xs
xsm
sm
md
lg

ภูเก็ต ตั้งคณะทำงานฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล 5 ชุมชนจังหวัดภูเก็ต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ภูเก็ต - จังหวัดภูเก็ต ตั้งคณะทำงานฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล 5 ชุมชน จังหวัดภูเก็ต เพื่อพัฒนา และฟื้นฟูวิถีชีวิต ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิต และแก้ไขปัญหาต่างๆ เร่งแผนงานเสร็จภายในมีนาคม 59

วันนี้ (17 ก.พ.) ที่ห้องประชุมสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต ดร.ประเจียด อักษรธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ประธานการประชุมคณะทำงานฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลฝ่ายส่งเสริมและแก้ไขปัญหาด้านอคติชาติพันธุ์ ภาษาและวัฒนธรรมชาวเล ครั้งที่ 1/2559 เพื่อนำเสนอโครงการในการพัฒนา และฟื้นฟูวิถีชีวิต พัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนแก้ไขปัญหาต่างๆ ของแต่ละชุมชน โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้บริหารสถานศึกษา และตัวแทนชาวเลใน 5 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนชาวเลบ้านแหลมตุ๊กแก ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต ชุมชนชาวเลบ้านราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต ชุมชนชาวเลบ้านสะปำ ต.เกาะแก้ว อ.เมืองภูเก็ต ชุมชนชาวเลบ้านหินลูกเดียว และชุมชนชาวเลบ้านแหลมหลา ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต 


สำหรับการประชุมดังกล่าว สืบเนื่องจากคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 364/2559 ลงวันที่ 29 มกราคม 2559 แต่งตั้งคณะทำงานฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแนวนโยบายของมติคณะรัฐมนตรี และเพื่อให้เกิดการบูรณาการในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เป็นรูปธรรมชัดเจน โดยมีคณะทำงานฝ่ายต่างๆ ได้แก่ คณะทำงานฝ่ายอำนวยการ คณะทำงานแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทางจิตวิญญาณชาวเล คณะทำงานแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ทำกิน คณะทำงานแก้ปัญหาด้านสำมะโนประชากร คณะทำงานฝ่ายส่งเสริม และแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุข คณะทำงานฝ่ายส่งเสริม และแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา คณะทำงานฝ่ายส่งเสริม และแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพชีวิตและคณะทำงานฝ่ายส่งเสริม และแก้ไขปัญหาด้านอคติชาติพันธุ์ ภาษาและวัฒนธรรม

ดร.ประเจียด อักษรธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมครั้งแรก ดังนั้น ขอให้คณะทำงานแต่ละฝ่ายได้ไปศึกษาบทหน้าหน้าที่ของตนเอง และให้มีการนำเสนอแผนงานโครงการที่จะเข้าไปแก้ปัญหาให้แก่พี่น้องชาวเลในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของพื้นที่ในการประกอบอาชีพการทำประมง และเครื่องมือในการทำประมง ซึ่งถือเป็นอาชีพดั้งเดิม แม้ว่าปัจจุบันจะมีบางส่วนจะเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นแล้ว โดยขอให้มีการรวบรวมจำนวนรายชื่อของผู้ที่ยังคงมีการประกอบอาชีพประมง และเครื่องมือประมงที่ยังมีการใช้อยู่ รวมทั้งให้มีการเขียนแผนงานโครงการในการเข้าไปช่วยเหลือเรื่องของพื้นที่การทำประมง ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาในเรื่องของเขตอุทยานฯ และเขตรักษาพืชพันธุ์ รวมไปถึงการเข้าไปประกอบอาชีพบริเวณใกล้กับที่ตั้งโรงแรม และพบว่า มีผู้ประกอบการโรงแรมบางแห่งไม่อนุญาตให้ชาวเลไปทำการประมงบริเวณโขดหินที่อยู่ใกล้กับโรงแรม ซึ่งความจริงไม่สามารถที่จะห้ามได้ ยกเว้นจะเป็นพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งในเรื่องเหล่านี้ก็จะต้องไปทำข้อมูลเพื่อนำมาเสนอ และหาแนวทางการช่วยเหลือ และแก้ปัญหาต่อไป รวมไปถึงในเรื่องของการที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน การส่งเสริมการศึกษา และการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม สำหรับแผนงานโครงการของคณะทำงานชุดต่างๆ นั้นคาดว่าให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2559 นี้

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น