xs
xsm
sm
md
lg

เผย ครม.เสนอ กรธ.ขออำนาจพิเศษ รักษาความสงบเรียบร้อยช่วงเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ภาพจากแฟ้ม)
ครม. ส่งความเห็นถึง กรธ. ขอกำหนดบทเฉพาะกาลให้รัฐบาลปัจจุบันใช้อำนาจพิเศษ ครอบคลุมไปจนหลังการเลือกตั้งและหลังจากตั้งรัฐบาลใหม่ อ้างเหตุความมั่นคง ป้องกันความแตกแยก ขัดแย้งรุนแรงกว่าเดิม จนทำประเทศเป็นรัฐล้มเหลว ย้ำ ขอให้ กรธ. ปรับโรดแมปให้สอดคล้องกับโรดแมปรัฐบาล โดยผ่านเฉพาะกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ให้จัดการเลือกตั้งได้เร็วขึ้น ด้าน “มีชัย” รับอาจย้ายมาตรา 7 กลับไปที่หมวดพระมหากษัตริย์ โดยนำหลักการของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 มาปรับให้สมบูรณ์

วันนี้ (18 ก.พ.) คณะรัฐมนตรีโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามข้อเสนอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นเอกสารรวม 7 หน้า 16 ข้อเสนอ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่รวบรวมมาจากกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงกลาโหมและรองนายกรัฐมนตรี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษา สำนักงบประมาณ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น

ทั้งนี้ มีข้อเสนอข้อสุดท้ายข้อที่ 16 ซึ่งเป็นข้อเสนอของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบุว่า ขอให้ กรธ. พิจารณาขยายช่วงเวลาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นสองช่วง หรือขยายบทเฉพาะการที่ให้คงอำนาจพิเศษเพื่อเหตุผลความมั่นคง ให้ยาวครอบคลุมไปจนหลังการเลือกตั้งและหลังการมีรัฐบาลชุดใหม่ด้วย โดยอ้างถึงความขัดแย้งที่อาจก่อวิกฤตที่รุนแรงยิ่งกว่าที่ผ่านมา

“ข้อ 16 ในขณะนี้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์และความเห็นต่างเกี่ยงกับร่างรัฐธรรมนูญมาก ส่วนใหญ่เป็นความไม่แน่ใจ หรือไม่วางใจในระบบ ตัวบุคคลที่จะเข้าสู่ระบบ วิธีการที่จะได้คนมาสู่ระบบ และอำนาจหน้าที่ แต่ที่ ครม. เป็นห่วงคือทำอย่างไรจึงจะป้องกันมิให้ความยุ่งยากโกลาหลความขัดแย้ง และความไม่สงบเรียบร้อยจนประเทศจวนเข้าสู่ภาวะรัฐที่ล้มเหลว ดังเมื่อก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 ย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีกภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ภายหลังการเลือกตั้งและภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพราะหากเช่นนั้นแล้วจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ เศรษฐกิจ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และคุณธรรมของคนในชาติอย่างรุนแรง ประเทศอาจจะตกอยู่ในวังวนหรือบ่วงแห่งการสู้รบ การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม การทุจริตคอร์รัปชัน การแทรกแซงกลไกของรัฐ การใช้วาจาก่อให้เกิดความเกลียดชัง การล้างแค้น การรื้อกฎเกณฑ์ต่าง ๆ โดยอ้างความชอบธรรมในนามของระบอบประชาธิปไตยดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

และในครั้งนี้อาจหนักหน่วงขึ้นกว่าเดิมอันเป็นสภาวะที่ไม่ปรากฏในต่างประเทศ และยากแก่ความเข้าใจของประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้การบริหารราชการแผ่นดิน การสร้างความสามัคคีปรองดองและการปฏิรูปประเทศจะสะดุดหรือล้มเหลวจนเป็นไปไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อและความเป็นความตายของประเทศ ครม. จึงเห็นว่าบางทีหากบัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นช่วงสองเวลา คือ ช่วงเฉพาะกิจ หรือช่วงเฉพาะกาลในระยะแรก ซึ่งอาจไม่ยาวนานนัก โดยใช้หลักเกณฑ์อย่างหนึ่ง เสมือนข้อยกเว้นตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่อยู่บนพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระดับหนึ่งอย่างมีดุลยภาพ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และในช่วงที่จะใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญในระยะต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสากลมากขึ้น และเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่ลดข้อจำกัดต่าง ๆ ลงให้มาก ดังนี้ น่าจะแก้ปัญหาและอธิบายให้เป็นที่ยอมรับแก่ประชาชนและนานาชาติได้” ข้อเสนอข้อ 16 ดังกล่าวระบุ

