xs
xsm
sm
md
lg

“คสช.” ยังเงียบ! ไทม์ไลน์ ตั้ง 21 คกก.ร่าง รธน.ชุดใหม่ - “รสนา” จับตาไม่ราบรื่น เหตุวางเกมพลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
“คสช. ยังเงียบ! ไทม์ไลน์ ตั้ง คกก. ร่าง รธน. ชุดใหม่ “บิ๊กป๊อก” รับต้องตั้ง คกก. 21 คน ก่อนลุยประชามติ เผย ให้ใช้ “ไม่ผ่านแทนคว่ำ” เหตุสังคมไทยจะไม่เรียนรู้ “รสนา” ให้จับตาระวังไม่ราบรื่น จ่อขัดแย้งเพิ่ม เชื่อ คสช. วางเกมพลาด วิเคราะห์ 135 สปช. กลุ่มคว่ำ! ความเห็นเริ่มต่าง “เลิศรัตน์” บ่นเสียดาย จวกสื่อ ตปท. วิจารณ์ติดลบ ปมคว่ำ รธน. ให้ทหารปกครอง ทำให้ฟื้นฟู ปชต. ลากยาว ส่วน “แกนนำเสื้อแดง - เพื่อไทย” ถามหาคนรับผิดชอบ แนะลดเวลา - ทำ กม. ประกอบ รธน. ควบคู่

วันนี้ (7 ก.ย.) ภายหลังจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แล้ว ในไทม์ไลน์ ต่อไปนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะต้องตั้ง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ตามกำหนดนั้น ทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็นไปในทิศทางที่แตกต่างกัน

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะที่ปรึกษา คสช. กล่าวว่า ขณะนี้ ยังไม่มีการเรียกประชุมในส่วนของที่ปรึกษา คสช. ก็คงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ฉบับแก้ไข ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. จะต้องพิจารณาตั้งคณะกรรมการร่างฯ ทั้ง 21 คนก่อน แล้วค่อยดำเนินการต่อไป

“ยังไม่ได้มีการปรึกษา และพูดคุยกันใน คสช. แต่อย่างใด ผมอยากเรียนให้ทุกคนเข้าใจว่า ต้องมีสองทาง ผ่านกับไม่ผ่าน ถ้าผ่าน อีกฝ่ายก็เข้ามา ไม่ผ่าน อีกฝ่ายก็เข้ามา มันจะเดินไปไม่ได้ ควรให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านก็ต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่างฯ ขึ้นมาใหม่ ผ่านก็ทำประชามติ”

สำหรับกรณีที่มีกลุ่มนักศึกษาออกมาแสดงความเห็นภายหลัง สปช. คว่ำร่างฯนั้น อย่าไปใช้คำว่า “คว่ำร่างฯ” เลย เพราะสังคมไทยจะไม่เรียนรู้ ที่ผ่านมา มันก็มีแค่สองทาง คือ ผ่านกับไม่ผ่าน เมื่อผลออกมาแล้วควรใช้คำว่า “ไม่ผ่านจะดีกว่า” รมว.มหาดไทย กล่าวพร้อมฝากผ่านไปยังสื่อถึงกรณีนักศึกษาว่า ถ้าคาดหวังแบบนี้ประชาธิปไตยคงไม่ได้ คือ หมายความว่า ต้องผ่านใช่หรือไม่ นักศึกษาถึงจะไม่ออกมา

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ตนขอให้จับตาการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใต้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 21 คนที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ว่า จะเป็นไปอย่างราบรื่นหรือไม่ เพราะจากการประเมินของตนเองกับเสียงอดีต สปช. ที่ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 135 คนที่ผ่านมา พบว่า เป็นกลุ่ม สปช. ที่อยู่ต่างขั้วกันแต่กลับมีความเห็นไปในทิศทางเดียว หรือเรียกว่ามีเป้าหมายเดียวกัน อาทิ กลุ่มที่ต้องการให้ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และต้องการให้ ส.ว. มาจากการสรรหาทั้งหมด กลับลงมติไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ หรือกลุ่มที่ไม่ต้องการให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ

แต่ประเด็นดังกล่าวกลับเป็นที่ต้องการ นอกจากนั้นแล้ว ในกลุ่มทื่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จากการสังเคราะห์ของสื่อมวลชนที่แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตย 2. ต้องการให้ยืดเวลาให้ คสช. อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และส่งผลให้การเลือกตั้ง ส.ส. ยืดเวลาออกไป และ 3. กลุ่มที่มีผลประโยชน์แลกเปลี่ยน ซึ่งเกิดจากการต่อรองในเรื่องต่าง ๆ ดังนั้น ถือเป็นจุดที่ต้องจับตามองอย่างยิ่งว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น อาจเกิดความขัดแย้งเพราะความเห็นคิดเห็นที่ไม่ตรงกันได้

“การลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา ถือเป็นจุดพลาดครั้งใหญ่ของผู้มีอำนาจ เพราะหากคิดว่าการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจะต่ออายุให้รัฐบาลได้ หรือต้องการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยหรือตามความต้องการของตนเอง โดยไม่มี สปช. มาขัดขวางเหมือนรอบที่ผ่านมา แต่การกระทำในวันนี้ จะส่งผลเป็นปฏิกิริยาตอบกลับในอนาคต เมื่อการลงมติรอบนี้เพื่อผลประโยชน์ หรือคงอำนาจของตนเอง คิดหรือว่าในขั้นตอนของการทำประชามติจะไม่มีความขัดแย้ง หากช่วงทำประชามติเป็นช่วงขาลงของรัฐบาล กระแสด้านลบอาจจะเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ อีกทั้งกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต่อจากนี้ไป จะไม่มีกระบวนการเตรียมความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ เหมือนที่ สปช. เคยทำมา อาจทำให้เป็นจุดที่อันตราย” น.ส.รสนา กล่าว

น.ส.รสนา กล่าวว่า สำหรับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขอให้จับตาว่ากลไกที่สร้างกระบวนการทำงานของประชาชนให้มีส่วนร่วม เช่น บทบัญญัติให้มีองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ที่เดิมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอให้ตัดออก จะยังคงอยู่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องสร้างความสมดุลทางอำนาจ ไม่ใช่คำนึงถึงแต่อำนาจสูงสุด

ในความหมายของคำว่าประชาธิปไตย หรือความมั่นคงเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงสมดุลของพลังประชาชนด้วย ทั้งนี้ ตนมีสิ่งที่กังวลว่าหากไม่มีส่วนของภาคประชาชนที่ร่วมตรวจสอบอำนาจรัฐแล้วจะทำให้เกิดการคอร์รัปชันและทุจริตอย่างมากขึ้นได้

ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีตที่ปรึกษา และโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวแสดงความรู้สึกว่า ตนเสียดายที่ไม่ผ่านความเห็นชอบรับร่างรัฐธรรมนูญอีก 30 คะแนน แต่ก็ชื่นชมในความมีสปิริตของเพื่อนสมาชิก กมธ. ยกร่างฯ ที่โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเหนียวแน่น 20 เสียง เพราะเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่พิจารณาร่วมกัน และการที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ. ยกร่างฯ ชื่นชมตนกับ พล.ท.นคร สุขประเสริฐ อดีต กมธ. ยกร่างฯ และ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตประธาน กมธ. ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เชื่อว่า เป็นเพียงการชื่นชมในการทำหน้าที่เท่านั้น ยืนยันว่า การตัดสินใจไม่มีใบสั่งจากฝ่ายใด หรือคิดต่างกลุ่มทหาร

ส่วนร่างรัฐธรรมนูญหลังจากนี้จะเดินหน้าอย่างไร คงไม่เกี่ยวกับ กมธ. ยกร่างฯ ชุดเดิมอีก ซึ่งล่าสุดก็ได้มีการพูดคุยกับนายบวรศักดิ์ ก็ยืนยันว่า จะไม่กลับมารับทำหน้าที่อีก และคงต้องให้เป็นไปตามครรลองต่อไป เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่อยากรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมา กมธ. ยกร่างฯ ทุกคนก็ได้ทำหน้าที่อย่างตั้งใจเพื่อประโยชน์บ้านเมืองแล้ว ขณะที่ส่วนตัวยอมรับว่า หากได้รับกลับมาทำหน้าที่อีก ก็พร้อมทำตามคำสั่ง ถ้าเป็นการทำเพื่อบ้านเมืองได้

กรณีนี้มองอย่างไรต่อกรณีที่สื่อต่างประเทศวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ของไทยต่อการฟื้นฟูประชาธิปไตยไทยจะลากยาวออกไป และส่งผลให้การปกครองทหารขยายออกไปอีก 6 เดือน พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สื่อต่างประเทศมองไทยในแง่ค่อนข้างลบมาโดยตลอด เขาก็คิดแต่รูปแบบประชาธิปไตยแบบบ้านเขา ดังนั้น เราต้องคิดว่าจะเชื่อเขาหรือเปล่าเท่านั้น เพราะตามโรดแมปจะต้องได้ร่างรัฐธรรมนูญในอีก 7 เดือนข้างหน้าอยู่แล้ว ส่วนจะออกมาเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับประชาชนจะตัดสินใจโดยการลงประชามติ เพราะไม่ต้องผ่านการตรวจสอบจากใครอีก

เมื่อถามว่า มีความเป็นห่วงต่อการได้มาของสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ต้องมั่นใจในการทำงานของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะเชื่อว่าทั้งสององค์กรจะต้องทำให้บ้านเมืองเกิดความเรียบร้อย ส่วนร่างรัฐธรรมนูญในอนาคตจะเป็นอย่างไร คงต้องรอดู และเร็วเกินไปหากจะมีการวิจารณ์ไปก่อน

ด้าน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ประเด็นนี้ ทำให้สังคมไทยเห็นใบเสร็จ ว่า กว่า 1 ปีที่ผ่านมา การบริหารงานภายใต้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประสบความล้มเหลวทุกด้าน กล่าวคือ

ด้านเศรษฐกิจล้มเหลวจนต้องเปลี่ยนทีมยกชุด และในที่สุดก็ต้องกลับไปใช้นโยบายประชานิยมของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ส่วนด้านการเมือง เห็นได้จากความล้มเหลวในการร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งเอง ร่างเอง แล้วก็คว่ำกันเอง พร้อมกับกระแสข่าวการสั่งการจากผู้มีอำนาจ และการโจมตีกันไปมาในหมู่ สปช.

