xs
xsm
sm
md
lg

“สมบัติ” ชี้ปมประชามติ-ปากท้องท้าทายรัฐ เชื่อหลังเลือกตั้งหน้าเก่าคัมแบ็ก หนีไม่พ้นวังวนเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
อดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ชี้ประชามติรัฐธรรมนูญ-ปัญหาปากท้องปมท้าทายรัฐบาลในปีนี้ ระบุ คสช.ขยายเวลาโรดแมปเลือกตั้งปี 60 ไม่น่าส่งสัญญาณทหารบริหารยาว ส่วนปฏิวัติซ้อนเกิดยาก รับหาก กรธ.ดันนายกฯ คนนอกก็เปิดช่องสืบทอดอำนาจได้ เชื่อ “ประยุทธ์” ไม่น่ากลับคำนั่งอีกหน แต่คาดหลังเลือกตั้งสุดท้ายพวกหน้าเก่าคัมแบ็ก แถม กม.ชุมนุมทำการเมืองภาคประชาชนยากกว่าเดิม ชี้กองทัพแค่มาเบรกแล้วกลับสู่ที่เก่า แต่ชาวบ้านทนโกงได้น้อยลง

วันนี้ (1 ม.ค. 59) นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ และอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า มองสถานการณ์การเมืองปี 2559 ว่า แม้จะยังมีเสถียรภาพ เพราะรัฐบาล คสช.ยังสามารถดูแลเรื่องความสงบ ความเรียบร้อยได้ดี และเป็นที่พอใจของประชาชน พรรคการเมืองก็ยังติดประกาศ คสช.ที่ห้ามจัดกิจกรรม ห้ามประชุมพรรค การเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 59 ก็ยังน่าจะถูกจำกัดอยู่ สิ่งที่รัฐบาลจะเผชิญและเป็นเรื่องท้าทายที่สำคัญ จึงเป็น 1. การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหากผ่านก็นำไปสู่โหมดการเตรียมจัดการเลือกตั้งในปี 2560 หากไม่ผ่านรัฐบาลจะเผชิญกับแรงกดดัน ซึ่งโอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ ต้องดูว่าสาระเนื้อหาสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะโครงสร้างทางการเมือง ถ้ากลุ่มการเมืองให้การยอมรับก็จะส่งสัญญาณให้ผู้สนับสนุนเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ ขณะเดียวกัน เกณฑ์การออกเสียงประชามติที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวยังกำหนดว่า เสียงที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติต้องเป็นเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง หรือเกินกว่า 25 ล้านเสียงของผู้มีสิทธิออกเสียงที่มีประมาณ 50 ล้านคน ถ้ารัฐบาลคสช.ไม่ได้เปลี่ยนเงื่อนไขนี้ก่อนการทำประชามติจะเป็นปัญหาได้ จึงน่าจะต้องกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ก่อน เพื่อไม่ให้มีปัญหาภายหลังขึ้นมาว่าถ้าไม่ผ่านแล้วจะทำอย่างไร

นายสมบัติกล่าวว่า 2. ปัญหาปากท้อง ที่เศรษฐกิจโลกยังไม่แข็งแรง อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียลดลงกระทบต่อการส่งออกของไทย ถ้ารัฐบาลสามารถกระตุ้นทำให้เกิดกำลังซื้อในประเทศได้มากขึ้น หรือการเปิดเออีเอ ถ้าสามารถทำให้การค้าภายในอาเซียนโตขึ้นก็จะช่วยได้ แต่ที่จะหนักมากคือปัญหาเศรษฐกิจระดับรากหญ้า พืชผลการเกษตร ราคาข้าว ราคายางพารา ยังต่ำถ้ารัฐบาลแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ดี นอกจากทำให้เกษตรกรมีปัญหาแล้ว ยังจะทำให้กำลังซื้อตกต่ำ เพราะว่าเกษตรกรโดยส่วนใหญ่จะใช้จ่ายเกินกว่ารายได้อยู่แล้ว ถ้ามีรายได้ต่ำมากก็จะเป็นหนี้มากก็จะยิ่งเป็นแรงกดดันรัฐบาลให้สูงขึ้น ส่วนการทุจริตแม้ปมโครงการอุทยานราชภักดิ์จะเป็นประเด็นร้อน แต่เพราะเกี่ยวกับคนใน กองทัพและ คสช. ซึ่งโดยมูลค่าแล้วไม่มาก เมื่อเทียบกับโครงการอื่นที่เมื่อไปดูมีงบลงทุนสูง มูลค่าการทุจริตมาก ยังมีอยู่ไม่ได้หายไปไหน แต่คนที่เกี่ยวข้องอาจจะระมัดระวังมากขึ้น

นายสมบัติยังมองด้วยว่า การที่รัฐบาล คสช.ขยายระยะเวลาการปฏิบัติงานตามแผนโรดแมปไปเลือกตั้งในปี 60 ไม่น่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลทหารจะปกครองประเทศต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เพราะแม้จะมีคนจำนวนมากพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ แต่เป็นสภาพที่มีเงื่อนเวลาว่าจะเสร็จเมื่อไร ทำให้พอรับได้ ถ้าเมื่อใดมีการส่งสัญญาณว่าจะอยู่ต่อโดยไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะความอดทนของคนมีจำกัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ คสช.ต้องระมัดระวัง และทางที่ดีควรดำเนินการตามกำหนดเวลา ส่วนกระแสการปฏิวัติซ้อน ก็ประเมินว่าเกิดขึ้นได้ยาก เพราะ คสช.ยังสามารถคุมสถานการณ์ต่างๆ ไว้ได้เรียบร้อย ผู้นำเหล่าทัพทั้งปัจจุบัน และอนาคต ต่างยังอยู่ใต้บารมีหัวหน้า คสช.

