xs
xsm
sm
md
lg

จี้ “บิ๊กตู่” เคลียร์ยืดโรดแมปบนเวทียูเอ็น แจงต่างชาติขอความเชื่อถือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
“บิ๊กป๊อก” เปิด “สเปก กรธ.” รู้กฎหมายมหาชน มีประสบการณ์ เป็นคนที่ประชาชนยอมรับ เผยยังไม่มีนัดหมายแต่งตั้งใคร ด้าน “กปปส.” ชี้ สนใจปฏิรูป มากกว่ากระบวนการยกร่างฯ ครั้งใหม่ ยันอยากเห็นเนื้อหา กระบวนการปฏิรูป องค์กรที่ทำหน้าที่ในการปฏิรูป “ชทพ.” ชี้ ต้องแก้ไขความขัดแย้งในอดีต เนื้อหาไม่เป็นชนวนรอบใหม่ “อ้ายปึ้ง” ย้ ำนายกฯต้องเคลียร์ยืดโรดแมปบนเวทียูเอ็น

วันนี้ (9 ก.ย.) ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกมาระบุมีสมาชิก สนช. บางคน ได้เข้ามาเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แสดงให้เห็นถึงการทาบทามกันบ้างแล้วว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้ คณะกรรมร่างฯ น่าจะมีเพียง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นผู้พิจารณาเพียงคนเดียวเท่านั้น ซึ่งนายกฯ ยังไม่ได้พูดอะไรกับตน

“สำหรับคุณสมบัติในการเป็นกรรมการร่างฯ ผมมองว่า คนที่จะมาเขียนจะต้องเป็นคนที่รู้กฎหมายมหาชน ต้องมีประสบการณ์ และต้องเป็นคนที่ประชาชนยอมรับ ถึงจะทำให้รัฐธรรมนูญที่เขียนออกมา มีคนยอมรับ” รมว.มหาดไทยกล่าว

ที่กองบัญชาการกองทัพไทย พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวภายหลังการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ว่า ยังไม่ได้รับการนัดหมายจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อประชุมคัดเลือก 21 บุคคล ที่จะเข้ามานั่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ที่ประชุมยังไม่ได้มีการประเมินสถานการณ์ภายหลังมีการถอดยศ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งมองว่าขณะนี้ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ทุกอย่างเป็นไปตามนโยบาย และมีความเรียบร้อยดี

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รองประธานกรรมการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ได้มุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง ดังนั้น ทางมูลนิธิอยากจะเห็นเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุเรื่องของการปฏิรูปเอาไว้ทั้งในแง่เนื้อหา และในแง่ของกระบวนการในการปฏิรูป รวมไปถึงองค์กรที่จะทำหน้าที่ในการปฏิรูป ซึ่งความจริงแล้วในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกคว่ำไป ทางมูลนิธิก็คิดว่าน่าจะดีพอที่จะให้ไปทำประชามติได้ แต่เมื่อมีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญและต้องแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จำนวน 21 คนขึ้นมา จุดสนใจของทางมูลนิธิก็ยังคงอยู่ที่การปฏิรูป ถ้าหากในกระบวนการยกร่างฯ ครั้งใหม่นั้น สามารถทำให้การปฏิรูปชัดเจนมากขึ้นทั้งในแง่ของเนื้อหาและในด้านของกระบวนการการปฏิรูป มีการระบุเรื่องของระยะเวลาการปฏิรูปในกรอบที่ชัดเจน ตนคิดว่าสิ่งนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ควรจะบรรจุลงไปในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะยกร่างขึ้นมาใหม่ ซึ่งทางมูลนิธิก็จะได้ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