ด้านสังคม ก็ปรากฏว่า การสร้างความปรองดองไม่คืบหน้า ส่วนการปฏิรูปก็ไม่มีความชัดเจน ทั้งเนื้อหาและกรอบเวลา ถ้าเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ถึงตรงนี้แทบไม่เหลือความชอบธรรมใด ๆ ผู้มีอำนาจปัจจุบันจึงควรยอมรับความจริง ว่า ทุกเรื่องอยู่ในความรับผิดชอบของตัวเอง จะท่องแต่คาถาเดิมว่าทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาก็ไม่มีใครไปขัดขวาง เขียนมาอย่างไรได้ทำทั้งหมด แต่มันล้มเหลวทุกด้านแล้วจะรับผิดชอบอย่างไร

“คนไทยทั้งประเทศไม่ได้ลงเรือแป๊ะไปด้วย จะมีหลักประกันใดให้เชื่อว่า แป๊ะจะทำได้อย่างที่พูด เพราะวิธีการที่ผิดย่อมให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องไม่ได้ ประเทศไทยไม่ใช่บาร์รำวง ที่เพลงจบหมดรอบแล้วก็ขึ้นเพลงเต้นกันใหม่ แล้วเต้นกันต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องสนใจว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นอย่างไร” นายณัฐวุฒิ กล่าว

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในการบริหารจัดการน่าจะสามารถปรับโรดแมปให้เวลาใกล้เคียงกับที่ คสช. ได้ประกาศไว้คือ 1. เวลาในการร่างรัฐธรรมนูญกำหนดขั้นสูงไว้ไม่เกิน 180 วัน สามารถปรับลดได้พอสมควร เพราะไม่ถึงกับต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่

หากนำข้อดีของรัฐธรรมนูญในอดีตแต่ละฉบับมาบูรณาการให้เหมาะสม และ 2. ควรมอบให้กฤษฎีกาติดตามการร่างรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญควบคู่กันไปกับการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็สามารถเสนอร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่อ ครม. เพื่อส่งให้ สนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบได้ทันที ซึ่งจะประหยัดเวลาไปจำนวนมาก

ทั้งนี้ หากดำเนินการปรับโรดแมปให้ใกล้เคียงกับโรดแมปเดิมที่สุดก็จะคลายกังวลต่อท่าทีของนานาชาตื ที่มีต่อประเทศไทย ว่า ไม่คิดสืบทอดอำนาจ ซึ่งก็ตรงกับท่าทีของ คสช. ที่ให้สัญญาประชาคมไว้ทั้งต่อชาวไทยและชาวโลกมาตลอด ทั้งนี้ ขอขอบคุณ สปช. 135 ท่าน ที่โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญอย่างกล้าหาญ เพราะเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทุกภาคส่วน ว่า ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างรุนแรงที่สุด

ถอยหลังเข้าคลองมากสุด ๆ ซึ่งคงไม่ต้องลงรายละเอียดเพราะสื่อได้แพร่หลายอย่างกว้างขวางไปแล้ว การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้สามารถหยุดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในช่วงรณรงค์ทำประชามติ และไม่ต้องสูญเสียงบประมาณอีก 3 พันกว่าล้านบาทในการทำประชามติ

นายชวลิต กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ที่จะมายกร่างรัฐธรรมนูญที่ คสช. จะแต่งตั้งใหม่ 21 ท่านนั้น ขอฝากความหวังไว้ว่า น่าจะได้บุคคลที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีชื่อเสียงเป็นที่ประจักษ์ ที่สำคัญคือ มีจิตใจเปิดกว้างรับฟังเสียงจากภาคส่วนต่าง ๆ อย่างรอบด้าน มั่นใจว่า ท่านคงได้ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ว่า ภาคส่วนต่าง ๆ ส่วนใหญ่เขาต้องการให้รัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งมีเสถียรภาพ มีองค์กรในการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างมีดุลยภาพ

สิ่งที่เขาไม่ต้องการที่สุด คือ กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างชัดเจน ถอยหลังเข้าคลองอย่างสุดโต่ง ท้ายที่สุดเมื่อกติกาดีประเทศจึงจะเดินไปข้างหน้าได้ และขอฝากข้อคิดว่า ฤกษ์ผานาทีดี ไม่เท่ากับสาระร่างรัฐธรรมนูญดี


น.ส.รสนา โตสิตระกูล
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
กำลังโหลดความคิดเห็น