นอกจากนี้ ข้อ 15 ในข้อเสนอดังกล่าว ยังระบุขอให้กำหนดระยะเวลาและขั้นตอนภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับโรดแมปของ คสช. กล่าวคือให้สามารถจัดการเลือกตั้งได้เดือน ก.ค. 2560 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ข้อกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. ทำให้เนิ่นช้าออกไป จึงเห็นว่า กรธ. ควรทำเฉพาะกฎหมายเท่าที่จำเป็นแก่การเลือกตั้งและการจัดให้มีวุฒิสภาจนแล้วเสร็จ เมื่อประกาศใช้แล้ว จึงจัดให้มีการเลือกตั้งในเวลาที่กำหนด ส่วนกฎหมายประกอบอื่นที่จำเป็นอาจทยอยจัดทำในระยะเวลาต่อมาให้เสร็จก่อนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

สำหรับข้อเสนออื่น ๆ เป็นรายละเอียดที่เป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญส่วนต่าง ๆ เช่น ข้อ 14 ครม. เสนอให้แยกหมวดปฏิรูปเป็นหมวดเฉพาะ ข้อ 10 เสนอให้รวมศาลรัฐธรรมนูญไปอยู่ในหมวดศาลแทนการแยกออกมาเป็นหมวดเฉพาะ เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นการเพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอที่ 9 เสนอให้คดีทุจริตของนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรจะเป็นสองชั้นศาล ไม่ควรจัดเป็นระบบศาลเดียว แม้ กรธ.จะให้อุทธรณ์ไปยังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ แต่ก็จำกัดเฉพาะข้อกฎหมายหรือกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่เท่านั้น

สำหรับข้อเสนอของสำนักงบประมาณในข้อที่ 8 มีรายละเอียดข้อย่อยเกือบ 3 หน้านั้น เป็นข้อเสนอในปัญหาการใช้ถ้อยคำและการปฏิบัติเกี่ยวกับข้อห้ามใหม่ ที่ กรธ. ห้ามนักการเมืองแทรกแซงยุ่งเหยิงกับการแปรญัตติงบประมาณ เพื่อโยกไปลงพื้นที่ หรือแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง

ส่วนข้อเสนอของกระทรวงกลาโหมในข้อ 2 นั้น ขอให้เพิ่มสถานการณ์การรบ เพิ่มเติมจากภาวะสงคราม สำหรับกรณีการเกณฑ์แรงงาน และการตรวจสองข่างของสื่อมวลชนก่อนเผยแพร่ โดยอ้างว่าให้เหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2550 และข้อเสนอของกระทรวงศึกษาในข้อ 7.4 เสนอให้รัฐจัดการศึกษาให้ 12 ปีตามเดิม แทนการลดเหลือภาคบังคับ 9 ปี แต่ให้ปรับเรื่องค่าใช้จ่ายที่รัฐออกให้ โดยกำหนดให้ชัดเจนว่าเฉพาะค่าใช้จ่ายตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อไม่ให้ถูกอ้างให้รัฐต้องออกค่าหนังสือ เครื่องแต่งกาย และค่าใช้จ่ายนอกหลักสูตรไปด้วย

ด้าน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ยอมรับว่า กรธ. มีแนวคิดจะย้ายเนื้อหาที่ว่าด้วยการตีความกรณีที่ไม่มีบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามประเพณีปฏิบัติ ซึ่งเคยเป็นบทบัญญัติในมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่พบว่าเป็นช่องโหว่เมื่อเกิดวิกฤติ ซึ่ง กรธ. ได้กำหนดในร่างแรกให้ไปอยู่ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญนั้น ให้กลับไปอยู่ในหมวดพระมหากษัตริย์อย่างเดิมเพื่อให้แยกออกมาให้เกิดความชัดเจน แต่เพิ่มเนื้อหาให้ครบสมบูรณ์โดยใช้แนวทางมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาปรับปรุง

นายมีชัย กล่าวว่า เมื่อมีนักวิชาการไม่สบายใจอยากให้เกิดความชัดเจน เราก็ยินดีนำกลับมาในหมวดพระมหากษัตริย์ตามเดิม โดยเอารัฐธรรมชั่วคราว 2550 มาตรา 5 ซึ่งได้กำหนดต้นทางของการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ เช่น หากสภา ครม. ศาล หรือองค์กรอิสระเห็นว่ามีกรณีการตีความที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ในแต่ละองค์กร ให้ยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็จะสามารถอุดช่องโหว่ในอดีตที่เมื่อเวลาเกิดวิกฤติแล้วไม่มีองค์กรใดชี้ขาด

“แม้จะย้ายไปที่เดิมแต่ก็ยังคงต้องเป็นศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นองค์กรชี้ขาด และแตกต่างจากเดิมที่เราเขียนไว้แค่เรื่องเมื่อเข้าไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะมีขั้นตอนและกรอบการพิจารณาอย่างไร ส่วนเมื่อย้ายกลับไปแล้วก็จะมีการเพิ่มความชัดเจนของต้นทางที่จะร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้น” นายมีชัย ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น