“อันที่จริงร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นฉบับก่อนที่จะถูกเสนอแก้ไขโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีเนื้อหาด้านการปฏิรูปที่ดีมากในหลายเรื่อง แต่ก็น่าเสียดายที่พอมีการเสนอความเห็นแก้ไขโดย สปช. เนื้อหาเหล่านั้นโดนตัดออกไปเยอะ เพราะฉะนั้นเฉพาะในเนื้อหาการปฏิรูปถ้ายกมาใส่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะมีการร่างขึ้นใหม่นี่น่าจะเป็นประโยชน์ แต่ทั้งนี้ ตนขอยืนยันว่า ไม่ได้หมายความว่า ให้เอาเนื้อหาในร่างฯแรกมาเป็นพื้นฐานการยกร่างครั้งใหม่ แค่เฉพาะในส่วนของการปฏิรูปเท่านั้นที่ต้องเขียนให้ชัด ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญก่อนที่จะไปสู่ประชามติ ถ้าหากตรงนี้มีความชัดเจน ตนคิดว่าประชาชนก็รับได้" นายสาทิตย์ กล่าวและว่า กรณีนี้ควรจะให้คณะ กมธ. ยกร่างฯ เดิม เข้ามามีส่วนใน กรธ. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญฯ ชั่วคราวปี 2557 นั้น ระบุชัดเจนว่า เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรี ก็ต้องดูว่านายกฯ จะแต่งตั้งใคร ตนไม่มีความเห็นส่วนตัวในเรื่องนี้

นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า บุคคลที่จะเข้ามาต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ได้ตามโจทย์ คือ การแก้ไขความขัดแย้งในอดีต และไม่ทำเนื้อหาให้เป็นชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ เพราะหากทำเนื้อหาให้มีความขัดแย้ง และผ่านไปกระบวนการทำประชามติจะทำให้เกิดความรุนแรงได้

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องเปิดเผย และเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายเข้าร่วม ต้องรับฟังเสียงของนักการเมือง ในฐานะที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างประชาชนและฝ่ายรัฐ สำหรับกรณีร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีข้อดีและหลายประเด็น ที่ช่วยปลดล็อกปัญหาที่เคยเป็นเดทล็อคทางการเมืองอยู่หลายประการ เช่น การชุมนุม ปัจจุบันมีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะกำกับไว้ ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรหรือคณะบุคคลมากำกับแนวทางแก้ปัญหาตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดอีก

สำหรับปฏิทินเวลาดำเนินการสำหรับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มีไว้ประมาณ 20 เดือน นั้น และส่งผลให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปประมาณ 2 ปี สำหรับนักการเมืองนั้นรอได้ แต่ขอให้คำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ หลังจากที่ทอดเวลาการทำงานดังกล่าวดังกล่าวออกไปด้วย

อีกด้าน นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตนคิดว่า ส.ว. แต่งตั้งต้องไม่มีแล้ว ต้องเลือกตั้งอย่างเดียว นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง มาจาก ส.ส. รัฐบาล ต้องไม่มาจากการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้พรรคการเมืองอ่อนแอ จนจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เป็นต้น คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ก็จะไม่เอาแล้ว ต้องไม่มีใครมาสั่งให้รัฐบาลต้องทำโน่นทำนี่ อะไรที่เป็นเหมือนมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ต้องไม่มีหมกเม็ดไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่อีก

ส้วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินทางไปร่วมประชุมองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่สหรัฐอเมริกานั้น ตนขอฝากให้ พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมชี้แจงในเวทีสหประชาชาติให้ดีว่า เหตุใดโรดแมปต้องยืดออกไป เป็นเพราะการร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยตรงไหนอย่างไร ถ้าต่างชาติเขาให้ความเชื่อถือในคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ ประเทศไทยเราก็จะได้ประโยชน์ และครั้งนี้ก็จะเป็นครั้งแรกที่นายกฯ จะได้กล่าวในเวทีโลก ก็จะมีการบันทึกคำพูดไว้ ดังนั้น คำพูดใดที่พูดแล้วมันยืดได้หดได้แบบไทย ๆ ไม่ควรนำไปใช้บนเวทีนี้

“ถ้าจะให้ดีท่านนายกฯ ต้องประกาศบนเวทีให้ชัดเจนเลยว่า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งวันไหน และหลังการเลือกตั้งแล้ว คสช. จะถอยออกทั้งหมด จะไม่ยุ่งเกี่ยว จะไม่สืบทอดอำนาจ ในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประกาศออกมาดัง ๆ ให้เป็นสัญญาประชาคมต่อหน้าทุก ๆ ประเทศ ว่า จะให้อำนาจประชาธิปไตยแก่ปวงชน การไปครั้งนี้ท่านนายกฯ จะกลายเป็นวีรบุรุษแน่นอน” นายสุรพงษ์ กล่าว


นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย
นายนิกร จำนง
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น