“อย่าง ผบ.ทบ.ปัจจุบันที่ขึ้นมามีอำนาจในกองทัพบกก็จะอยู่ได้ปีเดียว แล้วถ้าคนใหม่ขึ้นมาแล้วมีอายุราชการเหลืออีกปีหรือสองปี ก็ไม่ยาวนานพอที่จะวางกำลังพลของตนเอง อีกทั้งคนเหล่านี้เติบโตมาภายใต้การวางกำลังของหัวหน้า คสช. โอกาสปฏิวัติซ้อนจึงเป็นไปได้ยากมาก” นายสมบัติกล่าว

ขณะที่การจะสืบทอดอำนาจของ คสช.ต่อไปในลักษณะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การคุมบังเหียนของฝ่ายทหารหรือไม่ นายสมบัติกล่าวว่า ต้องจับตาดูการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่หากมีการกำหนดกลไกเอื้อไปในลักษณะนั้น ย่อมหนีไม่พ้นการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง และอาจเป็นเหตุให้ไม่ผ่านประชามติ แต่การที่ กรธ.กำหนดรูปแบบการเลือกตั้งใหม่ว่าจะใช้แบบแบ่งสรรปันส่วนผสม และเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ก็มีโอกาสที่ฝ่ายทหารจะใช้ช่องทางนี้

“โอกาสมี เพราะการเลือกตั้งแบบแบ่งสรรปันส่วนผสม จะทำให้ไม่มีพรรคหนึ่งพรรคใดได้เสียงเกินครึ่ง ถ้าพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคไม่ได้เสียงเกินครึ่ง พรรคที่จะมีอำนาจต่อรองคือพรรคขนาดกลาง ถ้าพรรคขนาดกลางร่วมมือกันแล้วบอกว่าถ้าพรรคใหญ่ พรรคใดจะร่วมมือจัดตั้งรัฐบาลกับเขาต้องใช้คนกลางนะ เขาไม่เอาหัวหน้าพรรคใหญ่นะ อย่างนี้ก็ทำให้คนกลางเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ถ้าคำพูดหัวหน้าคสช.ที่บอกว่าจะไม่ยอมเป็นนายกรัฐมนตรีให้แก่นักการเมืองเด็ดขาดเชื่อได้ ปัญหานี้ไม่น่ากังวล ยกเว้นว่า ท่านไม่เป็นแล้วเอาทหารคนอื่นมาอันนี้ก็เป็นอีกเรื่อง แต่ว่าหัวหน้า คสช.พูดไว้หนักแน่นขนาดนั้นแล้วไม่น่ากลับคำ” นายสมบัติกล่าว

อย่างไรก็ตาม การเมืองหลังการเลือกตั้ง นายสมบัติประเมินว่าจะวนกลับไปเป็นการเมืองแบบเก่าๆ ภายใต้พรรคการเมือง นักการเมืองหน้าเก่ากว่า 90% เนื่องจากการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่เอื้ออำนวยให้เกิดพรรคการเมือง หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ เป็นเพียงการปะผุจุดที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อย โดยยังคงยึดโครงสร้างการเมืองแบบรัฐสภาเหมือนรัฐธรรมนูญ 50 และถ้าผลการเลือกตั้งนำไปสู่การตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองใหญ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด อีกฝ่ายก็จะต่อต้าน สุดท้ายจะกลายเป็นสภาพการเมืองแบบเดิมๆ ขณะที่การเมืองภาคประชาชนก็ขับเคลื่อนได้ยากกว่าเดิม เพราะมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะมาควบคุมโดยตรง แม้ผู้ที่เป็นแกนนำจะไม่ได้กลัวการถูกจับ แต่การต้องรับผิดชอบต่อการชุมนุมก็ทำให้ต้องคิดมากขึ้น

“3 ปีของ คสช.ที่เข้ามาไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดของประชาชนได้ทั้งประเทศ ไม่นำไปสู่การปฏิรูปที่จะเห็นเป็นความหวังของประเทศ ในแง่การเมืองการเข้าของ คสช.มันเหมือนมาเบรกพักนึง แล้วมันก็กลับไปจะสู่ที่เก่า ถ้าผลการเลือกตั้งนำไปสู่การตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองใหญ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายหนึ่งใด อีกฝ่ายก็จะต่อต้าน ก็จะกลายเป็นสภาพการเมืองแบบเดิม แต่ถึงแม้หลายอย่างไม่เปลี่ยน แต่ที่เห็นคืออารมณ์ความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อการทุจริตคดโกงของรัฐบาล ทนได้น้อยลง ถ้ารัฐบาลเอาใครก็ไม่รู้มาบริหารประเทศแล้ว ทำให้เห็นว่ามีการทุจริตประพฤติมิชอบ คนไทยจะทนได้น้อยลง และออกมาต่อต้านโดยไม่กลัวอะไรมากขึ้น เท่าที่สังเกตมีการพัฒนาไปอย่างนี้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีของสังคมไทย” นายสมบัติกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น