดิน!!
 
วันนี้แผ่นดินใต้ระงมไปด้วยเสียงของ “คนทุกข์ ทั้งเสียงจากผู้สูญเสียจากสถานการณ์ไฟใต้ และเสียงเรียกร้องจากผู้ประกอบอาชีพประมงใน 22 จังหวัด เมื่อรวมกับเสียงของความช่วยเหลือของชาวสวนยางทั้งประเทศในขณะนี้ ยิ่งทำให้เห็นชัดเจนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “ปัญหาความมั่นคงของชีวิต” นับเป็นปัญหาความมั่นคงของประเทศชาติด้วย
 
ปัญหาทั้ง 3 เรื่องของคนภาคใต้ล้วนเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ที่สำคัญที่ และเร่งด่วนที่สุดคือ การแก้ปัญหาราคายาง เพราะเป็นปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงของคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะในฐานะที่รัฐบาลชุดนี้ “อาสา” เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาที่รุมเร้าในประเทศ รัฐบาลจึงย่อมปฏิเสธที่จะไม่ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ตกระกำลำบากไม่ได้อย่างแน่นอน
 
แฟ้มภาพ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น