สมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ร้องผู้ตรวจการฯ เสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่ง คสช.ยกเลิกกฎหมายผังเมือง ขัดเจตนา ม.44 หรือไม่ ด้าน “เรืองไกร” ยื่นสอบเอาผิด ป.ป.ช.ใช้อำนาจโดยมิชอบ
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมกลุ่มประชาชนเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบธรรมด้วยรัฐธรรมนูญ จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.ออกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2559 เรื่องการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 เรื่องยกเว้นการบังคับใช้กฎกระทรวงให้ใช้บังคบผังเมืองรวม สำหรับการประกอบกิจการบางประเภท โดยอาศัยความตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44
ทั้งนี้ ทางกลุ่มเห็นว่าคำสั่ง คสช.ทั้ง 2 ฉบับไม่เป็นไปตามเหตุผลและเจตนารมณ์ของมาตรา 44 เพราะปรากฏว่ามีการสร้างความเดือดร้อนและทำลายความสมานฉันท์ของคนในชาติ และไม่เห็นเหตุแห่งความจำเป็นตามที่มาตรา 44 บัญญัติไว้ และเห็นว่าระบบกฎหมายของไทยได้วางระเบียบขั้นตอน วิธีการที่เหมาะสม เพื่อปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีโอกาสในการมีส่วนร่วมให้ข้อเสนอแนะ แต่การออกคำสั่งดังกล่าวกลับทำให้ทำให้ชาวบ้านในหลายพื้นที่เดือดร้อน อาทิ พื้นที่ ต.เชียงรากใหญ่ จ.ปทุมธานี ที่เดือดร้อนจากกรณีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เป็นต้น ดังนั้น การที่หัวหน้า คสช.ให้อำนาจออกคำสั่งดังกล่าวจึงเป็นการใช้อำนาจเกินเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการเอกชนโดยมองข้ามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่
นอกจากนี้ การออกคำสั่งดังกล่าวยังพบว่ามีการบิดเบือนข้อมูล ข้อเท็จจริง โดยอ้างว่าประเทศไทยประสบปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน พบว่าในปี 2558 ภาพรวมการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย อยู่ที่ 27,345 เมกะวัตต์ แต่ภาพรวมกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 36,171 เมกะวัตต์
ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีพลังงานไฟฟ้าเพียงพอ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินนำคำร้องนี้เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าการที่หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งที่ 3/2559 และ 4/2559 นั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 44 หรือไม่ และการออกคำสั่งดังกล่าวนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จากกรณีที่ ป.ป.ช โต้แย้งคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.1037/2558 ลงวันที่ 27 ส.ค. 58 ที่พิพากษาว่า ป.ป.ช.มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยผู้ฟ้องคดีเฉพาะความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ การที่ ป.ป.ช.จะไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติชี้มูลความผิดทางวินัยในความผิดฐานอื่น เป็นกระทำที่ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย
โดยนายเรืองไกรกล่าวว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาวินิจฉัยข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจ ป.ป.ช.ดังกล่าว ถือเป็นข้อยุติที่ชัดเจนแล้วว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจชื้มูลความผิดทางวินัยอื่นได้ เพราะในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดก็มีการยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 2 /2546 ว่า อำนาจ ป.ป.ช.เกี่ยวกับการไต่สวนและวินิจฉัยเพื่อมีมติชี้มูลความผิดทางวินัยทำได้เฉพาะบนฐานการทุจริตต่อหน้าที่เท่านั้น และยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 310/2556 ก็ได้วินิจฉัยไว้ว่า อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 84 เดิมเป็นเรื่องการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐว่ารกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หาได้มีอำนาจที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐในความผิดฐานปลอมแปลงและใช้เอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 มาตรา 2658 ด้วย
จากคำวินิจฉัยทั้ง 3 ศาลจึงเท่ากับว่า ป.ป.ช.รู้อยู่แล้วว่าการใช้อำนาจเกินกว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายรองรับไว้นานแล้ว ซึ่งการใช้อำนาจไปไต่สวนและวินิจฉัยความผิดทางวินัยฐานอื่น จึงเป็นกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้ผู้ถูกกล่าวหาจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อให้ ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเสีย เกี่ยวกับการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ตามบทลงโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ป.ป.ช. ต้องรับผิดชอบตามบทโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 125 จึงได้มายื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบ